แนวโน้มความต้องการพลาสติกชีวภาพในสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 24, 2011 14:22 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ปัญหาสภาพแวดล้อม ปัญหาการกำจัดขยะ ปัญหาโลกร้อน และกระแสความยั่งยืน (Sustainable Trend) เป็นปัจจัยที่สำคัญผลักดันให้เกิดความต้องการใช้พลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพหรือพลาสติกชนิดหมุนเวียนมาใช้ใหม่เพิ่มมากขึ้น

ผู้บริโภคในสหรัฐฯ มีความต้องการตอบสนองนโยบายหลักสากลในการจัดการผลิต แบบ 3R คือ REDUCE (ลดใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้อยที่สุด) REUSE (นำมาใช้ซ้ำอีก) และ RECYCLE (แปลงเป็นวัสดุนำกลับมาใช้ใหม่) ดังนั้น พลาสติกแบบยั่งยืนทั้งสองกลุ่ม (Recycle Plastic & Bio Plastic) จึงตอบสนองความต้องการด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามหลัก 3R ที่ผู้บริโภคต้องการได้เป็นอย่างดี

พลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic Resin)

พลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic Resin) แยกออกเป็น 2 แบบ คือ (1) แบบแตกสลายได้ ทางชีวภาพ (Biodegradable Plastics) ซึ่งผลิตจากวัตถุดิบที่เป็นมวลชีวภาพ (Bio Based Plastics) หรือวัตถุดิบที่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ (Renewable Resource) และ (2) แบบสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Compostable Plastics) สามารถผลิตได้จากวัตถุดิบหลากหลายรวมทั้ง ข้าวโพด มันฝรั่ง มันสำปะหลัง ชานอ้อย และไม้ไผ่ เป็นต้น

ปัจจุบัน สหรัฐฯ ใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และ ภาชนะใส่อาหาร ประมาณร้อยละ 65 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 35 ใช้ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ การก่อสร้างและ อิเลคทรอนิคส์

คาดว่า ความต้องการพลาสติกชีวภาพในสหรัฐฯ จะขยายตัวประมาณร้อยละ 16.6 ต่อปี หรือคิดเป็นความต้องการประมาณ 325 ล้านปอนด์ ในปี 2557 หรือ ร้อยละ 25 ของความต้องการรวมของตลาดโลก

โค้กและเป๊ปซี่ชูธงการใช้พลาสติกชีวภาพ

ขวดพลาสติกใสบรรจุเครื่องดื่มของ บริษัทโค๊กและบริษัทเป๊ปซี่ เป็น หรือที่เรียกกันว่า ขวด PET (Polyethylene Terephthalate) ซึ่งผลพวง จากจากปิโตรเลียม ปัจจุบัน บริษัทโค๊กและเป๊ปซี่ซึ่ง เป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มอัดลม ตระหนักถึงปัญหา ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต่อความยั่งยืนของโลก จึงเริ่มมาใช้พลาสติกชีวภาพเข้ามาทดแทนพลาสติกจากปิโตรเลียม (PET)

ทั้งเป๊ปซี่และโค้กใช้พลาสติกชีวภาพในการผลิตขวดเครื่องดื่ม แต่มีความแตกต่างกันในด้านวัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ ขวดพลาสติกเป๊ปซี่ผลิตจากถุดิบที่สามารถผลิตทดแทน

ขึ้นใหม่ได้ในธรรมชาติ (Renewable resource) ในขณะที่ขวดพลาสติกโค้กเป็นผลพวงจากพืช 100% เช่น ข้าวโพด อ้อย เป็นต้น บริษัทเป๊ปซี่ใช้เม็ดพลาสติกเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์ไม่ต่ำกว่าปีละ 4 ล้านตัน และร้อยละ 10 เป็นพลาสติกชีวภาพ และคาดว่าจะเพิ่มกากรใช้ภาพติกชีวภาพเป็นร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2561 ในขณะที่บริษัทโค้กคาดว่า จะใช้พลาสติกชีวภาพ 100% ภายในปี 2563

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

ปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อม ตามกฎหมาย Federal Farm Bill - Title 9 ว่าด้วยการใช้พลังงาน บังคับให้หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องวางแผนการจัดซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยวัตถุดิบชีวภาพ (Bio Base Materials) ให้ได้มากที่สุด

การลดการใช้พลาสติก PET จากปิโตรเลียม และหันไปใช้ PET แบบ Bio Plastic ของ บริษัทโคคาโคล่าและบริษัทเป๊ปซี่ จะก่อให้เกิดการเพิ่มความต้องการพลาสติกชีวภาพในสหรัฐฯ และจะเป็นปัจจัยชักนำผู้ประกอบการรายอื่นๆ หันมาใช้พลาสติกชีวภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้แล้ว การขยายตัวของตลาดพลาสติกชีวภาพในสหรัฐฯ จะเป็นโอกาสและ ช่องทางการขยายตลาดพลาสติกชีวภาพและผลิตภัณฑ์ภาชนะและบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายทางชีวภาพของไทยเข้าตลาดสหรัฐฯ เพื่อสนองความต้องการของตลาด ประกอบกับ ประเทศไทยซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ด้านชีวมวล (Biomass) และมีวัตถุดิบที่มีศักยภาพในการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ได้แก่ มันสำปะหลัง และอ้อย เป็นต้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ