ค่าเงินรูปีอ่อนตัวทำบริษัทโทรศัพท์มือถืออินเดียต้องปรับกลยุทธ์กันจ้าละหวั่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 4, 2012 14:14 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ค่าเงินรูปีของอินเดียที่อ่อนตัวลงมาอย่างต่อเนื่องเริ่มส่งผลต่ออุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือของอินเดียแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมารูปแบบธุรกิจ (Business Model) ของบริษัทผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือของอินเดียจะเหมือนกันทั้งอุตสาหกรรม คือ แต่ละบริษัทจะเดินทางไปเลือกแบบโทรศัพท์ซึ่งออกแบบสำเร็จรูปแล้วโดยบริษัทจีนแล้วสั่งผลิตในประเทศจีน หลังจากนั้นจึงนำเข้าไปจำหน่ายในตลาดอินเดียโดยมุ่งเน้นการแข่งขันด้านราคาเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ค่าเงินรูปีของอินเดียได้อ่อนตัวมาอย่างต่อเนื่องทำให้การนำเข้าโทรศัพท์มือถือจากประเทศจีนตามรูปแบบธุรกิจเดิมมีต้นทุนสูงขึ้นจนบริษัทต่างๆในอุตสาหกรรมของอินเดียไม่สามารถจะแข่งขันด้วยราคากันอีกต่อไปได้แล้ว ทั้งนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของบริษัทผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือรายหนึ่งได้ออกมาเปิดเผยว่าถ้าค่าเงินรูปียังคงอ่อนตัวต่อไปอีกจนถึงระดับ 55 รูปีต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ จะทำให้อุตสาหกรรมนี้ของอินเดียตกอยู่ในสภาวะขายสินค้าแบบไม่มีกำไร (Zero Margin) การใช้รูปแบบธุรกิจเดิม คือ การนำเข้าสินค้าราคาถูกจากประเทศจีนมาจำหน่ายครั้งละมากๆ ด้วยราคาต่ำจะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป

ตลาดโทรศัพท์มือถือของอินเดียมีขนาดใหญ่มาก มีมูลค่าปีละกว่า 3 แสนล้านรูปี อย่างไรก็ตามหลังจากที่ค่าเงินรูปีอ่อนค่าลงมาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้การนำเข้าโทรศัพท์มือถือมีต้นทุนสูงขึ้น ปริมาณการนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีนในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2554 ลดลง 3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเหลือ 42.8 ล้านเครื่อง บริษัทโทรศัพท์มือถือของอินเดียจึงต่างพากันทบทวนและปรับกลยุทธ์จากการนำเข้าโทรศัพท์มือถือราคาถูกจากประเทศจีนมาเป็นการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R & D) เพื่อออกแบบโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ พัฒนา Software สำหรับระบบปฏิบัติการ (Operating System) ของตนเอง เพื่อผลิตโทรศัพท์มือถือของตนเองในประเทศอินเดียแทน ซึ่งจะทำให้สามารถลดต้นทุนลงได้ 15-20% เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าบริษัทโทรศัพท์มือถือของอินเดียจะพยายามปรับกลยุทธ์ด้วยการเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อที่จะมุ่งเน้นการผลิตภายในประเทศ แต่ปัจจัยสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ปัจจัยด้านราคาที่ทุกบริษัทต่างพยายามแข่งขันกันอย่างสูง นอกจากนั้นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้นวัตกรรมที่ทันสมัยและล้ำหน้า ซึ่งบริษัทโทรศัพท์มือถือของอินเดียกำลังมุ่งมาด้านนี้อยู่แล้ว แต่บริษัทโทรศัพท์มือถืออินเดียเหล่านี้จะสามารถทำการวิจัยและพัฒนาแข่งขันกับบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่าง Nokia หรือ Samsung ได้หรือไม่ก็จะต้องคอยดูกันต่อไป

ตารางแสดงกลยุทธ์การปรับตัวของบริษัทโทรศัพท์มือถืออินเดีย

บริษัทโทรศัพท์มือถือ

1. Spice Mobility

กลยุทธ์การปรับตัว

1. เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D Center) ที่ประเทศสิงคโปร์ในเดือนมกราคม 2555 เพื่อออกแบบ Software และ User Interface

2. ขยายแผนก R&D ในประเทศอินเดียและจีน

3. ศูนย์วิจัยและพัฒนาในประเทศจีนและไต้หวันจะรับผิดชอบเรื่องการออกแบบทางอุตสาหกรรมและวิศวกรรม

4. เพิ่มจำนวนพนักงานสำหรับศูนย์วิจัยและพัฒนาในประเทศจีนและไต้หวันซึ่งจะทำให้มีพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 250 คนภายใน 1 ปี

2.Micromax

กลยุทธ์การปรับตัว

1. ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) มูลค่ากว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

2. จัดตั้งฝ่ายวิจัยภายในบริษัท (In-House Research) เพื่อพัฒนาโทรศัพท์มือถือประเภท Smartphone ให้สามารถเทียบชั้นได้กับ Nokia และ Samsung

3.Lava Mobiles

กลยุทธ์การปรับตัว

1. ลงทุนเป็นมูลค่า 1,000 ล้านรูปีสำหรับงานด้านการออกแบบ ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และชิ้นส่วนสำคัญที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมืองบังกาลอร์

2. เจรจากับบริษัท Qualcomm ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิต Chip และบริษัท Mediatek ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีเพื่อจะร่วมกันพัฒนา User Interface บนโทรศัพท์มือถือ

3. บริษัทฯ มีแผนจะผลิตโทรศัพท์มือถือคุณภาพสูงรุ่นใหม่ 9 รุ่น ทั้งนี้ ประมาณ 50-60% ของโทรศัพท์มือถือที่ผลิตจะเป็น Design ของบริษัทฯ เอง ที่เหลือเป็นการซื้อแบบมาจากบริษัทออกแบบระดับโลก แต่ในอนาคตสัดส่วนการออกแบบเองจะค่อยๆเพิ่มขึ้น

4. สร้าง App Store ในอินเดียเพื่อเน้นบริการหลังการขาย

4.Olive Mobiles

กลยุทธ์การปรับตัว

1. ย้ายฝ่ายออกแบบจากประเทศจีนและไต้หวันกลับไปอยู่ที่ศูนย์ออกแบบที่อินเดีย

5.Zen Mobiles

กลยุทธ์การปรับตัว

1. ลงทุนจัดตั้งฝ่ายออกแบบภายในบริษัทขึ้น

6.Karbonn Mobile

กลยุทธ์การปรับตัว

1. นำ User Interface และระบบปฏิบัติการ (Operating System) ของบริษัทจดสิทธิบัตรเพื่อเป็นการสร้างทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ของบริษัทฯ

2. มีแผนที่จะร่วมทุนกับศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D Center) แห่งหนึ่งที่มีสำนักงานทั้งในอินเดียและยุโรปในไตรมาสหน้า

3. มีศูนย์วิจัยและพัฒนาทั้งที่เมืองบังกาลอร์และนิวเดลี

4. มีโครงการจะร่วมทุนกับบางบริษัทเพื่อผลิตชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือในอินเดีย

7.Maxx Mobiles

กลยุทธ์การปรับตัว

1. มีโครงการลงทุนมูลค่ากว่า 3,000ล้านรูปีเพื่อผลิตโทรศัพท์มือถือระดับล่าง (Low End)

2. โครงการในระยะแรกใช้เงินลงทุน 600 ล้านรูปี เพื่อผลิตโทรศัพท์มือถือให้ได้เดือนละ 1 แสนเครื่อง

3. โครงการในระยะต่อไปจะผลิตโทรศัพท์มือถือให้ได้เดือนละ 5 แสนเครื่องภายในเดือนธันวาคม 2555 และเริ่มผลิต Smartphone ภายในปี 2556

4. มีโครงการผลิตแบตเตอรี่ประเภท Lithium Ion ด้วยกำลังการผลิต 30 ล้านหน่วยต่อปี

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ