อินเดียเป็นตลาดใหญ่มากสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอาหารประเภทบะหมี่สำเร็จรูปซึ่งมีราคาต่อหน่วยไม่สูงนักและสะดวกในการรับประทาน แต่กว่าที่สินค้าบะหมี่สำเร็จรูปจะได้รับการต้อนรับและเข้าตลาดได้จนเจริญเติบโตอย่างมากอย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากในอดีต ผู้บริโภคชาวอินเดียส่วนใหญ่ยังคงมีความเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่มาก อาหารที่จะรับประทานจะต้องเป็นอาหารสด ปรุงเสร็จใหม่ๆ ร้อนๆ และทำรับประทานเองที่บ้านแบบ Home-Cooked บะหมี่สำเร็จรูปในยุคแรกๆสำหรับชาวอินเดียจึงเป็นของแปลกที่ผู้บริโภคชาวอินเดียไม่กล้าซื้อไปทดลองรับประทาน
บะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อ Maggie ของบริษัท Nestle เป็นบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อแรกที่เปิดตัวในตลาดอินเดียในปี 2526 โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นเด็ก และมีจุดขายหลัก (USP: Unique Selling Point) เน้นที่ความสะดวกสบาย ความรวดเร็วและรสชาติอร่อย ประกอบกับในช่วงที่เปิดตัวสินค้านั้น โครงสร้างทางสังคมของอินเดียก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจบะหมี่สำเร็จรูป เนื่องจากสตรีชาวอินเดียเริ่มออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น จนไม่มีเวลากลับมาประกอบอาหารที่บ้านแบบที่เคยทำมา ความต้องการสินค้าอาหารที่ทำได้สะดวก รวดเร็ว จึงมีมากขึ้นและบะหมี่สำเร็จรูป Maggie ก็คือสินค้าที่เข้ามาตอบโจทย์นี้ได้ จึงกลายเป็นบะหมี่สำเร็จรูปที่ได้รับความนิยมสูงสุดในอินเดียมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน
ทุกวันนี้วิถีชีวิตของชาวอินเดียได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ความเป็นเมือง (Urbanization) ได้ขยายตัวออกไปอย่างมาก ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวอินเดียมีเวลาน้อยลง ความต้องการอาหารที่ปรุงอย่างรวดเร็ว รสชาติถูกปากและมีประโยชน์จึงเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ตลาดสำหรับบะหมี่สำเร็จรูปในอินเดียปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 13,000 ล้านรูปี (ประมาณ 8,450 ล้านบาท) และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 30,000-35,000 ล้านรูปี (ประมาณ 19,500-22,750 ล้านบาท) ในปี 2558 ด้วยอัตราการเจริญเติบโตปีละ 18-20% ทำให้บริษัทผู้ผลิต/จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการหมุนเวียนสูง (FMCG: Fast Moving Consumer Goods) เข้ามาแข่งขันในตลาดนี้มากขึ้น ทั้งนี้ จากผลการสำรวจตลาดของ Euromonitor พบว่าบะหมี่สำเร็จรูปเป็นสินค้าที่เติบโตเร็วที่สุดในตลาดค้าปลีกของอินเดียในปี 2553 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตลาดอินเดียเป็นตลาดที่มีความต้องการบริโภคบะหมี่สำเร็จรูปสูงมากเป็นอันดับ 7 ของโลกและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มต่อไปอีก โดยในปี 2553 ผู้บริโภคชาวอินเดียมีความต้องการบริโภคบะหมี่สำเร็จรูป 29,400 ล้านซอง/ถ้วย เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ถึง 29% ซึ่งหมายความว่าในปี 2553 ที่ผ่านมาผู้บริโภคชาวอินเดียบริโภคบะหมี่สำเร็จรูปโดยเฉลี่ยคนละประมาณ 2 ซอง/ถ้วยต่อเดือน ซึ่งถือว่ายังไม่มากนัก ถ้าหากบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายสามารถใช้การรณรงค์ทางการตลาด (Marketing Campaign) ให้มากกว่านี้ ก็จะสามารถกระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวอินเดียเพิ่มการบริโภคบะหมี่สำเร็จรูปต่อคนได้อีก ซึ่งจะทำให้ยอดขายบะหมี่สำเร็จรูปในอินเดียโดยรวมเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล ซึ่งบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชนิดที่หมุนเวียนเร็ว (FMCG: Fast-Moving Consumer Goods) ก็ได้มองเห็นโอกาสและศักยภาพของตลาดนี้ จึงได้ทะยอยกันเข้ามาแข่งขันในตลาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ตลาดบะหมี่สำเร็จรูปในอินเดียถือเป็นตลาดที่มีการเจริญเติบโตอย่างมากและยังมีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปอีกมากเนื่องจากอินเดียเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน ประกอบกับมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องทำให้ความเจริญขยายตัวออกไปทั่วทุกรัฐ มีผลทำให้เกิดความเป็นเมือง (Urbanization) มากขึ้น ผู้บริโภคมีเวลาน้อยลง ความต้องการอาหารที่ให้ความสะดวกและใช้เวลาในการปรุงน้อยมีมากขึ้น นอกจากนั้นบะหมี่สำเร็จรูปยังเป็นอาหารที่ราคาไม่แพง สามารถหาซื้อได้ทั่วไปในตลาดทั้งในร้านค้าปลีกรายย่อย (Kirana) ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วไป หรือจะซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือไฮเปอร์มาร์เก็ตทันสมัยที่กำลังขยายตัวอย่างมากอยู่ในขณะนี้ก็ได้ ทั้งนี้ ในปี 2553 ที่ผ่านมา พบว่ายอดขายบะหมี่สำเร็จรูปในประเทศอินเดีย 82% มาจากร้านค้าปลีกรายย่อย (Kirana) ในขณะที่ช่องทางการจัดจำหน่ายที่ทันสมัยอย่างซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตมีสัดส่วนยอดขายอยู่เพียง 15% แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นตามการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน
ในปี 2553 ที่ผ่านมา ยอดขายบะหมี่สำเร็จรูปในอินเดียมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 16,255 ล้านรูปี (ประมาณ 10,566 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ประมาณ 18.7% แต่ถ้าคำนวณอัตราการเจริญเติบโตของยอดขายเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ปี 2548 ถึงปี 2553 พบว่ามีอัตราการเจริญเติบโตสูงถึง 21.9% และถ้าเปรียบเทียบยอดขายในปี 2553 กับยอดขายในปี 2548 พบว่าอัตราการเจริญเติบโตยิ่งสูงมากถึง 169.7% ทั้งนี้ การบรรจุหีบห่อของบะหมี่สำเร็จรูปในตลาดอินเดียแบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ บรรจุในซอง (Pouch) บรรจุในถ้วย (Cup) และบรรจุในชาม (Bowl) แต่ส่วนใหญ่ผู้บริโภคชาวอินเดียจะนิยมซื้อบะหมี่สำเร็จรูปที่บรรจุในซองมากกว่าชนิดที่บรรจุในถ้วยและชาม โดยในปี 2553 บะหมี่สำเร็จรูปที่บรรจุในซองมียอดขายสูงถึง 16,021.6 ล้านรูปี (ประมาณ 10,414 ล้านบาท) คิดเป็น 98.56% ของยอดขายบะหมี่สำเร็จรูปทั้งหมด ปัจจัยสำคัญก็คือ ราคาที่สูงกว่าของบะหมี่สำเร็จรูปที่บรรจุในถ้วยและชาม
ในแง่ปริมาณ ยอดขายบะหมี่สำเร็จรูปในตลาดอินเดียในปี 2553 มีปริมาณทั้งสิ้น 146,200 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ประมาณ 16.7% แต่ถ้าคำนวณอัตราการเจริญเติบโตของยอดขายเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ปี 2548 ถึงปี 2553 พบว่ามีอัตราการเจริญเติบโตสูงถึง 19.5% และถ้าเปรียบเทียบยอดขายในปี 2553 กับยอดขายในปี 2548 พบว่าอัตราการเจริญเติบโตยิ่งสูงมากถึง 143.5%
ดังกล่าวข้างต้นแล้วว่าตลาดบะหมี่สำเร็จรูปในอินเดียเป็นตลาดใหญ่มากและยังมีโอกาสอีกมหาศาล เนื่องจากการบริโภคโดยเฉลี่ยของผู้บริโภคชาวอินเดียยังถือว่าไม่สูงนัก บริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคของอินเดียจึงได้เข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้นโดยตลอด จากการสำรวจบริษัทต่างๆที่แข่งขันกันอยู่ในตลาดบะหมี่สำเร็จรูปของอินเดียจนถึงปี 2553 มีดังนี้
1.Nestle India Ltd.
บริษัท Nestle India Ltd. เป็นบริษัทแรกในอินเดียที่เริ่มเปิดตลาดบะหมี่สำเร็จรูป โดย ส่งบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อ Maggie ออกสู่ตลาดในปี 2526 ซึ่งขณะนั้นบะหมี่สำเร็จรูปยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และยังถือเป็นสินค้าแปลกที่ยากแก่การยอมรับในหมู่ผู้บริโภคชาวอินเดียอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อ Maggie เป็นบะหมี่สำเร็จรูปที่ผู้บริโภคชาวอินเดียนิยมมากที่สุดจนตรายี่ห้อ Maggie ได้กลายเป็น Generic Name แทนคำว่าบะหมี่สำเร็จรูปไปแล้ว เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่ตรายี่ห้อ Mama ก็ได้กลายเป็น Generic Name แทนคำว่าบะหมี่สำเร็จรูปด้วยเช่นเดียวกัน
จนถึงปี 2553 บะหมี่สำเร็จรูป Maggie มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดถึง 78% เนื่องจากมีข้อได้เปรียบจากการเข้าตลาดเป็นรายแรก (First Mover Advantage) ประกอบกับมีการกำหนดจุดขาย (Unique Selling Point: USP) ที่ชัดเจน คือ เน้นความสะดวก ความรวดเร็วและรสชาติ นอกจากนั้นบริษัทฯ ยังได้ทำการส่งเสริมการขายและโหมโฆษณาในสื่อต่างๆอย่างหนักและสม่ำเสมอ รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีรสชาติหลากหลายเพื่อตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังได้พยายามเน้นว่า Maggie เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีส่วนผสมที่สมดุลระหว่างคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน โดยล่าสุดได้มีการแนะนำสินค้าใหม่ คือ Rice Noodle Mania ซึ่งมีรสชาติเพิ่มมาใหม่อีก 2 รส คือ Lemon Masala กับ Shahi Pulao อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์สำคัญของบริษัทฯ ก็คือการกระจายสินค้าผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางของบริษัทฯ นั่นเอง
2.Indo Nissin Foods
บริษัท Indo Nissin Foods ของกลุ่ม Nissin Foods เข้าสู่ตลาดอินเดียในปี 2534 ด้วย บะหมี่สำเร็จรูปตรา Top Ramen โดยในระยะแรกได้แต่งตั้งให้บริษัท Hindustan Unilever (HUL) เป็นผู้จัดจำหน่าย แต่ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา บริษัทฯ ได้ตัดสินใจดำเนินการด้านการจัดจำหน่ายเอง ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา Top Ramen มีอัตราการเจริญเติบโตกว่า 30% สำหรับบริษัท Nissin Foods เป็นบริษัทแรกของโลกที่พัฒนาบะหมี่สำเร็จรูปบรรจุในถ้วย (Cup Noodles) มาตั้งแต่ปี 2514 แล้ว แม้ว่าสัดส่วนตลาดของบะหมี่สำเร็จรูปชนิดบรรจุในถ้วย/ชามในอินเดียจะยังคงเล็กอยู่ แต่บริษัทฯ ก็เป็นผู้นำตลาดในส่วนนี้ โดยราคาขายปลีกบะหมี่สำเร็จรูปบรรจุในถ้วยของ Top Ramen อยู่ที่ 25 รูปี นอกจากนั้น Top Ramen ชนิดบรรจุซองก็ยังมีจำหน่ายด้วย โดยในปี 2552 Top Ramen มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 9.6%
สำหรับกลยุทธ์ทางการตลาดของ Top Ramen จะเน้นความเป็นผู้นำตลาดด้าน Cup Noodles เนื่องจากมีจุดแข็งที่เป็นผู้ผลิตรายแรกของโลก รวมทั้งมีการลงทุนในการสร้างตราสินค้า (Brand Building Activities Investment) และขยายเครือข่ายช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างมาก
3.ITC Foods
บริษัท ITC Foods เป็นเจ้าของบะหมี่สำเร็จรูปตรา Sunfeast Yippee เข้าตลาดครั้งแรกที่เมืองเจนไน (Chennai) โคอิมบาตอร์ (Coimbatore) และเกรละ (Kerala) บริษัทฯ เปิดเผยว่าแม้จะเข้าตลาดมาทีหลัง แต่ก็สามารถแข่งขันจนมีส่วนแบ่งตลาดในปัจจุบันประมาณ 10% (ตารางแสดงส่วนแบ่งตลาดในรายงานฉบับนี้มีตัวเลขถึงปี 2552 จึงยังไม่ปรากฎชื่อ Sunfeast Yippee) สำหรับกลยุทธ์ที่สำคัญของบริษัท ITC Foods นอกจากการใช้เครือข่ายกระจายสินค้าที่เข้มแข็งแล้ว บริษัทฯ ยังได้ทุ่มเทด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยและพบว่า
- เส้นหมี่ของบะหมี่สำเร็จรูปทั่วไปมีแนวโน้มที่จะอืดหลังจากที่ผู้บริโภคเทน้ำร้อนลงไปแล้วไม่บริโภคทันที
- เด็กๆชอบบะหมี่เส้นยาว เนื่องจากเวลาบริโภคเด็กๆจะดูดเส้นหมี่เข้าปากและมีเสียงดัง
- ผู้บริโภคส่วนใหญ่ชอบเติมซ้อสเพิ่มเข้าไปอีกในการปรุงบะหมี่เพื่อเพิ่มรสชาติและสีสรรของบะหมี่ให้น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น
จากผลการศึกษาวิจัยดังกล่าว บริษัทฯ ได้นำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดังนี้
- ผลิตบะหมี่เส้นกลมที่มีขนาดยาวกว่าบะหมี่ของยี่ห้ออื่น
- ใช้เทคนิคในการอบแห้งพิเศษที่ทำให้เส้นบะหมี่ไม่อืดง่ายเมื่อแช่น้ำร้อนและผู้บริโภคยังไม่รับประทานทันที
- เพิ่มมะเขือเทศผสมลงไปในเส้นบะหมี่เพื่อให้มีสีสรรสวยงามน่ารับประทานยิ่งขึ้น
4. Hindustan Unilever (HUL)
บริษัท Hindustan Unilever (HUL) ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าผงปรุงรสยี่ห้อ Knorr ได้เล็งเห็นโอกาสของตลาดบะหมี่สำเร็จรูปในอินเดีย จึงได้ขยายสายผลิตภัณฑ์ (Product Line) จากเครื่องปรุงรสมาเป็นบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อ Knorr เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดด้วย ทั้งนี้ บริษัทฯ เคยมีประสบการณ์ในการจัดจำหน่ายบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อ Top Ramen ให้กับบริษัท Indo Nissin Foods มาก่อน
สำหรับบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อ Knorr บริษัท Hindustan Unilever มีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ แม่และเด็ก และได้วางตำแหน่งสินค้าที่ชัดเจนให้เป็นอาหารว่างสำหรับรับประทานระหว่างมื้อ (In-BetweenMeal Snack) โดยเน้นส่วนผสมที่เป็นผัก และนำเสนอผู้บริโภคด้วยรสชาติใหม่ๆ นอกเหนือจากรสชาติเดิมๆอย่าง รส Masala, รสไก่ และรสมะเขือเทศ คือ รส Mast Msala, รส Tomato Charpata และรส Chinese Chow นอกจากนั้นกลุยุทธ์สำคัญก็คือการจัดจำหน่ายไปพร้อมกับซุป Knorr ซึ่งเป็นสินค้าหลักของบริษัทฯ อยู่แล้ว
5.Glaxo Smith Klein (GSK)
บริษัท Glaxo Smith Klein หรือ GSK ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องดื่ม Horlicks ได้เริ่มเข้าตลาดบะหมี่สำเร็จรูปด้วยการออกผลิตภัณฑ์บะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อ Foodles โดยเริ่มต้นด้วยการมุ่งตลาดทางใต้และตะวันออกก่อนที่จะขยายไปทั่วประเทศ กลุ่มเป้าหมายหลักของ Foodles คือกลุ่มผู้บริโภคในเมืองที่สนใจสุขภาพ ทั้งนี้ Foodles จะเน้นที่ตัวผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากธัญพืชหลายชนิด (MultiGrain Noodles) และวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ให้เป็นทางเลือกใหม่ของผู้รักสุขภาพ โดยเน้นแสดงให้เห็นถึงส่วนผสมของอาหารและรสชาติใหม่ๆ นอกจากนั้น จุดขายที่สำคัญของ Foodles คือ การเชื่อมโยงกับเครื่องดื่ม Horlicks ซึ่งเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของบริษัทฯ และใช้ช่องทางในการกระจายสินค้าเดียวกับ Horlicks ซึ่งครอบคลุมผู้ค้าปลีกสายตรงของ GSK กว่า 600,000 ราย และผู้ค้าปลีกรายย่อยอีก 1 ล้านรายผ่านผู้แทนจำหน่ายของ GSK อีกทอดหนึ่ง
6.CG Foods India Pvt. Ltd. (ภายใต้ Chaudhary Group)
บริษัท CG Foods India Pvt. Ltd. เป็นบริษัทในเครือของกลุ่มบริษัท Chaudhary Group of Nepal ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ในประเทศเนปาล โดยกลุ่มบริษัทฯ นี้ได้ซื้อ License ตรา Wai Wai จากบริษัท Thai Preserved Food Factory จำกัด ของไทยเพื่อผลิตและจำหน่ายในตลาดเนปาลและอินเดีย โดยบริษัทฯ ต้องจ่ายค่า License Fees ให้กับบริษัทฯ ไทย และต้องซื้อเครื่องปรุงรสจากบริษัทฯ ไทยอีกด้วย เพื่อเป็นการรักษารสชาติดั้งเดิมและเอกลักษณ์ของเครื่องปรุงรสแบบไทย
กลุ่มบริษัท Chaudhary Group of Nepal ได้เข้าไปตั้งบริษัทลูกในอินเดีย คือ CG Foods Pvt. Ltd. ในปี 2548 ด้วยเงินลงทุน 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อผลิตสินค้าบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อ Wai Wai โดยจัดตั้งโรงงานผลิตขึ้นสองแห่งที่รัฐสิกขิม (Sikkim) และรัฐอุตตารันจัณฑ์ (Uttaranchal) ทางตอนเหนือและตะวันออกฉียงเหนือของประเทศตามลำดับ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมกัน 270 ล้านซอง และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ 375 ล้านซองภายในปี 2554 นี้ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่บะหมี่สำเร็จรูป Wai Wai จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในแถบตะวันออกเฉียงเหนือ รัฐสิกขิม และรัฐเบงกอลตะวันตก ซึ่งตลาดในแถบดังกล่าวนี้ Wai Wai มีส่วนแบ่งตลาดสูงกว่า 70%
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดบริษัท CG Foods มีโครงการที่จะลงทุนเพิ่มอีกถึง 1 พันล้านรูปี (ประมาณ 650 ล้านบาท) ในอีก 3 ปีข้างหน้า รวมทั้งได้ตั้งโรงงานผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1 โรงงานที่เมือง Rudrapur ละกำลังมองหาโอกาสที่จะซื้อกิจการบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคทางภาคใต้และภาคตะวันตกของอินเดียต่อไป นอกจากนั้น บริษัท CG Foods ยังได้มีแผนที่จะทำการส่งเสริมการตลาดให้มากยิ่งขึ้นในตลาดอินเดีย
จุดขายสำคัญของ Wai Wai อยู่ที่เครื่องปรุงรสแบบไทย ซึ่งในทุกๆซองของ Wai Wai จะมีซองเครื่องปรุงรสขนาดเล็กบรรจุพริกป่น ผงปรุงรส และน้ำมันหอมเจียวแยกจากกัน ซึ่งจะแตกต่างจากบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้ออื่นของอินเดียที่จะมีซองบรรจุผงปรุงรสเพียงซองเดียว นอกจากนั้น Wai Wai ยังเน้นความหลากหลายของรสชาติ โดยในปัจจุบันมีอยู่หลายรส ได้แก่ Vegetable, Spinach, Chicken, Chicken Curry และ Masala Curry ทั้งนี้ ในปี 2552 Wai Wai มีส่วนแบ่งตลาด 5.8%
7.Capital Foods Ltd.
บริษัท Capital Foods ได้ออกบะหมี่สำเร็จรูป 2 ยี่ห้อ คือ Chings Secret และ Smith & Jones โดยสินค้าทั้งสองยี่ห้อนี้มีกลุ่มเป้าหมายและกลยุทธ์การตลาดที่แตกต่างกัน กล่าวคือ Chings Secret เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนและคนรุ่นใหม่ที่ทำงานสำนักงาน โดย Chings Secret จะมุ่งเน้นที่รสชาติที่แตกต่างโดยนำเสนอบะหมี่สำเร็จรูปรสชาติแบบอาหารจีน คือ Schezuan, Hot Garlic, Manchurian และ Chicken Roast Garlic ส่วนการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ (Product Positioning) จะเน้นที่การนำเสนออาหารจีนระดับภัตตาคารที่เวลาในการเตรียมเพียงไม่กี่นาที ในปี 2552 Chings Secret มีส่วนแบ่งตลาด 2.8%
ส่วนบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อ Smith & Jones จะเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็ก โดยทำการส่งเสริมการตลาดอย่างหนักผ่านสื่อโทรทัศน์โดยเฉพาะรายการเด็ก นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีโครงการร่วมกับโรงเรียนกว่า 3,200 แห่งทั่วประเทศ ในการแจกตัวอย่างบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อ Smith & Jones ล่าสุด บริษัทฯ ได้นำเสนอรสชาติใหม่สู่ตลาด คือ Masala Tadka Marke ซึ่งเป็นสูตรที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศของอินเดียถึง 52 ชนิด
8.Private Labels
นอกจากสินค้าบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อต่างๆของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภคแล้ว ปัจจุบันมีบริษัทค้าปลีกในอินเดียบางบริษัทได้หันมาให้ความสนใจกับตลาดนี้อย่างจริงจังด้วยการออกตรายี่ห้อของตนเองเข้ามาแข่งขันในตลาดด้วย เพราะมีความได้เปรียบในเรื่องการจัดจำหน่ายในห้างของตนเองอยู่แล้ว ทำให้ราคาขายปลีกของบะหมี่สำเร็จรูปในกลุ่มนี้จะมีราคาถูกกว่าบะหมี่สำเร็จรูปทั่วไปอยู่ประมาณ 5-20% เช่น
- Aditya Birla Retail ซึ่งเป็นเจ้าของเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ต More ออกบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อ Feasters
- RPG Group เจ้าของห้าง Spencers Food & Grocery ออกบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อ Smart Choice
- Future Group เจ้าของไฮเปอร์มาร์เก็ต Big Bazaar ออกบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อ Tasty Treat
สินค้าบะหมี่สำเร็จรูปมีธรรมชาติเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการหมุนเวียนสูง (FMCG: Fast Moving Consumer Goods) มีกำไรต่อหน่วยต่ำ (Low Margin) ราคาที่กำหนดจึงไม่สามารถตั้งไว้สูงได้ เนื่องจากมีคู่แข่งขันมากมาย จากการสำรวจของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบพบว่าราคาขายปลีกต่อหน่วยของสินค้าบะหมี่สำเร็จรูปในอินเดียค่อนข้างต่ำเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดขนาดใหญ่ (Mass Market) เน้นการขายทีละมากๆ สำหรับสินค้านำเข้าจะมีราคาขายปลีกสูงมากเกินกว่าที่จะแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในอินเดียได้ เช่น บะหมี่สำเร็จรูป Mama รสต้มยำกุ้งน้ำข้นของไทย มีราคาขายปลีกสูงถึงซองละ 26 รูปี ซึ่งไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ ยกเว้นเป็นการนำเข้ามาเพื่อตอบสนอง Niche Market ที่ชื่นชอบสินค้านี้โดยเฉพาะหรือนำเข้ามาเพื่อขายให้กับคนไทยในอินเดียเท่านั้น ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่มาก
1.ตลาดอินเดียเป็นตลาดใหญ่มากสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทที่เป็น Fast Moving Consumer Goods แต่ก็เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันที่มาจากสินค้าที่อินเดียสามารถผลิตได้เองภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้มีข้อได้เปรียบในด้านต้นทุนทำให้สินค้านำเข้าแข่งขันได้ยาก ปัจจัยด้านราคาสำหรับสินค้าประเภทนี้จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด
2.การแข่งขันในตลาดอินเดีย นอกจากเรื่องราคาแล้ว การใช้เครื่องมือทางการตลาดที่ครบ เครื่องก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้สินค้าของไทยจะสามารถแข่งขันได้
3.การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไทยเข้าไปแข่งขันในตลาดอินเดียน่าจะมีโอกาสประสบ ความสำเร็จน้อย เพราะนอกจากจะต้องแข่งขันกับสินค้าของประเทศอื่นแล้ว ยังต้องแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศอินเดียอีกด้วย รูปแบบที่น่าจะทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้จึงน่าจะเป็นเรื่องของ Internationalization มากกว่าที่จะมุ่งเน้นเรื่องการส่งออก (Export) ซึ่งในกรณีของตลาดบะหมี่สำเร็จรูปนี้ก็มีตัวอย่างความสำเร็จของสินค้าไทยให้เห็นแล้ว คือ บะหมี่สำเร็จรูป Wai Wai ที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ที่เน้น Internationalization เป็นหลัก แทนที่จะมุ่งเน้นเฉพาะการส่งออกเพียงอย่างเดียว
4.ผู้ประกอบการพึงระลึกอยู่เสมอว่า สินค้าที่ประสบความสำเร็จในตลาดหนึ่ง ไม่ จำเป็นต้องประสบความสำเร็จในอีกตลาดหนึ่งเสมอไป โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับสินค้าซึ่งสินค้าที่ถูกปากผู้บริโภคในประเทศหนึ่งก็ไม่จำเป็นต้องถูกปากผู้บริโภคในอีกประเทศหนึ่ง กล่าวสำหรับตลาดอินเดียผู้บริโภคนิยมรับประทานอาหารที่ผสมเครื่องเทศและมีความภาคภูมิใจในรสชาติอาหารของตนมาก บะหมี่สำเร็จรูปรสต้มยำกุ้งจึงยังไม่สามารถแข่งขันกับบะหมี่รส Masala ของอินเดียซึ่งเป็นรสชาติยอดนิยมที่สุดในอินเดียได้
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ
ที่มา: http://www.depthai.go.th