รายงานการเยี่ยมพบผู้นำเข้าสินค้าข้าว และสถานการณ์ตลาดข้าวในเยอรมนีปัจจุบัน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 10, 2012 15:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ข้อมูลบริษัท
          1.1  ชื่อบริษัท           Euro Basmati GmbH

1.2 เจ้าของกิจการ Mr. Jamil Zetali (CEO)

          1.3  ที่อยู่              Euro Basmati GmbH

Kltjenfelderstr. 8

20457 Hamburg

โทรศัพท์ : +49-40-2483 55 45

โทรสาร : +49-40-2483 55 46

เว็บไซต์ : www.eurobasmati.com

อีเมล์ : info@eurobasmati.com

1.4 รูปแบบกิจการ และสินค้าหลักของบริษัท

บริษัท ยูโรบาสมาติ เป็นผู้นำเข้าข้าวเปลือก (บาสมาติ ข้าวเมล็ดยาว (Long grain rice) ข้าวหอมมะลิ ข้าวเปลือกนึ่ง (Parboiled rice) และเป็นผู้ประกอบการโรงสีข้าว ผลิตข้าวสาร บรรจุถุง เพื่อขายส่งให้ทั้งผู้ค้าส่ง และค้าปลีก มีสถานที่ตั้งบริษัท ซึ่งประกอบด้วยโรงสีข้าว โรงแยกบรรจุที่มีเครื่องจักรและอุปกรณ์ทันสมัย และศูนย์กระจายสินค้า ณ ท่าเรือเมืองฮัมบูร์ก และด้วยความได้เปรียบในเรื่องสถานที่ตั้งนี้เอง ได้ทำให้การจัดการระบบซัพพลายเชนของบริษัท และการกระจายสินค้าต่อไปยังผู้ซื้อ(ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีก) มีประสิทธิภาพมาก โดยสินค้าข้าวเปลือกชนิดต่างๆ มีการนำเข้ามาจากแหล่งผลิตสำคัญๆของโลก ได้แก่ ข้าวบาสมาติ จากอินเดีย ปากีสถาน ข้าวเมล็ดยาว จากไทย และเวียดนาม ข้าวหอมมะลิจากไทย และข้าวเปลือกนึ่งจากอาร์เจนตินา เมื่อผ่านกระบวนการสี คัดแยกบรรจุถุงแล้ว จะกระจายสินค้าที่มีอยู่ไปยังตลาดที่ไม่จำกัดเพียงเฉพาะในเยอรมนีเท่านั้น แต่จะครอบคลุมไปทั่วตลาดยุโรปทั้งหมด ข้าวหอมมะลิ และข้าวเมล็ดยาว ที่บริษัทฯ นำเข้ามาจากประเทศไทย บรรจุถุงจำหน่ายภายใต้แบรนด์ Qibbla Jasmin และ Kristal long grain rice ขนาด 2.5 กิโลกรัม 5 กิโลกรัม 10 กิโลกรัม และ 20 กิโลกรัม

ผลิตภัณฑ์ข้าวสารของบริษัท ยูโรบาสมาติ เคยได้รับประกาศนียบัตรมาตรฐานอาหารปลอดภัย หรือ International Food Standard (IFS) Version 5 เมื่อปี 2007 อีกด้วย ปัจจุบันบริษัทเปิดดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 10 ปี (ก่อตั้งเมื่อปี 2001) และมีผู้ร่วมงานทั้งหมด 20 คน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมี Sister company ซึ่งประกอบธุรกิจนำเข้า ผลิต และจัดจำหน่ายในไลน์สินค้าเนื้อสัตว์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศสวีเดนอีกด้วย (ภาพโรงงานและผลิตภัณฑ์ สามารถดูได้จากเว็บไซต์ของบริษัท) และในงาน THAIFEX 2011 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Mr. Jamil Zetali เจ้าของและ CEO ของบริษัท ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการสั่งซื้อข้าวด้วยตนเอง พร้อมด้วย Mr. Fouad Cheragwandi ฝ่ายจัดซื้อจากบริษัทในสวีเดน ได้เดินทางมาเข้าชมงาน ซึ่ง สคต.เบอร์ลิน ได้ประสานเชิญบริษัทฯ สำหรับการเข้าชมงาน เพื่อเพิ่มโอกาสการสั่งซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการไทย ในงาน THAIFEX 2012 ระหว่างวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2555 นี้ด้วยแล้ว

2. ข้อมูลที่ได้รับ/สืบเนื่องจากการหารือ :

สถานการณ์ตลาดข้าวในเยอรมนีปัจจุบัน แนวโน้ม และข้อเสนอแนะ

2.1 แม้ว่าผู้บริโภคชาวเยอรมัน มิได้บริโภคข้าวเป็นอาหารหลักก็ตาม แต่ข้าว ยังคงเป็นที่รู้จัก นิยมบริโภค และมีปริมาณการบริโภค รองลงมาจากสินค้ากลุ่มพาสต้า (Pasta) ซึ่งจัดว่าเป็นสินค้าที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในกลุ่มสินค้ากึ่งสำเร็จรูปตระกูลแป้ง/คาร์โบไฮเดรต

2.2 อย่างไรก็ตาม ความต้องการบริโภคข้าวของชาวเยอรมัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คงปริมาณที่ไม่กระเตื้องขึ้นนักจนถึงในปัจจุบัน (ปี 2011) ที่มีปริมาณลดลง เมื่อเปรียบจำนวนยอดขายสินค้าข้าวในตลาดเยอรมนีในปี 2011 ที่มียอดจำหน่ายภายในประเทศ 1.03 แสนตัน เทียบกับจำนวน 1.06 แสนตันของปีก่อนหน้า คิดเป็นปริมาณการขายข้าวในตลาด ลดลงร้อยละ -2.6 (แต่เมื่อเทียบปีปัจจุบัน กับเมื่อ 5 ปีก่อนหน้า พบว่าปริมาณยอดขายข้าวในปี 2011 ได้ขยายตัวเพิ่มจากปี 2006 ร้อยละ 6.8 หรือคิดเป็นการขยายตัว(ในหน่วยของปริมาณ) โดยเฉลี่ยแล้วเพียงร้อยละ 1.3 ต่อปี) ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการบริโภคข้าวในตลาดเยอรมนี (Consumer demand) ที่กำลังจะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง

2.3 สถิติยอดขายสินค้าข้าวในตลาดเยอรมนี ในเชิงมูลค่า แสดงให้เห็นว่ามูลค่าการขายข้าวในปี 2011 ลดลงจากปี 2010 มากถึงร้อยละ -12.1 (ปี 2011 ยอดขายข้าวในเยอรมนีมูลค่า 271.1 ล้านยูโร ลดลงจากมูลค่า 308.4 ล้านยูโร ในปี 2010) หรือเมื่อเทียบกับห้าปีที่ผ่านมา (ปี 2006) มูลค่าการจำหน่ายข้าว ลดลงร้อยละ -11.4 และมีอัตราการลดลงเฉลี่ย มากถึงร้อยละ -2.4 ต่อปี

2.4 มูลค่าของยอดขายสินค้าข้าวในตลาดเยอรมนีที่ลดลง เป็นผลมากจากปริมาณการบริโภคที่ลดลงดังกล่าว และที่สำคัญคือราคาจำหน่าย(เฉลี่ยต่อหน่วย)ในตลาดที่ลดลงอย่างมาก จากการตั้งราคาขายปลีกข้าวในระดับต่ำของกลุ่ม Discounters ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นสัดส่วนใหญ่ อย่างกลุ่ม Aldi เป็นต้น ซึ่งการตั้งราคาที่ต่ำของ Discounter ได้มีผลในทางจิตวิทยาในการยอมรับต่อสินค้าและราคาของผู้บริโภค เพราะเมื่อผู้บริโภคเยอรมันยอมรับสินค้าข้าวว่าเป็น Low-value product (สินค้ามูลค่าต่ำ) ไว้แล้ว ก็ยากที่จะยอมใช้จ่ายเงินของตนเพื่อซื้อข้าว จากแหล่งอื่นๆในราคาที่เพิ่มมากขึ้นไปจากนี้ได้ ซึ่งนับว่าปัจจัยในทางจิตวิทยาการยอมรับในมูลค่า(หรือราคา)ของสินค้าข้าว แสดงบทบาทต่อภาวะตลาดข้าวอย่างมีนัยสำคัญมากทีเดียว

2.5 นอกจากนี้ ในตลาดเยอรมัน ยังคงมีอุปสรรคสำคัญอีกประการที่มีอิทธิพลมากต่อการเลือกบริโภคข้าว คือการยอมรับ/ความเชื่อที่มีต่อสินค้าข้าวของผู้บริโภค ว่าเป็นอาหารที่ไม่มีรสชาติ และยากต่อการหุง/ปรุงประกอบเป็นอาหาร เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับสินค้าทดแทนกัน อย่างกลุ่มพาสต้า และอาหารหลักของชาวเยอรมันอย่างมันฝรั่ง ซึ่งในจุดอ่อนข้อนี้ของสินค้าข้าว ทำให้ผู้ค้าข้าวรายสำคัญๆของเยอรมนี นำเสนอสินค้าข้าวออกมาสู่ตลาดในหลากหลายรูปแบบพิเศษ อาทิ ข้าวหุงสำเร็จ (pre-cooked rice) ข้าวบรรจุถุงแบบสะดวกหุงทั้งถุง (boil-in-bag rice) ข้าวที่สามารถหุงในไมโครเวฟ ตลอดจนในตลาดเยอรมนีปัจจุบัน มีการนำเสนอข้าวพร้อมซอสปรุงรส (จัดอยู่ในกลุ่ม Ready meal) ในสไตล์การปรุงรสชาติแบบ ไทย จีน อินเดีย ที่สามารถอุ่นด้วยไมโครเวฟได้ในเวลา 2 นาที ด้วยแล้ว (ดังตัวอย่างสินค้าตรา Uncle Ben's "Heiss auf Reis" (Hot on rice) ของ บริษัท Mars GmbH ที่วางกลุ่มเป้าหมายลูกค้าไปที่กลุ่มคนทำงาน) เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคเห็นถึงความสะดวกในการหุงหา และใช้เวลาประกอบอาหารที่สั้นลง ด้วยวัตถุประสงค์ที่พยายามจะทำให้ข้าวสามารถแข่งขันกับพาสต้าได้มากขึ้นนั่นเอง แต่อย่างไรก็ดี พบข้อสังเกตว่า ในปี 2011 อาหารที่มีซอสปรุงรส หรือตัวซอสปรุงรสเองก็ตาม เริ่มจะได้รับความนิยมจากชาวเยอรมันลดลงไปบ้าง เนื่องจากกระแสการคำนึงถึงสารเคมีปรุงแต่งรสและสีที่เจืออยู่ในกระบวนการผลิตซอสปรุงรส ทั้งนี้ แนวโน้มของตลาด จึงมีความต้องการในอาหารที่มีสารปรุงแต่งลดน้อยที่สุดนั่นเอง

2.6 ข้อสังเกตประการสำคัญอันหนึ่ง ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการผลิต/ส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวของไทย คือ การสร้างความพิเศษให้ผลิตภัณฑ์ข้าวที่กล่าวมาข้างต้น จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าได้เป็นอย่างดี เพราะ แม้ว่าสินค้าข้าวในรูปแบบพิเศษดังกล่าวจะมีส่วนแบ่งในตลาดในเชิงปริมาณการขาย ที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับข้าวสารโดยทั่วไป แต่ผู้ประกอบการสามารถกำหนดราคาขายต่อหน่วยที่มีมูลค่าสูงขึ้นมากกว่าข้าวโดยทั่วไปได้ จึงทำให้ยอดขายในเชิงมูลค่าของสินค้าข้าวกลุ่มนี้สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการได้มากกว่า ตัวอย่าง ราคาสินค้าข้าวแบบพิเศษปัจจุบันในเยอรมนี ผลิตภัณฑ์ตรา "Reis fit" แบบหุงในถุง (boil-in-bag rice) (ของบริษัท Euryza GmbH ซึ่งเป็น Key player ในตลาดข้าวรายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ด้วยส่วนแบ่งการตลาดข้าวสูงถึง ร้อยละ 27 สำนักงานตั้งอยู่ ณ เมืองฮัมบูร์ก www.euryza.de ) ในห่อขนาด 250 กรัม ขายในราคา 1.48 ยูโร เมื่อเทียบกับ "Reis fit Natur-Reis" ซึ่งเป็นข้าวสารธรรมดาจากบริษัทเดียวกัน ในขนาดห่อ 500 กรัม ขายที่ราคา 1.79 ยูโร ในขณะที่ราคาขายของข้าวสารจาก Discounters ยิ่งราคาถูกลงไปกว่านี้อีกมาก เช่น ข้าวเมล็ดยาวของ Aldi ขนาดห่อ 1 กิโลกรัม ขายที่ราคา 1.59 ยูโร และขนาด 500 กรัม แบบ boil-in-bag rice มีราคาขายเพียง 0.59 ยูโร

2.7 แม้ว่าราคาขายต่อหน่วยของสินค้าข้าวในตลาดเยอรมนี จะลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับแนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลกที่โน้มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ผู้ผลิต/ผู้ค้าข้าวในเยอรมนี ไม่สามารถผลักภาระต้นทุนราคานำเข้าที่สูงขึ้นนี้ไปยังผู้บริโภคได้ เนื่องมาจากความเกรงกลัวต่อการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดหรือยอดขายในระยะยาว ผู้ประกอบการทั้งหลายจึงต้องยอมรับในส่วนต่างหรือ Margin ที่ลดลงนั้นเสียเอง ดังนั้น แนวโน้มในการเสาะแสวงหาแหล่งผลิตข้าวที่ได้คุณภาพสูง และต้องมีราคาที่สามารถแข่งขันได้ของผู้นำเข้าเยอรมัน จะยังคงดำเนินไปต่อเนื่องในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ขณะที่ราคาข้าวที่โน้มเพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลก ที่เกิดจากสภาวะอากาศแปรปรวนในภูมิภาคที่มีการผลิตข้าวของโลก ความต้องการข้าวที่มีเพิ่มขึ้นในเอเชีย ตลอดจนมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอมเริกา ในการห้ามนำเข้าสินค้าตัดแต่งพันธุกรรม ล้วนแต่จะส่งผลกระทบให้ส่วนต่างของราคาหรือมาร์จิ้น ของผู้ประกอบการเยอรมันลดลงไปได้อย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น สินค้าข้าวที่จะสามารถสร้างส่วนต่างสูงให้แก่ผู้ประกอบการ ก็คงหนีไม่พ้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าข้าว ด้วยนวัตกรรมการผลิตทีสามารถนำเสนอผลิตภัณพ์รูปแบบใหม่ๆมาสู่ตลาดนั่นเอง

2.8 ข้อคิดเห็นของ สคต.เบอร์ลิน ในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าข้าวไทยในตลาดเยอรมนี นั้น กลยุทธ์สำคัญที่ควรต้องดำเนินการ และทำอย่างต่อเนื่อง ก็คือการเปลี่ยน Consumer perception ของตลาดเยอรมัน ที่มีต่อสินค้าข้าวจากประเทศไทย ให้ผู้บริโภคในตลาดระดับกลางถึงระดับบน มีการยอมรับในคุณสมบัติความหอม อร่อยของรสชาติ คุณประโยชน์ของสารอาหารที่มีในข้าว และต้องยอมรับได้ในราคาที่สอดคล้องกับคุณภาพของข้าวไทยด้วย ซึ่งในปีงบประมาณ 2555 สำนักงานฯ ได้มีแผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย/ประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารไทย รวมทั้งข้าวหอมมะลิของไทย ร่วมกับบริษัทผู้นำเข้ารายใหญ่ และห้างค้าปลีกที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศเยอรมนี เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการสร้างการยอมรับข้าวไทย ในกลุ่มผู้บริโภคชาวเยอรมันได้อย่างต่อเนื่อง

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ