การพัฒนาธุรกิจ Outsourcing ในจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 2, 2011 14:12 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ปัจจุบัน ประเทศที่เป็นศูนย์กลางของธุรกิจ Outsourcing คือ อินเดีย จีนและมาเลเซีย อย่างไรก็ตามเนื่องจากองค์กรไม่พร้อมที่จะใช้ทรัพยากรภายในที่มีอยู่ทำงานนั้นด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าลงทุนทำเองทั้งหมดคงต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนไม่น้อย ดังนั้นทางเลือกหนึ่งก็คือ การจ้างให้คนอื่นทำแทน นอกจากจะลดต้นทุนการดำเนินงานแล้ว ยังสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายที่แน่นอนได้และไม่ต้องรับภาระการจ้างพนักงาน

บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก KPMG คาดการณ์ว่า ธุรกิจบริการด้าน Outsourcing ของจีนจะเติบโตถึงร้อยละ 26 โดยมีมูลค่า 43,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2557 จากความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

บริษัท KPMG รายงานว่า อุตสาหกรรมบริการด้าน Outsourcing จัดเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ในจีน แต่มีอัตราขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในปี 2552 จีนมีการเซ็นสัญญาบริการด้าน Outsourcing รวม 60,247 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 143 จากปีก่อนหน้า สัญญามีมูลค่ารวม 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 186

ปัจจัยที่กระตุ้นความต้องการของธุรกิจบริการด้าน Outsourcing ในจีน คือ การเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งบริษัท KPMG คาดว่า จะมีการเข้าซื้อและควบรวมกิจการของธุรกิจด้าน Outsourcing เพิ่มมากขึ้นในจีนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เนื่องจากบริษัทจีนมีแนวโน้มจะขยายขนาดธุรกิจเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งต่างชาติ เช่น อินเดีย ขณะเดียวกัน บริษัทด้าน Outsourcing ของจีนที่มีขนาดไม่ใหญ่นักก็มักต้องเผชิญกับความยากลำบากในการแข่งขันกับคู่แข่งที่มีขนาดใหญ่ เพื่อแย่งชิงโครงการในต่างประเทศ ทำให้ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา บริษัทด้าน Outsourcing ของจีน เร่งการควบรวมกิจการมากขึ้น เพื่อขยายขนาดธุรกิจ

อย่างไรก็ดี รายงานของ KPMG พบว่า บริษัทให้บริการด้าน Outsourcing ของจีน ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกน้อยกว่าบริษัทต่างชาติ เนื่องจากโครงการสัญญาในต่างประเทศของธุรกิจ Outsourcing จีนในปี 2552 มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 22 ของมูลค่าสัญญา Outsourcing ทั้งหมด ไม่เหมือนกับอุตสาหกรรมธุรกิจ Outsourcing ของอินเดียที่มีขนาดใหญ่ จึงได้รับผลกระทบในระดับที่ลึกกว่า อย่างไรก็ดี โครงการสัญญาในต่างประเทศของธุรกิจ Outsourcing จีนคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 35 ในปี 2557

เชียน ฝางหลี่ (Qian Fangli) รองผู้อำนวยการด้านการลงทุนในต่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์จีนได้แถลงว่า จีนอยู่ระหว่างการร่าง “แผนพัฒนาอุตสาหกรรม Outsourcing Service” และคาดว่าภายในปี 2556 จะมีนักศึกษามหาวิทยาลัย/วิทยาลัยที่จบการศึกษาเพื่อรองรับอุตสาหกรรม Outsourcing Service ของประเทศราว 1 ล้านคน เพื่อรองรับธุรกิจ Outsourcing Service ของจีนที่จะเติบโตในแต่ละปีกว่าร้อยละ 40 และเพื่อสร้างแบรนด์ความเป็น Outsourcing Service ของจีนต่อไป

รัฐบาลจีนประกาศการยกเว้นภาษีธุรกิจบริการ Outsource ให้กับต่างประเทศ (offshore service outsourcing) ใน 21 เมืองของจีน เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม

อัตราภาษีด้านการดำเนินการธุรกิจร้อยละ 5 เริ่มถูกยกเว้นตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม 2553 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ภายใต้มติข้อตกลงร่วมกันที่ออกโดยกระทรวงการคลังคณะกรรมการการบริหารทางด้านภาษีและกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงการยกเว้นภาษีนั้นกล่าวไว้ว่า รายได้จากการประกอบธุรกิจการให้บริการ Outsource กับต่างประเทศจะถูกงดเว้นภาษีนั้น หมายถึง รายได้ หรือ ผลประกอบการที่เกิดขึ้นจากการให้บริการกับบริษัทต่างชาติในการให้บริการ 3 ด้าน อันได้แก่ การให้บริการทางด้านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ (Information Technology Outsourcing) หรือ ITO การให้บริการเกี่ยวกับการดำเนินการทางด้านธุรกิจ (Business Processing Outsourcing) หรือ BPO และการให้บริการเกี่ยวกับกระบวนการให้ความรู้ (Knowledge Process Outsourcing) หรือ KPO

อนึ่ง ข้อตกลงฉบับนี้มีผลบังคับใช้กับเมืองในประเทศจีนทั้งสิ้น 21 เมืองได้แก่ กรุงปักกิ่ง เทียนจิน ต้าเหลียน ฮาร์บิน ต้าชิง เซี่ยงไฮ้ หนานจิง ซูโจว อู๋ซี่ หังโจว เหอเฟย หนานชาง เซี่ยเหมิน จี่หนาน อู่ฮั่น ฉางซา กว่างโจว เซินเจิ้น ฉงชิ่ง เฉิงตูและซีอาน

อุตสาหกรรมการให้บริการ Outsource ภายในประเทศจีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21 ต่อปี คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 23,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2552 โดยบริษัทผู้ให้บริการใดก็ตามที่ได้เสียภาษีการดำเนินธุรกิจตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม ที่ผ่านมาแล้วนั้น จะได้รับเงินภาษีดังกล่าวคืนภายในปีนี้

เมืองหางโจวดึงต่างชาติลงทุนเพิ่ม เน้นภาคธุรกิจบริการด้าน Outsourcing

เมืองหางโจวซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียงกำลังเร่งปรับโมเดลเศรษฐกิจจากการขับเคลื่อนด้วยทรัพยากรการผลิตเป็นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยจะเน้นที่การเปิดเสรีด้านการค้าการลงทุน สร้างความร่วมมือกับต่างประเทศยิ่งขึ้น และกระตุ้นการนำเข้าและภาคบริการ

เมืองหางโจวเร่งปรับโมเดลเศรษฐกิจจากการขับเคลื่อนด้วยทรัพยากรการผลิตเป็นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยมีอุตสาหกรรมหลัก (Pillar Industries) 5 ด้าน ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สารสนเทศ เคมีเวชภัณฑ์ การผลิตด้วยเครื่องจักร เสื้อผ้าและสิ่งทอ และเครื่องดื่มและอาหาร สำหรับทิศทางของการพัฒนาในระยะต่อไป คือ การเน้นที่นโยบายการเปิดเสรีด้านการค้าการลงทุน สร้างความร่วมมือกับต่างประเทศยิ่งขึ้นอีก และกระตุ้นการนำเข้าและภาคบริการ

รัฐบาลเมืองหางโจวเปิดเผยว่า จะเสริมความแข็งแกร่งด้านการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ และขยายความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเน้นในภาคธุรกิจบริการด้าน Outsourcing ทั้งนี้ ในปี 2552 เมืองหางโจวดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศสูงเป็นอันดับ 3 ของเมืองในเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta : YRD) รองจากนครเซี่ยงไฮ้และเมืองซูโจว โดยมีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศตามสัญญาและมูลค่าการลงทุนจริงคิดเป็นร้อยละ 43.1 และร้อยละ 39.8 ของมูลค่าการลงทุนตามสัญญาทั้งหมดของเขต YRD ตามลำดับ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมืองหางโจวได้รับการขนานนามจากรัฐบาลจีนว่าเป็น “เมืองตัวอย่างของธุรกิจ Outsourcing ของจีน” เช่นเดียวกับที่กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงพาณิชย์ของจีนขนานนามให้หางโจวเป็น “ศูนย์ฝึกอบรมด้านบริการ Outsourcing ของจีน” นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังจัดอันดับให้หางโจวเป็น “เมืองที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนในจีน” ติดต่อกัน 4 ปี และนิตยสาร Forbes จัดอันดับให้หางโจวเป็น “เมืองที่มีความเป็นพาณิชย์มากที่สุดในจีน” ติดต่อกัน 6 ปี และสถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีนได้จัดให้เมืองหางโจวเป็น “เมืองที่มีการพลังแห่งการขับเคลื่อนหมุนเวียนมากที่สุดในจีน” ด้วย

ในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. 2553 เมืองหางโจวอมุมัติโครงการลงทุนจากต่างประเทศแล้ว 331 ราย คิดเป็นมูลค่าลงทุน 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.9 นอกจากนี้ ในช่วงดังกล่าว ยังมีบริษัทชั้นนำในฟอร์จูน 500 เข้ามาจัดตั้งในเมืองหางโจว 122 บริษัท โดยเป็นบริษัทด้านการเงิน โครงการด้านไฮเทค และการผลิตและบริการสมัยใหม่ อาทิ US Liberty Insurance และ Mitsui Sumitomo Insurance เป็นต้น

สำหรับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจีนที่ใช้กับพื้นที่เขตลุ่มแม่น้ำแยงซีนั้น ได้กำหนดยุทธศาสตร์ให้เมืองหางโจวเป็นฐานอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง และศูนย์กลางการท่องเที่ยว ศูนย์กลางวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของประเทศ ศูนย์กลางธุรกิจอีคอมเมิร์ส และศูนย์กลางการเงินของภูมิภาค

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ