รายงานข้าว !!! กรมศุลกากรไต้หวันสงสัยข้าวไทยมีถิ่นกำเนิดในจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 11, 2012 10:56 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกรมส่งเสริมการส่งออกตั้งอยู่ในกรุงไทเป ได้รับการร้องเรียนจากผู้นำเข้าไต้หวัน Tri Trade Enterprise Co., Ltd ในวันที่ 26 ธันวาคม 2554 ว่า ได้มีการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยจำนวน 1 ตู้คอนเทนเน่อร์ จากบริษัท ยูนิเวอร์แซล ไรซ์ จำกัด เมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือในไต้หวันแล้วกรมศุลกากรทำการสุ่มตรวจว่าเป็นสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในจีนหรือไม่ และได้กักสินค้าไว้ พร้อมทั้งทำหนังสือแจ้งสำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันในไทย (Taipei Economic and Trade Office in Bankgok) ให้ช่วยตรวจสอบ

Tri Trade เห็นว่าการรอขั้นตอนตรวจสอบของฝ่ายเศรษฐกิจไต้หวันในไทยมีความล่าช้า จึงได้ขอให้สำนักงานฯ ช่วยชี้แจงต่อกรมศุลกากรไต้หวันว่าสินค้าที่นำเข้าเป็นสินค้าที่ได้รับเครื่องหมายสัญลักษณ์รับรองคุณภาพข้าวหอมมะลิ โดยกรมการค้าต่างประเทศซึ่งมีหลักเกณฑ์ว่า จะมอบตราสัญลักษณ์ให้แก่ผู้ผลิตข้าวหอมมะลิซึ่งมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยเท่านั้น สำนักงานฯ จึงได้ให้ความช่วยเหลือด้วยการออกหนังสือชี้แจง แต่กรมศุลกากรไต้หวันยังคงอ้างว่าจะต้องรอผลตรวจสอบโดยหน่วยงานของไต้หวันที่ประจำในประเทศก่อน สำนักงานฯ จึงเจรจาเพิ่มเติมยืนยันว่าหนังสือของหน่วยงงานราชการไทยเชื่อถือได้ ในที่สุดจึงยอมปล่อยสินค้าในวันที่ 28 ธันวาคม 2554

สาเหตุของการกักสินค้านั้น กรมศุลกากรไต้หวันแจ้งว่า เป็นการสุ่มตรวจสินค้านำเข้ามุ่งเน้นสกัดกั้นสินค้าเกษตรที่ไต้หวันห้ามนำเข้าจากจีนแผ่นดินใหญ่ 8 ชนิด คือ กระเทียม เห็ดหอม หน่อไม้ ลูกบ๊วย ลูกไหน ใบชา ข้าว ถั่วลิสง โดยกำหนดหลักเกณฑ์ตัดสินเรื่องถิ่นกำเนิดของสินค้านำเข้าที่สอดคล้องกับระเบียบคือ

  • จะต้องเป็นสินค้าที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในประเทศต้นแหล่งกำเนิด - หากเกิดข้อสงสัยจะต้องส่งตัวอย่างสินค้าให้สภาเกษตรไต้หวัน(Council of Agriculture) ทำการตรวจสอบ หากสภาเกษตรไม่สามารถตรวจสอบได้จะต้องส่งให้หน่วยงานรัฐบาลไต้หวันในประเทศต้นกำเนิดสินค้าทำการตรวจยืนยันเอกสารหรือไปตรวจสอบที่โรงงานผู้ส่งออก

สำนักงานฯ ได้พยายามชี้แจงต่อกรมศุลกากรไต้หวันว่า ใบรับรองถิ่นกำเนินสินค้าของไทยถือว่ามีความเชื่อถือได้ หากเกิดความสงสัยว่าอาจมีการปลอมแปลงสามารถตรวจสอบผ่านสำนักงานฯ หรือติดต่อโดยตรงกับกรมการค้าต่างประเทศได้ เพื่อให้ขั้นตอนการนำเข้าสินค้ามีความสะดวกรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไต้หวันยังคงสงวนท่าที และแจ้งว่าจะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติของตน

สำนักงานฯ จึงขอแนะนำผู้ส่งออกไทยในการแก้ไขปัญหาคือ หากเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ ผู้ส่งออกไทยหรือผู้นำเข้าในไต้หวันควรติดต่อกับ สำนักงานฯ เพื่อขอความช่วยเหลือในการชี้แจงต่อกรมศุลกากรไต้หวัน หรือหากได้รับการติดต่อสอบถามจากสำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันในประเทศไทย ควรจะรีบให้ความร่วมมือและส่งหลักฐานหรือเอกสารยืนยัน เพื่อให้หน่วยงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องต่อกรมศุลกกากรไต้หวันโดยเร็ว จึงจะทำให้สินค้าผ่านด่านศุลกากรได้อย่างสะดวก

รายงานโดย : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)

โทร. 886-2-2723 1800 โทรสาร. 886-2-2723 1821

E-mail: thaicom.taipei@msa.hinet.net

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ