ตุรกี มีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากมีพรมแดนเชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียและยุโรปตะวันออกทำให้ไทยสามารถอาศัยตุรกีเป็นประตูการค้ากระจายสินค้าไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) กลุ่มประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน (ยุโรปตะวันออกตอนล่าง อาทิ บัลแกเรีย โรมาเนีย แอเบเนีย บอสเนีย เฮอร์เซโกวีนา ) รวมทั้ง ประเทศในแถบรัสเซียเกิดใหม่ ได้แก่ คาซัคสถาน อุสเบกิสถาน ซึ่งนับได้ว่าเป็นประตูการค้าสู่ตลาดแอฟริกาตอนเหนือตะวันออกกลางอีกด้วย
นอกจากนี้ ตุรกีจะทวีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ ในฐานะประเทศกันชนระหว่างทวีปยุโรป และเอเชีย ส่งผลให้ประเทศนี้ทำหน้าที่ทั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้าพ่อค้าและค้าภายใน ประเทศ ในปัจจุบัน ประเทศตุรกีถือว่ามีสถานะเป็นผู้นำและนำเข้าสินค้าเพื่อกลุ่มประเทศต่างๆในบริเวณนั้นและในกลุ่มประเทศทะเลดำ ส่งผลให้การค้าและอิทธิพลมีอยู่และแข็งแกร่งขึ้นโดยตลอด
การที่ตุรกีได้เริ่มเจรจาการเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) และคาดการณ์ว่าในปี ๒๕๕๘ ตุรกีจะสามารถเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยทางบวกที่จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและส่งเสริมให้เกิดการค้าการลงทุนกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในทวีปยุโรปมากยิ่งขึ้น
มูลค่าการค้าระหว่างไทย-ตุรกี
- ไทยส่งออกไปยังตุรกี ในปี ๒๕๕๓ มูลค่า ๙๙๙.๕ ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๕ จากปี ๒๕๕๒ โดยสินค้าหลักที่ส่งออกของไทย ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์และอุปกรณ์ ส่วนประกอบ ด้ายและเส้นใย ยางพาราและเคมีภัณฑ์ ในขณะที่ ผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว (Harmonize Code 329000000) มีมูลค่าเพียง ๔ ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ๒๕๕๓ ลดลงกว่าร้อยละ ๒๐ จากปี ๒๕๕๒
- สินค้าที่ไทยนำเข้าจากตุรกี ในปี ๒๕๕๓ มูลค่า ๒๕๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ได้แก่
สินค้าอุตสาหกรรมหนักเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินแร่โลหะ เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ และสิ่งทอ เป็นต้น
กล่าวได้ว่าธุรกิจสปา เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ภายใต้ Hospitality Industry ที่ตุรกีมีความเข้มแข็ง เห็นได้จากการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโรงแรมกว่า ๒,๐๐๐ รายทั่วตุรกี เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างเครือข่ายเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวน ๒๘ ล้านคนในปี ๒๐๑๑ และต้องการเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวในแถบเมติเตอร์เรเนียน (Becoming the leader of the Mediterranean Tourism) อย่างไรก็ตาม กิจการสปา ยังไม่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายเท่าใดนักเนื่องจากไม่มีการส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรมจากทั้งรัฐบาลและหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ไม่มีการรวมตัวกันเป็นสมาคมหรือชมรมอย่างชัดเจน มีเพียงแต่สมาคมเครื่องสำอางตุรกี (Turkish Cosmetic Association) ที่มีกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สปาเท่านั้น
สินค้าเครื่องสำอาง เครื่องประทินผิวในตุรกีส่วนใหญ่นำเข้าจากฝรั่งเศสและอิตาลี ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ในขณะเดียวกัน ตุรกี มีความสามารถในการผลิตสินค้าประเภทนี้ โดยมีจุดแข็งที่น้ำมันมะกอก ซึ่งสามารถนำไปแปรรูปและเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต่างๆได้มากมาย นอกจากนี้ ตุรกี มีโรงงานอุตสาหกรรมเครื่องสำอางจำนวนกว่า ๑,๓๕๐ แห่ง ในขณะที่ไทย ประมาณ ๘๐๐ แห่งตามข้อมูลจาก Factsheet สินค้าเครื่องสำอาง/สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิวของกรมส่งเสริมการส่งออก ในทางกลับกัน ตุรกี มีวัฒนธรรมการอาบน้ำอันยาวนาน เรียกว่า Turkish Bath หรือ Hamam ซึ่งเป็นสถานที่อาบน้ำสาธารณะ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานที่การอาบน้ำชำระร่างกาย และผลพลอยได้ คือ เป็นแหล่งพบปะพูดคุยกันของคนในชุมชน ปัจจุบัน รัฐบาลของตุรกี โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้ให้การสนับสนุนกิจการดังกล่าว
ผู้ประกอบการบริการสปาในนครอิสตันบูล
๑) Amrita Spa & Wellness : เป็น Resort Spa ใน Swiss Hotel The Bosphorus ประกอบไปด้วยส่วนของฟิตเนสและสปา รวมพื้นที่ทั้งหมด ๔,๐๐๐ ตร.ม. กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก คือ ลูกค้าของโรงแรม นอกจากนี้ ยังมีระบบของสมาชิกฟิตเนสที่สามารถเข้าใช้เครื่องออกกำลังและสระว่ายน้ำได้ ทั้งนี้ สปาเปิดให้บริการแก่ทั้งแขกของโรงแรมและลูกค้า Walk In สปามี positioning ระดับ High End เน้นลูกค้ากลุ่ม B+ ขึ้นไปทั้งชาวต่างชาติและคนท้องถิ่น มีรูปแบบของการให้บริการ สปาที่หลากหลาย ได้แก่ การนวดชิอัตสึ (นวดแบบญี่ปุ่น) การอบตัวด้วยไอน้ำและขัดผิวแบบตุรกี (Hamam) การนวดแบบอายุรเวช (อินเดีย) นวดไทย โดยพนักงานชาวตุรกีและการนวดแบบตะวันตก (Aromatherapy) และอื่นๆ โดยใช้ผลิตภัณฑ์จากอังกฤษและฝรั่งเศส
๒) LFC Spa Astoria เป็น Spa & Fitness ตั้งอยู่ชั้นบนสุดของศูนย์การค้า The Astoria Istanbul มีความเป็นส่วนตัว เน้นลูกค้ากลุ่ม High-End ชาวท้องถิ่นแต่เดิมคือ Anantara Spa ซึ่งเป็นสปาจากไทย มีพนักงานไทยและประดับตกแต่งสปาโดยเฟอร์นิเจอร์จากไทย แต่ปัจจุบัน LFC Spa ได้ซื้อกิจการและไม่มีพนักงานคนไทยแล้ว ทั้งนี้ ยังคงมีการให้บริการนวดไทย โดยพนักงานนวดชาวตุรกี การผนวกรวมศูนย์ออกกำลังและสปาเข้าด้วยกัน เป็นรูปแบบของธุรกิจที่เป็นที่นิยมแพร่หลายในอิสตันบูล เนื่องจากเป็นการขยายฐานลูกค้าที่นับได้ว่าเป็นกลุ่มลูกค้าเดียวกัน คือ ลูกค้าที่รักและให้ความสำคัญกับสุขภาพและการออกกำลังกายจึงจะมีความรู้ความเข้าใจและนิยมใช้บริการสปา ต่างจาก Stand Alone Spa /Day Spa ไม่เป็นที่แพร่หลายเนื่องจากชาวตุรกียังไม่มีความสนใจใช้บริการสปามากเท่าใดนัก
๓) การพบปะเจรจาความร่วมมือกับ Turkish Hotel Association สคต. ณ นครอิสตันบูลได้นัดหมายให้คณะฯ นักธุรกิจสปา จากศสอ สุราษฎร์ธานี เข้าพบกับ Dr. Inanc Atilgan เลขาธิการสมาพันธ์ Turkish Hoteliers Federation (TUROFED) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระของ อุตสหกรรมโรงแรมและการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในตุรกี ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ๒๐๐๕ประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวนกว่า ๒,๐๐๐ โรงแรมทั่วตุรกี (๘๐% เป็นโรงแรมที่ได้รับใบรับรองจากกระทรวงการท่องเที่ยวตุรกี) เลขาธิการสมาพันธ์ฯ กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตุรกีและประเทศไทยที่มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ ค.ศ. 1958 พร้อมนี้ ได้ให้ ข้อมูลสถานการณ์ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของตุรกี โดยในปี 2011 ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวมาเยือนตุรกีกว่า ๒๘ ล้านคน และต้องการเป็นผู้นำการท่องเที่ยวในแถบทะเลเมติเตอร์เรเนียน (Becoming the leader of the Mediterranean Tourism)
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครอิสตันบูล
ที่มา: http://www.depthai.go.th