รายงานภาวะตลาดสินค้าแป้งมันสำปะหลังในไต้หวัน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 27, 2011 10:36 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ขอบเขต   - HS 071410 มันเส้น มันอัดเม็ด          - HS 1106 20 10 แป้งหยาบมันสำปะหลัง
  • HS 110814 สตาร์ชมันสำปะหลัง(แป้งดิบ) - HS 1903 00 10 ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
  • HS 3505 โมดิไฟด์สตาร์ช

แป้งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบการเกษตรที่ใช้ประโยชน์ได้กว้างขวาง ใช้แปรรูปในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ผลิตเป็นสารความหวาน ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ แอลกอฮอล์ เอทานอล อุตสาหกรรมกระดาษ สิ่งทอ เคมี และอื่น ๆ ซึ่งไต้หวันมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าแป้งมันสำปะหลังจากต่างประเทศ เนื่องจากต้นทุนการผลิตในไต้หวันสูงไม่คุ้มค่าต่อการเพาะปลูก

1. การบริโภคภายในประเทศของไต้หวัน

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2008 - 2011) การบริโภคแป้งมันสำปะหลังของไต้หวันมีปริมาณ 300,000 - 370,000 เมตริกตัน เนื่องจากไม่มีการแปรรูปมันสำปะหลังในประเทศ ดังนั้นปริมาณการบริโภคก็คือปริมาณนำเข้า ทั้งนี้การบริโภคแป้งมันสำปะหลังจะผันแปรไปตามภาวะเศรษฐกิจ และระดับราคาของแป้งชนิดอื่น ๆ เช่น แป้งข้าวโพด แป้งมันเทศที่สามารถใช้แทนกันได้ การนำเข้าแป้งมันสำปะหลังของไต้หวันใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรม(รวมอาหารสัตว์)และเพื่อการแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหาร มีสัดส่วนประมาณ 50:50

2. การผลิต

ไต้หวันมีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังเล็กน้อยทางภาคกลางและภาคใต้ของไต้หวัน ในอดีตมันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง ในปี 1986 มีปริมาณผลิตมากถึง 45,000 เมตริกตัน แต่ปัจจุบันผลผลิตน้อยมาก ดังนั้น ตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมาหน่วยงานด้านเกษตรของไต้หวันจึงไม่มีการเก็บสถิติการเพาะปลูกอีกต่อไป

สาเหตุที่ไต้หวันเพาะปลูกมันสำปะหลังลดลงเนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อีกทั้งในปี 1995 ไต้หวันได้รับแรงกดดันให้ลดภาษีมันสำปะหลังลงประมาณ ร้อยละ 7-8 ทำให้มีการนำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มากขึ้น จนโรงงานแปรรูปมันสำปะหลังที่อยู่ภาคกลางของไต้หวันต้องปิดกิจการลง

อย่างไรก็ตาม ไต้หวันยังคงมีการแปรรูปแป้งจากข้าวโพดและมันเทศอยู่บ้าง แต่ต้นทุนการผลิตยังถือว่าอยู่ในระดับสูง กล่าวคือต้นทุนตันละ 74,503 เหรียญไต้หวัน และ 127,525 เหรียญไต้หวัน ตามลำดับ (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญไต้หวัน = 1.00 บาทโดยประมาณ) ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงกว่าการผลิตแป้งมันสำปะหลังของไทยหลายเท่า

3. การนำเข้า

3.1 การนำเข้าโดยรวม ในการนำเข้าแป้งมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นั้น ไต้หวันมีการนำเข้า สตาร์ชมันสำปะหลัง(แป้งดิบ) มากที่สุด ในปี 2010 นำเข้ามูลค่า 133.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 37.09 รองลงมาคือการนำเข้าโมดิไฟด์สตาร์ช มีมูลค่า 44.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.57 ส่วนการนำเข้าในรูปแบบของมันเส้นมัน แป้งหยาบ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ มีจำนวนประปรายเท่านั้น

สำหรับการนำเข้าในปี 2011 ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น กล่าวคือ ในช่วงเดือนมกราคม - กันยายน 2511 นำเข้าสตาร์ชมันสำปะหลัง มูลค่า 125.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.5 โมดิไฟด์สตาร์ช มูลค่า 40.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.81

3.2 การนำเข้าจากไทย ไทยเป็นแหล่งนำเข้าแป้งมันสำปะหลังที่สำคัญของไต้หวัน โดยสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับที่ 1 ของการนำเข้าสินค้ามันสำปะหลังชนิดต่าง ๆ ยกเว้นมันเส้นและมันอันเม็ดเท่านั้นที่ไทยครองตลาดอันดับ 2 รองจากเวียตนาม

ในปี 2010 ไต้หวันนำเข้าจากไทยดังนี้ (อัตราเพิ่ม/ลดเทียบกับปี 2009)

  • สตาร์ชมันสำปะหลังมูลค่า 118.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 45.97
  • โมดิไฟด์สตาร์ช มูลค่า18.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.53
  • แป้งหยาบ 816,000 เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 221.71
  • ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 182,800 เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 41.81
  • มันเส้น 500 เหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 98.5 สำหรับในช่วง มกราคม - กันยายน ปี 2011 การนำเข้า สตาร์ชมันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.6 และ 90.4 ตามลำดับ แต่การนำเข้า มันเส้น แป้งหยาบ และ โมดิไฟด์สตาร์ช ลดลง ร้อยละ 7.75 14.87 และ 7.84 ตามลำดับ
4. ราคานำเข้า

ราคานำเข้าเฉลี่ยของสตาร์ชมันสำปะหลังนำเข้าที่ไต้หวันนำเข้าจากทั่วโลกในปี 2010 คือ ตันละ 457.8 เหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าปี 2009 ร้อยละ 72.33 ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มความต้องการของทั่วโลกเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการด้านพลังงานทดแทน มีการนำเอาธัญพืชไปแปรรูปเป็นพลังงานมากขึ้น

สำหรับราคาเฉลี่ยที่ไต้หวันนำเข้าจากไทยในปี 2010 คือตันละ 454.8 เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 68.61 ราคาของไทยต่ำกว่าเวียตนาม(ตันละ 462 เหรียญสหรัฐฯ) และ อินโดนิเซีย (ตันละ 535.9 เหรียญสหรัฐฯ) แต่ยังคงสูงกว่าจีน (ตันละ 405.2 เหรียญสหรัฐฯ)

สำหรับในปี 2011 ราคายังคงปรับสูงขึ้น ในช่วงมกราคม - กันยายน 2011 ราคาที่ไต้หวันนำเข้าจากทั่วโลกเฉลี่ย ตันละ 527.6 เหรียญสหรัฐฯ ไทยตันละ 529.3 เหรียญสหรัฐฯ

รายละเอียดราคาเฉลี่ยดู ตารางที่ 1 และ 2

5. ระเบียบการนำเข้า อัตราภาษี

5.1 สำนักงานอาหารและยาของไต้หวัน (FDA) กำหนดสินค้าสตาร์ชมันสำปะหลัง HS 1108.14.10 มีสารซัลเฟอร์ไดอ็อกไซด์ (SO 2) ตกค้างได้ ไม่เกิน 150 ppm

5.2 ไต้หวันเก็บภาษีนำเข้าจากไทยตามอัตราคอลัมน์ 1 (ประเทศสมาชิก WTO)

6. ช่องทางการจำหน่าย

การนำเข้าแป้งมันสำปะหลังของไต้หวันร้อยละ 70 เป็นการนำเข้าโดยบริษัทนายหน้า ตัวแทนหรือเอเย่นต์ แล้วจึงจำหน่ายต่อไปยังโรงงานแปรรูป/หรือผู้ค้าส่ง จากนั้นผู้ค้าส่งจะจำหน่ายต่อให้โรงงานขนาดเล็กหรือผู้ค้าปลีก นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าโดยโรงงานแปรรูปโดยตรง รวมทั้งโรงงานบางแห่งหันมาทำธุรกิจในลักษณเป็นตัวกลาง

เนื่องจากสินค้าแป้งมันสำปะหลังเป็นสินค้าที่อาศัยการจำหน่ายในปริมาณมากและการแข่งขันสูง โดยทั่วไปการบวกกำไรของผู้จำหน่านแต่ละทอดคือตัวกลางหรือเอเย่นต์จะบวกกำไรประมาณ ร้อยละ 2.5 ผู้ค้าส่งบวก ร้อยละ 5-10 ส่วนผู้ค้าปลีกบวก ร้อยละ 30

ในวงการค้ามันสำปะหลังระหว่างไทยกับไต้หวันนั้น กล่าวได้ว่าผู้นำเข้าและผู้ส่งออกมีความสัมพันธ์ยาวนานและคุ้นเคยกันดี สมาคมมันสำปะหลังของไทยมีการจัดคณะตัวแทนมาประชุมสัมมากับผู้นำเข้า โดยครั้งสุดท้ายเดินทางมากระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและเพื่อขยายตลาดการส่งออก ระหว่างวันที่ 26-30 เมษายน 2005

7. สถานการณ์แนวโน้มตลาด

ไต้หวันมีการนำเข้ามันเส้น มันอัดเม็ดน้อยมาก ในอดีตเคยนำเข้าเพื่อใช้ในการผสมอาหารสัตว์ ต่อมาเนื่องจากราคามันเส้น มันอัดเม็ดสูงขึ้น ไต้หวันจึงหันไปนำเข้าข้าวโพดเพื่อผสมเป็นอาหารสัตว์แทน การโน้มน้าวให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ในไต้หวันหันมาใช้มันเส้นอีกเป็นเรื่องค่อนข้างยากเพราะปัจจัยราคาเป็นตัวแปรที่สำคัญ นอกจากนี้ผู้ผลิตมีความเคยชินในการใช้ข้าวโพดและไม่ต้องการปรับสูตรอาหารบ่อยครั้ง

การนำเข้าแป้งและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไต้หวันกล่าวได้ว่าอยู่ในภาวะอิ่มตัว เนื่องจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไม่มีแนวโน้มขยายกำลังผลิต หากผู้ส่งออกไทยต้องการขยายตลาดเพิ่มขึ้นจะต้องอาศัยการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากสินค้าชนิดอื่น เช่น แป้งข้าวโพด แป้งมันเทศ ซึ่งขึ้นกับปัจจัยที่ว่าราคาของแป้งมันสำปะหลังจะลดต่ำพอที่จะสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตหันมาใช้แป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นได้หรือไม่

8. ปัญหาอุปสรรค

ผู้นำเข้าในไต้หวันให้ความเห็นว่าสินค้าของไทยยังคงมีข้อบกพร่องเล็กน้อย เช่น บรรจุภัณฑ์ไม่แน่นหนา บรรจุภัณฑ์สกปรก ค่า PH ไม่คงที่ ฯลฯ และผู้นำเข้าเห็นว่ารัฐบาลไทยและสมาคมมันสำปะหลังไทยมีการแทรกแซงหรือบิดเบียนราคา ทำให้กลไกตลาดทำงานไม่สมบูรณ์

9. สรุป

ไต้หวันถือเป็นตลาดส่งออกมันสำปะหลังที่สำคัญของไทยซึ่งมีการบริโภคที่สม่ำเสมอ การขยายปริมาณส่งออกค่อนข้างยาก ผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องพัฒนารูปแบบสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม เช่น การแปรรูปแป้งมันเป็นขนม บะหมี่ สตาร์ชแพค (ภาชนะบรรจุอาหารทำจากแป้งมันสำปะหลัง) ผู้ส่งออกที่ประสงค์จะขยายตลาดส่งออกไปยังไต้หวันติดต่อผู้นำเข้าได้ตามรายชื่อดังแนบ และสามารถค้นหาข้อมูลผู้นำเข้าอื่นได้ที่เว็บไซต์ดังนี้ Taiwan Trade Development Council http://www.taiwantrade.com.tw/MAIN/ Bureau of Foreign Trade, Taiwan https://fbfh.trade.gov.tw/rich/text/indexe.asp Importers and Exporters Association Of Taipei http://www.ieatpe.org.tw/eqry/qu_1.asp Taichung Importers & Exporters Chamber Of Commerce http://www.ieat.org.tw/desktopdefault.aspx?portalid=0&panelid=24&tabindex=0&tabid=0 Taiwan Yellow Pages http://www.tw-online.com.tw/English/Eonline.asp

รายงานโดย : สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)

โทร. 886-2-2723 1800 โทรสาร. 886-2-2723 1821 E-mail: thaicom.taipei@msa.hinet.net

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ