โรมาเนียยังคงต้องเผชิญกับความยากลำบากในปี 2012

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 4, 2012 14:10 —กรมส่งเสริมการส่งออก

หลังจากที่ประเทศโรมาเนียต้องเผชิญกับความตึงเครียดของภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นเวลาสองปี ในไตรมาสที่สามของปี 2011 เศรษฐกิจมีการขยายตัวที่อัตราร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังคงต้องขอบคุณผลกระทบจากวิกฤตยูโรโซน ซึ่งมีผลบังคับให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศ IMF ต้องผ่อนปรนการชำระคืนเงินกู้ในปีถัดไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังGheorghe Ialomitianu ชี้แจงว่า นโยบายงบประมาณแบบประหยัดในปี 2012 ได้ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในเนื้อหาจะรวมถึงการตรึงค่าจ้างในภาครัฐและเงินบำนาญ การจัดเก็บภาษีในระบบการดูแลสุขภาพ และการแปรรูปของสินทรัพย์ของรัฐบางส่วน

จากมาตรการดังกล่าว ในปี 2012 รัฐบาลคาดหวังว่าจะสามารถปรับลดการขาดดุลงบประมาณให้เหลือเพียงแค่ 1.9% ของ GDP จากที่สูงถึง 4.4% ในปี 2011 แต่ทั้งนี้คงต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายๆ อย่าง เช่นการเติบโตที่ประมาณ 2% และการได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรปมากขึ้น ธนาคารเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาแห่งสหภาพยุโรป (The European Bank for Reconstruction and Development) ได้ปรับลดการประเมินค่าการเติบโตของโรมาเนียในปี 2012 จาก 3.8% เป็น 1.1% เนื่องจากระบบธนาคารในโรมาเนียอาจต้องประสบกับปัญหาอันใหญ่หลวง เพราะในจำนวนร้อยละ 16 ของธนาคารทั้งหมดเป็นของประเทศกรีก ในส่วนที่เหลือและรวมทั้งธนาคารที่ใหญ่ที่สุดเป็นของธนาคารจากประเทศออสเตรีย ซึ่งได้มีการปรับกฎระเบียบ และกำหนดขอบเขตการให้กู้ยืมของสำนักงานสาขาในวงเงินที่จำกัดมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อตอบสนองนโยบายและความต้องการของสหภาพยุโรป

ประธานาธิบดี Traian Basescu แสดงความคิดเห็นที่รุนแรงต่อต้านการกระทำของธนาคารในครั้งนี้ว่า ธนาคารตักตวงผลกำไรอย่างมหาศาลในขณะที่โรมาเนียต้องเผชิญกับภาวะที่ย่ำแย่ในช่วงภาวะวิกฤติ ทางธนาคารออสเตรียจึงได้ออกมาแสดงความมั่นใจแก่สาขาของตนในโรมาเนียว่าจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใดในการปรับนโยบายในครั้งนี้ ยกเว้นแต่ว่าธนาคารกลางของโรมาเนีย จะวางมาตรการบังคับหรือคุกคามธนาคารสาขาท้องถิ่นจนเกิดการล้มละลายในที่สุด

ระบบการดูแลสุขภาพ (health-care system) เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญ ในขณะที่แพทย์ต้องทำงานอย่างหนัก แต่ได้รับค่าตอบแทนที่ต่ำมาก จึงได้มีการร้องเรียนและขู่ว่าจะกระทำเช่นเดียวกันกลุ่มแพทย์ในประเทศสโลเวเนีย หากรัฐบาลไม่ดำเนินการปรับขึ้นค่าแรง (เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แพทย์จำนวน 1200 คนในสโลเวเนียยื่นขอลาออกก่อนหมดเวลาสัญญา เพราะไม่ได้รับค่าแรงที่เหมาะสม) รัฐบาลโรมาเนียจึงได้ออกมาตรการจัดเก็บผลักภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา จากมาตรการดังกล่าวจะสามารถนำเงินเข้าสู่ระบบการดูแลสุขภาพเป็นจำนวน 378 ล้าน lei (หรือประมาณ 116 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งเงินจำนวนนี้ทางโรงพยาบาลสามารถนำไปจัดสรรในส่วนของการซื้ออุปกรณ์และเงินเดือนพนักงาน ในมุมมองของผู้นำแพทย์สภา Vasile Astarastoae มีความคิดที่ขัดแย้งว่า "การจัดเก็บค่าธรรมเนียมจะเป็นการสร้างจุดอ่อนให้แก่ระบบและความไม่เสมอภาคจะยิ่งเพิ่มขึ้น”

รัฐบาลยังคงเข้มงวดในการเรียกเก็บเงินกองทุนประกันสังคม (social contributions) จากรายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมทั้งเงินบำนาญ และค่าเช่า การคอรัปชั่นยังคงมีทั่วทุกแห่ง กระบวนการศาลยังคงยืดเยื้อและขัดแย้ง หนึ่งในผู้พิพากษาอาวุโสของประเทศ Gabriela Birsan กำลังถูกตรวจสอบในข้อกล่าวหารับสินบนเพื่อเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา

จากการสำรวจประชามติของชาวโรมาเนีย มีประชากรเกือบครึ่งที่เชื่อว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะยังคงยืดเยื้อมากกว่า 3 ปี สองในสามกล่าวว่าพวกเขาได้รับผลกระทบจากการปลดออกจากงานหรือลดค่าจ้าง มีเพียง 7% เท่านั้นที่เห็นด้วยกับการดำเนินการของรัฐบาลในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ