สถานการณ์การผลิตและการค้าข้าวของเวียดนาม (รายงานเดือนธันวาคม 2554)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 26, 2011 11:28 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานการณ์การผลิต

ฤดูการผลิต autumn — winter (ฤดูการผลิตสุดท้ายของปี ) เกษตรกรในเขตแม่โขงเดลต้าเก็บเกี่ยวข้าวได้ผลผลิตจำนวน 3.3 ล้านตัน มากกว่าที่เคยผลิตได้เมื่อปีที่แล้วถึง 930,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 39% ผลผลิตเฉลี่ยต่อเฮกตาร์เป็น 4.92 เฮกตาร์ โดยเฉพาะในจังหวัดอันยางและจังหวัดซอคจางที่เพิ่มขึ้นถึง 6.0 — 6.5 ตัน / เฮกตาร์ ทำให้เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวฤดูการผลิตนี้ถึง 91% ได้ผลกำไร โดยราคาที่เกษตรกรได้รับเป็น 6,000 ด่ง /กิโลกรัม หรือ 11 ล้านด่ง/เฮกตาร์

กรมการเพาะปลูก กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม ตั้งเป้าพื้นที่เพาะปลูกของฤดูการผลิต autumn — winter ปี 2555 เป็น 600,000 — 700,000 เฮกตาร์

ฤดูการผลิต winter — spring ( ฤดูการผลิตแรกของปี 2554 / 2555 ) เนื่องจากภาวะน้ำท่วมทำให้การเพาะปลูกข้าวฤดูกาลนี้ล่าช้ากว่าปกติ จนถึงกลางเดือนธันวาคม 2554 เกษตรกรเพิ่งปลูกข้าวได้เพียง 500,000 เฮกตาร์ หรือเพียง 1 ใน 3 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด ( กระทรวงเกษตรฯ เวียดนามคาดว่าในปี 2555 จะมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งหมด 1.55 ล้านเฮกตาร์ ) ทำให้กระทรวงเกษตรฯ เวียดนามต้องเตือนว่าการเพาะปลูกล่าช้าออกไปอาจทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาความแห้งแล้งและภาวะน้ำเค็มในช่วงท้ายของฤดู

ข้าวพันธ์ IR 50404 ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพต่ำแต่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกในเขตแม่โขงเดลต้า โดยจะปลูกประมาณ 20% ของพื้นที่ ส่วนที่เหลือจะเป็นการปลูกข้าวคุณภาพดีสำหรับการส่งออก

ในปี 2554 จังหวัดต่าง ๆ ในแถบแม่โขงเดลต้าผลิตข้าวเปลือกได้มากถึง 23 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1.5 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 7% โดยผลผลิตในเขตแม่โขงเดลต้าคิดเป็น 55% ของผลผลิตทั่วประเทศ

ปริมาณข้าวสำรองในประเทศ

ปัจจุบัน ผู้ค้าข้าวท้องถิ่นของเวียดนามมีปริมาณข้าวที่สำรองไว้ 1.14 ล้านตัน รวมกับผลผลิตฤดูการผลิต autumn — winter จึงคาดว่าปริมาณข้าวสำรองในไตรมาสแรกของปี 2555 จะมีมากกว่า 1 ล้านตัน ( ข้อมูลจาก Vietnam Food Association )

การค้าข้าวในประเทศ

ตลาดข้าวในเวียดนามเริ่มสั่นคลอนเมื่อเกิดการชะลอตัวของการส่งออกข้าว ซึ่งผู้ส่งออกข้าวเวียดนามต้องเผชิญกับแรงกดดันจากแหล่งข้าวราคาถูก เช่น อินเดีย ปากีสถานและพม่า ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา สัญญาซื้อขายข้าวระหว่างพ่อค้า ( commercial contracts ) ลดลงอย่างมาก มีเพียง 1 — 2 รายที่มีสัญญาซื้อข้าวหอมและข้าวเหนียว มีบางสัญญาถูกยกเลิก ขณะที่การค้าข้าวภายใต้ concentrated contracts เวียดนามเพิ่งพลาดสัญญาส่งออกข้าวให้อินโดนีเชียจำนวน 250,000 ตัน ให้กับอินเดีย

ข่าวการหดตัวของการส่งออกข้าว ทำให้ราคาข้าวในประเทศตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2554 ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าราคาข้าวในประเทศจะสูงขึ้นจนถึงสิ้นปี 2554 นี้ ด้วยอานิสงส์จากนโยบายการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาสูงของรัฐบาลไทย ทั้งนี้ ผู้ค้าข้าวในเวียดนามมีความเห็นว่า แม้รัฐบาลไทยจะยังคงดำเนินโครงการซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาสูงต่อไป แต่ไม่มีผลต่อราคาข้าวในตลาดโลก เนื่องจากผู้ส่งออกข้าวไทยยังมีข้าวเหลือในโกดังจำนวนมากและต้องการระบายข้าวจำนวนดังกล่าวออกไป

การส่งออก

ในเดือนพฤศจิกายน 2554 การส่งออกข้าวของเวียดนามส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปยังอินโดนีเชียจำนวน 300,000 ตัน อย่างไรก็ตาม ในต้นเดือนเดือนธันวาคม 2554 Vinafood2 ( Vietnam’ s Southern Food Corporation ) ได้สัญญาส่งออกข้าว 5% จำนวน 300,000 ตันให้มาเลเซีย โดยส่งมอบเดือนมีนาคม 2555 ( ไม่มีการแจ้งให้ทราบราคาส่งออก )

ก่อนหน้านี้ เวียดนามได้ขายข้าวจำนวน 300,000 ตันให้อินโดนีเชียโดยส่งมอบปี 2555 เช่นกัน ทำให้ขณะนี้ เวียดนามมีสัญญาส่งมอบข้าวในปีหน้าจำนวน 600,000 ตัน ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของทุกๆ ปีที่ต้องมีสัญญาส่งออกสำหรับปีต่อไปแล้วจำนวน 1.1 ล้านตัน

ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2554 เวียดนามส่งออกข้าวได้มากกว่า 6.8 ล้านตัน มูลค่า 3.29 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 7.59% และ 23.3% ตามลำดับ ราคาส่งออก (FOB) เฉลี่ยตันละ 488.6 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นตันละ 62 เหรียญสหรัฐ จากปีที่แล้ว

นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน 2554 เวียดนามได้ลงนามในสัญญาส่งออกข้าวแล้วจำนวน 7.35 ล้านตัน ทั้งนี้ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (MoIT) คาดว่าในปี 2554 เวียดนามจะส่งออกข้าวได้ 7 — 7.2 ล้านตัน

สถิติล่าสุด ( มกราคม — 8 ธันวาคม ) เวียดนามส่งออกข้าวได้แล้ว 6.84 ล้านตัน มูลค่า3.351 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ตลาดส่งออกที่สำคัญ แม้ว่าในปี 2554 ฟิลิปปินส์ จะนำเข้า 34.6% ในปริมาณและ 50.3% ในมูลค่า แต่ก็ยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญอันดับ 2 ของเวียดนามตามหลังอินโดนีเชีย เกือบ 40% ของมูลค่าข้าวที่เวียดนามส่งออกเป็นทางการขายให้กับฟิลิปปินส์และอินโดนีเชีย เวียดนามส่งออกข้าวไปยังเซเนกัลมากขึ้นเป็นสองเท่า ขณะที่ส่งออกไปยังจีนสูงขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวจากปี 2553

ความพยายามขยายตลาดส่งออกข้าว

สมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) ได้เตือนสมาชิกว่าควรคำนวณ/ตั้งราคาส่งออกตามสภาพการค้าในแต่ละช่วงมากกว่าอิงราคาข้าวไทย และอย่ารีบร้อนเซ็นสัญญาขายข้าวในราคาต่ำ เพราะสมาคมจะทำงานร่วมกับสมาคมนักธุรกิจจีนในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีน ซึ่งกำลังพัฒนาเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับ

ข้าวเวียดนาม นอกจากนี้ การส่งออกข้าวของไทยและเวียดนามรวมกันคิดเป็น 50% ของการค้าข้าวในตลาดโลก เมื่อไทยได้ประกาศจะลดการส่งออกข้าวจาก 10.5 ล้านตันในปี 2554 เหลือ 8.5 ล้านตันในปี 2555 ก็ย่อมเป็นโอกาสสำหรับข้าวเวียดนามที่จะเข้ามาทดแทน

VFA ให้ข้อมูลสมาชิกว่า ตลาดข้าวโลกมีราคาที่แตกต่างกัน 4 ระดับคือ

  • ไทย เสนอราคาข้าว 5% ณ ราคาตันละ 800 เหรียญสหรัฐ ภายใต้โครงการอุดหนุนราคารับซื้อขั้นต่ำ

จากเกษตรกร และราคาตันละ 600 เหรียญสหรัฐ สำหรับข้าวในคลังสินค้า

  • เวียดนาม ราคาข้าว 5% ตันละ 550 เหรียญสหรัฐ
  • อินเดียและปากีสถาน ราคาข้าว 5% ตันละ 440 — 450 เหรียญสหรัฐ
  • พม่า เป็นอีกแหล่งอุปทานข้าวหนึ่งที่มีราคาถูก และถูกกว่าข้าวอินเดียและปากีสถาน

จากราคาข้าวที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้นำเข้าหลายรายโดยเฉพาะในประเทศแอฟริกันได้หันไปซื้อข้าวจากอินเดีย ปากีสถานและพม่าแทน ยกเว้นสัญญาที่กำหนดคุณภาพข้าวอย่างเข้มงวดและกำหนดเวลาการส่งมอบที่รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม VFA จะจับตามองพัฒนาการของประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญและให้คำแนะนำที่เหมาะสม/ทันเวลาแก่สมาชิกต่อไป โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ที่ประกาศจะนำเข้าข้าวจำนวน 850,000 ตันในปี 2555 ซึ่งจะเป็นโอกาสอย่างมากต่อเวียดนาม

นักวิชาการเวียดนามเห็นว่า VFA ควรใช้กลยุทธ์ในการกระตุ้นการส่งออกภายใต้ concentrated contracts ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดการเพิ่มขึ้นใน commercial contracts ตามมา

ส่วนการส่งออกข้าวหอมของเวียดนามนั้น VFA คาดว่าจะสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวหอมจากไทยได้เพิ่มขึ้นในบางตลาด เพราะราคาข้าวหอมเวียดนามสามารถแข่งขันได้ขณะที่คุณภาพข้าวไม่ได้ด้อยกว่ามาก นอกจากนี้ พื้นที่เพาะปลูกข้าวของไทยได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งใหญ่นี้อย่างมาก ส่งผลต่อการลดลงของการส่งออกปีหน้า เวียดนามจึงควรเร่งส่งออกเพื่อแทนที่ โดยจีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับข้าวหอมเวียดนาม จึงควรดำเนินการจัดตั้ง China — Vietnam Business Club ร่วมกับคู่ค้าชาวจีนเพื่อสามารถกระตุ้นการส่งออกไปยังตลาดที่สามารถสร้างสร้างเม็ดเงินได้จำนวนมากแห่งนี้โดยเร็ว

สคต.นครโฮจิมินห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ