ความคืบหน้าระบบการเรียกเก็บภาษีสินค้าและบริการ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 11, 2012 11:12 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินเดีย มีแนวคิดที่จะนำระบบการเรียกเก็บภาษีสินค้าและบริการ(Goods and Services Tax: GST) มาใช้เพื่อปฏิรูประบบการเก็บภาษีฯและพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีการศึกษาวิจัยฯสัมนาฯรับฟังความคิดเห็นกันมาตั้งแต่ปี 2007 มีทั้งเสียงสนับสนุนฯและเสียงคัดค้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัฐฯที่จะต้องสูญเสียรายได้จากการเรียกเก็บภาษีฯ ปัจจุบันมีคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐฯ(“the Empowered Committee”) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งฯมีหน้าที่ดำเนินการผลักดันให้ GST ออกมาบังคับใช้ให้จงได้ ทั้งนี้มีการกำหนดวันให้ GST มีผลบังคับใช้ครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2010(อินเดียเริ่มต้นปีงบประมาณ ณ วันที่ 1 เมษาฯ) แต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากยังมีความเห็นที่แตกต่างระหว่างรัฐฯทั้งหลาย จนต้องเลื่อนกำหนดฯมาเป็นวันที่ 1 เมษายน 2011 ที่ผ่านมาก็ยังไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ความพยายามนำความขัดแย้งข้อคิดเห็นที่แตกต่างมาขึ้นโต๊ะเจรจาหาขอสรุปร่วมกัน ก็เป็นความพยายามหนึ่งที่ใช้ ในการโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายเห็นแก่ประโยชน์ส่วนร่วม โดยได้มีการเสนอปรับปรุงแก้ไขเนื้อความข้อบทกฎหมายให้เป็นที่ยอมรับฯ ทั้งได้ปรับสูตรคำนวณค่าชดเชยภาษีที่ต้องสูญหายไป(compensation for revenue loss to the States)จากการนำ GST มาใช้แทนฯ และการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะฯเพื่อควบคุมดูแล GST หลังมีผลบังคับใช้ฯ เป็นต้น

ดังนั้น ปีใหม่ 2012 ก็หวังกันว่า อินเดียจะสามารถเริ่มใช้ระบบ GST ทันวันเริ่มต้นปีงบประมาณ 2012 จึงต้องติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดต่อไป

อนึ่ง ระบบ GST เป็นโครงสร้างภาษีฯ ที่อินเดียจะนำมาใช้แทนระบบการเรียกเก็บภาษีต่างๆที่ใช้ในปัจจุบันซึ่งอยู่กระจัดกระจายหลายอย่าง เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีบริการ(Service Tax) ภาษีสรรพสามิต(Excise duties) และภาษีการขายฯ(Central sales tax) เป็นต้น โดยผู้ประกอบการทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใหญ่ หรือผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย จะต้องลงทะเบียนเข้าใช้ระบบ GST

ระบบ GST มีผลในทางบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนชาวอินเดีย กล่าวคือปัจจุบันการซื้อสินค้าและบริการบางประเภทในแต่ละครั้งจะต้องชำระภาษีสูงถึงร้อยละ 30 ของราคาสินค้าและบริการนั้นๆ แต่เมื่อนำระบบภาษีต่างๆมารวมกันเป็น GST ระบบเดียว การเรียกเก็บภาษีสินค้าและบริการรวมแล้วจะลดลงกว่าครึ่งของราคาสินค้าและบริการนั้นๆ ซึ่งประชาชนจะได้ซื้อสินค้า ถูกลง จึงนำเงินออกมาใช้จ่าย ก็จะทำให้มีกระแสเงินไหลเวียนมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น

สำหรับผลพลอยได้ที่ต่างชาติจะได้รับก็คือ เมื่อภาษีลดลง สินค้าถูกลง ชาวอินเดีย ก็จะมีกำลังซื้อมากขึ้น และผู้ประกอบการก็ย่อมขายสินค้าฯได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ มีการสั่งสินค้าเข้ามาขายในอินเดียเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย...

สคต.กรุงนิวเดลี

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ