ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสภาพตลาดอิหร่านอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการคว่ำบาตรในรูปแบบต่างๆ จากนานาประเทศ เพื่อให้อิหร่านยุติการพัฒนาโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยการคว่ำบาตรมุ่งไปที่หน่วยงานบางแห่งของอิหร่าน บุคคลสัญชาติอิหร่านบางคน และการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ เพื่อโดดเดียวอิหร่านจากประชาคมโลก ส่งผลให้ธุรกิจนำเข้า-ส่งออกของอิหร่านประสบปัญหาต่างๆ มากมาย เช่นปัญหาชำระสินค้าที่ธนาคารส่วนใหญ่ไม่รับ L/C ที่ออกจากธนาคารในอิหร่าน หรือปัญหาการรับประกันการขนส่งสินค้าทางเรือ เป็นต้น ผู้นำเข้าอิหร่านได้พยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยการใช้เงินสดในการชำระค่าสินค้าหรือชำระเงินผ่านประเทศที่สาม แก่คู่ค้าของตน
เพื่อลดผลกระทบจากการคว่ำบาตรดังกล่าว รัฐบาลอิหร่านได้พยายามแสวงหาคู่ค้าและนักลงทุนจากประเทศใหม่ๆ เช่นจาก จีน ตูรกี รัสเซีย และอินเดีย โดยประเทศเหล่านี้ ได้เดินทางเข้ามาเปิดตลาดสินค้าใหม่ๆ ของตนเอง และได้สร้างกลไกทางการเงินเฉพาะตน เพื่อเป็นเครื่องมือในการชำระเงินในการนำเข้าส่งออก
นอกจากนี้ รัฐบาลอิหร่านได้พยายามใช้นโยบายพึงพิ่งตนเอง (Self-sufficiency) ให้มากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องการผลิตอาหารเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ที่จะต้องเพียงพอสำหรับประชากรกว่า 70 ล้านคน โดยเมื่อกลางปี 2554 รัฐสภาอิหร่านได้ประกาศระงับการนำเข้าสินค้าอาหารจำนวน 49 รายการ เพื่อปกป้องการผลิตสินค้าเกษตรภายในประเทศ และใช้มาตรการทางการค้าและมิใช่ภาษีต่างๆ อื่นๆ เพื่อกีดกันการนำเข้าจากต่างประเทศอีกด้วย
จากนโยบายดังกล่าวข้างต้นของอิหร่าน ทำให้ภาคการผลิตของอิหร่านขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร การเลี้ยงสัตว์ การประมง และพืชสวนต่างๆ แต่ในขณะเดียวกัน ในส่วนของสินค้าที่อิหร่านยังผลิตเองไม่ได้เช่นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอุตสาหกรรมกึ่งสำเร็จรูป ฯลฯ อิหร่านก็จะนำเข้าผ่านตลาดมืด (Black market) ผ่านท่าเรือเล็กๆ เรียงรายตามชายฝั่งอ่าวเปอร์เซียกว่าพันแห่ง
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า สภาพการเมืองในอิหร่านมีผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจโดยตรง ทำให้ระเบียบหรือข้อกำหนดต่างๆ เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไม่แน่นอน โดยในบางขณะอิหร่านจะระงับการนำเข้าโดยสิ้นเชิงเพื่อสนับสนุนเกษตรกร แต่กลับผ่อนคลายอนุญาตให้นำเข้าได้ในระยะเวลาต่อมา เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนสินค้าภายในประเทศ ผู้ส่งออกไทยที่ต้องการเปิดตลาดในอิหร่านจึงต้องมีความอดทนและเข้าใจปัญหาของผู้นำเข้าอิหร่านพอสมควร เพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าให้ต่อเนื่องยาวนาน
สคต เตหะราน
ที่มา: http://www.depthai.go.th