บริษัทสำรวจความเห็นผู้บริโภค Nielsen เผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของจีน ในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีระดับคงที่ โดยมีตัวเลขอยู่ที่ระดับ 104 ลดลง 1 จุดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2553 ที่ 105 สำหรับสิ่งที่ผู้บริโภคชาวจีนกังวลมากที่สุด คือ ดัชนีความเชื่อเรื่องรายได้
ผลสำรวจตัวอย่างผู้บริโภคของเขตเมืองระดับที่ 1 และผู้บริโภคในเขตชนบท รวม 3,500 คน พบว่า ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในนครเฉิงตู จัดเป็นอันดับที่ 2 รองจากเมืองกวางโจว แซงหน้านครเซี่ยงไฮ้ และกรุงปักกิ่ง
นายหนี เอ๋อเซิน ผู้จัดการบริษัท Nielsen กล่าวว่า "ผู้บริโภคในทั่วโลกกังวลเรื่องปัญหาด้านเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก และกังวลเรื่องการคุ้มครองด้านการมีงานทำเป็นรอง แต่สำหรับผู้บริโภคชาวจีนกังวลเรื่องรายได้ เป็นสำคัญ รองลงมาคือ กังวลเรื่องสุขภาพ การปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค การศึกษาของบุตร และการคุ้มครองด้านการมีงานทำ ตามลำดับ"
นอกจากผู้บริโภคชาวเฉิงตูจะให้ความสนใจเรื่องรายได้ และการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นสำคัญแล้ว ผู้บริโภคกว่าร้อยละ 21 ยังให้ความสนใจในเรื่องการมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่สบาย ซึ่งคิดเป็นปัจจัยอันดับที่ 3 ขณะที่เมืองอื่นๆ ไม่ปรากฏปัจจัยดังกล่าว
สำหรับผู้บริโภคชาวปักกิ่งอัตราส่วนกว่าร้อยละ 30 กังวลเรื่องรายได้เป็นหลัก ผู้บริโภคชาวเซี่ยงไฮ้กังวลเรื่องการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ส่วนผู้บริโภคชาวกวางโจวกังวลเรื่องสุขภาพ และการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยคิดเป็นอัตราส่วนเท่าๆ กัน
หากมองดูดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเขตต่างๆ ของจีน สามารถแบ่งได้ดังนี้
1.ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อาศัยในเขตตะวันตก และเขตเมืองระดับที่ 2 ของจีน ปรับตัวลง 5 จุด สาเหตุหลัก คือ ผู้บริโภคที่อาศัยในเขตตะวันตกของจีน ขาดความเชื่อมั่นด้านการมีงานทำ ส่วนผู้บริโภคที่อาศัยในเขตเมืองระดับที่ 2 ของจีน วิตกกังวลเรื่องรายได้
2.ผู้บริโภคชาวกวางโจวและเขตตะวันออกของจีน มีความเชื่อมั่นต่อดัชนีผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
3.ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวจีนถือว่ายังคงอยู่ในระดับคงที่ สาเหตุหลัก คือ ผู้บริโภคชาวจีนมีความเชื่อมั่นเรื่องการหางานทำในอนาคตเป็นอย่างมาก โดย 69% ของผู้บริโภคมีทัศนคติที่ดีกับการทำงานในอนาคต และมากกว่า 60% ของผู้บริโภคมีทัศนคติที่ดีต่อรายได้ในอนาคตด้วยเช่นกัน
4.ผู้บริโภคที่อาศัยในแถบชายฝั่งทะเลทางตะวันออก และเขตภาคกลางของจีน เชื่อมั่นเรื่องการประกอบอาชีพในอนาคต โดยผู้บริโภคที่อาศัยในแถบชายฝั่งทะเลของจีนร้อยละ 71 มองว่า การประกอบอาชีพในอีกหนึ่งปีข้างหน้าจะต้อง "ดี" หรือ "ดีมาก" สำหรับผู้บริโภคที่อาศัยในเขตภาคกลางกว่าร้อยละ 80 ก็เชื่อมั่นเรื่องการมีงานทำในอนาคตด้วยเช่นกัน
นายหนี เอ๋อเซิน กล่าวเพิ่มเติมว่า มองจากภาพรวมของเมือง ประชากร และตัวเลขมูลค่าการค้าปลีก นครเฉิงตูเป็นเขตเมืองที่มีศักยภาพมากเป็นอันดับ 4 ของประเทศจีน ดูได้จาก ตัวเลขมูลค่าการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ร้อยละ 6
จากตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวเฉิงตูที่ระดับ 100 นี้ สามารถบ่งชี้ได้ว่า "นครเฉิงตู" เป็นเมืองที่ครองอันดับ 2 ด้านเมืองแห่งความสุข และครองอันดับ 4 ด้านเมืองแห่งคุณภาพชีวิตดีเยี่ยมอย่างแท้จริง ผลสะท้อนของตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค สื่อให้เห็นว่า ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของนครตนเองเป็นอย่างมาก และมีทัศนคติในทางบวกค่อนข้างมาก (จากการประกาศ "ผลสำรวจการจัดอันดับเมืองดีเด่นของจีนในด้านต่างๆ ประจำปี 2554" โดยสมาคมวิจัยและศึกษาศักยภาพการแข่งขันของเมืองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยจิ้นหุ้ย ฮ่องกง ร่วมกับ ศูนย์วิจัยจีนศึกษา)
ผลการจัดอันดับเมืองดีเด่นของจีน ด้านความสุข 5 อันดับแรก ได้แก่ หางโจว เฉิงตู ชิงเต่า ฉางชุน และฉงชิ่ง โดยนครเฉิงตู ได้คะแนนสูงถึง 94.14 คะแนน ตามหลังเมืองหางโจวที่นำเป็นอันดับ 1 เพียง 0.04 คะแนนเท่านั้น สำหรับเงื่อนไขในการจัดอันดับด้านความสุขนี้ พิจารณาจากปัจจัยเรื่อง ความพึงพอใจ คุณภาพชีวิต สวัสดิการ รายได้ทางสังคม ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมเป็นสำคัญ
ด้านผลการจัดอันดับเมืองแห่งคุณภาพชีวิตยอดเยี่ยมของจีน 5 อันดับแรก ได้แก่ ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ หางโจว เฉิงตู และจูไห่ โดยนครเฉิงตู ได้คะแนนรวม 87.86 คะแนน
นครเฉิงตู ไม่เพียงแต่จะเป็นเมืองที่เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของจีนตะวันตก และใหญ่เป็นอันดับ 8 ของทั้งประเทศ มีศักยภาพด้านการคมนาคมและขนส่งระบบรางที่ใหญ่ที่สุดในจีนตะวันตก มีการลงทุนจาก ต่างประเทศมากเป็นอันดับ 1 ในจีนตอนกลางและจีนตะวันตก แต่นครเฉิงตูยังเป็นเมืองที่มีการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนควบคู่ไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย อันจะเห็นได้จากตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่พุ่งสูงถึงระดับ 100 ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในข้างต้น
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) ที่จัดทำโดยบริษัท Nielsen มีค่ากลางอยู่ที่ 100 จุด โดยหากดัชนีมีค่าสูงกว่า 100 จุด จะถือว่าผู้บริโภคมีทัศนคติเชิงบวก แต่หากดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 จุด จะถือว่าผู้บริโภคมีทัศนคติเชิงลบ
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
ที่มา: หนังสือพิมพ์หัว ซี ตู ซื่อเป้า (Hua Xi Du Shi Bao) วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554
www.thaibizchina.cn วันที่ 4 กันยายน 2554 และ 11 พฤศจิกายน 2554
www.thaichengdu.com วันที่ 21 พฤศจิกายน 2554
ที่มา: http://www.depthai.go.th