แอปเปิ้ลเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญประเภทหนึ่งของจีน โดยแอปเปิ้ลสามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท และแอปเปิ้ลยังเป็นที่นิยมบริโภคกันทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ความต้องการบริโภคแอปเปิ้ลนับวันจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากสาเหตุหลักคือจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นและความสนใจในสุขภาพก็มีมากขึ้นด้วย ในการผลิตแอปเปิ้ลถือได้ว่าจีนเป็นประเทศที่มีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการผลิตแอปเปิ้ลได้หลากหลายชนิด ซานเหมินเสีย เป็นเมืองทางภาคตะวันตกของมณฑลเหอหนาน ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศจีนเป็นเมืองที่มีการเพาะปลูกผลไม้หลากหลายชนิด มากที่สุดเมืองหนึ่งของจีน อาทิ แอปเปิ้ล ทับทิม สาลี่ เป็นต้น ในที่นี้ผลไม้ที่ขึ้นชื่อที่สุดของเมืองนี้คือ แอปเปิ้ล โดยเมืองดังกล่าวมีองค์ประกอบหลายด้านอันเหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของแอปเปิ้ล กล่าวคือ มีอุณหภูมิเฉลี่ย 9.2 องศาเซลเซียส มีปริมาณแสงแดดในช่วงฤดูเพาะปลูก (เดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน) 1,373 ชั่วโมง มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 622 มิลลิเมตร และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลราว 1,100 เมตร จากมาตรฐานทั่วไปที่เหมาะสมสำหรับการปลูกแอปเปิ้ล อุณหภูมิเฉลี่ย 7 — 10 องศาเซลเซียสต่อปี ปริมาณแสงอาทิตย์ส่อง 1,100 ชั่วโมงขึ้นไป ปริมาณน้ำฝน 500 — 800 มิลลิเมตร และความสูงประมาณ 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ แอปเปิ้ลของเมืองซานเหมินเสีย มีรสชาติดีไม่แพ้แอปเปิ้ลจากมณฑลอื่นๆในจีน ซานเหมินเสีย มีพื้นที่เพราะปลุก 1,970,000 ไร่ ในนี้มีพื้นที่เพาะปลุก แอปเปิ้ลจำนวน 1,180,000 ไร่ ผลผลิตต่อปี 1,300 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 27.5 ของผลผลิตทางเกษตรของเมืองซานเหมินเสีย รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของเกษตรกรเดือนละ 1,744 หยวน
แอปเปิ้ลของซานเหมินเสียมีการจำหน่ายไปทั่วประเทศจีน และการจัดงานในครั้งนี้ทางคณะผู้จัดงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะผลักดันให้แอปเปิ้ลของเมืองซานเหมินเสียเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคเซี่ยเหมิน และเมืองใกล้เคียงในมณฑลฝูเจี้ยน งานประชุมในครั้งนี้ได้มีการเชิญ บริษัทและโรงงานผลิตแอปเปิ้ลรายใหญ่หลายรายในเมืองซานเหมินเสียนำผลผลิตของตนมาจัดแสดงและจำหน่ายให้แก่ผู้ที่เข้าชมงาน รวมไปถึงได้มีการเชิญผู้ประกอบการที่อยู่ในวงการผลไม้ของเมืองเซี่ยเหมิน อาทิสำนักงานการเกษตรแห่งเมืองเซี่ยเหมิน สมาคมผู้ค้าผลไม้แห่งเมืองเซี่ยเหมิน สมาคมอาหารแห่งเมืองเซี่ยเหมิน บริษัทขายส่ง หรือห้างสรรพสินค้าชั้นนำต่างๆที่อยู่ในเซี่ยเหมิน หากพูดถึงแอปเปิ้ล เมืองลั่วชวน มณฑล ส่านซี มณฑลเขตเกษตรกรรมที่มีชื่อเสียง ครอบครองตำแหน่งแถวหน้ามณฑลผู้ผลิตแอปเปิ้ลขนาดใหญ่ของจีน และแอปเปิ้ลที่วางจำหน่ายในตลาดเซี่ยเหมินก็เป็นผลผลิตที่ล้วนมาจากมณฑลส่านซีแทบทั้งสิ้น แต่หลังจากงานประชุมในครั้งนี้พบว่า แอปเปิ้ลจากเมืองซานเหมินเสีย ได้มีวางจำหน่ายตามร้านขายผลไม้บางแห่งและคาดว่าจะหาซื้อได้อย่างแพร่หลายในเวลาไม่นานนัก แอปเปิ้ลซานเหมินเสีย มีกลิ่นหอม สีสันและรสชาติอันพิเศษ อีกทั้งขณะนี้เมืองซานเหมินเสียยังได้มีการพัฒนาคุณภาพแอปเปิ้ลให้มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยใช้วิวัฒนาการทางการเกษตรพัฒนาผลผลิตแอปเปิ้ลให้เป็นแอปเปิ้ลแร่ธาตุสูง อาทิ แอปเปิ้ล แคลเซียมสุง แอปเปิ้ลแร่ธาตุสังกะสีสูง เป็นต้น ทั้งนี้ ยังมีข้อดีอื่นๆ เช่น คุณภาพผลผลิตสูง รูปผลที่สมส่วน ผลผลิตมีขนาดใกล้เคียงกัน สีผิวเรียบสวย เนื้อแน่น มีสัดส่วนน้ำตาลสูงกว่าแอปเปิ้ลทั่วไปถึงร้อยละ 2-3 รสชาติหวานอร่อย เนื้อกรอบพอเหมาะ และสามารถเก็บรักษาได้นาน ทำให้แอปเปิ้ลจากเมืองซานเหมินเสีย เป็นที่ยอมรับค่อนข้างสูง
เมื่อเทียบกับแอปเปิ้ลชนิดเดียวกันในจีน อีกทั้งยังมีราคาถูกกว่า แอปเปิ้ลจากส่านซีที่วางขายทั่วไป นี่จึงเป็นข้อได้เปรียบในการทำตลาดของแอปเปิ้ลซานเหมินเสีย
ชนิด ราคา/ก.ก แอปเปิ้ลส่านซี 9 หยวน ประมาณ 45บาท แอปเปิ้ลซานเหมินเสีย 16 หยวน ประมาณ 80 บาท
จากที่ได้ศึกษามาก่อนหน้านี้พบว่า การค้าผลไม้สดระหว่างไทยและจีนค่อนข้างมีการแบ่งตลาด (Segmentation) ต่อกันที่ชัดเจน กล่าวคือ ประเทศไทยส่วนใหญ่มีการผลิตผลไม้เมืองร้อน จึงมีการส่งออกผลไม้เมืองร้อนเป็นหลัก เช่น ลำไย ทุเรียน เงาะ มังคุด ลิ้นจี่ และฝรั่ง ในขณะที่ประเทศจีนส่วนใหญ่ก็มีการผลิตผลไม้เมืองหนาว ซึ่งมีการผลิตผลไม้เมืองร้อนแต่ก็ยังไม่มีมากนักในปัจจุบัน จีนจึงส่งออกผลไม้เมืองหนาวเป็นหลัก อาทิเช่น แอปเปิล แพร์ เป็นต้น ดังนั้นในอุตสาหกรรมผลไม้จึงอาจกล่าวได้ว่าไทยและจีนมีลักษณะเป็นคู่ค้ากันมากกว่าคู่แข่ง
โดยบริษัทและโรงงานผลิตแอปเปิ้ลหลายแห่งของเมืองซานเหมินเสีย มีศักยภาพพร้อมที่จะส่งออกแอปเปิ้ลซานเหมินเสียไปยังต่างประเทศ อีกทั้งด้วยรสชาติและราคาที่สามารถทำตลาดได้ง่าย สคต. เซี่ยเหมินเห็นว่า แอปเปิ้ลซานเหมินเสียคืออีกหนึ่งทางเลือกของผู้ที่ต้องการนำเข้าแอปเปิ้ลคุณภาพและรสชาติดีไปจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคไทย
ผู้จัดงาน: รัฐบาลกลางเมืองซานเหมินเสีย
รายงานโดย สคต.เซี่ยเหมิน
ที่มา: http://www.depthai.go.th