สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า นับตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนทั่วโลกต่างกังวลว่าเศรษฐกิจจีนจะเกิดภาวะร้อนแรงเกินไปจากภาวะฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์และการขยายตัวของสินเชื่อที่เฟื่องฟู จนจะมีผลกระทบต่อหนี้เสียและฐานะการเงินของระบบธนาคาร รวมถึงการทำให้ตลาดหุ้นในเอเชียตกต่ำในช่วงไตรมาสแรก เศรษฐกิจจีนซึ่งขับเคลื่อนด้วยการส่งออกและการลงทุนนั้นกำลังเผชิญกับความท้าทายต่างๆ อันเนื่องมาจากประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะยาว อีกทั้งต้นทุนแรงงานที่คาดว่าจะปรับตัวสูงมากขึ้น เนื่องจากแรงงานหนุ่มสาวอพยพเข้ามาตั้งรกรากในเมือง นอกจากนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในจีนยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจ
ทางการจีนได้ออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ หลังปิดการประชุมคณะทำงานด้านเศรษฐกิจส่วนกลางซึ่งถือเป็นการประชุมประจำปีที่มีความสำคัญ โดยคณะผู้นำจีนระดับต่างๆ จะมาประชุมร่วมกับประธานบริษัทภาครัฐบาลขนาดใหญ่ และนายทหารชั้นนายพล เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของประเทศในปีถัดไป โดยจีนได้ประกาศนโยบายเศรษฐกิจในปี 2555 ที่ยังคงเน้นรักษาเสถียรภาพทางการเงินและใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ต่อไปแบบพอประมาณ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตภายนอก
สำหรับทิศทางหลักในปีนี้ ยังคงเน้นเสถียรภาพทางการเงินโดยใช้มาตรการทางการเงินที่รอบคอบระมัดระวังและยังคงรักษาระดับค่าเงินหยวน ตลอดจนราคาผู้บริโภคให้มั่นคงโดยพื้นฐานควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน ขณะเดียวกัน จีนจะยังคงใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดความร้อนแรงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อและราคาอสังหาริมทรัพย์ไม่ให้ขยายตัวแบบพุ่งพรวด ทั้งนี้คณะผู้นำจีนดูเหมือนจะมีความวิตกและมุ่งหาทางป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ต้องตกอยู่ในสภาพชะลอตัวรุนแรง ขณะเดียวกันจะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เงินเฟ้อรุนแรงขึ้น เพราะอาจจุดชนวนให้เกิดความไม่สงบในสังคมขึ้นได้
จีนซึ่งพึ่งพาการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญเผชิญกับปัญหาความต้องการสินค้าจีนที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดสำคัญๆ ของจีน ทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ต่างออกมาตรการรัดเข็มขัดเนื่องจากเศรษฐกิจไม่สู้ดี ปัญหาหนี้และการขาดดุลงบประมาณ ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนลดลงจาก 9.7% ในไตรมาสแรก เหลือ 9.5% ในไตรมาสที่ 2 และ 9.1% ในไตรมาสที่ 3
ทั้งนี้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของจีนชะลอตัวสู่ระดับ 9.1% ในไตรมาส 3 ของปีนี้ จาก 9.5% ในไตรมาส 2 และ 9.7% ในไตรมาสแรก อันเป็นผลมาจากนโยบายคุมเข้มทางการเงินของรัฐบาลเพื่อควบคุมเงินเฟ้อและคาดว่าจีดีพีจะลดลงต่อเนื่องไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปีหน้า
โดยธนาคารแบงก์ ออฟ ไชน่า คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนจะขยายตัว 8.8% ในปีหน้า ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดภาวะเงินเฟ้อ มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น 4.2-4.5%
ระยะเวลากว่า 2 ปี กับวิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรปที่ยังคงไม่มีหนทางแก้ไขที่ชัดเจน ส่งผลให้นักลงทุนผู้ช่ำชองทั่วโลกเริ่มตระหนักดีแล้วว่า ปัจจุบันนี้ไม่ใช่เวลารอคอยหรือคาดหวังใดๆ จากกลุ่มสหภาพยุโรปอีกต่อไป แต่เป็นเวลาที่จำต้องเตรียมตัวและเตรียมใจให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ต่อจากนี้ไปให้รอบคอบ ต้องระมัดระวังและให้เจ็บตัวน้อยที่สุด ทั้งนี้ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในเวลานี้คงหนีไม่พ้นประเทศจีนที่ออกตัวได้เร็ว และดังเกรียวกราวก่อนใครๆ ไล่เรียงตั้งแต่การที่ประธานาธิบดี หูจิ่นเทา ออกมาแง้มแนวทางนโยบายทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2555 ที่จะเปิดบ้านต้อนรับการลงทุนมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการนำเข้าให้สมดุลกับการส่งออก จนมาถึงการสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการประกาศลดอัตราสำรองเงินทุนของธนาคาร เพื่อให้ธนาคารปล่อยกู้อัดเงินเข้าระบบเสริมสภาพคล่องของตลาดในประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี
เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ขณะที่มีการประชุมประจำปีของเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสในคณะทำงานเศรษฐกิจส่วนกลางของจีน เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของประเทศในปีหน้าซึ่งมีแนวโน้มที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์กันว่า จีนอาจเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการตัดลดภาษี สาเหตุสำคัญที่ทำให้จีนต้องรีบปรับทิศทางวางกลยุทธ์เศรษฐกิจเสียแต่เนิ่นๆนี้ เนื่องมาจากสถานการณ์วิกฤตหนี้สาธารณะจากฟากตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคยุโรปเป็นสำคัญที่ตกอยู่ในภาวะการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในภูมิภาคและเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ของจีน เรียกได้ว่าตลาดที่ซึมเซาในยุโรปทำให้ตัวเลขการส่งออกของจีนในเดือน พฤศจิกายนที่ผ่านมา ชะลอตัวลง 13.8% จากเดือนตุลาคมก่อนหน้าที่มีการขยายตัวถึง 15.9% สวนทางกับการนำเข้าในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้น 22.1% สูงเกินกว่าที่ได้มีการคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า 19% ตัวเลขข้างต้นแสดงให้เห็นว่าดุลการค้าเกินดุลของจีนหดเล็กลง ขณะที่ยังไม่นับรวมถึงตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรม ซึ่งบ่งชี้ถึงกิจกรรมในภาคการผลิตที่ชะลอตัวลงเช่นกัน
ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลงเช่นนี้ ส่งผลให้จีนเริ่มรู้ตัวแล้วว่าหากไม่เดินหน้าหามาตรการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศแล้วละก็ อาจทำให้เศรษฐกิจที่กำลังไปได้สวยของจีนต้องล้มพัง ร่วงแรงเจอกับ Hard Landing เอาได้ง่ายๆ ทั้งนี้ บรรดานักวิเคราะห์ซึ่งเฝ้าตามติดความเคลื่อนไหวของยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียต่างมองเห็นตรงกันว่าการส่งออกที่ชะลอตัวลงบวกกับปัญหาหนี้สาธารณะที่จีนปล่อยให้กับรัฐบาลท้องถิ่น บีบให้รัฐบาลจีนภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เวินเจียเป่า มีทางเลือกในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไม่มากนัก การลดอัตราดอกเบี้ยในขณะที่อัตราเงินเฟ้อกำลังชะลอตัวลงซึ่งเป็นทางเลือกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีที่ทำได้ไม่มากนัก เพราะภาคเศรษฐกิจหลักๆ ของประเทศไม่เหลือช่องว่างให้ลดภาษีลงได้อีกมาก ในขณะเดียวกัน การหันมากระตุ้นด้วยการทุ่มลงทุนในโครงสร้างขั้นพื้นฐาน เช่น การสร้างถนนเหมือนในอดีตจึงไม่อาจทำได้อีกเช่นกัน ดังนั้น ทางเลือกที่พอจะเป็นไปได้และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตต่อไปในปี 2555 คือการตัดลดภาษีบรรดาสถาบันทางการเงินชั้นนำอย่าง โกลด์แมน แซคส์ ไชนา อินเตอร์เนชันแนล แคปิตอล คอร์ป และบาร์เคลย์ แคปิตอล ต่างคาดการณ์ตรงกันว่าการที่จีนเก็บภาษีเข้าคลังในปีนี้ได้มากกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ การลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายจึงเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างดีที่สุดและปลอดภัยที่สุด ในแง่ที่ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณหนี้เสียที่รัฐแบกรับอยู่หลังจากปล่อยกู้ให้กับโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลท้องถิ่น และในตลาดอสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เห็นว่าภาษีที่รัฐบาลจีนน่าจะลดหย่อนลงไปได้คือ ภาษีโภคภัณฑ์ และภาษีเงินได้นิติบุคคล พร้อมกับการขยายโปรแกรมลดหย่อนภาษีภาคอุตสาหกรรมบริการที่ทดลองใช้ในเซี่ยงไฮ้ไปแล้วให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ เรียกได้ว่าเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนเพื่อเอาไปจับจ่ายใช้สอย ขณะที่การเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทห้างร้านเพื่อนำเงินที่ได้ไปลงทุน ที่จะทำให้เกิดการสร้างงานกระจายรายได้ต่อไป ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนอาจเพิ่มรายได้ด้วยการเพิ่มภาษีสำหรับอุตสาหกรรมบางประเภท เพื่อผลด้านการประหยัดพลังงาน และลดปริมาณการปล่อยก๊าซ ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยส่งผลดีต่อมาตรฐานทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ในแง่ที่เข้ากับแนวโน้มความต้องการลงทุนด้านพลังงานสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมของโลกได้เป็นอย่างดีเท่ากับว่านอกจากเป็นการวางแผนเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการปูทางสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องยอมรับว่าการเตรียมการรับมือของจีนแต่เนิ่นๆ ในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมไม่น้อย ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าขนาดจีนเตรียมความพร้อมหามาตรการรับมืออย่างเต็มที่ ยังมิวายสร้างปราการที่ดีพร้อมป้องกันเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้ได้รับผลกระเทือนรูปการณ์ดังกล่าวส่งผลให้น่าคิดต่อไปว่า แล้วประเทศที่ไม่ได้เตรียมการรับมือใดๆ มากนักอย่างไทยจะต้องเจอกับอะไร หากวันที่วิกฤตนั้นมาถึง
สำหรับตลาดจีนจะยังคงเป็นตลาดหลักที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทยในปี 2554 ตลอดไปจนถึงปี 2555 ให้สามารถเติบโตต่อไปได้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์รายงานสถานการณ์การค้าระหว่างไทย - จีน ในปี 2555 อาจจะไม่ร้อนแรงนัก เมื่อเทียบกับปี 2553 - 2554 ท่ามกลางตลาดหลักอื่นๆ ที่ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง โดยไทยอาจเข้าสู่ตลาดจีนด้วยการอาศัยโอกาสจากนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียวของทางการจีน ความตกลงทางเศรษฐกิจในกรอบที่กว้างขวางขึ้นของจีน และอาเซียน ที่อาจจะเป็นโอกาสในการเพิ่มน้ำหนักความสำคัญทางการค้าและการลงทุนกับประเทศสำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่คาดว่าจะกลายเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกนับจากนี้ ท่ามกลางภาวะเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป
อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยไปจีนในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ อาจชะลอตามปัจจัยการชะลอตัวของตลาดจีน ตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป ที่ยังอ่อนแรง และความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลก จนอาจจะมีผลให้เศรษฐกิจจีนในช่วงเวลาที่เหลือไม่ร้อนแรงเท่าในช่วงครึ่งแรกปี 2554 นอกจากนี้ ปัจจัยด้านข้อจำกัดของภาคการผลิตในประเทศไทยเอง อาจจะไม่สามารถรองรับความต้องการของตลาดจีนได้อย่างเพียงพอ ด้วยเหตุความเสียหายจากอุทกภัยครั้งใหญ่ ดังนั้น ภาวะการส่งออกไทยไปจีนส่อแววอ่อนแรงลงบ้างจากระดับ 33.2% ในปี 2553 มาอยู่ที่ 27% - 30%
ที่มา :1.www.chineseinfo.com
2.www.xinhuanet.com
3.www.cet.com.cn
4.www.nbd.com.cn
5.www.chinanew.com
เรียบเรียงโดย สคต.เซี่ยเหมิน
ที่มา: http://www.depthai.go.th