การเลือกทำเลจัดตั้งธุรกิจในจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 11, 2012 11:24 —กรมส่งเสริมการส่งออก

จัดตั้งธุรกิจในจีนเริ่มต้นอย่างไรให้ปลอดภัย

เชื่อว่านักธุรกิจทั้งหลายที่สนใจจะเข้ามาจัดตั้งในจีนคงมีความสงสัยคล้ายคลึงกันว่า การจะเข้ามาตั้งธุรกิจในจีนนั้น เขาเริ่มต้นกันอย่างไร และมีเส้นทางใดบ้างที่น่าจะปลอดภัย

เมื่อมีแนวคิดที่จะเข้าไปทำธุรกิจในจีนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้าฝ่ายจีนที่ชวนไปร่วมลงทุน หรือการมองเห็นตลาดที่ชัดเจนและต้องการเข้าไปลงทุนเองก็ตาม ก้าวแรกที่ธุรกิจพี่ใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์มาก่อนจะเริ่มลงมือคือ การศึกษาข้อมูลทั่วไปเพื่อเลือกทำเล และการเดินทางเข้ามาสำรวจ ณ พื้นที่จริง

ในประเทศจีนที่กว้างใหญ่ไพศาลเช่นนี้ ธุรกิจจะหาทำเลปักธงทั้งทีคงต้องพอมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างและการแบ่งเขตการปกครองของจีนบ้าง เช่น หากคู่ค้าของท่านชวนไปทำธุรกิจที่เมืองอี้อู (Yiwu) ท่านจะต้องเห็นภาพว่า เมืองอี้อูจัดเป็นเมืองระดับอำเภอที่อยู่ในเขตการปกครองของเมืองจินหัว (Jinhua) ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลเจ้อเจียง เพราะนั่นจะทำให้ท่านได้ภาพอื่นๆ ตามมาว่า เมืองนี้อยู่ภายใต้นโยบายท้องถิ่นของเมืองและมณฑลใด และหากจะติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐของจีนจะขึ้นตรงกับเมืองและมณฑลใด เป็นต้น

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ เขตการปกครองของจีนต้องมองจากภาพใหญ่ลงไป คือ เริ่มกันที่ระดับมณฑล โดยในแต่ละมณฑลจะมีเมืองเอกที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การเมือง และการคมนาคมของมณฑล เช่น เมืองหางโจวเป็นเมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง เมืองหนานจิงเป็นเมืองเอกของมณฑลเจียงซู เป็นต้น ส่วนกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครฉงชิ่ง และนครเทียนจิน จัดเป็นมหานครที่มีฐานะเทียบเท่ากับมณฑล และขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางของจีน รองจากระดับเมืองลงไปก็เป็นระดับอำเภอ นอกจากนี้ยังมีบางอำเภอที่อาจเรียกเป็น “เมือง” แต่จัดให้มีฐานะเทียบเท่าอำเภอก็มี (เช่นเมืองอี้อูที่ยกตัวอย่างข้างต้น) และย่อยลงไปอีกจะเป็นระดับตำบล

แต่สำหรับการเลือกทำเลธุรกิจนั้น หากเป็นธุรกิจที่ต้องผูกติดอยู่กับผู้บริโภคโดยตรง เช่น ธุรกิจบริการ ธุรกิจค้าปลีก ท่านยังควรรู้จักอีกมุมหนึ่งของการจัดแบ่งเมืองของจีน ซึ่งนับเป็นบริบทใหม่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลังจากที่เมืองต่างๆ ในจีนเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย โดยมีคำฮิตใหม่ในจีนในช่วง 4-5 ปีมานี้เอง คือ “เมืองรอง” (หรือ second / third tier city) ซึ่งเป็นการแบ่งระดับเมืองเป็นหัวเมืองหลักและเมืองรองระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับ 2 ระดับ 3 เรื่อยไปจนถึงระดับ 6 แล้วในปัจจุบัน

เลือกทำเลธุรกิจ...ต้องรู้จักหัวเมืองหลักและเมืองรองของจีน

จีนมีเมืองน้อยใหญ่รวมกันถึง 667 เมือง มีประชากรในเขตตัวเมืองประมาณ 650 ล้านคน หรือประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ (ณ ปี 2553) ในช่วงหลายปีมานี้ แม้เมืองต่างๆ ในจีนพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่ยังมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันมาก ย้อนกลับไปในทศวรรษที่แล้ว คนภายนอกคงรู้จักจีนกันในชื่อไม่กี่เมือง ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นหัวเมืองหลักและเมืองเปิดที่เศรษฐกิจพัฒนาก่อนแล้ว มาวันนี้คนต่างชาติต่างรู้จักเมืองใหม่ๆ ของจีนกันมากขึ้น โดยเฉพาะ “เมืองรอง” หรือ Second tier / Third tier city ซึ่งมาจากการแบ่งระดับเมืองของจีนในช่วงหลังที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บูมมาก เพื่อจัดอันดับราคาบ้านและดูแนวโน้มของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเมืองต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ต่อมาเกณฑ์การจัดแบ่งชั้นเมืองเหล่านี้ได้กลายเป็นตัวบ่งบอกถึงระดับการพัฒนาและขนาดของเมือง ตลอดจนกำลังซื้อของผู้บริโภคในเมืองนั้น จึงเป็นปัจจัยใหม่ให้ธุรกิจที่กำลังมองหาทำเลต้องคำนึงถึง

การจัดแบ่งระดับเมืองรองของจีนมาจากเกณฑ์ต่างๆ คือ

1). สถานะทางการเมือง

2). ศักยภาพทางเศรษฐกิจ

3). ขนาดของเมือง

4). อิทธิพลของเมืองนั้นที่มีต่อพื้นที่โดยรอบ

หัวเมืองหลัก หรือ First tier cities ของจีน ประกอบด้วย กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้น และเมื่อไม่นานมานี้ ได้นับรวมนครเทียนจินเพิ่มเติมอีกเมืองหนึ่งด้วยแล้ว

เมืองรองระดับ 2 หรือ Second tier cities มีเกณฑ์วัด คือ

1). GDP ตั้งแต่ 200,000 ล้านหยวน ขึ้นไป

2). GDP ต่อหัวประชากรตั้งแต่ 14,000 หยวน ขึ้นไป

3). มีประชากรอาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน

4). มีพื้นที่เขตเมืองที่ก่อสร้างแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ตร.กม.

5). มีพื้นที่ที่อยู่อาศัยที่ขายแล้วไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านตร.ม.

6). ราคาบ้านเฉลี่ยไม่ต่ำ กว่า 3,000 หยวน/ ตร.ม.

เมืองรองระดับ 3 หรือ Third tier cities ส่วนใหญ่เป็นเมืองเอกของมณฑลและเมืองเลียบชายฝั่งทะเลตะวันออกที่ไม่ถึงเกณฑ์ของเมืองรองระดับ 2

เมืองรองระดับ 4 หรือ Forth tier cities เป็นเมืองเทียบเท่ากับระดับอำเภอที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว

ผลการจัดอันดับเมืองระดับอำเภอในจีน (เมืองรองระดับ 4) จากทั้งหมด 654 เมืองทั่วจีน ของนิตยสาร Forbes ประจำปี 2553 โดยพิจารณาจากด้านทรัพยากรมนุษย์ การขยายเมือง กำลังซื้อ ระบบขนส่งมวลชนและระบบขนส่งสินค้า ต้นทุนการทำธุรกิจ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การสร้างสรรค์ และดัชนีโดยรวม พบว่า เมืองติดอันดับ 25 เมืองแรกส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลเจียงซู (8 เมือง) รองลงมาอยู่ในมณฑลเจ้อเจียง และมณฑลซานตง (มณฑลละ 7 เมือง) มณฑลฝูเจี้ยน (2 เมือง) และมณฑลกวางตุ้ง (1 เมือง)

เมืองรองระดับ 2 และ3 ของจีน แม่เหล็กดึงดูดธุรกิจตัวใหม่

ตัวแปรใหม่ๆ ที่ทำให้ธุรกิจที่เกาะติดกับกลุ่มผู้บริโภคทั้งหลายในจีนเริ่มหันไปหาเมืองรอง ซึ่งปัจจุบันได้แผ่ขยายพื้นที่ไกลออกไปถึงเมืองรองระดับ 3 และ 4 แล้ว มีดังนี้

  • ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจที่ต่ำกว่า ไม่ว่าจะเป็นค่าอสังหาริมทรัพย์ อัตราค่าแรง ค่าโฆษณา เป็นต้น
  • สีสันแห่งความบันเทิงเริงรมย์ในเมืองรองต่างๆ ยิ่งในระดับ 3 และ 4 ด้วยแล้วยังไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของผู้คน ขณะที่ผู้บริโภคในเมืองเหล่านี้กำลังเพรียกหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามกำลังการใช้จ่ายที่สูงขึ้น มีตัวเลขสถิติที่น่าสนใจจากแหล่งหนึ่งบอกว่า คนฝรั่งเศสใช้เวลาช้อปปิ้งเฉลี่ย 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่คนจีนในบางเมืองใช้เวลาช้อปปิ้งเฉลี่ยถึง 9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จึงไม่แปลกใจเลยว่า เหตุใดบางเมืองที่แม้ชื่อก็ยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าไรกลับกำลังเริ่มเป็นที่สนใจของธุรกิจค้าปลีกและบริการสมัยใหม่ทั้งหลายไปแล้วอย่างรวดเร็ว
  • เมืองรองยังมีช่องว่างให้ขยายตลาดมากกว่าหัวเมืองหลักที่เต็มไปด้วยคู่แข่งขัน ทั้งธุรกิจท้องถิ่นและต่างชาติ
  • ในภาพนโยบายใหญ่ของจีนเองก็กำลังขยายการพัฒนาเศรษฐกิจไปในเมืองรองระดับ 2 และ 3
  • สุดท้าย รัฐบาลท้องถิ่นของเมืองรองทั้งหลายทั้งเร่งนโยบายผลักดันการพัฒนาเมือง แข่งกันลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นการใหญ่ และทั้งอ้าแขนกว้างต้อนรับการลงทุนจากภาคธุรกิจบริการสมัยใหม่ ขณะที่หัวเมืองหลักมักใช้นโยบายที่คุมเข้มเพื่อลดความอิ่มตัวของเมืองในหลายด้าน อีกทั้งเพื่อจัดระเบียบสังคม และลดมลพิษ
คำตอบที่ต้องค้นหาก่อนเลือกทำเลธุรกิจในเมืองรอง

แม้เมืองรองจะมีข้อดีหลายด้าน แต่ก็มีความเสี่ยงที่ธุรกิจควรต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนเลือกเป็นที่ตั้ง คำถามเบื้องต้นที่ธุรกิจควรจะต้องหาคำตอบก่อนจะพิจารณาเลือกไปจัดตั้งในเมืองรอง คือ

  • ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายของตนเป็นใคร และมีสัดส่วนในเมืองนั้นเป็นจำนวนเท่าใด เช่น บางเมืองอาจจะมีกลุ่มคนวัยรุ่น คนวัยทำงาน หรือคนต่างชาติ ในสัดส่วนน้อย จะเหมาะกับธุรกิจตนหรือไม่
  • ปริมาณอุปทานและอุปสงค์ของสินค้าและบริการในธุรกิจตนที่มีอยู่ในตลาดนั้นอยู่ในระดับใด
  • เป็นเมืองที่มีทรัพยากรมนุษย์ในสาขาที่ธุรกิจตนต้องการหรือไม่
  • ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ความพร้อมของเมือง และการพัฒนาระบบขนส่งเป็นอย่างไร เช่น มีรถไฟใต้ดินหรือไม่ กี่สาย มีรถไฟความเร็วสูงวิ่งถึงหรือไม่ หรือกำลังจะมีเส้นทางใดเพิ่มเติม
  • เมืองนี้มีทิศทางการพัฒนาไปในแนวทางใด เป็นเมืองที่เน้นภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการ จุดใดของเมืองมีความอิ่มตัวแล้ว จุดใดของเมืองเป็นเขตพัฒนาใหม่
  • มีคู่แข่ง/ ธุรกิจในสาขาเดียวกันเข้าไปเปิดแล้วหรือไม่ จำนวนเท่าไร และมีผลประกอบการเท่าไร
  • ต้นทุนการทำธุรกิจในเมืองนี้เป็นอย่างไร เช่น ค่าอสังหาริมทรัพย์ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ อัตรา เงินเดือนโดยเฉลี่ย อัตราค่าครองชีพ ต้นทุนการขนส่ง เป็นต้น
  • มีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนใดบ้างในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานจีนและไทย
ปูทางก่อนเข้ามาจัดตั้งธุรกิจในจีน

ผู้อ่านคงอยากถามต่อว่า แล้วจะไปหาข้อมูลข้างต้นได้จากแหล่งใดบ้าง บทความนี้จึงขอประมวลแนวทางที่ธุรกิจพี่ใหญ่ทั้งหลายใช้กัน ผนวกกับข้อแนะนำและประสบการณ์จากผู้รู้หลายท่าน เพื่อเป็นข้อพิจารณาแก่ธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาในจีน เริ่มแรกคือการหาแหล่งข้อมูลให้กว้างขวางและหลากหลาย โดยเฉพาะแหล่งข้อมูลประเภทบุคคล ได้แก่ คู่ค้า/ คู่ลงทุนฝ่ายจีนของท่าน ที่จะให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจที่จะทำได้เป็นอย่างดี ต่อมาก็ต้องหาแหล่งตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลที่ได้รับจากด้านคู่ค้า/ คู่ลงทุนดังกล่าว ได้แก่ บริษัทเอกชนไทยที่เข้าไปจัดตั้งในเมืองนั้นๆ แล้ว ซึ่งจะสามารถให้ข้อคิดเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคที่พบเจอมาก่อนหน้า พร้อมกับแนวทางแก้ไข ข้อพิจารณาในการทำธุรกิจ และการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น เป็นต้น หลังจากนั้น ธุรกิจน้องใหม่ยังควรอย่างยิ่งที่จะตั้งเกราะป้องกันตนเอง โดยการเข้าไปพบกับหน่วยงานภาครัฐของจีนในระดับท้องถิ่นที่ธุรกิจจะเข้าไปจัดตั้ง เพราะจะสามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนและละเอียดกว่าหน่วยงานส่วนกลาง โดยทั่วไปได้แก่

1).สำนักงานการพาณิชย์ประจำเมืองของจีนที่จะให้ข้อมูลด้านการตลาด สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจ นโยบายและสิทธิประโยชน์หรือข้อจำกัดแก่ธุรกิจ เป็นต้น

2).สำนักงานส่งเสริมการลงทุนในท้องที่ของจีน ซึ่งจะให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับ นโยบายและสิทธิประโยชน์ในการดึงดูดการลงทุน รวมทั้ง กฎระเบียบการจัดตั้ง/ รื้อถอนอาคาร/ พื้นที่ดึงดูดธุรกิจแต่ละประเภท เป็นต้น

3).กรมการผังเมือง ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพของทิศทางการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ในเมืองที่เราจะเข้าไปจัดตั้ง โครงการก่อสร้างสำคัญๆ อาทิ เส้นทางรถไฟใต้ดินที่จะพาดผ่านในส่วนต่างๆ ข้อจำกัดการจัดตั้งธุรกิจ/ โรงงานในแต่ละย่าน และความหนาแน่นของประชากรในแต่ละเขตของเมืองนั้นๆ เป็นต้น

สุดท้ายยังมีหน่วยงานภาครัฐของไทยในพื้นที่ ดังนี้

1).สถานกงสุลใหญ่ไทยและศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่นั้นๆ ที่สามารถเป็นตัวกลางนำธุรกิจที่จะเข้ามาจัดตั้งในจีนไปพบกับหน่วยงานจีนในท้องที่ โดยหากเป็นธุรกิจต่างชาติที่มีศักยภาพและอยู่ในสาขาที่ตรงตามนโยบายดึงดูดการลงทุนในพื้นที่นั้นๆ ของจีน ทางการจีนก็จะมีเจ้าหน้าที่รับติดต่อประสานและให้ข้อมูล

2).สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศที่จะช่วยเรื่องการส่งเสริมสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศและการพาณิชย์ตลอดจน การช่วยเหลือดูแลประสานงานกับทั้งภาครัฐบาลและเอกชนจีนทางด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศให้กับนักธุรกิจไทยตามรายการสินค้า การบริการและสาขาการลงทุนที่สนใจ และสำนักงานเศรษฐกิจและการลงทุน (BOI) ที่เป็นฐานข้อมูลธุรกิจจีนที่สนใจลงทุนในไทยด้วย

เมื่อได้ข้อมูลในภาพกว้างที่เป็นประโยชน์แล้ว เป็นความจำเป็นขั้นสูงสุดที่ธุรกิจต้องศึกษากฎหมายและกฏระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งธุรกิจตนในจีนให้เข้าใจถ่องแท้ โดยอาจเลือกใช้บริการจากบริษัทที่ปรึกษากฎหมายเข้ามาช่วยคัดกรองข้อมูลตั้งแต่ขั้นเจรจากับคู่ค้า/ คู่ลงทุน ตลอดจนในขั้นการทำสัญญาต่างๆ ทั้งนี้ หากเป็นบริษัทกฏหมายในพื้นที่จะมีประโยชน์มากในแง่การรู้ทันความเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบและการมีสายสัมพันธ์กับบุคคลในท้องที่

สุดท้ายเป็นข้อสังเกตจากกรณีศึกษาต่างๆ ในจีน พบว่า ธุรกิจต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจในจีนได้อย่างราบรื่นมักวางตัวผู้บริหารเป็นบุคคลที่คุ้นเคยกับขนบปฏิบัติและวิธีคิดของคนจีนเป็นอย่างดี และไม่มีอุปสรรคในการสื่อสารภาษาจีน ซึ่งจะมีส่วนช่วยอย่างมากให้การบริหารงานบุคคล องค์กร และการประสานงานกับฝ่ายคู่ค้า/ คู่ลงทุนจีนคล่องตัวยิ่งขึ้น

รายงานโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ