ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้าระหว่างวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2554
1. การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ได้หยุดชะงักในช่วงไตรมาสที่ 3 สถาบันทางการเงินแห่งสิงคโปร์ (The Monetary Authority of Singapore: MAS) ได้กล่าวว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์จะหยุดชะงักในช่วงไตรมาสที่สาม ก่อนที่จะมีการฟื้นตัวอย่างช้าๆในช่วงปลายปี 2012 ซึ่งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับความผันผวนทางการเงินที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทั้งด้าน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศ รวมถึงการบริการการท่องเที่ยว
ปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นไปได้ที่จะทำให้ศักยภาพของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ลดลงระหว่างร้อยละ 3 ถึง 5 และคาดว่าจะลดลงในปี 2012 สาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบรุนแรงเช่นวิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นเมื่อ ปี 2009 เพราะการชะลอทางเศรษฐกิจเกิดจากการคาดหวังความต้องการด้านตลาดแรงงานที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ความต้องการด้านแรงงานกลับลดลง ส่งผลให้อัตราค่าจ้างขยายตัวลดลงจากร้อยละ 5 ถึง 6 เหลือเพียงร้อยละ 2 ถึง 4 ในปี 2011
2. สถานการข้าวในสิงคโปร์ ช่วงสัปดาห์ที่ 1 ของเดือนพฤศจิกายน 2554หนังสือพิมพ์ The Straits Times ฉบับวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 รายงาน ดังนี้
Mr. Lee Yi Shyan, Minister of State for Trade and Industry ของสิงคโปร์ กล่าวให้ความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่า ราคาข้าวในสิงคโปร์จะไม่เพิ่มสูงขึ้นอีก ถึงแม้ว่า ไทย-ผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ในเอเชียประสบอุทกภัย โดยให้เหตุผลดังนี้ (1) สิงคโปร์นำเข้าข้าวจากแหล่งผลิตอื่นๆ (2) ปริมาณข้าวนำเข้าอยู่ในระดับมั่นคง และ (3) ผู้นำเข้ามีสัญญาซื้อ-ขายระยะยาวกับผู้ผลิต
เมื่อเดือนที่ผ่านมา ราคาจำหน่ายปลีกข้าวหอมมะลิไทยเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ บริษัทผู้นำเข้า See Hoy Chan ได้ขึ้นราคาจำหน่ายข้าวหอมมะลิไทยแบรนด์ที่นิยมในสิงคโปร์ เช่น Heavenly และ Golden Phoenix โดยมีราคาเพิ่มสูงขึ้นระหว่าง 1-2 เหรียญสิงคโปร์
ซุปเปอร์มาร์เก็ต NTUC FairPrice ผู้นำเข้ารายใหญ่ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ถึงแม้ราคานำเข้าข้าวสูงขึ้นร้อยละ 10 แต่ซุปเปอร์ฯยังไม่ขึ้นราคาจำหน่ายข้าวภายใต้แบรนด์ของซุปเปอร์ฯเอง โดยจะคงราคาข้าวหอมมะลิไทยไว้จนถึงปลายปีนี้ และราคาข้าวหอมเวียดนามไว้จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 นอกจากนี้ ให้ข้อสังเกตว่า ผู้นำเข้าสิงคโปร์เฝ้าระวังเกี่ยวกับสภาวะอุทกภัยในไทย หากว่าผู้ขายจะเพิ่มราคาสูงขึ้นในขณะนี้ ผู้นำเข้าคงจะรออีก 1 — 2 เดือน เพื่อให้ได้ราคาเหมาะสมก่อนที่จะทำสัญญาต่อไป ทั้งนี้ ปริมาณข้าวไทยในสต๊อคของซุปเปอร์ฯ มีเพียงพอสำหรับ 3 เดือนข้างหน้า และข้าวเวียดนามสำหรับ 4 เดือนข้างหน้า
อนึ่ง Mr. Seah Kian Peng, CEO, NTUC FairPrice กล่าวว่า ข้าวไทยเป็นข้าวที่ได้รับความนิยมที่สุดในสิงคโปร์ ปริมาณที่จำหน่าย ณ ซุปเปอร์ฯ คิดเป็น 3/4 ของปริมาณรวมทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ความนิยมบริโภคข้าวไทยเริ่มลดลงไปเรื่อยๆ โดยในปี 2007 ข้าวที่จำหน่ายใน NTUC FairPrice ร้อยละ 95 เป็นข้าวไทย แต่ในปัจจุบัน ผู้บริโภคหันไปซื้อข้าวเวียดนามที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับข้าวไทยและราคาถูกกว่า
นอกจากนี้ ซุปเปอร์มาร์เก็ต Cold Storage, Giant และ Shop N Save (ภายใต้ Dairy Farm Group Singapore) กล่าว่า ซุปเปอร์ฯยังคงราคาจำหน่ายปลีกไว้ สำหรับแบรนด์ของซุปเปอร์ฯ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2554 และต่อไปถึงปลายปีนี้ และซุปเปอร์มาร์เก็ต Sheng Siong ยังขายในราคาเดิมต่อไปจนถึงกลางเดือนมกราคม 2554
3. สถานการณ์น้ำท่วมในไทยส่งผลให้ราคาข้าวสูงขึ้นทั่วโลก ธนาคารโลกคาดการณ์ไว้ใน Food Outlook ฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจะนำไปสู่ความไม่แน่นอนของการขาดแคลนอาหารในตลาดโลกที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้น จากการประมาณการข้างต้น สถานการณ์ น้ำท่วมอาจส่งผลให้มีการผลิตข้าวน้อยลงจากเดิม ที่คาดว่า จะมีการผลิตข้าว 25 ล้านตัน เหลือเพียง 19 ล้านตัน ซึ่งลดลงเกือบร้อยละ 25 ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมอาจทำให้ผลผลิตข้าวลดลงในไตรมาสที่ 2 จำนวน 7 ล้านตันเนื่องจาก ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของการส่งออกข้าวทั้งหมดทั่วโลก และเป็นรายได้หลักของประเทศ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ราคาข้าวที่ปรับสูงขึ้นในประเทศไทยอาจส่งผลให้มีการผลักดันให้ราคาข้าวสูงขึ้นในตลาดโลก นอกจากนี้ สมาคมผู้ค้าข้าวของฮ่องกงได้กล่าวว่า ถ้ายังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมเช่นนี้ จะส่งผลให้ราคาข้าวไทยเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 20 จากปัจจุบันราคา 1,200 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน และส่งผลให้ผู้นำเข้าข้าวในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผล กระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมดังกล่าว นอกจากนั้น ยังส่งผลกระทบต่อราคาอาหารให้สูงขึ้นอย่างแน่นอน รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
4. การค้าระหว่างประเทศของสิงคโปร์ ในช่วง 9 เดือน (มค.- กย.) ของปี 2554 มีมูลค่ารวม 582,035.3 ล้าน-เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.92 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการส่งออก 307,638.3 ล้าน-เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.87 และมูลค่าการนำเข้า 274,397.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.97 ดุลการค้ามูลค่า 33,241.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.11) ประเทศคู่ค้านำเข้า 10 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย อินเดีย สาธารณรัฐอาหรับ-อิมิเรทส์ และไทยเป็นอันดับที่ 11 สำหรับประเทศคู่ค้าส่งออก 10 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย และไทยเป็นอันดับที่ 11
5. การค้าระหว่างสิงคโปร์กับไทย ในช่วง 9 เดือน (มค.- กย.) ของปี 2554 มีมูลค่าการค้ารวม 19,886.9 ล้าน-เหรียญสหรัฐฯ ดุลการค้ามูลค่า 2,113.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.78) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นการส่งออกและการนำเข้า ดังนี้
- การส่งออก สิงคโปร์ส่งออกไปยังไทยมูลค่า 11,000.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และไทยเป็นคู่ค้าส่งออกอันดับที่ 11 สินค้าส่งออก 10 อันดับแรกเรียงลำดับตามมูลค่า ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า (HS 8542) น้ำมันสำเร็จรูป (HS 2710) สื่อบันทึก ข้อมูล/ภาพ/เสียง (HS 8523) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของเครื่องจักรกล (HS 8473) เครื่องพิมพ์และเครื่องจักรที่ใช้ประกอบการพิมพ์ (HS 8443) อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด (HS 8541) เคมีภัณฑ์อะไซคลิกแอลกอฮอล์และอนุพันธ์ไนเตรเต็ด (HS 2905) เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าป้องกันวงจรไฟฟ้า (HS 8536) เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า (HS 8543) และโพลิเมอร์ของเอทิลินในลักษณะขั้นปฐม (HS 3901)
- การนำเข้า สิงคโปร์นำเข้าจากไทยมูลค่า 8,886.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.24 โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 11 สินค้านำเข้า 10 อันดับแรกเรียงลำดับตามมูลค่า ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป (HS 2710) แผงวงจรไฟฟ้า (HS 8542) เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ (HS 8471) เครื่องปรับอากาศ (HS 8415) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของเครื่องจักรกล (HS 8473) เคมีภัณฑ์ไซคลิกไฮโดรคาร์บอน (HS 2902) เครื่องโทรสาร/โทรพิมพ์/โทรศัพท์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ (HS 8517) อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด (HS 8541) น้ำมันและผลิตภัณฑ์อื่นๆจากทาร์/ถ่านหิน (HS 2707) และข้าว (HS 1006)
6. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ หน่วยงาน Monetary Authority of Singapore (MAS) คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ดังนี้
ปี 2554 จัดเป็น 2 ประเภท คือ
1) การคาดการณ์โดยใช้ระบบการคิดที่ไม่รวมถึงราคาที่พักอาศัย และรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อ ปี 2554 เป็นร้อยละ 2.0-3.0
2) การคาดการณ์โดยรวมถึงราคาที่พักอาศัยและรถยนต์ส่วนตัว จะทำให้อัตราเงินเฟ้อ ปี 2554 เป็นร้อยละ 3.0-4.0 ปี 2555 คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 1.5-2.0
7. การคาดการณ์เศรษฐกิจสิงคโปร์ ในปี 2555 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (Ministry of Trade and Investment : MTI) ได้ประกาศผลการเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ ช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2554 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมสำคัญ ดังนี้
1. ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 จากผลผลิตสินค้า Biomedical เพิ่มขึ้น เพราะว่าผู้ผลิตบางรายเปลี่ยนไปผลิตส่วนผสมของเภสัชภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม สำหรับผลผลิตของสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ขยายตัวลดลง เนื่องจากความต้องการ semiconductor chips และอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์จากทั่วโลกลดลง
2. ภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.3 เนื่องจากจำนวนการก่อสร้างของภาคเอกชนลดลงมาก
3. ภาคการบริการธุรกิจ
3.1 การค้าส่งและการค้าปลีก ขยายตัวลดลงร้อยละ 0.2
3.2 การคมนาคมและคลังสินค้า ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 โดยการคมนาคมทางอากาศเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ
3.3 การโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
3.4 การบริการด้านการเงิน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 จากผลของการให้บริการกู้เงินภายใน ประเทศและ offshore
3.5 การบริการด้านธุรกิจ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7
3.6 การบริการด้านอื่นๆ (สันทนาการ) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0
คาดการณ์เศรษฐกิจ ปี 2554 MTI คาดการณ์การเจริญเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ ในปี 2554 ร้อยละ 5.0 ทั้งนี้ คาดการณ์การขยายตัวในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 เศรษฐกิจจะชะลอตัวตามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็คทรอนิกส์จะมีผลผลิตลดลง และจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อกลุ่ม Precision Engineering การค้าส่ง และกลุ่มการบริการด้านการเงิน ยกเว้นการผลิตสินค้า Biomedical ที่จะเป็นตัวสำคัญช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น
คาดการณ์เศรษฐกิจ ปี 2555 MTI คาดการณ์การเจริญเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ ปี 2555 ร้อยละ 1.0—3.0 สืบเนื่องจากปัจจัยสำคัญๆได้แก่ 1) ประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว ได้รับผลกระทบจากตลาดอสังหาริม- ทรัพย์และประสบปัญหาด้านแรงงาน 2) วิกฤตหนี้สินใน EU 3) การส่งออกสินค้าของสิงคโปร์ลดลง โดยเฉพาะสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ ที่ความต้องการจากทั่วโลกลดลง
อนึ่ง ปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น(ในอัตราที่ลดลงจากปีก่อนหน้า) ได้แก่ 1) ความต้องการเพิ่มขึ้นของประเทศเศรษฐกิจใหม่ในเอเชีย 2) กลุ่มการผลิต Biomedical ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น และ 3) จำนวนนักท่องเที่ยวเยือนสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ฯ ร้อยละ 1.0-3.0 นั้น จะต้องไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆมาเสริมอีก โดยเฉพาะวิกฤตหนี้สินในประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ที่อาจทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 2555 จะลดลงกว่าอัตราที่ได้คาดการณ์ไว้
กิจกรรมที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2554
1. รายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้าของสิงคโปร์
2. รายงานสถานการณ์ข้าวในสิงคโปร์
3. รายงานข้อมูลราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาจำหน่ายปลีกสินค้าสำคัญในสิงคโปร์
4. รายงานการประเมินผลคณะผู้แทนการค้าสิงคโปร์เยือนงานแสดงสินค้าในประเทศไทย 2 งาน คือ
(1) Bangkok RHVAC 2011 and Bangkok E&E 2011
(2) Bangkok International Gifts Fair 2011 and Bangkok International Houseware Fair 2011
5. ประสานงานค่าใช้จ่ายและค่าบัตรโดยสารเครื่องบินของสื่อมวลชนเยือนงานแสดงสินค้าในประเทศไทย 3 งาน คือ
(1) Bangkok RHVAC 2011 and Bangkok E&E 2011
(2) Bangkok International Gift Fair & Bangkok International Houseware 2011
(3) The 8th Thailand International Logistics Fair 2011
6. ประสานงานจัดส่งรายชื่อร้านอาหารไทยในสิงคโปร์ที่ผ่านหลักเกณฑ์การมอบเครื่องหมาย Thai Select
7. ประสานงานการโอนเงินค่าลงโฆษณางานแสดงสินค้า TAPA 2012 ทางสื่อสิ่งพิมพ์ในสิงคโปร์ และขออนุมัติเปลี่ยนแปลงกำหนดการลงโฆษณางานฯ จากเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2554 เป็นเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2555
8. ประสานงานเชิญนักธุรกิจสิงคโปร์เข้าร่วมโครงการคณะผู้แทนการค้าสิงคโปร์ กลุ่มสินค้าของขวัญ ของชำร่วยและของตกแต่งบ้านเยือนประเทศไทย (เชียงใหม่) ระหว่างวันที่ 15-19 กุมภาพันธ์ 2555 และขออนุมัติโครงการฯ
9. ประสานการมอบเงินบริจาคช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัยในประเทศไทย จากห้าง ISETAN จำนวน 24,653.27 เหรียญ-สิงคโปร์ ผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทยในสิงคโปร์ เพื่อมอบให้กับสภากาชาดไทยต่อไป
10. ประสานการมอบน้ำดื่มบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในประเทศไทย จากซุปเปอร์มาร์เก็ต NTUC FairPrice จำนวน 100,000 ขวด ส่งไปยังสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์
11. รายงานการเยือนงานแสดงสินค้า Asia Pacific Food Expo 2011 ในสิงคโปร์ จัดโดย Singapore Food Manufacturers Association
12. ประสานเชิญชวนและจัดคณะผู้แทนการค้าสิงคโปร์เยือนงานแสดงสินค้าในประเทศไทย 3 งาน คือ
(1) Thailand Health & Beauty Show 2011 (25-29 January 2012)
(2) Bangkok Gems & Jewelry Fair 2012 (9-13 February 2012)
(3) Thailand International Furniture Fair 2012 (14-18 March 2012)
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ สิงคโปร์
ที่มา: http://www.depthai.go.th