“ส่งออก” ชี้ประชุม GMS ครั้งที่ 4 โลจิกสติกส์ไทยส่อแววสดใส

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 26, 2011 11:12 —กรมส่งเสริมการส่งออก

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ปัจจุบันประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและอินเดียเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญอันดับต้นๆ ของโลกในเรื่องทางด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน ซึ่งจะเห็นได้จากขนาดทางเศรษฐกิจของประเทศจีนที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ประเทศอินเดียนั้นมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายปีจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ประเทสพม่าเองก็เป็นประเทศที่ไม่ควรมองข้ามผ่านไป เนื่องจากประเทศพม่าเองอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งแร่ธาตุ อัญมณี ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน มีจำนวนประชากรไม่น้อย ค่าแรงต่ำและมีชายแดนติดต่อทั้งประเทศจีน ไทย ลาว อินเดีย เปิดประเทศขึ้นเมื่อใดเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติต้องแห่เข้าไปหาทางลงทุนในประเทศพม่าทันที

ซึ่งประเทศพม่าเป็นหนึ่งในสมาชิกทั้ง 6 ประเทศในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ GMS: Greater Mekong Sub regional Economic Cooperation คือ กัมพูชา จีน พม่า ลาว เวียดนาม ไทย ขณะที่ประเทศอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีความสำคัญยิ่งในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ BIMSTEC: Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation ที่มีสมาชิกรวม 7 ประเทศ คือ บังคลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ไทย พม่า เนปาล และภูฎาน ซึ่งทั้งสองกลุ่มความร่วมมือนี้มีศูนย์กลางการขนส่งอยู่ที่ประเทศไทย

“ขณะนี้ทางกรมฯ ได้ทำความตกลงกับประเทศพม่าในการขอเปิดด่าน 2 ด่าน คือ 1.เมืองเมียวดีกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งการเปิดด่านดังกล่าวจะเป็นตัวช่วยเร่งให้เกิดมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับพม่า และ 2.ด่านสิงขรถือเป็นจุดที่สำคัญของเส้นทางผ่านสินค้าจากไทยไปสู่เมียนมาร์ตอนใต้ (เส้นทางไปเมืองมะริด) ซึ่งเป็นเมื่องสำคัญทั้งการนำสินค้าทางไทยไปใช้เองและส่งต่อไปยังบังคลาเทศ อินเดีย และการนำเข้าสินค้าประมงจากเมียนมาร์สู่ไทย ซึ่งคาดว่าสิ้นปี 2554 มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดพม่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 35 เนื่องจากในช่วงเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวและฤดูท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) รวมทั้งการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ประชาชนชาวพม่าเริ่มจับจ่ายซื้อสินค้าในเทศกาลลอยกระทง การออกพรรษา และเข้าสู่ปีใหม่” นางนันทวัลย์ กล่าว

ล่าสุดในช่วงระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม 2554 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยได้เดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) หรือ "4th GMS Summit & GMS-BIC 2011" ที่นครเนย์ปิตอว์ สหภาพพม่า โดยภาคเอกชนเสนอการพัฒนาเมืองต้นแบบของประเทศไทยเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านหรือเมืองชายแดนคู่แฝดตามข้อเสนอของภาคเอกชนไทยทั้งสิ้น 5 เมืองคู่แฝด ได้แก่ 1.เชียงของ-ห้วยทราย ซึ่งเป็นเมืองที่จะพัฒนาเชื่อมโยงจังหวัดเชียงราย ภาคเหนือของประเทศไทยกับแขวงบ่อแก้วทางภาคเหนือด้านตะวันตกของ สปป.ลาว โดยทั้ง 2.เมืองมีศักยภาพในการพัฒนาเนื่องจากอยู่ในแนวเส้นทาง R3E (R3A) มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2556 ระยะทางทั้งสิ้น 229 กิโลเมตร เป็นเส้นทางหลักของการเชื่อมโยงไทย-ลาว-จีน โดยมูลค่าการค้าชายแดน ของอำเภอเชียงของในปี 2554 นี้มีมูลค่า 8,199 ล้านบาท 2.แม่สอด-เมียวดี เป็นแนวทางการพัฒนาภาคเหนือตอนบนซีกตะวันตกของไทย บริเวณอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และภาคกลางด้านตะวันตกของพม่าบริเวณจังหวัดเมียวดี ซึ่งมีความเหมาะสมในการพัฒนาเป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดนเนื่องจากเป็นด่านถาวรระหว่างไทย-พม่า และตั้งอยู่ภายใต้เส้นทาง East West Economic Corridor เชื่อมชายฝั่งทะเลตะวันออกจากเมืองดานังในตอนกลางของประเทศเวียดนาม ผ่านตอนกลางของประเทศไทยไปสู่นครย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญของ ทั้งนี้มูลค่าการค้าชายแดนในอำเภอแม่สอดปี 2554 มีมูลค่าอยู่ที่ 18,346 ล้านบาท 3.นครพนม-คำม่วน เป็นเมืองชายแดนเชื่อมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่จังหวัดนครพนมกับภาคตะวันตกของ สปป.ลาว ที่แขวงคำม่วน เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง East West Corridor เส้นบน สามารถเชื่อมโยงชายฝั่งทะเลจากเมืองวิงห์ และท่าเรือหวุ่งอ๋าง ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นท่าเรือสู่ทะเลจีนใต้ มีระยะทาง 310 กิโลเมตร 4.มุกดาหาร-สะหวันนะเขต เป็นเมืองต้นแบบเชื่อมภาคอีสานตอนบนของไทยที่จังหวัดมุกดาหารกับตอนกลางของ สปป.ลาว ที่แขวงสะหวันนะเขต ซึ่งมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 และเส้นทางหมายเลข 9 ระยะทาง 240 กิโลเมตร เชื่อมโยงเมืองดานังกับเมืองลาวบ๋าว-แดนสะหวัน-สะหวันนะเขต-มุกดาหาร เป็นเส้นทางหลักของการขนส่งสินค้า เชื่อมโยงจากเมืองท่าโฮจิมินห์เข้าสู่ไทย เหมาะจะเป็นเมืองต้นแบบด้านโลจิสติกส์ การค้าชายแดน การลงทุนด้านเกษตร เหมืองแร่ และด้านการท่องเที่ยว และ 5.กาญจนบุรี-ทวาย เป็นการพัฒนาเมืองต้นแบบของภาคตะวันตกตอนกลางของไทยกับภาคตะวันตกตอนใต้ของพม่า อยู่ในแนวการก่อสร้างเส้นทางพุน้ำร้อน-ทวาย มีระยะทาง 160 กิโลเมตร ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2558 อีกทั้งเส้นทางนี้จะไปสู่ท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ของภูมิภาค ซึ่งตามโครงการจะมีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2558 เป็นเส้นทางที่มีศักยภาพในการเป็นแลนด์บริดจ์ของท่าเรือแหลมฉบังฝั่งตะวันออก (อ่าวไทย) กับท่าเรือทวายที่อยู่ชายฝั่งตะวันตก (อันดามัน) ต้องมีการยกระดับให้เป็นด่านถาวร ทั้งนี้ จังหวัดกาญจนบุรี - เมืองทวายมีความเหมาะสมที่จะเป็นเมืองต้นแบบด้านอุตสาหกรรมชายแดน โลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าข้ามแดนแบบ Transshipment ระหว่างประเทศ และด้านการท่องเที่ยว

โชว์มูลค่าค้าชายแดน

ด้านนายเฉลิมพล พงศ์ฉบับนภา พาณิชย์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การค้าชายแดนของจังหวัดเชียงราย ซึ่งสามารถค้าขายได้กับ 3 ประเทศ คือ พม่า สปป.ลาว และจีนตอนใต้ โดยภาพรวมมูลค่าการค้าชายแดนของจังหวัดเชียงรายในรอบปี 2554 (มกราคม-ตุลาคม 2554) มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 24,124.10 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออก 21,265.13 ล้านบาท การนำเข้า 2,858.97 ล้านบาท ขณะที่การค้าชายแดนของเชียงรายในปี 2553 (มกราคม-ตุลาคม 2553) มีมูลค่ารวม 16,032.38 ล้านบาท อย่างไรก็ดี คาดว่าเมื่อการขนส่งสินค้าทางเรือในแม่น้ำโขงเป็นระบบมากขึ้นจากการก่อสร้างท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 แล้วเสร็จ และเปิดให้ผู้ประกอบการขนถ่ายสินค้าได้ราวเดือนพฤษภาคม 2555 จะส่งผลให้มูลค่าการค้าชายแดนของจังหวัดเชียงราย ในปี 2555 มีอัตราการเติบโตที่ไม่ต่ำกว่าปี 2554

ขณะที่นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ นายด่านศุลกากรแม่สอด ชายแดนไทย-พม่า อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า ภาวะการค้าชายแดนด่านศุลกากรแม่สอด ปีงบประมาณ 2554 (ต.ค. 2553-ก.ย. 2554) มีมูลค่าทั้งสิ้น 18,346.11 ล้านบาท ลดลง 38.40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2553 ที่มีมูลค่าการค้ารวม 29,782.81 ล้านบาท ส่วนในปีงบประมาณ 2555 คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 40-50% จากศักยภาพของด่านศุลกากรแม่สอด และเมืองที่กำลังเจริญเติบโต เหมาะสมกับการพัฒนาเป็นประตูการค้า หรือระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (อีสต์เวสต์อีโคโนมิกคอร์ริดอร์ EWEC)

"นครแม่สอด มีศักยภาพและความเหมาะสมที่ควรจะจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและท้องถิ่นพิเศษ รองรับการที่พม่าได้เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีไปแล้ว ด้วยศักยภาพและปัจจัยความพร้อมของนครแม่สอดรัฐบาลควรเร่งดำเนินการพัฒนานครแม่สอดให้เป็นเมืองการค้าชายแดนและประตูการค้าระหว่างประเทศ และเมื่อพม่าเปิดพรมแดนเมียวดีแล้ว ด่านการค้าแม่สอดจะกลับมาได้รับความนิยมอย่างมาก คาดว่าตัวเลขมูลค่าการค้าอาจจะทะลุเกิน 50,000 ล้านบาท จากปัจจัยความพร้อมและศักยภาพของเมือง"

นายสมปอง สงวนบรรพ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กล่าวในการสัมมนา "ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา: ศักราชใหม่แห่งมิตรภาพ โอกาสใหม่แห่งการค้าและการลงทุน" จัดโดยกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า กัมพูชาเป็นประเทศที่นักลงทุนไทยน่าเข้าไปลงทุน เพราะอยู่ใกล้ไทยมาก มีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีการขยายตัวของจีดีพีเฉลี่ย 6-7% ทั้งยังเป็นสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย ทั้งนี้ การลงทุนด้านการท่องเที่ยวเป็นด้านหนึ่งที่มีศักยภาพและไทยมีความเชี่ยวชาญ ประกอบกับกัมพูชายังมีความต้องการให้ต่างชาติเข้าไปร่วมพัฒนาอยู่มาก อาทิ การติดตั้งระบบประปาในต่างจังหวัดที่ การตั้งโรงสีซึ่งยังขาดแคลน ล่าสุด มูลค่าการค้าระหว่างไทยและกัมพูชาในปี 2553 อยู่ที่กว่า 80,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 68% เป็นมูลค่าการค้าชายแดน

ไทยส่งออกได้สิทธิ์จีเอสพี

ด้านนางสาวพรรณี เช็งสุทธา ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและร่วมมือการลงทุนในอาเซียน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า กัมพูชาอาจถูกมองข้ามหรือนักลงทุนอาจจะยังลังเลใจ ทั้งที่การแข่งขันในกัมพูชาถือว่ายังมีน้อย จึงยังมีโอกาสที่เปิดกว้างอีกมาก ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตที่มีแรงงานจำนวนมาก มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตและมีศักยภาพที่จะพัฒนา รัฐบาลกัมพูชาเองมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติที่คล้ายๆกับของไทย ที่สำคัญคือหากไทยเข้าไปลงทุนเพื่อการส่งออกก็จะได้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงที่กัมพูชามีกับหลายประเทศที่เป็นตลาดใหญ่ เช่น การส่งออกเสื้อผ้าจะได้ประโยชน์จากข้อตกลงสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่กัมพูชาได้จากสหภาพยุโรป (อียู) เป็นต้น แต่ก็มีข้อควรระวัง เช่น ค่าที่ดิน ค่าสาธารณูปโภคที่ยังแพงมาก กฎหมายและกฎระเบียบยังขาดความชัดเจน และไม่มีหน่วยงานที่ชี้ขาด การบังคับใช้กฎหมายยังมีจุดอ่อน การปลอมแปลงสินค้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,697 18-21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ