รายงานภาวะการลงทุนในประเทศกัมพูชา (เฉพาะส่วนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน) 1 มกราคม - 31 ตุลาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 16, 2012 12:19 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การลงทุนในกัมพูชานับแต่ปี พ.ศ. 2537 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2554 คณะกรรมการส่งเสริม การลงทุนกัมพูชา (Cambodian Investment Board : CIB) ได้อนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนรวมจำนวน 1,946 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 8,811.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในปี 2554 (ม.ค-ต.ค.) CIB อนุมัติโครงการลงทุนรวม 116 โครงการ เงินลงทุน 341.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 พบว่า อนุมัติเพิ่ม 93 โครงการ หรือเพิ่มร้อยละ 404.4 และเงินลงทุนเพิ่ม 262.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มร้อยละ 334.0 โครงการที่ CIB อนุมัติ ได้แก่

  • อุตสาหกรรม Garment 64 โครงการ เงินลงทุน 109.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ที่ได้รับอนุมัติ 27 โครงการ จำนวนเงินลงทุน 28.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นการลงทุนจากไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา มาเก๊า อังกฤษและกัมพูชา
  • การผลิตยางพารา 12 โครงการ เงินลงทุน 159.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ที่ได้รับอนุมัติ 9 โครงการ จำนวนเงินลงทุน 28.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนักลงทุนเวียดนาม กัมพูชาและออสเตรเลีย
  • อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 5 โครงการ เงินลงทุน 13.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการลงทุนเพื่อธุรกิจพัฒนาศูนย์การท่องเที่ยว ศูนย์การค้า โรงแรมระดับ 5 ดาว และที่พักอาศัย สร้าง Panorama House เพื่อแสดงประวัติศาสตร์กัมพูชา พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในอำเภอบัลลังค์ จังหวัดรัตนคีรี โดยนักลงทุนกัมพูชา จีน เกาหลีเหนือและมาเลเซีย
  • อุตสาหกรรมสิ่งทอ 6 โครงการ เงินลงทุน 8.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนักลงทุนฮ่องกง เกาหลีใต้และจีน
  • อุตสาหกรรมผลิตรองเท้า 6 โครงการ เงินลงทุน 6.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนักลงทุนไต้หวันและกัมพูชา
  • อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง 1 โครงการ เงินลงทุน 10.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนักลงทุนกัมพูชา
  • อุตสาหกรรมน้ำดื่ม 1 โครงการ เงินลงทุน 7.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อกระจายให่แก่ผู้บริโภคในจังหวัดเสียมเรียบโดยนักลงทุนเกาหลีใต้
  • อุตสาหกรรมผลิตเครื่องหนัง 1 โครงการ เงินลงทุน 1.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนักลงทุนไต้หวัน
  • อุตสาหกรรมประกอบเครื่องกล 1 โครงการ เงินลงทุน 1.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการลงทุนประกอบรถจักรยานยนต์ โดยนักลงทุนจีน
  • อุตสาหกรรมเหมืองแร่ 3 โครงการ เงินลงทุน 12.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนักลงทุนจีนและเวียดนาม
  • ธุรกิจโทรคมนาคม 1 โครงการ เงินลงทุน 1.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการร่วมทุนระหว่างกัมพูชา สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย
  • อุตสาหกรรมอื่นๆ 15 โครงการ เงินลงทุน 13.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้แก่ การผลิตกระเป๋า เครื่องดื่ม เครื่องหนัง เหล็ก โรงงาน โรงสี และการบริการ โดยนักลงทุนกัมพูชา จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ อังกฤษและสหรัฐอเมริกา
วิเคราะห์สถานะการลงทุน

(1) มูลค่าเงินลงทุน สูงกว่าระยะเดียวกันของปี 2553 ซึ่งมีจำนวน 78.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 334.0 โดยการลงทุนจากต่างประเทศ มีจำนวน 308.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การลงทุนจากภายในประเทศมีจำนวน 32.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจาก

(1.1) เศรษฐกิจกัมพูชามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

(1.2) ทัศนคติเชิงบวกของนักลงทุนต่อเรื่องนโยบายด้านการเมืองที่ต่อเนื่องยาวนานทำให้มีความมั่นคงซึ่งสร้างความมั่นใจต่อผู้ลงทุนได้มาก

(1.3) การขยายการให้บริการทางการลงทุนไปสู่ระดับจังหวัดสำหรับโครงการที่มีมูลค่าเงินทุนไม่เกิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

(2) การลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ พบว่า นักลงทุนเกาหลีใต้เป็นผู้ได้รับอนุมัติโครงการมากที่สุดจำนวน 24 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.7 ของจำนวนโครงการรวม รองลงมาคือไต้หวันจำนวน 20 โครงการ และจีนกับฮ่องกง ประเทศละ 16 โครงการ ด้านจำนวนเงินลงทุนมากที่สุดคือเวียดนาม 155.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.5 ของมูลค่าเงินลงทุนรวม รองลงไปได้แก่ จีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ในสาขาต่างๆ ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ยางพารา กระเป๋า รองเท้า อาหารและเครื่องดื่ม โรงแรม เครื่องหนัง โรงงานประกอบชิ้นส่วนมอเตอร์ไซค์ เหมืองแร่ โรงสี อุตสาหกรรมการเกษตร โทรคมนาคมและการท่องเที่ยว เป็นต้น

พื้นที่ที่มีการลงทุนมากที่สุดได้แก่ กรุงพนมเปญ รองลงไปคือ จังหวัดรัตนคีรี จังหวัดเสียมเรียบ จังหวัดพระสีหนุ จังหวัดมณฑลคีรี

ในปี 2554 นี้ ไม่มีโครงการลงทุนของนักลงทุนไทยแต่อย่างใด ขณะที่ในปี 2553 มีจำนวน 1 ราย คือ โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า แต่คาดว่าในปี 2554 ปลายปี หรือต้นปี 2555 จะมีโครงการลงทุนของนักลงทุนไทย จำนวน อย่างน้อย 3 ราย เพื่อประกอบกิจการโรงสี จำนวน 2 ราย และ โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า 1 ราย

สคต. ณ กรุงพนมเปญ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ