วิกฤติหนี้ยุโรป ดึงส่งออกกวางตุ้งชะลอตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 14, 2011 11:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ปี 2011 เศรษฐกิจการนำเข้าส่งออกของกวางตุ้งชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดเพราะพิษเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลโดยตรงต่อเมืองกวางตุ้ง เนื่องจากเป็นมณฑลที่มีการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศจีน ถ้าดูจากปีนี้นับตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน เศรษฐกิจถือว่ายังไม่ชะลอตัวมากนัก มูลค่าการนำเข้าส่งออกทั้งหมด คือ 4,350.9 ร้อยล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เทียบกับปีที่แล้วช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้น 26 % แต่เมื่อดูภาพรวมจากเดือนมกราคม - ตุลาคม จะเห็นว่ามูลค่าการนำเข้าส่งออกลดลงอย่างเห็นได้ชัด คือ มีมูลค่า 7,443 ร้อยล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ การเติบโตลดลง 19.1 % โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกของเดือนตุลาคม มีแค่ 730.7 ร้อยล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เทียบกับปีที่แล้วช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นเพียง 7.8 % แต่เมื่อเทียบกับเดือนกันยายนของปีเดียวกันลดลงถึง 8.7 %

ยุโรปเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกวางตุ้ง

ยุโรปเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของกวางตุ้ง ตั้งแต่ต้นปี 2011 เป็นต้นมา มูลค่าการส่งออกของกวางตุ้งไปยุโรปลดลงอย่างเห็นได้ชัดในแต่ละเดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม - ตุลาคมมีมูลค่าการส่งออกไปยังยุโรปเพียง 603 ร้อยล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 11.3 % คาดการณ์ว่าถ้าวิกฤติหนี้ยุโรปครั้งนี้ยังไม่คลี่คลาย จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของกวางตุ้งอย่างมาก เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำในอนาคต คือ การรักษาระดับมูลค่าการส่งออกไว้แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่หยุดหาลูกค้ารายใหม่ด้วย ดังนั้นรัฐบาลของมณฑลกวางตุ้งจึงได้จัดเตรียมแผนของปีหน้าไว้แล้ว คือ เตรียมจัดตั้งหน่วยงานหนึ่งขึ้นมาเพื่อเยี่ยมเยียนประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นคู่ค้าใหม่โดยเฉพาะ เพื่อขยายตลาดส่งออกและสร้างโครงสร้างการส่งออกที่หลากหลายมากขึ้น และแผนต่อไป คือ กำหนดมูลค่ายอดสั่งซื้อสินค้าให้มีการสั่งสินค้าระยะยาวล็อตใหญ่ เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการสั่งสินค้าระยะสั้นล็อตเล็ก ๆ เท่านั้น

เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

รัฐบาลกวางตุ้งเตรียมทำการยกระดับและพัฒนาธุรกิจแปรรูปเพื่อการส่งออก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจส่งออกในกวางตุ้ง เพราะธุรกิจแปรรูปเพื่อการส่งออกในกวางตุ้งปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดขนาดใหญ่ มีจำนวนประมาณ 3.3 หมื่นบริษัท ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อย พร้อมทั้งรัฐบาลจะเพิ่มแรงสนับสนุนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านการคืนภาษี การลดค่าธรรมเนียม การสนับสนุนด้านการเงินและภาษี การค้ำประกันการเงิน การบริการที่เป็นเลิศ เป็นต้น ทั้งนี้รัฐบาลยังให้การสนับสนุนธุรกิจ SMEs ที่มีออเดอร์ มีผลกำไร มีการค้ำประกันด้านการเงิน และมีความเสี่ยงที่ควบคุมได้ รวมถึงมีการส่งเสริมในการวิจัยและพัฒนาด้านการค้าระหว่างประเทศ การรับรองคุณภาพ การตลาดและการบริการด้านข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนและรวดเร็ว

5 หลัก กวางตุ้งเร่งเปลี่ยนระบบและยกระดับการส่งออก

1. เร่งผลักดันการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรม เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการบริการสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมการผลิตระดับสูง สร้างกลยุทธ์ในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้น พร้อมผลการวิจัยที่เป็นรูปธรรม รวมถึงผสานความร่วมมือระหว่างกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊ามากขึ้น

2. ปลดปล่อยอิสระทางนวัตกรรม เปิดรับความรู้และนวัตกรรมที่ทันสมัยจากทั่วโลก รวมทั้งใส่ใจเรื่องการรักษาระบบนิเวศมากขึ้น พัฒนาระบบการทดลอง ระบบรูปแบบการบริการสาธารณะ ระบบการทำธุรกรรมการเงิน พัฒนาความร่วมมือด้านธุรกิจแหล่งเรียนรู้และวิทยาศาสตร์

3. ส่งเสริมการบริโภค การลงทุนและการส่งออกให้พัฒนาควบคู่กันไป

4. พัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมสีเขียวคาร์บอนด์ต่ำ วางแผนเกี่ยวกับการควบคุมการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

5. เปิดรับความร่วมมือใหม่ๆ จากทั่วโลกมากขึ้น เพื่อความเป็นมาตรฐาน และเพิ่มความเป็นสากลในการทำธุรกิจ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจของกวางตุ้งกับเศรษฐกิจโลกมีความสอดคล้องกัน

ข้อคิดเห็นของ สคต. กวางโจว
          หลายประเทศในยุโรปมีฐานะการคลังอ่อนแอจากวิกฤติหนี้ครั้งนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของยุโรปโดยรวม และย่อมส่งผลให้การส่งออกของประเทศต่างๆ ไปยังยุโรปในช่วงที่เหลือของปีนี้ชะลอลงจากไตรมาสแรก              วิกฤติหนี้ยุโรปครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจกวางตุ้งเท่านั้น ไทยเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน  และมีแนวโน้มว่ากวางตุ้งจะเบนเป้าหมายของตลาดส่งออกจากยุโรปมาตีตลาดในเอเชียแทน  ซึ่งตลาดเอเชียเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ถึงคราวที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องเตรียมปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการแข่งขันในสนามการส่งออกที่เข้มข้นขึ้น  ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรสร้างช่องทางในการรับรู้ทิศทางแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของรสนิยมและพฤติกรรมผู้บริโภคของตลาดต่างประเทศอย่างใกล้ชิดและรวดเร็ว  พร้อมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงให้ความสำคัญกับข้อกำหนดและมาตรฐานต่างๆ รวมทั้งข้อเรียกร้องด้านคุณภาพของผู้ซื้อด้วยเพื่อขจัดอุปสรรคในการส่งออก และสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการติดต่อกับผู้ซื้อมากขึ้น การที่จะแข่งขันกับจีนได้ เราต้องเพิ่มศักยภาพการผลิต เพราะถ้าอาศัยแต่ค่าแรงถูกอย่างเดียว คงหมดหนทางในการต่อสู้ครั้งนี้ บางทีรายละเอียดด้านคุณภาพของสินค้าคงที่และการส่งสินค้าตรงเวลาทำให้เรามีความน่าเชื่อถือและได้เปรียบในการทำธุรกิจกับประเทศต่างๆ  การใช้เครื่องมืออุปกรณ์และเทคโนโลยีสูงขึ้น การใช้ระบบการจัดการที่ทันสมัย ย่อมเพิ่มความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับ ทำให้ง่ายต่อการขยายกลุ่มลูกค้าไปสู่ตลาดใหม่ สิ่งที่ผู้ประกอบการควรตระหนักอย่างยิ่งในการไปตีตลาดใหม่คือการศึกษากฏระเบียบหรือข้อสัญญาของประเทศนั้นๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้เราไม่เสียเปรียบทางการค้า

แหล่งที่มา : Guangzhou Daily ฉบับลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 หน้า A2

สคต. เมืองกวางโจว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ