ไทยร่วมสังเกตการความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าโอไอซี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 28, 2011 15:49 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ไทยร่วมสังเกตการความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าโอไอซี เล็งผลเลิศเจาะดันานแฟร์เจาะโลกอิสลาม 57 ประเทศที่ตั้งเป้ามุ่งเพิ่มการค้าในกลุ่มโตแตะ 20% พร้อมส่งสัญญาณวิตก”วิกฤตการเงิน-อาหาร-น้ำ”

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการประจำว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า(The Standing Committee for Economic and Commercial Cooperation - COMCEC) ขององค์การการประชุมอิสลาม (OIC) ครั้งที่ 27 จัดขึ้นที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี 17-20 ตุลาคม 2011 ซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายที่นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.พาณิชย์ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ตลอดจนสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับประเทศคู่ค้า ควบคู่ไปกับการรักษาตลาดหลักและกระจายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพว่า สมาชิก OIC จำนวน 57 ประเทศ ตั้งเป้าการขยายมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสมาชิกเป็น 20 % ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของประเทศสมาชิกภายในปี 2558

“การประชุมให้ความสนใจในการลดข้อกีดกันทางการค้าด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีระหว่างกันลงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยมีการลงนามเกี่ยวกับกรอบความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก การให้สิทธิพิเศษทางการค้า รวมทั้งการกำหนดออกใบกำกับแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อประโยชน์การนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างกัน ซึ่งต่างก็ให้ความสนใจ และมีพิธีลงนามระหว่างกันในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งมีสมาชิก 6 ประเทศนำร่องตามความสมัครใจและความพร้อมของสมาชิกได้แก่ มาเลเซีย โอมาน กาตาร์ ซาอุดิฯ ตุรกี และ ยูเออี” นางนันทวัลย์ กล่าว

นายภานุมาศ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ อิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี กล่าวว่า ความมั่นคงด้านอาหาร การเกษตร -น้ำ และวิกฤตการเงิน เป็นประเด็นในที่ประชุมให้ความสำคัญมาก โดยความมั่นคงด้านอาหาร(Food Security) ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ได้หยิบยกประเด็นเรื่องอาหารกันมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศสมาชิกในตะวันออกกลาง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้แทนสมาชิกของแต่ละประเทศจะแสดงความห่วงใยเรื่องการเกษตร ที่จะต่อเนื่องและเชื่อมโยงไปยังเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ และเพื่อใช้ในการเกษตร และวิกฤตการเงิน (Financial Crisis) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการธนาคารและระบบการเงินในกลุ่มประเทศสมาชิก OIC

“สมาชิก 57 ประเทศยังมีมาตรฐานฮาลาล (Halal Standards) ที่แตกต่างกัน อีกทั้งไม่ต้องการให้บางประเทศผูกขาดเกี่ยวกับมาตรฐานอาหารฮาลาลในตลาดโลก จึงผลักดันให้ OIC เข้ามามีบทบาทด้านนี้ แต่สมาชิกยังไม่สามารถสรุปกันได้ จึงวางกรอบให้มีระเบียบฮาลาล 3 ฉบับเพื่อผลักดันเข้าที่ประชุมในครั้งต่อไป”นายภานุมาศ กล่าว

สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศสังเกตการณ์นับเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยซึ่งมีศักยภาพในอุตสาหกรรมที่กลุ่มปรเทศสมาชิกมีความต้องการ คือ ความมั่นคงด้านอาหาร การเกษตร หากประเทศไทยสามารถเข้าไปเจาะและสร้างเครือข่ายในเชิงรุกอย่างมีแผนกับกลุ่มสมาชิก 57 ประเทศได้จะสามารถมีพันธมิตรทางการค้าและการลงทุนได้มหาศาล ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก OIC ที่มีบทบาทสำคัญส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งทางทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน และพลังงาน รวมถึงแร่ธาตุธรรมชาติซึ่งประเทศไทยมีความต้องการ สำหรับช่องทางการเข้าสร้างพันธมิตรกับกลุ่มสมาชิกสามารถกระทำได้หลายแนวทาง เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมทางการค้า การแลกเปลี่ยนการเยือนคณะผู้แทนการค้า ฯลฯ สำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมทางการค้าอาจจะเสนอประเด็นการขอเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ และงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศสมาชิก หากที่ประชุมเห็นด้วยและอนุญาตให้เข้าร่วมงานในฐานะผู้แสดงสินค้า(Exhibitor)ได้น่าที่จะเป็นผลดีต่องานแสดงสินค้าที่จะทำให้มีทางเลือกมากขึ้น รวมทั้งสามารถเผยแพร่กิจกรรมของกรมฯ และสินค้าที่มีศักยภาพของไทย สู่สายตาชาวโลกมากยิ่งขึ้นด้วย

สำหรับงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ ของกลุ่มประเทศ OIC ได้แก่ 4th OIC on Agri-Business Industries ณ เมืองเจดดาห์ ซาอุดิอาระเบีย 29 พค -1 มิย.2554 มีผู้เข้าร่วมงาน 13 ประเทศ งาน 1st OIC Building Expo ที่กรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล เมื่อ 24-27 มิย 2553

มีผู้เข้าร่วมงาน 12 ประเทศ ส่วนปีนี้มีการจัดงาน OIC Expo ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 24-29 เมย. 2554ที่เมืองชาจาห์ ประเทศยูเออี มีผู้เข้าร่วมงาน 27 ประเทศ งาน 1st OIC Health Expo ประเทศตูนีเซีย 1-4 มีค. 2555, งาน OIC Tourism 9-12 ตค. 2555 กรุงไคโร อียิปต์ งาน International Cotton and Textile Fair ประเทศบูร์กินา ฟาโซ ทั้งนี้ได้เชิญชวนสมาชิกเข้าร่วมงาน Tourism Fair ที่ประเทศอียิปต์ในปี 2555 ด้วย

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ