ในสภาวะที่ประเทศเศรษฐกิจที่มั่งคั่ง ประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ ประเทศเศรษฐกิจใหม่ ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง หันมาทำการค้า และการลงทุนระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น
ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของประเทศในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของบราซิล ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้เพียงร้อยละ 3-4 ในปี 2011 ลดลงเกือบครึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.5 ในปี 2010 ที่ผ่านมา
จากการเยือน 3 ประเทศในทวีปอาฟริกา ได้แก่ อาฟริกาใต้ โมแซมบิก และแองกอรา ของประธานาธิปดี Dilma Rousseff ของบราซิล ในเดือนตุลาคม 2011 ทำให้เห็นศักยภาพในการขยายตลาดการค้า และการลงทุนไปยังประเทศในอาฟริกา ซึ่งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 6.6 ในทศวรรษที่ผ่านมา เช่นเดียวกับการขยายตัวของประเทศในกลุ่ม BRIC ทั้งนี้ ประเทศแองกอรามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าร้อยละ 10 ในช่วงเวลาห้าปีที่ผ่านมา และมีสถิติการขยายตัวสูงสุดในปี 2007 ที่ร้อยละ 22.7 ประเทศโมแซมบิก ในปี 2011 มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 11.9 และในระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ประมาณร้อยละ 6-9
ปัจจุบันแม้สัดส่วนการค้าระหว่างประเทศของบราซิล กับอาฟริกาจะมีเพียงร้อยละ 5 ของการค้าระหว่างประเทศของบราซิล แต่อัตราการขยายตัวทางมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากมูลค่า 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2002 เป็นมูลค่า 20,600 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2010 และคาดว่าจะขยายตัวมีมูลค่าถึง 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2017 โดยการขยายค้า การลงทุน ในอุตสาหรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมน้ำมัน และการเกษตรเขตร้อน ที่บราซิลมีความเชี่ยวชาญเป็นสำคัญ
บริษัท Vale ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของบราซิล ลงทุนมูลค่า 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการทำเหมืองแร่ถ่านหินในประเทศโมแซมบิก ซึ่งจะสร้างมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปีหน้า
บริษัท Odebrecht ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ของบราซิล ได้มีการดำเนินธุรกิจด้านการผลิตอาหาร เอทานอล โรงงานอุตสาหกรรม และซุปเปอร์มาเก็ตในประเทศแองกอรา ปัจจุบันเป็นบริษัทเอกชนที่มีการจ้างงานมากที่สุดของประเทศแองกอรา
บริษัท Ptrobras รัฐวิสาหกิจของบราซิลที่ดำเนินธุรกิจด้านน้ำมัน มีความร่วมมือกับรัฐบาลแองกอรา ในการขุดเจาะน้ำมันในทะเลลึก
โอกาสในการขยายการส่งออกสินค้าอุปกรณ์ เครื่องมือการเกษตรเขตร้อน ที่บราซิลมีความเชี่ยวชาญ และได้เปรียบประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศในยุโรป
เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และส่งเสริมโอกาสในการค้า การลงทุนให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาอุตสาหกรรม และการค้าระหว่างประเทศ (นาย Fernando Pimentel) จะเป็นผู้นำคณะภาครัฐ (Brazilian Trade and Investment Promotion Agency: APEX-Brazil) และเอกชน เดินทางไปเยือนประเทศอาฟริกาใต้ โมแซมบิก และแองกอรา ในปลายเดือนพฤศจิกายน 2011 นี้ อีกครั้งหนึ่ง
ประเทศคู่แข่งสำคัญของบราซิลในภูมิภาคนี้ ได้แก่ ประเทศจีน ซึ่งได้แผ่อิทธิพลด้านการค้า และการลงทุนมาก่อนหน้านี้ โดยในปัจจุบัน ประเทศจีนมีสัดส่วนการค้าประมาณร้อยละ 17 ของภูมิภาคนี้ ในเดือนมีนาคม 2011 บริษัท Jinchuan Group ผู้ผลิตนิคเกิ้ลรายใหญ่ของจีน ชนะการประมูล เหนือบริษัท Vale ของบราซิล ในการซื้อบริษัท Metorex ที่ดำเนินธุรกิจเหมืองแร่ของประเทศอาฟริกาใต้ ในมูลค่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้การสนับสนุนด้านการกู้เงินทุนจากรัฐบาลจีน ทำให้รัฐบาลบราซิลต้องคิดทบทวนแนวทางในการสนับสนุนบริษัทของประเทศตนเอง ให้มีความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น
นโยบายในการส่งเสริมการค้า การลงทุนในอาฟริกาของบราซิล คือการพัฒนาอาฟริกาให้ดีขึ้น ในขณะที่ประเทศจีนเน้นแต่การแสวงหาผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว เช่น บริษัทของจีนละเลยการปฎิบัติตามกฎหมายรคุ้มครองความปลอดภัยของแรงงานในบางประเทศของอาฟริกา และเน้นที่จะนำแรงงานมาจากประเทศจีน แทนที่จะจ้างแรงงานในท้องถิ่น สิ่งที่รัฐบาลบราซิลคิดว่าน่าจะเป็นจุดแข็งในการเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนในภูมิภาคอาฟริกา ได้แก่
- ประเทศบราซิลมีภาพลักษณ์ที่ดี ในสายตาของชาวอาฟริกา ที่จะมาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต หน่วยงานวิจัย พัฒนาการเกษตรของบราซิล (Embrapa) มีสำนักงาน 4 แห่ง ในทวีปอาฟริกา เพื่อถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี่ ความเชี่ยวชาญ ด้านการเพิ่มผลผลิตการเกษตรให้สูงขึ้น การให้การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยารักษาโรคเอดส์ ในโมแซมบิก
- ความสำเร็จของประเทศบราซิลด้านนโยบายการยกระดับประชาชนให้พ้นจากความยากจน ซึ่งจะเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศในอาฟริกา
- การใช้ภาษาโปตุเกส เช่นเดียวกับประเทศบราซิล เช่น ประเทศโมแซมบิก แองกอรา ซึ่งมีประวัติศาสตร์ เคยเป็นเมืองขึ้นของโปตุเกส ทำให้มีความคล้ายคลึงกันในด้านชนชาติ และแนวทางในการดำเนินชีวิต
- ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของบราซิลมีบรรพบุรุษมาจากอาฟริกา บราซิลเป็นประเทศที่มีคนผิวดำมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศไนจีเรีย
ความเติบโตด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติของอาฟริกา จะเป็นโอกาสในการขยายเศรษฐกิจ อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซาเปาโล
ที่มา: http://www.depthai.go.th