อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของอินเดีย (Iron & Steel Industry in India)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 14, 2011 14:08 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อินเดียเป็นประเทศเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่มีอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจรโดยสามารถผลิตได้ตั้งแต่สินแร่เหล็ก (Iron Ore) ไปจนถึงผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าสำเร็จรูปขั้นสุดท้ายประเภทต่างๆ เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กเส้น ฯลฯ โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญคือ มีถ่านหินธรรมชาติเพียงพอที่จะใช้ในอุตสาหกรรมถลุงเหล็กอีกด้วย ทำให้การส่งออกเหล็กของอินเดียมีผลิตภัณฑ์ส่งออกในทุกขั้นตอนของการผลิตตั้งแต่ส่งออกสินแร่เหล็กไปจนถึงผลิตภัณฑ์เหล็กขั้นสุดท้ายประเภทต่างๆ

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเหล็ก

ก่อนที่จะกล่าวถึงอุตสาหกรรมเหล็กของอินเดีย รายงานฉบับนี้จะขอนำเสนอความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเหล็กก่อนเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องอันจะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการศึกษาอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของอินเดียต่อไป

"เหล็ก" เป็นวัสดุที่ได้มาจากสินแร่เหล็ก (Iron Ore) ตามธรรมชาติโดยผ่านกรรมวิธีการถลุงด้วยความร้อนสูง ในโลกนี้สินแร่เหล็กมีหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีส่วนประกอบแตกต่างกันออกไป สินแร่เหล็กมีกระจัดกระจายอยู่เกือบทั่วโลก แต่ที่มีคุณภาพดี มีจำนวนเนื้อแร่สูงและมีปริมาณแร่มากพอที่จะใช้ผลิตเหล็กได้มีอยู่ไม่มากแห่งนัก ชนิดของสินแร่เหล็กมีดังนี้ คือ1

1.แร่ฮีมาไทต์ (Hematite) เป็นแร่ที่เหมาะจะใช้ถลุงเหล็ก เหล็กของแร่นี้อยู่ในรูปของ ออกไซด์ มีสูตรทางเคมีว่า Fe 2O3 เป็นแร่เหล็กที่มีสีแดง มีเหล็กประมาณ 70% พบมากในประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และออสเตรเลีย

2.แร่แมกนีไทต์ (Magnetite) เป็นแร่ที่เหมาะจะใช้ถลุงเหล็กเช่นกับแร่ฮีมาไทต์ มีสูตรทาง เคมีว่า Fe 3O4 มีสีดำและมีเหล็กประมาณ 72-73% พบมากในประเทศสหรัฐอเมริกา สวีเดนและประเทศจีน

3.แร่ซิเดอไรต์ (Siderite) เป็นแร่สีน้ำตาลมีจำนวนเนื้อแร่ต่ำ และเหล็กอยู่ในรูปของ คาร์บอเนต มีสูตรทางเคมีว่า FeCO 3 มีเหล็กประมาณ 47-49% ไม่ค่อยนิยมถูกนำไปถลุงเนื่องจากมีปริมาณเหล็กต่ำ แร่ชนิดนี้พบมากในประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและเยอรมัน

4.แร่ไลมอไนต์ (Limonite) แร่ชนิดนี้มีสีน้ำตาล เหล็กในแร่รวมตัวเป็นสารประกอบในรูป ของออกไซด์ มีสูตรทางเคมีว่า Fe 2O3X (H 2O) มีเหล็กประมาณ 60-65% พบมากในประเทศสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส

5.แร่ไพไรต์ (Pyrite) เหล็กในแร่อยู่ในรูปของซัลไฟด์ มีสูตรทางเคมีว่า FeS 2 มีสีน้ำตาล มี เหล็กประมาณ 60% เนื่องจากเหลกอยู่ในรูปของซัลไฟด์ จึงไม่นิยมนำไปถลุงเพราะกำมะถันที่อยู่ในแร่ทำให้เหล็กที่ถลุงได้มีกำมะถันปนกลายเป็นเหล็กที่มีความเปราะสูง

"เหล็ก" ที่คนไทยนิยมเรียกรวมๆกันทั่วไปนั้นหมายถึงเหล็ก (Iron) และเหล็กกล้า (Steel) ซึ่งในความเป็นจริงวัสดุทั้งสองชนิดนี้ไม่เหมือนกันหลายประการ คือ2

เหล็ก (Iron) คือ แร่ธาตุโลหะชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ ส่วนใหญ่มีสีแดงอมน้ำตาล โดยปกติสามารถดูดติดแม่เหล็กได้ พบมากในชั้นหินใต้ดินบริเวณที่ราบสูงและภูเขาอยู่ในรูปก้อนสินแร่เหล็ก (Iron Ore) ปะปนกับโลหะชนิดอื่นๆและหิน เมื่อนำมาใช้ประโยชน์จะต้องผ่านการทำให้บริสุทธิ์ด้วยกรรมวิธีการถลุง โดยการใช้ความร้อนสูงเผาให้สินแร่เหล็กกลายเป็นของเหลวในขณะที่กำจัดแร่อื่นที่ไม่ต้องการออกไป

เหล็กกล้า (Steel) คือ โลหะผสมชนิดหนึ่ง โดยทั่วไปจะหมายถึงเหล็กกล้าคาร์บอน (Carbon Steel) ซึ่งประกอบด้วยธาตุหลักๆ คือ เหล็ก (Fe) คาร์บอน (C) แมงกานีส (Mn) ซิลิคอน (Si) และธาตุอื่นๆอีกเล็กน้อย เหล็กกล้าเป็นวัสดุโลหะที่ไม่ได้มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่ถูกผลิตขึ้นโดยฝึมือมนุษย์และเครื่องจักร โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปรับปรุงเหล็ก (Iron) ให้มีคุณสมบัติโดยรวมดียิ่งขึ้น เช่น แปรเปลี่ยนรูปได้ตามที่ต้องการ แข็งแรง ยืดหยุ่น ทนทานต่อแรงกระแทกหรือสภาวะทางธรรมชาติ สามารถรับน้ำหนักได้มาก ไม่ฉีกขาดหรือแตกหักง่าย เป็นต้น เหมาะสมในการใช้งานในด้านต่างๆในชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้อย่างหลากหลายด้วยต้นทุนที่ต่ำ เพื่อให้สามารถจำหน่ายได้ในระดับราคาที่คนทั่วไปซื้อหามาใช้ได้ จึงทำให้เหล็กกล้ามีข้อได้เปรียบเหนือกว่าวัสดุชนิดอื่นใดในโลก ซึ่งปัจจุบันเหล็กกล้าคาร์บอน (Carbon Steel) เป็นวัสดุพื้นฐานที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่า 80% ของการใช้เหล็กกล้าทั้งหมดในโลกนี้ ส่วนที่เหลือเป็นเหล็กกล้าเจือ (Alloy Steel) ชนิดต่างๆ ได้แก่ เหล็กกล้าไร้สนิม หรือที่นิยมเรียกกันว่า "สแตนเลส" (Stainless Steel) เหล็กกล้าไฟฟ้า เหล็กกล้าเครื่องมือ เป็นต้น

โดยรวมแล้วเหล็ก (Iron) กับเหล็กกล้า (Steel) มีข้อแตกต่างที่สำคัญ ดังนี้

1.เหล็กกล้าผลิตจากเหล็ก ที่ผ่านการกำจัดคาร์บอนออกไปให้เหลืออยู่น้อยกว่า 2% (โดย น้ำหนัก) ทำให้มีความบริสุทธิ์ของเหล็กสูงกว่า 94% และมีธาตุอื่นประกอบอยู่เพียงเล็กน้อย

2.เหล็กกล้ามีความยืดหยุ่นคงทน สามารถดัดเป็นรูปร่างต่างๆได้ดีกว่า และใช้งานได้ หลากหลายกว่าเหล็ก เนื่องจากผ่านกรรมวิธีในการปรับปรุงคุณภาพในกระบวนการหลอมน้ำเหล็กแล้ว

3.เหล็กมีความแข็งกว่าเหล็กกล้า แต่เหล็กมีความแข็งแรงน้อยกว่าเหล็กกล้า 4.การเปลี่ยนแปลงรูปร่างรูปทรงของเหล็กทำได้โดยการตีขึ้นรูป หรือหลอมเหลวเป็นน้ำ เหล็กแล้วเทลงในเบ้าหล่อหรือแม่พิมพ์ (การหล่อ) เช่น การตีดาบ การหล่อแท่นเครื่องยนต์ ส่วนการเปลี่ยนแปลงรูปร่างรูปทรงของเหล็กกล้าทำได้โดยการรีดด้วยเครื่องลูกกลิ้งที่เรียกว่าแท่นรีด การพับ ม้วน เชื่อม กระแทก กด ขึ้นรูป ฯลฯ ซึ่งมีหลากหลายวิธีตามความต้องการในการแปรรูป เช่น พับเป็นเหล็กฉาก ม้วนแล้วเชื่อมเป็นท่อ กดและขึ้นรูปเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น

5.เหล็กกล้ามีชั้นคุณภาพ (เกรด) หลากหลายมากมายตามมาตรฐานของแต่ละประเทศและ ตามข้อกำหนดเฉพาะของลูกค้าแต่ละราย ในขณะที่เหล็กมีจำนวนชั้นคุณภาพน้อยกว่ามาก หมายถึงการนำไปใช้งานที่มีจำกัดด้วย

หลังจากผ่านกระบวนการถลุงด้วยความร้อนสูงและผ่านกระบวนการในการปรับปรุงเหล็กให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นแล้วจะได้เหล็กกล้าที่เรียกว่า "เหล็กกล้าดิบ (Crude Steel)" ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของของเหลว (Liquid Steel) หรือในรูปของเหล็กหล่อเป็นแท่งตามพิมพ์ที่ต้องการ (Ingot) หลังจากนั้นจึงนำไปผ่านกระบวนการต่อไปจนได้เหล็กกล้ากึ่งสำเร็จรูป (Semi-Finished Products) ที่เรียกว่าแท่งเหล็กกึ่งสำเร็จรูป โดยทั่วไปจะเป็นเหล็กแท่งยาว (Billets) และเหล็กแท่งแบน (Slabs) แล้วแต่ขนาดและความหนาของแท่งเหล็กกึ่งสำเร็จรูปนั้นๆ หลังจากนั้นแท่งเหล็กกึ่งสำเร็จรูปนี้ก็จะถูกนำไปแปรรูปเป็นเหล็กกล้าสำเร็จรูป (Finished Steel) ในรูปแบบหลัก 3 รูปแบบ คือ

1.เหล็กกล้าทรงยาว (Long Products)

1.1 เหล็กกล้าโครงสร้าง (Structural Steel) สำหรับใช้ในงานก่อสร้างต่างๆ เช่น สะพาน ตึกสูง และเครื่องจักรต่างๆ

1.2 เหล็กเส้น (Steel Bar) ใช้สำหรับเสริมคอนกรีตในงานก่อสร้าง

1.3 เหล็กลวด (Steel Rod) ใช้สำหรับมัดสิ่งของหรือใช้ประโยชน์อย่างอื่น

2.เหล็กกล้าทรงแบน (Flat Products) เป็นเหล็กกล้าที่ได้จากการนำแท่งเหล็กกึ่งสำเร็จรูป (Billets หรือ Slabs) มารีดด้วยลูกกลิ้งหรือแท่นรีดขนาดใหญ่จนเหล็กกล้านั้นกลายเป็นแผ่นบางลง ปกติจะมีกระบวนการที่แตกต่างกัน 2 วิธี ซึ่งทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าทรงแบน 2 แบบสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ต่างกัน คือ

2.1 เหล็กแผ่นรีดร้อน คือ เหล็กกล้าที่มีรูปทรงเป็นแผ่นลักษณะแบน ผลิตด้วยกรรมวิธี รีดร้อนด้วยลูกกลิ้งหรือแท่นรีดขนาดใหญ่จนได้เหล็กแผ่นที่มีความบางตามความต้องการของลูกค้า (ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการรีดร้อน จะต้องนำแท่งเหล็กกึ่งสำเร็จรูป (Billets หรือ Slabs) ไปอุ่นในเตาอบอุณหภูมิสูงจนแท่งเหล็กกึ่งสำเร็จรูปนั้นมีความอ่อนตัวเสียก่อน) ปกติเมื่อผลิตเสร็จแล้วจะอยู่ในลักษณะเป็นม้วน (Coil) เรียกว่า เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน (Hot-Rolled Coil) หรือเหล็กม้วนดำ (Black Coil) เพื่อประสิทธิภาพในการเก็บรักษา เคลื่อนย้ายและขนส่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อลูกค้าต้องการสินค้าที่เป็นเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดแผ่น โรงงานก็สามารถจะทำการตัดแบ่งเหล็กม้วนเป็นแผ่นตามขนาดความยาวและความกว้างตามที่ลูกค้าต้องการได้ด้วย ทั้งนี้ เหล็กแผ่นรีดร้อนมีหลายชนิด เช่น

1)เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน (Hot-Rolled Coil)

2)เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดแผ่น (Hot-Rolled Sheet)

3)เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดแถบ (Hot-Rolled Strip)

4)เหล็กแผ่นรีดร้อนปรับสภาพผิว (Skin-Passed Hot-Rolled Coil)

5)เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดกัดล้างผิวและเคลือบน้ำมัน (Pickled and Oiled Hot- Rolled Coil)

6)เหล็กแผ่นรีดร้อนชุบสังกะสี (Galvanized Hot-Rolled Coil/Sheet)

2.2 เหล็กแผ่นรีดเย็น คือ เหล็กกล้าแผ่นบางที่ได้จากการนำเหล็กแผ่นรีดร้อนมารีดอีก ครั้งหนึ่งด้วยกรรมวิธีรีดเย็นด้วยลูกกลิ้งหรือแท่นรีดขนาดใหญ่โดยไม่ได้ใช้ความร้อนมาช่วยในการรีด ซึ่งจะทำให้สามารถรีดเหล็กกล้าได้บางลงได้อีกโดยไม่ต้องเกรงว่าเหล็กกล้านั้นจะขาดจากการรีดเหมือนกรรมวิธีในการรีดร้อน ทั้งนี้ เหล็กแผ่นรีดเย็นก็มีหลายชนิดเช่นกัน คือ

1)เหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดม้วน (Cold-Rolled Coil)

2)เหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดแผ่น (Cold-Rolled Sheet)

3)เหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดแถบ (Cold-Rolled Strip)

4)เหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบสังกะสี (Galvanized Cold-Rolled Coil/Sheet)

5)เหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบดีบุกหรือโครเมี่ยม (Tin-Plated, Tin-Free Cold- Rolled Coil/Sheet)

6)เหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบสี (Pre-Painted Cold-Rolled Coil/Sheet)

7)เหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบประเภทอื่น (Other Coated Cold-Rolled Coil/Sheet)

3.ท่อเหล็ก (Pipes) เป็นเหล็กกล้าที่ถูกนำมาม้วนและเชื่อมเป็นท่อยาวใช้สำหรับ ขนส่งของเหลวหรือก๊าซ ส่วนมากจะใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ

สินแร่เหล็กของอินเดีย (Iron Ore in India)

อินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตสินแร่เหล็ก (Iron Ore) รายใหญ่อันดับ 4 ของโลกรองจากจีน ออสเตรเลีย และบราซิลตามลำดับ โดยในปี 2553-2554 อินเดียสามารถผลิตสินแร่เหล็กได้ 212.6 ล้านตัน และส่งออก 97.6 ล้านตัน มูลค่า 225,000 ล้านรูปี ทั้งนี้ อินเดียมีเหมืองขุดสินแร่เหล็กอยู่ประมาณ 500 เหมืองซึ่งดำเนินการโดยบริษัทต่างๆอยู่ประมาณ 80 บริษัท อย่างไรก็ตาม มีเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของเหมืองเท่านั้นที่ยังดำเนินการอยู่ โดยรัฐที่มีสินแร่เหล็กมาก คือ รัฐกรณาฏกะ รัฐกัว รัฐโอริสสา รัฐฉัตติสครห์ และรัฐฌาร์ขัณฑ์

จากการเปิดเผยของสำนักเหมืองแร่แห่งอินเดีย (Indian Bureau of Mines: IBM)3 พบว่าปริมาณสินแร่เหล็กสำรองของอินเดียอยู่ที่ 26,000 ล้านตัน แบ่งเป็นสินแร่เหล็กประเภทฮีมาไทต์ (Hematite) ปริมาณ 15,000 ล้านตันและประเภทแมกนีไทต์ (Magnetite) ปริมาณ 11,000 ล้านตัน โดยแร่เหล็กประเภทฮีมาไทต์ (Hematite) ที่มีอยู่ปริมาณ 15,000 ล้านตันนั้น 40% เป็นสินแร่ที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็กสูงเกินกว่า 62%

อินเดียส่งออกสินแร่เหล็กไปประเทศจีนมากที่สุด โดยในปี 2554 นี้มีสัดส่วนสูงถึง 90% ของการส่งออกรวมทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในปี 2551 ถือเป็นปีที่อินเดียส่งออกสินแร่เหล็กไปจีนในสัดส่วนสูงที่สุดถึง 92.3% ของการส่งออกรวม ทั้งนี้ จากการแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหล็ก (Mr. Beni Prasad Verma) ต่อรัฐสภาเมื่อเดือนมีนาคม 2554 พบว่าอินเดียส่งออกสินแร่เหล็กให้แก่จีนเป็นจำนวนมหาศาลถึง 322 ล้านตันในช่วง 5 ปีระหว่างปี 2548-2549 จนถึงปี 2552-2553

แม้ว่าการส่งออกสินแร่เหล็กของอินเดียจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา แต่ปรากฏว่าขณะนี้ในประเทศอินดียมีความเห็นแตกแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการส่งออกสินแร่เหล็กกับกลุ่มที่เห็นด้วยกับการส่งออกสินแร่เหล็กต่อไป โดยในส่วนของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการส่งออกสินแร่เหล็กเห็นว่ารัฐบาลควรห้ามการส่งออกเป็นระยเวลา 5 ปี แล้วมุ่งเน้นไปที่การส่งออกสินค้าเหล็กที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่า ผู้นำของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยคือ Mr. Ratan Tata อดีตประธานกลุ่มบริษัท Tata Group ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการลงทุนได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี Manmohan Singh เมื่อปี 2551 ขอให้ห้ามการส่งออกสินแร่เหล็กของอินเดียโดยระบุว่าหากอินเดียมีเป้าหมายที่จะผลิตเหล็กกล้า (Steel) ให้ได้ 200 ล้านตันภายในปี 2558 รัฐบาลจะต้องประกาศห้ามการส่งออกสินแร่เหล็กทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปีเพื่อที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้

ในส่วนของกลุ่มที่เห็นด้วยกับการส่งออกสินแร่เหล็กก็มีเหตุผลหลายประการที่จะสนับสนุนให้อินเดียทำการส่งออกสินแร่เหล็กต่อไป คือ

1.อินเดียยังมีสินแร่เหล็กสำรองอีกมากมายและคาดว่าจะค้นพบเพิ่มขึ้นอีกทุกปี ด้วย ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการสำรวจ

2.สำหรับปริมาณสินแร่เหล็กสำรองในปัจจุบันคำนวณมาจากสินแร่เหล็กในระดับความลึก เพียง 50-60 เมตรเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในระดับความลึกที่มากกว่านั้นไปจนถึงระดับ 200 เมตรหรือมากกว่านั้นก็ยังคงมีสินแร่เหล็กอยู่อีกมาก

3.การลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ยังไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรม ที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำ มีการเปลี่ยนแปลงตามรอบเวลา (Cyclical Nature) และราคาไม่ค่อยมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม เพิ่งจะมีการตื่นตัวมาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้เองเนื่องจากราคาของสินแร่เหล็กสูงขึ้น ดังนั้น ภาคเอกชนยังมีความต้องการที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้นอีก

4.สมาพันธ์อุตสาหกรรมแร่แห่งอินเดีย (FIMI: Federation of Indian Mineral Industries) ที่กรุงเดลี ออกมาชี้แจงว่าสินแร่เหล็กที่ส่งออกนั้นเป็นสินแร่เหล็กคุณภาพสูง (Fines) ซึ่งอินเดียสามารถผลิตได้ 60% ของสินแร่เหล็กรวมทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 40% เป็นสินแร่เหล็กชนิดก้อน (Lumps) ซึ่งเป็นสินแร่เหล็กที่โรงงานถลุงเหล็กในอินเดียมีความต้องการใช้ การส่งออกสินแร่เหล็กจึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ

5.ในทางทฤษฎีการห้ามการส่งออกสินแร่เหล็กจะทำให้เกิดสภาพที่เรียกว่า "ตลาดแข่งขัน ไม่สมบูรณ์ (Imperfect Market)"4 ซึ่งจะนำไปสู่ความไร้ประสิทธิภาพของกลไกตลาด การบิดเบือนราคา และการคอร์รัปชั่น

6.การห้ามส่งออกสินแร่เหล็กอาจจะทำให้เหมืองแร่เหล็กหลายแห่งต้องหยุดการดำเนินงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน

7.การส่งออกสินแร่เหล็กโดยเฉพาะส่งออกไปจีนมีปริมาณและมูลค่ามหาศาล ถ้าหากมีการ ห้ามการส่งออกจะทำให้กระทบต่อดุลการค้าระหว่างอินเดียกับจีนได้

ในส่วนของรัฐที่มีสินแร่เหล็กมากอย่างรัฐโอริสสา รัฐฉัตติสครห์ และรัฐฌาร์ขัณฑ์ ก็ยังเดินหน้าเชิญชวนบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งจากต่างประเทศและในอินเดียเองให้ไปลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กในรัฐของตน ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็มีหลายบริษัทที่กำลังก่อสร้างโรงงานหรือวางแผนจะลงทุนสร้างโรงงานผลิตเหล็กครบวงจรในรัฐเหล่านี้ได้แก่ บริษัท POSCO จากเกาหลีใต้ บริษัท ArcelorMittal บริษัท Tata Steel บริษัท Jindal Steel and Power บริษัท Essar Steel บริษัท Bhushan Steel และบริษัทอื่นๆ

แม้ว่าจะยังไม่มีการห้ามการส่งออกสินแร่เหล็ก แต่ในช่วงปี 2553-2554 ปรากฏว่าปริมาณการส่งออกสินแร่เหล็กของอินเดียก็ลดลง เนื่องจากรัฐบาลได้เพิ่มอัตราอากรส่งออก (Export Duty) สำหรับสินแร่เหล็กคุณภาพสูง (Fines) จาก 5% และสำหรับสินแร่เหล็กชนิดก้อน (Lumps) จาก 15% เป็น 20% ทั้งสองรายการ นอกจากนั้นยังได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าขนส่งทางรถไฟที่ปรับเพิ่มขึ้นบ่อยครั้งอีกด้วย อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมเหล็กคาดการณ์ว่าการส่งออกสินแร่เหล็กของอินเดียในช่วงปี 2554-2555 ไม่น่าจะมีปริมาณเกิน 70 ล้านตัน นอกจากนั้น จากการวิเคราะห์ของหน่วยวิจัยเศรษฐกิจ (ERU: Economic Research Unit) ภายใต้กระทรวงเหล็ก คาดว่าการส่งออกสินแร่เหล็กของอินเดียในปี 2559 จะลดลงเหลือเพียง 30-40 ล้านตันเท่านั้น แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้ประกาศนโยบายห้ามไม่ให้มีการส่งออกสินแร่เหล็กก็ตาม แต่ปริมาณการส่งออกที่ลดลงดังกล่าวจะเกิดขึ้นเนื่องจากการปรับตัวของกลไกตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของอินเดีย

อินเดียเป็นประเทศ 1 ใน 5 ของโลกที่มีอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าใหญ่ที่สุด โดยอุตสาหกรรมนี้คิดเป็น 2% ของ GDP ของประเทศและสามารถสร้างงานได้กว่า 2.1 ล้านตำแหน่งทั้งทางตรงและทางอ้อม การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ของอินเดียเป็นผลมาจากนโยบายอุตสาหกรรมใหม่ (New Industrial Policy) ของรัฐบาลในปี 2534 ซึ่งเปิดให้ภาคเอกชนเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ได้และอนุญาตให้มีการนำเข้าเทคโนโลยีและการลงทุนจากต่างประเทศโดยผ่านช่องทางอัตโนมัติ จึงส่งผลให้มีการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI: Foreign Direct Investment) และการลงทุนภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในอุตสาหกรรมนี้ ทำให้เกิดการพัฒนาโรงงานถลุงเหล็กให้มีความทันสมัย รวมทั้งมีการพัฒนาให้มีการใช้พลังงานอย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย อุตสาหรรมเหล็กและเหล็กกล้าของอินเดียจึงก้าวขึ้นสู่แนวหน้าของโลกอย่างในปัจจุบัน ซึ่งทำให้มีบริษัทของอินเดียไปดำเนินการการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition) บริษัทอื่นในเวทีการค้าโลกด้วย

แม้ว่าอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของอินเดียจะเจริญเติบโตเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดของโลก แต่ปรากฎว่าการบริโภคเหล็กต่อคนต่อปีในอินเดียมีปริมาณเพียง 51 กิโลกรัมเท่านั้นซึ่งไม่สามารถเทียบได้กับค่าเฉลี่ยของโลกที่ 182 กิโลกรัมต่อคนต่อปีได้เลย อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลสาธารณรัฐอินเดียได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ประกอบกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ยานยนต์ ทางรถไฟ อุตสาหกรรมต่อเรือ และสินค้าคงทน (Consumer Durable Goods) ก็ยังเป็นพลังขับเคลื่อนให้ความต้องการในการบริโภคเหล็กภายในประเทศเพิ่มขึ้นอีก

ในปี 2553-2554 อินเดียมีกำลังการผลิตเหล็กกล้าดิบ (Crude Steel) 78 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากปี 2552-2553 ซึ่งมีปริมาณ 73 ล้านตัน 6.85% แต่ถ้าเทียบกับปี 2549-2550 ซึ่งมีกำลังการผลิตเพียง 56.9 ล้านตัน ก็จะมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 37.1% ทั้งนี้ อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2549-2550 จนถึงปี 2553-2554 จะอยู่ที่ 8.2% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2548-2549 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมเหล็กของอินเดียได้ทำการผลิตเหล็กกล้าดิบจริง (Capacity Utilization) ในอัตรา 88-91% ของกำลังการผลิตซึ่งถือว่าอยู่ในอัตราค่อนข้างสูง โดยอัตราการเจริญเติบโตของการผลิตจริง (Production) อยู่ที่ประมาณ 7.6% ต่อปี ปริมาณการผลิตเหล็กกล้าดิบที่แท้จริงในปี 2553-2554 จึงอยู่ที่ 68.3 ล้านตัน

สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าสำเร็จรูป (Finished Steel) มีการผลิตในปี 2553-2554 ปริมาณ 61.8 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อนหน้า 8.2% และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้เหล็กกล้าในอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและบ้านพักอาศัยตลอดจนศูนย์การค้าใหม่ๆยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเห็นได้จากปริมาณการผลิตเหล็กกล้าประเภทเหล็กเส้นและเหล็กลวด (อยู่ในกลุ่มเหล็กกล้าทรงยาว) ที่มีสัดส่วนถึง 40% ของปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าสำเร็จรูปทั้งหมด ส่วนเหล็กโครงสร้างก็มีปริมาณพอสมควร

ผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าสำเร็จรูปที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มเหล็กกล้าทรงแบน โดยในปี 2553-2554 อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของอินเดียมีการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน (Hot-Rolled Steel) ทั้งชนิดม้วน ชนิดแผ่น และชนิดแถบ ปริมาณ 12.9 ล้านตัน ส่วนเหล็กแผ่นรีดเย็น (Cold-Rolled Steel) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 18% ของปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าสำเร็จรูปทั้งหมดของอินเดีย สำหรับเหล็กแผ่นเคลือบ (Plates) มีปริมาณการผลิตเพียง 4.3 ล้านตัน ส่วนเหล็กรางรถไฟและท่อเหล็กมีปริมาณการผลิตประมาณ 3 ล้านตัน

การบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าสำเร็จรูปของอินเดียในปี 2553-2554 มีปริมาณ 62.1 ล้านตัน ด้วยอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.7% นับตั้งแต่ช่วงปี 2549-2550 เป็นต้นมา

แนวโน้มการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าสำเร็จรูป

                                                         ปี                        เฉลี่ยต่อปี
                                     49-50    50-51    51-52     52-53    53-54     (%)
          ปริมาณการบริโภค (ล้านตัน)       49.7     55.2     55.2      56.1     62.1     5.7%

ที่มา: กระทรวงเหล็กอินเดีย

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้มีการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าสำเร็จรูปโดยผู้บริโภคคนสุดท้าย (End-User Sector) ในปริมาณมากก็คือ การก่อสร้าง (Construction Sector) ซึ่งทำให้มีการบริโภคเป็นสัดส่วนถึง 50% ของปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าสำเร็จรูปรวม โดยแยกเป็นการบริโภคในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยประมาณ 12 ล้านตัน และรองลงมา คือ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 7 ล้านตัน นอกจากนั้นเป็นการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าสำเร็จรูปที่นำไปผลิตเป็นสินค้า (34%) และการขนส่ง (16%) รวมทั้งภาคการผลิตรถยนต์ที่ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แม้จะเป็นประเทศผู้ผลิตสินแร่เหล็กรายใหญ่ของโลกและมีอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กครบวงจร แต่อินเดียก็ยังถือเป็นประเทศผู้นำเข้าเหล็กกล้าสุทธิ (Net Importer of Steel) โดยมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าสำเร็จรูปในรูปแบบต่างๆในปริมาณ 6.5 ล้านตันในปี 2553-2554 ในขณะที่มีการส่งออกเพียง 3.6 ล้านตันในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ เนื่องจากอินเดียไปมุ่งเน้นการส่งออกสินแร่เหล็กซึ่งมีมูลค่าเพิ่มน้อยเป็นหลัก

ผู้เล่นหลักในตลาดอินเดีย

บริษัทหลักที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของอินเดียมีอยู่ 6 บริษัทที่มีปริมาณการผลิตเหล็กกล้าดิบ (Crude Steel) รวมกันเป็นสัดส่วนถึง 50% ได้แก่ Steel Authority of India (SAIL) บริษัท Tata Steel บริษัท Vizag Steel/Rashtriya Ispat Nigam Limited (RINL) บริษัท Essar Steel บริษัท JSW Steel และบริษัท JSW ISPAT ทั้งนี้ บริษัทเหล่านี้นอกจากจะเป็นผู้ผลิตเหล็กกล้าดิบแล้วยังได้ดำเนินกิจการในการแปรรูปเหล็กกล้าดิบเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าสำเร็จรูปอีกด้วย

ตารางแสดงปริมาณการผลิตและยอดขายของ 6 บริษัทยักษ์ใหญ่ของอินเดีย
                                ปริมาณการผลิต                      ยอดขาย (พันล้านรูปี)
          บริษัท                  ปี 2553-2554               2552-2553            2553-2554

(ล้านตัน)

          SAIL                         13.8                 439.3                 470.4
          Tata Steel                    6.9                 250.2                 294.0
          JSW Steel                     5.9                 202.1                 258.7
          JSW-ISPAT                     2.4                 109.8                  n.a.
          Essar Steel                   3.4                 113.9                  n.a.
          RINL                          3.2                 106.3                  n.a.

ที่มา: Website ของบริษัทฯ; n.a. not available

ในบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง 6 บริษัทของอินเดีย SAIL ถือเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมนี้ ด้วยส่วนแบ่งการผลิต 20% และยอดขายช่วงปี 2553-2554 ถึง 470.4 พันล้านรูปี ตามมาด้วยบริษัท Tata Steel ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตประมาณ 10% และมียอดขายในช่วงเดียวกัน 294.0 พันล้านรูปี

พัฒนาการล่าสุดในตลาดอินเดีย

สถานะปัจจุบันของอุตสาหกรรมนี้ในอินเดีย ผู้เล่นหลักยังคงไม่เปลี่ยนแปลงแต่กำลังมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 33.6 ล้านตันเป็น 54.7 ล้านตัน โดยกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นอีก 21.1 ล้านตันนี้เป็นของบริษัทหลักรวมกันถึง 70%

          ตารางแสดงกำลังการผลิตของบริษัทหลักในอินเดีย                                                หน่วย:  ล้านตัน
          บริษัท                    ที่ตั้งโรงงาน                        กำลังการผลิตปัจจุบัน           กำลังการผลิตใหม่
                            IISCO, West Bengal                                 0.5                     2.5
                            Bokaro, Jharkhand                                  4.3                     4.6
          SAIL              Bhilai, Chhattisgarh                               3.9                     7.0
                            Roukela, Orissa                                    1.9                     4.2
                            Durgapur, West Bengal                              1.8                     2.2
          Tata Steel        Jamshedpur, Jharkhand                              6.8                    10.0
          Essar Steel       Hazira, Gujarat                                    4.6                    10.0
          JSW Steel         Tornagallu, Karnataka                              6.8                    10.0
          JSW-Ispat         Dolvi, Maharashtra                                 3.0                     4.2
          รวม                                                                 33.6                    54.7

ที่มา: Website ของบริษัทฯ

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่เข้าไปลงทุนและร่วมทุน (Joint Venture) กับบริษัทอินเดียในอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของอินเดียเพิ่มขึ้นอีกด้วย โครงการสำคัญ ได้แก่

1.บริษัท National Mineral Development Corporation (NMMDC) กำลังจะร่วมมือ กับบริษัท Severstal ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเหล็กกล้าของรัสเซียตั้งโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ กำลังผลิตปีละ 2 ล้านตันที่รัฐกรณาฏกะ ด้วยเงินลงทุนประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

2.บริษัท Tata Steel ร่วมทุนกับบริษัท Nippon Steel Corporation (NSC) ของญี่ปุ่นตั้ง โรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ กำลังผลิตปีละ 6 แสนตันที่เมือง Jamshedpur รัฐฌาร์ขัณฑ์ ด้วยเงินลงทุน 24,000 ล้านรูปี

3.บริษัท Arcelor-Mittal India Ltd. กำลังอยู่ระหว่างการสร้างโรงงานผลิตเหล็กกล้าใน รัฐฌาร์ขัณฑ์ รัฐโอริสสา และรัฐกรณาฏกะ กำลังการผลิตรวมกันปีละ 30 ล้านตัน ด้วยเงินลงทุน 1.2 ล้านล้านรูปี

4.บริษัท POSCO India Ltd. กำลังอยู่ระหว่างการสร้างโรงงานผลิตเหล็กกล้าในรัฐโอริสสา และรัฐกรณาฏกะ กำลังการผลิตปีละ 18 ล้านตัน ด้วยเงินลงทุน 840,000 ล้านรูปี บทบาทรัฐบาลอินเดียต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง (Capital Intensive Industry) และยังต้องขึ้นอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ คือ สินแร่เหล็กและถ่านหินที่ใช้ในการถลุงเหล็กอีกด้วย ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง ได้แก่

1.ได้จัดสรรเงินกว่า 450,000 ล้านรูปีสำหรับพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าตาม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (แผน 5 ปี)

2.ได้ริเริ่มนโยบายเหล็กแห่งชาติปี 2548 (National Steel Policy 2005) โดยเน้นการเพิ่ม กำลังการผลิต การเพิ่มการลงทุนในกิจกรรมวิจัยและพัฒนา (R&D) ลดขั้นตอนและข้อจำกัดทางนโยบาย รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน

3.ได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) และโรงงานผลิตเหล็กกล้าที่ รัฐบาลโดยกระทรวงเหล็กเข้าไปดูแลตั้งแต่การจัดหาถ่านหินและสินแร่เหล็กเพื่อใช้ในการถลุงเหล็กและดูแลไม่ให้เกิดปัญหาตลอดกระบวนการการผลิต โดยมีเป้าหมายให้มีการจัดตั้งโรงงานดังกล่าวให้มีกำลังการผลิตให้ได้โรงงานละ 10 ล้านตันต่อปีในรัฐต่างๆ ซึ่งโครงการจัดตั้งโรงงานนี้เรียกว่า "Ultra Mega Steel Plants" โดยใช้แนวทางเดียวกับการจัดตั้งโรงไฟฟ้าที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วภายใต้ชื่อว่า "Ultra Mega Power Plants" ซึ่งกระทรวงการไฟฟ้าเป็นผู้รับผิดชอบ โดยให้ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

ก้าวต่อไปอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าอินเดีย

ด้วยสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในขณะนี้ อุตสาหกรรมฯ ของอินเดียได้เริ่มมองแนวโน้มใหม่และเตรียมปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

1.โครงสร้างสำเร็จรูป (Prefabricated Structure) เป็นแนวคิดที่กำลังได้รับความนิยมใน อุตสาหกรรมก่อสร้างเนื่องจากมีความสะดวก ประหยัด และง่ายต่อการก่อสร้าง ทิศทางในอนาคตของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของอินเดียจะเน้นการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าสำเร็จรูปประเภทนี้มากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการที่เปลี่ยนไป

2.Nanotechnology เป็นอีกหนึ่งแนวโน้มใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจจากอุตสาหกรรม ยานยนต์ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของอินเดียจะเน้นการวิจัยและพัฒนาด้านนี้มากขึ้นเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าสำเร็จรูปที่ใช้ Nanotechnology ทำให้สามารถผลิตเหล็กกล้าที่มีน้ำหนักเบาและคงทนเพื่อป้อนโรงงานผลิตรถยนต์ต่อไป

3.เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของอินเดียมีความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน นัก ธุรกิจอินเดียจะต้องลงทุนในการสร้างโรงงานผลิตเหล็กกล้าด้วยวิธี Recycle ให้มากขึ้น

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าอินเดียกับประเทศไทย

ประเทศไทยส่งออกสินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ไปประเทศอินเดียในปี 2553 เป็นมูลค่า 180 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 81.8% สำหรับในปี 2554 ในช่วงเดือนมกราคมตุลาคม 2554 ประเทศไทยส่งออกสินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ไปประเทศอินเดียเป็นมูลค่า 170.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 17.0% สำหรับการนำเข้า ประเทศไทยนำเข้าสินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์จากประเทศอินเดียในปี 2553 เป็นมูลค่า 65.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนหน้า 15.2% สำหรับในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 ประเทศไทยนำเข้าสินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์จากประเทศอินเดียเป็นมูลค่า 55.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 3.2%

ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยมีการนำเข้าจากอินเดียลดลงน่าจะเป็นผลมาจากสินค้าบางรายการใน หมวดดังกล่าวของอินเดียถูกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดจากประเทศไทย คือ เหล็กแผ่นรีดร้อน (HotRolled Steel) ซึ่งถูกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti Dumping) จากประเทศไทยมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2546 โดยบริษัทอินเดียต้องชำระอากรตอบโต้การทุ่มตลาดในอัตรา 26.81-31.92% ของราคา C.I.F. หลังจากนั้นได้ถูกทบทวนก่อนหมดอายุมาตรการ (Sunset Review) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 และถูกพบว่ายังมีการทุ่มตลาดอยู่ จึงต้องชำระอากรตอบโต้การทุ่มตลาดต่อไปอีกในอัตราเดิม อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน 2552 อุตสาหกรรมภายในของไทยได้ยื่นขอให้ทบทวนอัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดอีกครั้ง (Change Circumstance Review) และพบว่ายังคงมีการทุ่มตลาดอยู่ จึงยังต้องชำระอากรตอบโต้การทุ่มตลาดในอัตราใหม่ คือ 20.02-31.92%

อย่างไรก็ตาม คาดว่าอินเดียคงไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องการส่งออกสินค้าเหล็กและเหล็กกล้าไปเมืองไทยมากนัก แต่ใช้รูปแบบทางธุรกิจ (Business Model) อื่นในการเข้าตลาดประเทศไทย ด้วยการเข้าไปตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัทไทยเพื่อดำเนินธุรกิจจำหน่ายเหล็กและเหล็กกล้า นั่นคือ บริษัท Tata Steel Thailand แต่ผลประกอบการของบริษัทฯ ยังไม่ดี เพราะมีผลประกอบการขาดทุนในปี 2552 เป็นจำนวนเงิน 54.0 ล้านบาท และจนถึงเดือนมีนาคม 2554 ยังมีผลประกอบการขาดทุนอยู่อีก 976.0 ล้านบาท สำหรับไตรมาสแรกของปี 2554-2555 สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554 บริษัทฯ สามารถทำกำไรได้เป็นจำนวนเงิน 2.0 ล้านบาท เทียบกับผลประกอบการช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งมีกำไร 28.0 ล้านบาท โดยขณะนี้บริษัทแม่ที่อินเดียได้ร่วมมือกับบริษัท Tata Steel Europe เข้าไปช่วยกอบกู้สถานการณ์แล้ว

อนึ่ง อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าในประเทศไทยไม่ได้เป็นอุตสาหกรรมที่ครบวงจรเหมือนอุตสาหกรรมของอินเดีย เนื่องจากประเทศไทยไม่มีทรัพยากรธรรมชาติสินแร่เหล็กและปัจจุบันยังไม่มีโรงงานถลุงเหล็กเพราะยังมีการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่และ NGOs อยู่ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของประเทศไทยจึงเริ่มต้นจากการนำเข้าเหล็กแท่งแบน (Slabs) จากต่างประเทศ แล้วนำไปเข้ากระบวนการรีดร้อน รีดเย็น และเคลือบ เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าสำเร็จรูปในรูปแบบต่างๆ การจะเข้าตลาดประเทศไทยของบริษัทอินเดีย ถ้าเป็นการส่งออกเหล็กแท่งแบน (Slabs) ให้บริษัทไทยนำไปแปรรูปต่อ บริษัทอินเดียก็ต้องประสบกับการแข่งขันจากบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทเกาหลี ที่ซื้อสินแร่เหล็กจากอินเดียไปผลิตเป็นเหล็กแท่งแบน (Slabs) มาขายให้กับบริษัทในประเทศไทย ส่วนใหญ่บริษัทจากอินเดียจึงมักจะส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าสำเร็จรูปประเภทเหล็กแผ่นรีดร้อนเข้าประเทศไทย ซึ่งก็ต้องประสบกับการแข่งขันกับอุตสาหกรรมภายในของไทยที่นำเข้าเหล็กแท่งแบน (Slabs) มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าสำเร็จรูปจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศอยู่แล้ว

หมายเหตุ

1สมชาย พวงเพิกศึก และชูศักดิ์ แช่มเกษม, สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 2

2ทวีทรัพย์ จิตติวัฒนานุกุล, บริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน), "ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเหล็ก", 2552

3Business India, "To Export or Not?", December 11, 2011, pp. 44-48.

4ตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ (Imperfect Market) แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ตลาดผูกขาด (Monopoly), ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic Competition) และตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly)

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ