รัฐบาลยูเออีให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอาหาร โดยปี 1994 ได้อุดหนุนเงินจำนวน 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งโรงงานผลิต/บรรจุอาหาร 150 แห่ง อาทิ น้ำมันปรุงอาหาร น้ำตาลทราย แป้งสาลี เครื่องดื่ม น้ำผลไม้ อาหารว่างและขบเคี้ยว มักกะโรนี และผลิตภัณฑ์นม/เนย เพื่อสำหรับบริโภคในประเทศและสำหรับส่งออก โรงงานน้ำตาลของยูเออีเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมผลิตอาหารที่ประสบความสำเร็จปัจจุบันสามารถผลิตน้ำตาลได้วันละ 5,000 ตัน แต่อย่างไรก็ตามไม่พอเพียงสำหรับการใช้เป็นสินค้าส่งออก แต่ละปีนำเข้าจากต่างประเทศมูลค่าปีละไม่น้อยกว่า 350 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมทั้งการนำเข้าจากไทย ตลาดยูเออีไม่มีนโยบายห้ามการนำเข้า การกำหนดโควตานำเข้า ตั้งกำแพงภาษีนำเข้า หรือมาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard : SSG) เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายในประเทศ
จากรายงานของ Dubai Chamber of Commerce & Industry กล่าวถึงสถานการณ์การนำเข้าน้ำตลาดดิบสำหรับป้อนโรงงานน้ำตาลในประเทศรวมทั้งเพื่อส่งออกต่อในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประสบปัญหาการขึ้นราคาสินค้าและสินค้าขาดตลาด โดยแนะทางออกให้โรงงานน้ำตาลและผู้ค้าผู้นำเข้าน้ำตาลดิบร่วมลงทุนมาสู่ภาคการเกษตรปลูกพืชวัตถุดิบน้ำตาล โดยเป้าหมายที่ให้ความสนใจอย่างมากคือ แอฟริกา เนื่องจากมีพื้นที่ทางการเกษตรเหลืออยู่มาก นอกจากนั้นแอฟริกายังมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมากโดยเฉพาะในแถบแอฟริกาเหนือทำให้ช่องว่างทางวัฒนธรรมมีน้อย อีกทั้งในสายตาของประเทศในแอฟริกาก็มองว่ามีประโยชน์เนื่องจากประเทศต้องการเงินทุนจำนวนมากในการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานและประเทศต่างๆในแอฟริกาเองก็ขาดศักยภาพในการพัฒนาที่ดินการเกษตรด้วยตัวเอง
UAE Ministry of Economy เปิดเผยตัวเลขการนำเข้าน้ำตาลและผลิตภัณฑ์น้ำตาลของยูเออีเมื่อปี 2553 มูลค่าประมาณ 357 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าน้ำตาลทราย (น้ำตาลจากอ้อยและหัวบีทและซูโครสที่บริสุทธิ์ในทางเคมีในรูปของแข็ง พิกัด HS Code 1701) มูลค่า 361 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราการขายตัว 111.2% โดยนำเข้ามูลค่าสูงสุดจากบราซิล หรือมีสัดส่วนตลาด 26.5% อันดับสองจากเยอรมัน 21.2% อินเดีย 9.8% เบลเยี่ยม 7.3% ฝรั่งเศส 6.5% ไทย 5.3% อาร์เจนตินา แอลจีเรีย 4% ออสเตรีย 3.3% และเนเธอร์แลนด์ 2% ตามลำดับ
การนำเข้าจากไทยเมื่อปี 2553 มูลค่า 21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งลดลงจากปี 2552 ที่เคยนำเข้ามูลค่า 122.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลง 77.6% แต่สำหรับปี 2554 มีแนวโน้มการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น เพราะจากสถิติการส่งออกน้ำตาลจากไทยไปยูเออีในช่วง 10 เดือนแรกปี 2554 ปรากฏมูลค่า 28.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นอัตราการขยายตัวในเชิงมูลค่าเพิ่มขึ้น 218.4% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ยูเออีไม่มีการกสิกรรมเพาะปลูกพืชวัตถุดิบน้ำตาล แต่มีโรงงานน้ำตาล Al Khaleej Sugar ซึ่งเป็นโรงงานแห่งแรกในอ่าวอาระเบีย ถือกำเนิดครั้งแรกในเขตอุตสาหกรรมพิเศษจีเบล อาลี เมื่อปีพ.ศ. 2538 ปัจจุบันมีกำลังการผลิตน้ำตาลทรายขาวปีละ 1.5 ล้านตัน คิดเป็นปริมาณ 3% ของปริมาณการผลิตในโลก และจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ปีละ 2.5 ล้านตัน เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง จนปัจจุบันสามารถเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับนี้ ขณะนี้สามารถส่งออกน้ำตาลทรายไป 40 ประเทศทั่วโลก ส่วนน้ำตาลดิบที่ใช้ผลิตขึ้นอยู่กับการนำเข้าทั้งสิ้น โดยมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญคือบราซิล
การส่งออกน้ำตาลของยูเออีเมื่อปี 2553 ปริมาณทั้งสิ้น 1.2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 825.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่เคยส่งออก 558.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณ 1.1 ล้านตัน ประเทศที่ส่งออกเรียงตามสัดส่วนตลาดได้แก่ ปากีสถาน (30%) อิรัก (22%) อินเดีย (13%) โซมาเลีย (6%) คูเวตและแทนซาเนีย (5%) อิหร่าน (4%) และกาตาร์ (2%)
สินค้าที่ยูเออีนำเข้าส่วนหนึ่งเพื่อสำหรับบริโภคในประเทศ ที่เหลือประมาณร้อยละ 60-75 จะกระจายส่งออกต่อ(Re-Export) ไปยังประเทศสมาชิกอ่าวอาหรับอื่นๆ กลุ่มประเทศซีไอเอส อินเดีย และอัฟริกา สินค้าน้ำตาลทรายที่ส่งออกต่อปี 2553 มีปริมาณ 262 ตัน คิดเป็นมูลค่า 158.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯอัตราเพิ่มขึ้นในเชิงมูลค่า 174% จากมูลค่า 57.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯที่ได้ส่งออกต่อในปี 2552 โดยมีตลาดหลักที่ส่งออกต่อ (Re-export) ได้แก่ โซมาเลีย แทนซาเนีย อิหร่าน อิรัก ศรีลังกา ซูดาน ปากีสถาน เคนย่า บาห์เรน และสิงคโปร์
ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี มีมาตรฐานสินค้าอาหารเรียกว่า Emirates Standards & Measurements Organization (ESMO) ควบคุมดูแลและวางกฎระเบียบโดย National Food Safety Committee (NFSC) มีหลักเกณฑ์และกฎระเบียบการนำเข้าอาหารสรุปได้ดังนี้
1. ภาษีนำเข้าจากราคา CIF: หากเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์ไม่มีภาษีนำเข้า อาหารแปรรูปร้อยละ 5 และไม่มีการให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP)
2. เอกสารประกอบการนำเข้า:
- Invoice Certificate of Origin ประทับตรารับรองจาก หอการค้าไทย และ Legalize จากสถานทูตประเทศสหรัฐ อาหรับเอมิเรตส์ ในประเทศไทย Bill of Lading และ Packing List
3. ฉลากอาหาร:
- ฉลาก บนบรรจุภัณฑ์ต้องมีรายละเอียด ชื่อสินค้าส่วนผสม ขนาดบรรจุประเทศต้นทางหรือผู้ผลิต วันผลิต และวันหมดอายุ พร้อมภาษาอาหรับ ข้อความบนฉลากอ่านง่ายชัดเจน ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ทั้งนี้
ข้อความต้องชัดเจนไม่บิดเบือน
- วัน/เดือน/ปีอายุอาหาร (shelf life) ต้องมีอย่างน้อย 6 เดือนข้อความที่พิมพ์จะต้องไม่หลุดลอก ลบออกได้ (printed, imposed หรือ ink jetted) ยกเว้นอาหารดังต่อไปนี้ เกลือ น้ำตาลทรายขาว น้ำส้มสายชู ถั่วแห้ง ผักแห้ง เครื่องเทศ ชา ข้าว ผัก/ผลไม้สด
คู่แข่งขันของไทยที่สำคัญในตลาดนี้ได้แก่ บราซิลที่ขณะนี้มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 18 เซ็นต์ต่อปอนด์ ในขณะที่ของไทยอยู่ที่ 17 เซ็นต์ต่อปอนด์ อินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 มีแนวโน้มผลิตน้ำตาลได้ราว 24.2 ล้านตัน และส่งออกราว 1.5 ล้านตัน และหลังจากที่รัฐบาลอินเดียประกาศที่จะส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีก 1.0 ล้านตัน ทำให้ราคาน้ำตาลโลกร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน นอกจากนั้นผลผลิตน้ำตาลจำนวนมากจากรัสเซียและฝรั่งเศส
น้ำตาลทรายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่แนวโน้มความต้องการอย่างต่อเนื่องตลอดปี ดูไบเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าโภคภัณฑ์รวมทั้งน้ำตาลที่สำคัญของตะวันออกกลาง มีตลาดรองรับทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกา ดังนั้น สินค้าน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว หรือน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์โควต้า ค ที่โรงงานน้ำตาลของไทยสามารถผลิตเพื่อส่งออกได้ด้วยตนเองจึงมีโอกาสในตลาดยูเออี
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ
ที่มา: http://www.depthai.go.th