เขตเศรษฐกิจพิเศษในสหรัฐอเมริกา Special Economic Zone (SEZ)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 27, 2011 14:05 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เขตเศรษฐกิจพิเศษมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น Free Trade Zones, Export Processing Zones และ Industrial Estates แต่ในสหรัฐ เรียกว่า Foreign Trade Zones

กำเนิด Foreign Trade Zones

เขตเศรษฐกิจพิเศษในสหรัฐฯ หรือที่เรียกกันว่า "Foreign Trade Zones" เป็นตัวตนขึ้นได้โดยสภาผู้แทนสหรัฐฯ ออกพระราชบัญญัติ Foreign-Trade Zones ACT of 1934 ในปี ค.ศ. 1934 (พ.ศ.2477) Foreign Trade Zones (FTZs) แห่งแรกของสหรัฐฯ จัดตั้งขึ้นที่นครนิวยอร์ก ในปี 1937 (พ.ศ.2481) ปัจจุบัน มี Foreign Trade Zones จำนวน 257 แห่งทั่วประเทศสหรัฐฯ และ FTZ Subzones จำนวน 545 แห่ง

การจัดตั้งU.S. Foreign Trade Zones ขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ทั้งในด้านการส่งออกและนำเข้าสินค้า รวมถึงในด้านการให้บริการพิธีศุลกากรพิเศษแก่ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ที่ดำเนินธุรกิจด้านการค้าระหว่างประเทศ

รูปแบบและการดำเนินการ

1. Foreign Trade Zone ในสหรัฐฯ มี 2 รูปแบบ คือ

1.1 พื้นที่ Foreign Trade Zone เป็นพื้นที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นเขตการค้า ซึ่งจะต้องจัดตั้งขึ้นในบริเวณใกล้ท่า (Port) เช่น ท่าเรือ ท่าอากาศยาน หรือ ท่าในแผ่นดิน (Inland Port)

1.2 ส่วน FTZ Sub Zones ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับอนุญาตพิเศษให้ตั้งอยู่นอกเขตในข้อ 1.1 ซึ่ง Sub Zone จะให้ตั้งที่โรงงานผลิตสินค้าของเอกชน

2. Foreign Trade Zone คือ พื้นที่ที่ถูกกำหนด มีขอบเขต โดยมีกฎหมายบังคับที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ หรือเป็นการให้สิทธิพิเศษบางประการในการดำเนินกิจการต่างๆ เขต Foreign Trade Zone ตามกฎหมายถือว่าเป็นพื้นที่นอกประเทศสหรัฐฯ (ถึงแม้ว่าจะตั้งในประเทศสหรัฐฯ) ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายศุลกากรสหรัฐฯ สินค้า/วัตถุดิบนำเข้ามาเก็บรักษาได้โดยเสรี ยกเว้นสินค้าต้องห้ามตามกฎหมาย เช่น ยาเสพติด สินค้า/วัตถุดิบได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากร (Duty Free) และจะชำระภาษีศุลกากรเมื่อนำสินค้าออกไปจากเขต

3. ภาคเอกชนเป็นเจ้าของและบริหารจัดการ Foreign Trade Zones (อาจจะมีหน่วยงานของรัฐบาลท้องถิ่นเข้าไปเป็นผู้ร่วมลงทุน) รัฐบาลประเทศสหรัฐฯ ไม่เป็นเจ้าของใน Foreign Trade Zones กลุ่มเอกชนที่มีสิทธิ์ยื่นเรื่องขอจัดตั้ง Foreign Trade Zones ได้แก่ บริษัททั่วไป องค์กรไม่ค้ากำไร (Not for Profit Organization) หน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น เช่น หน่วยงานพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development Agency และ การท่า (Port Authority) เป็นต้น

การบริหารจัดการ Free Trade Zones

การบริหารจัดงานเขต Foreign Trade Zones ในสหรัฐฯ ประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้อง 4 องค์กร คือ

1. คณะกรรมการเพื่อการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ (US Foreign-Trade Zones Board): คณะกรรมการฯ จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมาย Foreign Trade Zone Act เป็นหน่วยงานรัฐที่จัดตั้งร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯและกระทรวงการคลังสหรัฐฯ โดยสังกัดสำนักงาน Import Administration กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ คณะกรรมการฯ กำหนดกฎระเบียบข้อบังคับเรียกว่า Regulations of the Foreign Trade Zones Board) เพื่อใช้ในการกำกับดูแลและอนุญาตการจัดตั้ง Foreign Trade Zones

2. สำนักงานศุลกากรและคุ้มครองชายแดนสหรัฐฯ (U.S. Customs and Border Protection: US CBP): การบริหารงานของ FTZs จะเกี่ยวข้องกับงานด้านศุลกากรเป็นหลักสำคัญ ดังนั้น สำนักงาน CBP จะทำหน้าที่บริหารจัดการและดูแลงานประจำวันในเขต ภายใต้ระเบียบ

CBP Regulations (19CFR Part 146) ดังนั้น FTZ เกือบทุกแห่งจะมีเจ้าหน้าที่ CBP ประจำการ

3. Grantee : เป็นผู้ขอจัดตั้งและทำหน้าที่บริหารเขต Foreign Trade Zone กลุ่มที่มีสิทธิ์ยื่นเรื่องขอจัดตั้ง Foreign Trade Zones ได้แก่ บริษัทเอกชนทั่วไป องค์กรไม่ค้ากำไร (Not for Profit) การท่า (Port Authority) หรือ หน่วยงานของรัฐบาลท้องถิ่น เช่น หน่วยงานพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development Agency) โดยต้องยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ Foreign Trade Zones

4. Operator : เป็นบุคคล/บริษัท ซึ่ง Grantee จัดจ้างเข้ามาเป็นผู้บริหารจัดการทั่วไป (Administration) ใน Zone หรือ Subzone

กิจกรรมในเขตเศรษฐกิจ Foreign Trade Zones

กิจกรรมที่ส่งเสริมให้ดำเนินการในเขตเศรษฐกิจ Foreign Trade Zones ได้แก่ การ ผลิตสินค้า ประกอบสินค้า (Assembly) จัดแสดงสินค้า ติดฉลากสินค้า การหีบห่อสินค้า ซ่อมแซมสินค้า ทดสอบสินค้าและ เก็บรักษาสินค้า โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ แต่ ห้ามทำธุรกิจค้าปลีกในเขตเศรษฐกิจ

ประเภทอุตสาหกรรม/บริการที่ได้รับสนับสนุนให้เข้าไปดำเนินการใน Foreign Trade Zone ได้แก่

          1) Aerospace               2) Apparel and Footwear         3) Automotive
          4) Consumer Goods          5) Electronics                  6) Food Products
          7) Petroleum               8) Logistics Service Providers  9) Pharmaceutical\
          10) Textiles               11) Wholesale

ประโยชน์ของ Foreign Trade Zones

ผู้ประกอบการที่เข้าไปดำเนินการใน Foreign Trade Zones จะได้รับประโยชน์ 1.ช่วยสร้างงานให้แก่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ 2.สินค้า/วัตถุได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากร หากสินค้า/วัตถุดิบที่นำเข้ามา ได้ส่งออกไปต่างประเทศ สหรัฐฯ 3.เป็นการยืดระยะเวลาการเสียภาษีศุลกากรนำเข้าในสหรัฐฯ หากสินค้าเก็บรักษาในเขตฯ และจะเสียภาษีศุลกากรนำเข้ามานำออกจากเขตเพื่อจำหน่ายใน 4.บริการด้าน Logistics แบบครบวงจรในเขต ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง 6. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากต้นทุนการผลิตจะลดลง

สิ่งจูงใจ (Incentive) ของ FTZ

1. การส่งออกสินค้า: การผลิตสินค้าใน Zone เพื่อการส่งออกได้รับการยกเว้นภาษี

2. การนำเข้าสินค้า: สินค้านำเข้ามาใน Zone ได้รับยกเว้นภาษีนำเข้า

3. ได้รับยกเว้นภาษีท้องถิ่นสำหรับสินค้านำเข้า ก่อให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่าย

4. หลีกเลี่ยงปัญหาโควต้า

5. ลดต้นทุนด้านประกันภัย เนื่องจาก Zone เป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสูง

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1 สหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่อดำเนินด้านเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบ Foreign Trade Zones ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) มายังสหรัฐฯ รวมไปถึงการจ้างงานให้แก่เศรษฐกิจโดยรวม

2. ปัจจุบัน นักลงทุนสหรัฐฯ ไม่เพียงดำเนินการ Foreign Trade Zone ในสหรัฐฯ แต่ขยายการดำเนินการ FTZ ไปยังต่างประเทศ เช่น ใน อเมริกากลาง และ ล่าสุด ในประเทศเซียราลีออง

3. ภาครัฐควรสนันสนุนและผลักดันให้ผู้ผลิต/ส่งออกไทยที่ส่งสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ หันไปใช้ Foreign Trade Zone เพื่อการขยายตลาดและเพิ่มมูลค่าสินค้าไทยในสหรัฐฯ ให้มากยิ่งขึ้น

4. ปัจจุบัน ประเทศจีนเน้นการกลยุทธ์การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจในต่างประเทศ เช่น ตะวันออกกลาง และ อัฟริกา เพื่อผลักดันการค้าระหว่างประเทศ ประเทศจีนได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของตนในสหรัฐฯ ขึ้นในสหรัฐฯ โดยกลุ่ม China National Machinery Industry Corporation (Sinnomach) ซื้อที่ดินขนาด 50 ตารางไมล์ (130 ตารางกิโลเมตร) ในมลรัฐ Idaho ประเทศสหรัฐฯ โดยรัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้น เพื่อก่อสร้าง Technology Zone ซึ่งมีรูปแบบการดำเนินการแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษ (ทำนองเดียวกันกันเขตเศรษฐกิจเซินเจ้นในประเทศจีน) จึงนับได้ว่าเป็น ความคืบหน้าในการทำกาค้าระหว่างประเทศของจีนที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในตลาดสหรัฐฯ

5. แหล่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Foreign Trade Zone ในสหรัฐฯ

5.1 U.S. Foreign-Trade Zones Board: http://ia.ita.doc.gov/ftzpage

5.2 National Association of Foreign Trade Zone: www.naftz.org

5.3 Foreign Trade Zone Resource Center: http://foreign-trade-zone.com

5.4 Law & Regulations:

1) พระราชบัญญีติ Foreign Trade Zones Act

  • www.ia.ita.doc.gov/ftzpage/ftzact.htm

2) ระเบียบของ Foreign Trade Zones Board:

  • http://ia.ita.doc.gov/ftzpage/grantee/regs.html

3) ระเบียบข้อบังคับของศุลกากร

  • www.cbp.gov/xp/cgov/trade/cargo_security/cargo_control/ftz

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ