ในช่วงปลายปีใกล้เทศกาลคริสต์มาสจะมีการผลิตช็อกโกแลต ขนมหวานต่างๆ เพิ่มมากขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จะเป็นประเภทสัตว์ปีกต่างๆ ได้แก่ ห่าน เป็ดและไก่งวง การจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยมีการส่งออกมากไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรป (สหราชอาณาจักร โปแลนด์ และรัสเซีย) ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2554 มียอดการจำหน่ายเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 95,720 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 10.2 เป็นการจำหน่ายในประเทศมูลค่า 75,669 ล้านยูโรเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 และในตลาดต่างประเทศมูลค่า 20,051 ล้านยูโรเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 สินค้าอาหารที่เยอรมนีนำเข้ามากในช่วง 9 เดือนแรกปี 2554 จะเป็นกาแฟ เนยแข็ง และเหล้าองุ่น สินค้าส่งออกมากที่สำคัญๆ ได้แก่ เนยแข็ง ผลิตภัณฑ์ทำจากเนื้อสุกร และขนมปังต่างๆ
ในช่วงที่อากาศหนาวเย็น เยอรมนีมีความต้องการผักสดและผลไม้เมืองร้อนมาก จึงทำให้มูลค่าการส่งออกอาหารของไทยไปตลาดเยอรมนีโดยรวมยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ยกเว้นผักสดที่มีมูลค่าลดลงสืบเนื่องจากแหล่งผลิตสำคัญๆ ของไทยถูกน้ำท่วมเสียหาย ในปี 2554 (ม.ค. -พ.ย.) ไทยได้ส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไปเยอรมนีเป็นมูลค่า 311.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ21.7 ที่สำคัญๆ ได้แก่ ไก่แปรรูปแช่แข็ง (แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ บราซิล เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส) กุ้งสดแช่แข็ง (เวียดนาม เนเธอร์แลนด์ บังคลาเทศ)และข้าว (เนอร์แลนด์ เบลเยี่ยม กัมพูชา ปากีสถาน) สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรมีการส่งออกเป็นมูลค่า 294.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 สินค้าสำคัญๆ ได้แก่ กุ้งกระป๋อง (เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค เวียดนาม)สับปะรดกระป๋อง (เคนยา อินโดนีเชีย) และน้ำมันปาล์ม (อินโดนีเชีย เนเธอร์แลนด์ ปาปัว นิวกีนี)
จากการที่มีบริษัทข้ามชาติได้เข้าไปลงทุน สร้างโรงงานผลิตสินค้าอุปโภค บริโภคต่างๆ ได้ทำให้เวียดนามมีสินค้าส่งออกไปเยอรมนีหลากหลายชนิดและเป็นมูลค่าที่สูงขึ้นตามลำดับ โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2554 นี้เป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 40 ของเยอรมนี มูลค่า 3,385 ล้านเหรีญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.36 ในขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 41 มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 3,160 ล้านเหรีญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.33 เฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร (พิกัด H.S. 01 - 24) คิดเป็นมูลค่า 616 และ 360 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ สินค้าสำคัญๆ ที่เยอรมนีนำเข้าจากเวียดนามจะเป็นโทรศัพท์มือถือ รองเท้า เครื่องพิมพ์ สำหรับสินค้าอาหาร ได้แก่ กาแฟ (354 ล้านเหรียญสหรัฐ) ปลา (72 ล้านเหรียญสหรัฐ) พริกไทย (54 ล้านเหรียญสหรัฐ) สำหรับผักสดต่างๆ มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 1.4 (จากไทย 4.1) ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ปี 2553 ในช่วงเวลาเดียวกันมีการนำเข้าเป็นมูลค่าเพียง 0.25 (จากไทย 6.0) ล้านเหรียญสหรัฐ
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน
ที่มา: http://www.depthai.go.th