การประชุมคณะกรรมการประจำว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า (The Standing Committee for Economic and Commercial Cooperation - COMCEC) ขององค์การการประชุมอิสลาม (OIC) ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 17-20 ตุลาคม 2554 ณ นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี
ตามที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แจ้งให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครอิสตันบูล เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุม เรื่อง การประชุมคณะกรรมการประจำว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า (The Standing Committee for Economic and Commercial Cooperation - COMCEC) ขององค์การการประชุมอิสลาม (OIC) ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 17-20 ตุลาคม 2554 ณ นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี นั้น
สำนักงานฯ อิสตันบูล ขอรายงานสรุปผลการประชุมฯ ดังนี้
2.1 ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยผู้แทนสมาชิก 57 ประเทศ ผู้แทนประเทศ
สังเกตการณ์ 5 ประเทศ (ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มนี้) และ ผู้แทนหน่วยงานภายใต้องค์การการประชุมอิสลาม 7 หน่วยงาน และองค์การระหว่างประเทศ 12 หน่วยงาน
2.2 ประธานในพิธีเปิดการประชุม คือ นาย Abdullah Gul ประธานาธิบดี ประเทศตุรกี และประธานในพิธีปิดการประชุม คือ นาย Cevdet Yilmaz รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาการ
2.3 วัตถุประสงค์ของการประชุมฯ นอกจากติดตามความคืบหน้าแผนงาน/โครงการต่างๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการ 10 ปี (ค.ศ.2005-2015) และผลการประชุมครั้งก่อนแล้ว ที่ประชุมได้กำหนดให้มีการบรรยายให้ความรู้และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อหาแนวคิดในการขจัดปัญหาความยากจนของบรรดาประเทศสมาชิก โดยได้เชิญ Dr.Ahmed Mohammed Ali ประธาน Islamic Development Bank (IDB) และ Shaikh Saleh bin Abdullah Kamel ประธาน Islamic Chamber of Commerce and Industry (ICCI) เป็นผู้บรรยายและถ่ายทอดประสบการณ์
ที่ประชุมได้แบ่งการประชุมออกเป็นหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่
3.1 ทบทวนแผนงาน/โครงการต่างๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการ 10 ปี (ค.ศ.2005-2015) โดยตั้งเป้าการขยายมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสมาชิก เป็นร้อยละ 20 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของประเทศสมาชิกภายในปี 2015 (การค้าระหว่างประเทศสมาชิกในปี 2010 มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 16.4 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสมาชิกทั้งหมด)
แผนงาน/โครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการ 10 ปี โดยให้ความสำคัญ
- ด้านการเมืองการปกครอง และการข่าวสื่อสาร ประชาสัมพันธ์
- ด้านเศรษฐกิจ การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- ด้านศาสนา สังคม และวัฒนธรรมอิสลาม
3.2 การค้าระหว่างประเทศสมาชิก (intra-OIC trade)
3.2.1 การให้สิทธิพิเศษทางการค้า
ที่ประชุมได้เรียกร้องให้แต่ละประเทศสมาชิกให้ความสนใจในการลดข้อกีดกัน
ทางการค้าด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีระหว่างกันลงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้โดยมีการลงนามเกี่ยวกับ กรอบความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก การให้สิทธิพิเศษทางการค้า รวมทั้งการกำหนดออกใบกำกับแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อประโยชน์การนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างกัน ซึ่งต่างก็ให้ความสนใจ และมีพิธีลงนามระหว่างกันในการประชุมครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม การลงนามในพิธีสารดังกล่าวควรเป็นไปตามความสมัครใจและความพร้อมของประเทศสมาชิก ปัจจุบันมีเพียงสมาชิกเพียง 6 ประเทศที่มีความพร้อม ได้แก่ มาเลเซีย โอมาน กาตาร์ ซาอุดิฯ ตุรกี และ ยูเออี
3.2.2 งานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ ของกลุ่มประเทศ OIC
ที่ประชุมได้รายงานผลการจัดงานที่ผ่านมาของงานฯ ได้แก่
- งาน OIC Building Expo ที่กรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล ในปีที่ผ่านมา
- งาน OIC Expo ครั้งที่ 13 ที่เมืองชาจาห์ ประเทศยูเออี (24-29 เม.ย.2554)
- งาน OIC Health Expo ประเทศตูนีเซีย (22-25 ก.ย.2554)
- งาน International Cotton and Textile Fair ประเทศบูร์กินา ฟาโซ (21-25 พ.ย.2554)
ทั้งนี้ได้เชิญชวนสมาชิกเข้าร่วมงาน Tourism Fair ที่ประเทศอียิปต์ในปี 2555 ด้วย
3.3 ประเด็นในที่ประชุมให้ความสำคัญมาก ได้แก่
3.3.1 ความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ได้หยิบยกประเด็นเรื่องอาหารกันมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศสมาชิกในตะวันออกกลาง
3.3.2 ด้านการเกษตร ซึ่งรวมถึงเรื่องน้ำ (Agriculture and Water) ส่วนใหญ่ผู้แทนสมาชิกของแต่ละประเทศจะแสดงความห่วงใยเรื่องการเกษตรซึ่งจะต่อเนื่องและเชื่อมโยงไปยังเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งรวมถึงเรื่องน้ำดื่ม น้ำใช้ และเพื่อใช้ในการเกษตร
3.3.3 ด้านวิกฤตการเงิน (Financial Crisis)ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการธนาคารและระบบการงินในกลุ่มประเทศสมาชิก OIC
3.3.4 ด้านพลังงาน (Energy Crisis)
3.3.5 ด้านมาตรฐานฮาลาล (Halal Standards) เกี่ยวกับประเด็นนี้เป็นประเด็นต่อเนื่อง
จากการประชุมครั้งที่ผ่านมา ซึ่งสมาชิกยังไม่สามารถสรุปกันได้จึงได้มีการหารือต่อ ดังนั้นในการประชุมครั้งนี้จึงได้มีการหารือใช้เวลานานเป็นพิเศษและสรุปโดยที่ประชุมเห็นชอบในมาตรฐานฮาลาล 3 ฉบับที่เกี่ยวข้อง คือ
1) Halal Food Standards
2) Halal Certification
3) Halal Accreditation
3.3.6 ด้านท่องเที่ยว (Tourism) สมาชิกหลายประเทศในที่ประชุมได้มีการหารือกันเกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยวซึ่งได้มีการเสนอความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเรื่องการตรวจลงตราวีซ่าเพื่อให้สะดวกในการเดินทางเข้าออกประเทศ นอกเหนือจากนั้นยังมีประเด็นและโครงการต่างๆ อีกมากมายที่ได้มีการหยิบยกในที่ประชุมโดยส่วนใหญ่เป็นการติดตามผลจากการประชุมครั้งที่ 26 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจ
3.4 การบรรเทาความยากจน และช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ
แผนปฏิบัติการสำหรับประเทศผู้ผลิตฝ้าย ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าโครงการ
ความร่วมมือประเทศผู้ผลิตฝ้าย รวมทั้งจัดตั้งศูนย์วิจัยฝ้ายในภูมิภาคเอเชีย อาหรับ และแอฟริกา นอกจากนี้ธนาคารพัฒนาอิสลามยังได้สนับสนุนงบประมาณโครงการฝ้าย แก่ประเทศแคมเมอรูน โมซัมบิค ซีเรีย และยูกันดา ด้วย
4.1 ผลสรุปของการประชุมยังไม่สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างชัดเจน
เนื่องจากปัญหาความพร้อมของบรรดาประเทศสมาชิกซึ่งมีรวมกันกว่า 50 ประเทศ และระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน เช่นการพิจารณาประเด็นการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรระหว่างกัน ประเทศที่มีการพัฒนาสูงกว่า เช่น ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต กาตาร์ มาเลเซีย ฯลฯ จึงต้องช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ด้อยพัฒนากว่า
4.2 ตุรกียังไม่มีมาตรฐานอาหารฮาลาล รวมทั้งหน่วยตรวจสอบและหน่วยออก
ใบรับรองที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล แต่บรรดาประเทศสมาชิกต่างๆ ได้มีการกำหนดมาตรฐานในประเทศของตัวเองต่างกันไป ประกอบกับตุรกีไม่ต้องการให้มาเลเซียผูกขาดเกี่ยวกับมาตรฐานอาหารฮาลาลในตลาดโลก ดังนันจึงผลักดันให้ OIC เข้ามามีบทบาทด้านนี้
4.3 การเชิญชวนประเทศสมาชิกเข้าร่วมลงทุนในประเทศของตน จึงเป็นข้อจำกัด
ในวงแคบสำหรับประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีเท่านั้น ส่วนประเทศด้อยพัฒนา จากแอฟริกา และเอเชียใต้ ต่างก็ขอการสนับสนุนความช่วยเหลือทางด้านงบประมาณ รวมทั้งความรู้ เทคโนโลยีจากที่ประชุมฯ
4.4 สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศสังเกตการณ์ อาจจะเสนอประเด็นการ
ขอเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ และงานส่งเสริมการท่องเที่ยว ของประเทศสมาชิก หากที่ประชุมเห็นด้วยและอนุญาตให้เข้าร่วมงานในฐานะ Exhibiter ได้ ก็น่าที่จะเป็นผลดีต่องานแสดงสินค้าที่จะทำให้มีทางเลือกมากขึ้น รวมทั้งสามารถเผยแพร่กิจกรรมของกรมฯ และสินค้าที่มีศักยภาพของไทย สู่สายตาชาวโลกมากยิ่งขึ้นด้วย
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี
ที่มา: http://www.depthai.go.th