สถานการณ์ข้าวในเวียดนาม (รายงาน ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 2, 2011 14:18 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การผลิต

ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2554 เกษตรกรเวียดนามในแถบที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง (Mekong Delta) เริ่มหว่านข้าวฤดูการผลิต winter — spring ซึ่งเป็นฤดูการผลิตแรกของปี 2011/2012 บนพื้นที่ 150,000 เฮคตาร์จากจำนวนพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดสำหรับ crop นี้ 1.55 ล้านเฮคตาร์ ส่วนที่เหลืออีก 1.4 ล้านเฮคตาร์ต้องชะลอการเพาะปลูกออกไปเป็นปลายปี 2554 เพื่อหลีกเลี่ยงศัตรูพืชที่จะมีมาหลังการลดลงอย่างช้าๆ ของภาวะน้ำท่วม

น้ำท่วมในเขต Mekong Delta ส่งผลเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกข้าวฤดูการผลิต autumn — winter ซึ่งเป็นฤดูการผลิตก่อนหน้า (ฤดูการผลิตที่ 3 ของปี 2554) คิดเป็นมูลค่าอย่างน้อยประมาณ 20 ล้านด่ง (US$ 980) ต่อเฮคตาร์ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตกรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม (MARD) คาดว่าผลผลิตข้าวทั้งปี 2554 เป็น 22.8 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1.3 ล้านตัน ส่วน Business Monitor International Ltd., ได้ประมาณการณ์ผลผลิตและการบริโภคข้าวของเวียดนามในช่วง 2553 — 2558 เป็นดังนี้

                                   2553        2554f        2555f        2556f        2557f        2558f
ผลผลิตข้าว (พันตัน)                  24,993    25,801.90    26,272.70    26,644.90    27,603.72    28,628.00
การบริโภคข้าว (พันตัน)            19,179.70    19,695.10    20,330.10    20,883.80    21,453.10    22,036.90
ที่มา: USDA, f = BMI ประมาณการณ์

เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2554 สภาแห่งชาติเวียดนาม (National Assembly) ได้มีมติให้คงพื้นที่เพาะปลูกข้าวไว้ทั้งหมดเฉลี่ย 3.81 ล้านเฮคตาร์จนถึงปี 2563 ซึ่งลดลงจาก 3.95 ล้านเฮคตาร์ภายในปี 2558 ตามแผน

แผนการพัฒนาการเพาะปลูกข้าวของเวียดนาม

กระทรวงเกษตกรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม (MARD) ได้ทดลองนำรูปแบบการผลิตแบบ “นาข้าวขนาดใหญ่” มาทดลองใช้กับฤดูการผลิต summer — autumn 2011 ในพื้นที่แม่โขงเดลต้าเป็นฤดูแรก โดยมีเกษตรกร 6,400 ครัวเรือนเข้าร่วมโครงการเป็นพื้นที่เพาะปลูก 7803 เฮคตาร์ (ตามแผนตั้งเป้าไว้ 8730 เฮคตาร์) และ MARD คาดหวังว่าโมเดลนี้จะช่วยลดต้นทุนการผลิตลง 120 — 600 ด่ง/กิโลกรัม

โครงการนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างที่ดิน กำลังคน และบริษัทค้าข้าว ในการเพาะปลูกข้าว ผลิตข้าว และจัดการตลาด โดยบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิต เช่น การจัดหาเมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าแมลง/ วัชพืช ปุ๋ย ระบบชลประทาน และการให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีการผลิต เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว บริษัทจะได้รับสิทธิ (exclusive right) จากเกษตรกรโดยหักค่าใช้จ่ายจากราคาขาย

MARD มีแผนจะขยายพื้นที่ของโมเดลดังกล่าวเป็น 20,000 เฮคตาร์ภายในฤดูการผลิต winter — spring 2011/2012 ขยายเป็น 50,000 เฮคตาร์ภายในสิ้นปี 2555 และภายในสิ้นปี 2556 พื้นที่ของโมเดลจะขยายเป็น 100,000 เฮคตาร์

อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าข้าวส่วนใหญ่ยังลังเลที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว

การค้าในประเทศ

ในช่วง ตุลาคม — พฤศจิกายน บริษัทค้าข้าวส่วนใหญ่ได้หยุดการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรเป็นเวลาเกือบเดือนเพราะไม่มีสัญญาการส่งออกใหม่ในช่วงดังกล่าวและปริมาณผลผลิตมีไม่มากพอป้อนโรงสี อย่างไรก็ตาม ในปลายเดือนพฤศจิกายน ผู้ค้าข้าวได้เริ่มกลับมาซื้อข้าวใหม่ แต่ผลผลิตไม่มากพอสำหรับการสีข้าวเต็มกำลังการผลิต

แม้การค้าข้าวในประเทศจะเพิ่มขึ้นแต่ราคาซื้อขายข้าวฤดูการผลิตที่ 3 ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะยังไม่มีสัญญาการสั่งซื้อข้าวใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

ราคาซื้อขายข้าวในเขตแม่โขงเดลต้า

หน่วย: ด่ง/กิโลกรัม

ชนิด                           17 พฤศจิกายน 2554     24 - 25 พฤศจิกายน 2554
ข้าวเปลือก IR 50404 (แห้ง)       7,150 — 7,300        7,000 — 7,100
ข้าวเปลือก IR 50404 (สด)        6,400 — 6,500        6,200 — 6,300
ข้าวเปลือกเมล็ดยาว (แห้ง)         7,400 — 7,700        7,300 — 7,550
ข้าวเปลือกใช้ผลิต
ข้าว 5%                        9,500 — 9,550        9,400 — 9,450
ข้าว 25%                       9,400 — 9,450        9,300 -,9,350
ข้าวสาร
ข้าว 5%                        11,500 - 11,750      11,400 — 11,600
ข้าว 15%                       11,400 - 11,550      11,300 — 11,400
ข้าว 25%                       10,700 — 10,850      10,600 — 10,700
ที่มา: Saigon Times Daily ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 (21,000 ด่ง  = 1 เหรียญสหรัฐ)

อย่างไรก็ตาม สมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) พยายามเผยแพร่ข้อมูลว่า เวียดนามมีสัญญาส่งมอบข้าวให้อินโดนีเซีย 1 ล้านตันข้าวสารภายในต้นปี 2555 โดยเป็นการสั่งซื้อของ Bulog ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้าน โลจิสติกส์ของอินโดนีเซีย จำนวน 700,000 ตัน ซึ่งจะส่งมอบต้นปีหน้าเช่นกันและสัญญาใหม่ที่เพิ่งเซ็นเมื่อเร็วๆ นี้ในการส่งออกข้าว 15% ให้อินโดนีเซีย 300,000 ตัน ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2555

การส่งออก

แม้เผชิญแรงกดดันจากการแข่งขันของแหล่งค้าข้าวราคาถูกเช่นอินเดียและปากีสถาน ทำให้เวียดนามมีสัญญาสั่งซื้อข้าวใหม่จำนวนไม่มากนัก แต่ผู้ส่งออกในท้องถิ่นยังคงมีความหวังเมื่อประเทศไทยเผชิญปัญหาน้ำท่วมและคาดว่าคงใช้เวลาอีกระยะหนึ่งว่าจะสามารถกลับมาค้าข้าวในตลาดโลกได้

นักวิจัยของ Agro Monitor (บริษัทวิจัยด้านสินค้าเกษตรที่ภายใต้ MARD) เชื่อว่าในระยะปานกลางและระยะยาว ข้าวเวียดนามจะได้รับอานิสงส์จากข้าวไทยที่ส่งออกในราคาสูงและอินเดียหยุดการส่งออกข้าวเพื่อความมั่นคงด้านอาหารในประเทศ

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 เวียดนามได้เซ็นสัญญาส่งออกข้าว 15% ให้อินโดนีเซีย 300,000 ตัน ในราคาตันละ 545 เหรียญสหรัฐ ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ทำให้การส่งออกข้าวตามสัญญาทั้งหมดของเวียดนามขณะนี้เป็น 7.325 ล้านตันข้าวสาร โดยข้าวจำนวน 7 ล้านตันจะส่งมอบให้ผู้ซื้อภายในปี 2554 นี้ ส่วนที่เหลือจะส่งมอบต้นปีหน้า

การส่งออข้าวเวียดนามกในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2554 เป็น 6.8 ล้านตัน มูลค่า 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 7.1% และ 16.7% ตามลำดับ

ฟิลิปปินส์กลายเป็นผู้นำเข้ารายสำคัญอันดับ 2 ของข้าวเวียดนามต่อจากอินโดนีเซีย ซึ่งการนำเข้าทั้งสองตลาดคิดเป็น 40% ของการส่งออกข้าวของเวียดนามทั้งหมด

ทางเลือกของเวียดนามในตลาดค้าข้าวโลก: รอคอย หรือ เข้าร่วม

ตลาดค้าข้าวโลกเกิดความผันผวนเมื่อผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของโลกเช่นอินโดนีเซียได้สั่งซื้อข้าวจากผู้ส่งออกอินเดียและปากีสถานแทนข้าวเวียดนามและไทยเพราะราคาต่ำกว่า ขณะที่ราคาข้าวในตลาดโลกก็ยังไม่ได้สูงขึ้นมากตามที่คาด ทำให้ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามต้องพิจารณาอย่างหนักถึงแนวทางที่จะเลือกเดินในเส้นทางการค้าโลก

เวียดนามเคยคาดว่า นโยบายรัฐบาลไทยที่จะรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคา 15,000 บาท (ประมาณ 500 เหรียญสหรัฐ) โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม เป็นต้นมานั้นจะช่วยผลักดันให้ราคาข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเป็น 700 — 800 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่เนื่องจากประเทศไทยต้องประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งร้ายแรงในรอบ 50 ปี และคาดว่าทำความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกข้าวกว่า 20% ทำให้ปัจจุบันราคาข้าวในตลาดโลกต่ำกว่าที่คาด โดยราคาข้าว 5% ส่งออกที่เสนอโดยเวียดนามและไทยเป็น 570 — 580 เหรียญสหรัฐ/ตัน และ 600 — 610 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตามลำดับ

การกลับเข้าสู่วงการค้าข้าวในตลาดโลกของอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก (แต่ไม่ใช่ผู้ส่งออกรายใหญ่) มีผลกระทบอย่างมากต่อตลาดโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ส่งออกข้าวเวียดนาม ที่จะต้องตัดสินใจเลือกระหว่างยังคงรอคอยข่าวดีจากประเทศไทยที่จะสามารถทำให้ราคาส่งออกในตลาดค้าข้าวโลกสูงขึ้น หรือมุ่งหน้าหาลูกค้าเซ็นสัญญาส่งออกข้าวราคาถูกโดยมีคู่แข่งคืออินเดียและปากีสถาน

หากเวียดนามรอคอยโดยหวังว่าราคาข้าวจะสูงขึ้นและยังไม่ตกลงใจเซ็นสัญญาซื้อขายข้าวให้ลูกค้าในตลาดโลกขณะนี้อาจพลาดโอกาสที่จะสามารถขายข้าวได้เพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าเกษตรกรส่งออกข้าวจำนวนมากในปัจจุบันอาจต้องเสียใจที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นภายหลัง

อย่างไรก็ตาม VFA เชื่อว่าราคาข้าวส่งออกในปี 2012 มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นและได้แนะนำให้ผู้ส่งออกข้าวหาทางเซ็นสัญญาการส่งออกข้าวให้อินโดนีเซีย และควรสร้างความสัมพันธ์ด้านการส่งออกกับมาเลเซีย รวมทั้งแนะนำให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวและสีข้าวโดยเร็วเพื่อรองรับราคาขายที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ