ในครึ่งแรกของปี 2554 (ม.ค-มิ.ย) เศรษฐกิจกัมพูชาเริ่มมีการฟื้นตัว สถาบันเศรษฐกิจกัมพูชา (The Economic Institute of Cambodia หรือ EIC) ประมาณการว่า เศรษฐกิจของกัมพูชา (Real GDP) ในปี 2554 จะเติบโตที่ร้อยละ 7.0 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การคาดการณ์เป็นจริงคือ มีการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อส่งออก และการกลับมาของนักท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ในครึ่งปีหลัง กัมพูชาประสบปัญหาน้ำท่วม ตั้งแต่เดือนสิงหาคม เป็นต้นมาจนถึงปลายปีใน 19 จังหวัดจาก 20 จังหวัดของประเทศ ทำความเสียหายแก่ระบบชลประทาน คลอง ถนนลูกรัง ทางหลวง ประชาชนจำนวน 1.5 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ประชาชนเสียชีวิตจากน้ำท่วม 250 ราย และนาข้าวเสียหายจำนวน 390,000 เฮกตาร์ ประมาณความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้ คิดเป็นเงิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ธนาคารโลกหรือ World Bank จึงได้ปรับคาดการณ์อัตราเติบโตของกัมพูชาทั้งปี 2554 เหลือร้อยละ 6 (ประกอบด้วยการเติบโตของภาคเกษตร 4.1%, อุตสาหกรรม 9.3% และด้านบริการ 5.7%)
จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาแจ้งว่า ในระยะ 10 เดือนแรกของปี 2554 (ม.ค.-ต.ค.) กัมพูชามีมูลต่าการค้ารวม 9.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แยกเป็นการส่งออก 4.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้า 5.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกในปีนี้เพิ่มจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 44 สินค้าที่ส่งออก ได้แก่
- การส่งออก Garment & Textiles & Shoes มูลค่า 3.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30 โดยส่งออกไปสหรัฐอเมริกา มูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16 และการส่งออกไปสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 75 เนื่องจากมีการผ่อนผันกฎแหล่งกำเนิดสินค้าของสหภาพยุโรปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2011 จึงเป็นปัจจัยช่วยให้การส่งออก เพิ่มขึ้นในปีนี้ นอกจากนี้การส่งออกไปจีนและญี่ปุ่น ก็มีจำนวนเพิ่มเช่นกัน
- การส่งออกสินค้าเกษตร มูลค่า 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกข้าว จำนวน 136,000 ตัน มูลค่า 78.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือการส่งออกยางพาราจำนวน 105,000 ตัน มูลค่า 68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากการส่งออกปี 2553 ทั้งปีซึ่งมีจำนวน 50,000 ตัน มูลค่า 22.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ในปี 2553 กัมพูชาเป็นผู้ส่งออกยางพาราธรรมชาติลำดับที่ 16 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 2.9 ของปริมาณยางพาราที่ผลิตได้ทั่วโลก) ทั้งนี้ กัมพูชามีเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่ปลูกยางพาราจากจำนวน 181,400 เฮกตาร์ในปี 2553 เป็น 300,000 เฮกตาร์เพื่อให้ได้ผลผลิต 290,000 ตัน ในปี 2563
ด้านการนำเข้า กัมพูชานำเข้าจาก 86 ประเทศทั่วโลกมูลค่า 5.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนำเข้าจากจีนมูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือเวียดนามมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯไทยมูลค่า 0.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และฮ่องกง 0.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ
- สินค้าที่กัมพูชานำเข้ามามากที่สุดได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งการนำเข้าในระยะ 10 เดือนแรกมีปริมาณ 1.2 ล้านตัน มูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่มีการนำเข้าในระยะเดียวกันของปีก่อน 724,000 ตัน มูลค่า 485.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือปริมาณเพิ่มร้อยละ 65.74 และมูลค่าเพิ่ม 188.12 ตามลำดับ เพราะเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวในทุกด้านเช่น อุตสาหกรรม, การผลิตสินค้า และภาคการเกษตร หลังจากที่มีการซบเซาตามเศรษฐกิจโลก
๑.๑ มูลค่าการค้ารวม
ระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม ๒๕๕๔ การค้าระหว่างไทย-กัมพูชามีมูลค่าการค้ารวม 2,377.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 11.43 เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีมูลค่ารวม 2,133.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แยกเป็นการส่งออกจากไทยไปกัมพูชา มูลค่า 2,230.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 32 และไทยนำเข้าจากกัมพูชา มูลค่า 147.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.53 โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 2,083.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
๑.๒ การส่งออก
ไทยส่งสินค้าออกไปกัมพูชา มูลค่า 2,230.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 32 สินค้าที่ส่งออกเพิ่ม ได้แก่
- น้ำมันสำเร็จรูป มูลค่า 347.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 47.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดี่ยวกันของปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีมูลค่า 236.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากกัมพูชามีการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง และก่อสร้าง
- เครื่องดื่ม มูลค่า 119.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 28.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีมูลค่า 93.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นการนำเข้าเครื่องดื่มประเภทให้พลังงานชูกำลัง น้ำผลไม้ และแอลกอฮอลล์
- เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว มูลค่า 100.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 58.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีมูลค่า 63.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสินค้าในกลุ่มนี้มีการเติบโตมาโดยตลอดเพราะอิทธิพลความรักสวยงามตามอย่างไทย
- เคมีภัณฑ์ มูลค่า 79.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 21.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓ ที่มีมูลค่า 65.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าได้แก่ ปุ๋ยเคมี และเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า
- ผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า 75.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 27.96 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓ ที่มีมูลค่า 59.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้แก่ ยางรถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์และอะไหล่
- เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและอุปกรณ์ มูลค่า 71.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 36.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีมูลค่า 52.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะการนำเข้าจากไทยทำได้สะดวก
- เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ มูลค่า 70.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 16.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีมูลค่า 60.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะมีการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภค เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ถนน สะพานและการก่อสร้าง เป็นต้น
สินค้าที่ส่งออกลดลงได้แก่
- ปูนซีเมนต์ มูลค่า 85.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 15.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีมูลค่า 101.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะการขนส่งทำได้ลำบาก และไทยเก็บสต็อคเพิ่มเพื่อใช้ในประเทศหลังน้ำลด
- ผ้าผืน มูลค่า 60.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีมูลค่า 64.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
๑.๓ การนำเข้า
ไทยนำเข้าจากกัมพูชา มูลค่า 147.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีมูลค่า 172.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากกัมพูชา ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะ เศษโลหะ และผลิตภัณฑ์ ผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งจากผัก ผลไม้ เสื้อผ้าสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช (มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง พริก และเม็ดมะม่วงหิมพานต์) เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ ซากรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
ในช่วง ม.ค.-ก.ย. ๒๕๕๔ การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา มีมูลค่าการค้ารวม 47,433.1 ล้านบาท เพิ่มร้อยละ 14.3 จากช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓ ที่มีมูลค่า 41,497.5 ล้านบาท แยกเป็นไทยส่งออก 43,607 ล้านบาท และไทยนำเข้า 3,825.4 ล้านบาท โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า มูลค่า 39,782.3 ล้านบาท
สินค้าส่งออกจากไทยที่สำคัญ ได้แก่ น้ำตาลทราย เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบน้ำมันเชื้อเพลิง ยางรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เครื่องสำอาง เครื่องหอมและสบู่ วัสดุก่อสร้าง อาหารสัตว์ เครื่องดื่ม รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อะไหล่รถจักรยานยนต์ ผ้าผืนและด้ายและสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้า เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผัก/ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก (มันสำปะหลัง) อลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เนื้อสัตว์สำหรับบริโภค กาแฟ ชา และเครื่องเทศ
สคต.พนมเปญ
ที่มา: http://www.depthai.go.th