ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจกับประเทศอินเดียเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทำการส่งออกสินค้าไปยังตลาดอินเดียมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับการใช้สิทธิตามความตกลงเขตการค้าเสรี FTA ไทย-อินเดีย หรือ ThaiIndia Free Trade Agreement (TIFTA) เนื่องจากตามความตกลงดังกล่าวทำให้สินค้าที่ส่งออกจากไทยจำนวน 82 รายการ ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากประเทศอินเดียนับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2549 เป็นต้นมา โดยสินค้ากลุ่มสำคัญที่มีการใช้สิทธิตามความตกลง TIFTA ดังกล่าวเป็นอย่างมาก ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เครื่องประดับเพชรพลอย อลูมิเนียมเจือ เม็ดพลาสติก เป็นต้น และเป็นที่น่ายินดีที่จากข้อมูลในเรื่องดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าในบรรดาสินค้าที่ได้รับสิทธิดังกล่าวมีผู้ประกอบการขอใช้สิทธิเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 77.11
ตารางแสดงการส่งออกภายใต้สิทธิ FTA ไทย-อินเดีย (TIFTA)
รายการ ปี 2553 ปี 2553 ปี 2554
(6 เดือนแรก) (6 เดือนแรก)
มูลค่าการส่งออกของรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ FTA 786.45 316.68 506.91 มูลการการส่งออกภายใต้สิทธิ FTA 566.21 211.92 390.90 สัดส่วนการใช้สิทธิ FTA (ร้อยละ) 72.00 66.92 77.11 ความตกลงเขตการค้าเสรี FTA อาเซียน-อินเดีย (AIFIA): ใช้ได้กว้างขวางและครอบคลุม
นอกจากความตกลง TIFTA ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีความตกลงอีกรายการหนึ่งซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทยโดยตรง คือ ความตกลงเขตการค้าเสรี FTA อาเซียน-อินเดีย หรือ ASEAN-India Free Trade Agreement (AIFIA) ซึ่งถึงแม้ภายหลังจากการลงนามความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าภายใต้กรอบ AIFTA ดังกล่าวโดยกำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันจะยังไม่มีสินค้ารายการที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าระหว่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ทั้งสองฝ่ายก็ได้ดำเนินการทยอยลดภาษีนำเข้าระหว่างกันตามลำดับ ซึ่งเป็นผลให้สินค้าหลายรายการที่หากผู้ประกอบการไทยจะส่งออกไปยังประเทศอินเดียจะได้รับสิทธิในการชำระภาษีนำเข้าที่ต่ำกว่าอัตราภาษีนำเข้าตามปกติ ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าไทย และทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันกับสินค้าของคู่แข่งในตลาดอินเดียได้ดีขึ้น ตัวอย่างสินค้าที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากการลดภาษีของอินเดีย เช่น เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง ผักและพืชประเภทถั่ว อาหารปรุงแต่ง ปลาซาร์ดีนกระป๋อง และน้ำผลไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ ตามความตกลง AIFTA ดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่จะเอื้อประโยชน์ให้มากขึ้น เนื่องจากสามารถใช้วัตถุดิบจากภายในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมดรวมทั้งสามารถใช้วัตถุดิบจากประเทศอินเดียเองได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้าที่จำกัดอยู่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นหากเป็นการใช้สิทธิพิเศษตามความตกลง TIFTA อย่างไรก็ตาม จนกระทั่งถึงปัจจุบัน การขอใช้สิทธิพิเศษตามความตกลง AIFTA ยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้ประกอบการไทยยังไม่ค่อยทราบถึงประโยชน์ของความตกลง AIFTA ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากยังไม่มีสินค้ารายการใดที่ได้รับการยกเว้นภาษีโดยสิ้นเชิงจึงทำให้ผู้ประกอบการละความสนใจเสีย
ตารางแสดงการส่งออกภายใต้สิทธิ FTA อาเซียน-อินเดีย (AIFTA)
รายการ ปี 2553 ปี 2553 ปี 2554
(6 เดือนแรก) (6 เดือนแรก)
มูลค่าการส่งออกของรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ FTA 3,683.61 1,699.28 2,180.32 มูลการการส่งออกภายใต้สิทธิ FTA 875.46 320.96 665.12 สัดส่วนการใช้สิทธิ FTA (ร้อยละ) 23.77 18.89 30.51 เลือกใช้ให้ดีสามารถได้ประโยชน์จากทั้งสองทาง
เป็นที่แน่นอนว่า การได้รับยกเว้นภาษีจำนวน 82 รายการสินค้าตามความตกลง TIFTA ย่อมเข้าใจง่ายและดึงดูดความสนใจของผู้ประกอบการมากกว่า แต่เมื่อพิจารณาให้ดีแล้วจะพบว่าความตกลง AIFTA นั้นกว้างขวางและครอบคลุมสินค้าจำนวนมากกว่าความตกลง TIFTA มาก โดยในปัจจุบันสินค้ามากกว่าร้อยละ 70 ของรายการสินค้าทั้งหมดได้รับสิทธิในการชำระภาษีนำเข้าของอินเดียในอัตราพิเศษ ดังนั้น หากผู้ประกอบการให้ความสนใจในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้นย่อมจะเป็นประโยชน์โดยตรงกับตัวผู้ประกอบการเอง ยกตัวอย่างเช่น หากสินค้าที่จะทำการส่งออกไปยังอินเดียอยู่ใน 82 รายการที่ได้รับยกเว้นภาษีตามความตกลง TIFTA อยู่แล้วก็คงไม่มีข้อสงสัยใดๆ ที่จะขอใช้สิทธิตามความตกลง TIFTA แต่หากสินค้าดังกล่าวไม่อยู่ใน 82 รายการดังกล่าว หรือเป็นสินค้าที่มีการใช้วัตถุดิบหรือทำการผลิตบางส่วนนอกประเทศไทย ซึ่งไม่ตรงตามหลักเกณฑ์เรื่องถิ่นกำเนิดสินค้าและอาจไม่สามารถขอใช้สิทธิตามความตกลง TIFTA ได้ ในกรณีนี้ ผู้ประกอบการก็ไม่ควรละเลยที่จะพิจารณาการขอใช้สิทธิตามความตกลง AIFTA ในอีกทางหนึ่ง เพื่อเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยในตลาดอินเดียให้เพิ่มมากขึ้น โดยไม่ว่าจะเป็นการขอใช้สิทธิตามความตกลงใดก็ตาม ผู้ส่งออกสามารถขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าตามแบบฟอร์มที่กำหนดได้ที่ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยในการขอหนังสือรับรองดังกล่าวกรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจนว่าต้องการจะนำไปเพื่อขอใช้สิทธิตามความตกลงใด ทั้งนี้ รายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความตกลงเขตการค้าเสรีทั้งหมดรวมทั้งตารางการลดภาษีของทั้งสองฝ่ายตามความตกลง สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www.thaifta.com
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ
ที่มา: http://www.depthai.go.th