เศรษฐกิจกัมพูชาในปี 2554 (มกราคม-ตุลาคม)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 16, 2012 13:25 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในครึ่งแรกของปี 2554 (ม.ค-มิ.ย) เศรษฐกิจกัมพูชาเริ่มมีการฟื้นตัว สถาบันเศรษฐกิจกัมพูชา (The Economic Institute of Cambodia หรือ EIC) ประมาณการว่า เศรษฐกิจของกัมพูชา (Real GDP) ในปี 2554 จะเติบโตที่ร้อยละ 7.0 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การคาดการณ์เป็นจริงคือ มีการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ และตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อส่งออก และการกลับมาของนักท่องเที่ยว แต่ในครึ่งปีหลัง กัมพูชาประสบปัญหาน้ำท่วม ตั้งแต่เดือนสิงหาคม เป็นต้นมาจนถึงปลายปีใน 19 จังหวัดจาก 20 จังหวัดของประเทศ ทำความเสียหายแก่ ระบบชลประทาน คลอง ถนนลูกรัง ทางหลวง ประชาชนจำนวน 1.5 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ประชาชนเสียชีวิตจากน้ำท่วม 250 ราย และนาข้าวเสียหายจำนวน 390,000 เฮกตาร์ ประมาณความเสียหายจาก อุทกภัยครั้งนี้ คิดเป็นเงิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯธนาคารโลกหรือ World Bank จึงได้ปรับคาดการณ์อัตราเติบ โตของกัมพูชาทั้งปี 2554 เหลือร้อยละ 6

ด้านอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าและสิ่งทอ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมเช่น การลงทุนของบริษัทสเปน ซึ่งลงทุนทำโรงงานการ์เมนท์รูปแบบใหม่ที่เป็นเครื่องจักรทันสมัยควบคุมการผลิตโดยคอมพิวเตอร์มาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าเพื่อส่งออก

ด้านการลงทุน มีการลงทุนโดยนักลงทุนญี่ปุ่น เช่น บริษัท Sumitomo, Minebea และอื่นๆ ที่เพิ่มความหลากลายให้แก่การผลิตภาคอุตสาหกรรม ด้านการส่งออกมีการส่งออกไปหลายประเทศจากเดิมเคยส่งออกแก่สหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นการหันมาส่งให้กับประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, จีน และประเทศในกลุ่มอาเซียน

เนื่องจากเศรษฐกิจกัมพูชา ขึ้นอยู่กับ 3 เสาหลัก ได้แก่ การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป สิ่งทอและรองเท้า การเกษตร และ การบริการ จึงขอสรุปภาวะของแต่ละส่วนดังนี้

1. เสื้อผ้าสำเร็จรูป สิ่งทอและรองเท้า

ในระยะ 10 เดือนแรกปี 2554 กัมพูชาส่งออก เสื้อผ้าสำเร็จรูป สิ่งทอและรองเท้า รวมมูลค่า 3.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา มูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 16 และการส่งออกไปสหภาพยุโรปเพิ่มร้อยละ 75 เนื่องจากมีการผ่อนผันกฎแหล่งกำเนิดสินค้าของสหภาพยุโรปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นปัจจัยช่วยให้การส่งออก เพิ่มขึ้นในปีนี้ นอกจากนี้การส่งออกไปจีน และญี่ปุ่น ก็มีจำนวนเพิ่มเช่นกัน

2. การเกษตร

กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตร มูลค่า 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกข้าว จำนวน 136,000 ตัน มูลค่า 78.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือการส่งออกยางพาราจำนวน 105,000 ตัน มูลค่า 68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

2.1 ข้าว

กระทรวงการเกษตร ป่าไม้ และประมงกัมพูชา รายงานผลผลิตข้าวปี 2553/2554 ว่ามีปริมาณ 8.2 ล้านตัน เพิ่มจากปี 2552/2553 ร้อยละ 8.7 จากการขยายพื้นที่การผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ผลผลิต ข้าวเปลือก 2.76 เมตริกตัน/เฮกตาร์ เพิ่มร้อยละ 5.3 ส่วนการผลิตข้าวนาปรังมีพื้นที่เพาะปลูก 405,000 เฮกตาร์ ได้ผลผลิต 2.8 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ย 2.97 เมตริกตัน/เฮกตาร์ เพิ่มร้อยละ 4.7

การเพาะปลูกและผลผลิตข้าว

          รายการ                        2006/07    2007/08    2008/09  2009/10    2010/11
          พื้นที่เก็บเกี่ยวรวม (พันเฮกตาร์)        2,541      2,548      2,616    2,719      2,796
          นาปรัง                             329        343        361      385        405
          นาปี                             2,212      2,241      2,255    2,334      2,391
          การผลิต (พันตัน)                   6,264      6,713      7,175    7,586      8,249
          นาปรัง                           1,290      1,354      1,453    1,584      1,701
          นาปี                             4,974      5,359      5,722    6,001      6,549
          ผลผลิต (ตัน/เฮกตาร์)                2.47       2.60       2.74     2.79       2.95
          นาปรัง                            3.92       3.95       4.03     4.12       4.20
          นาปี                              2.25       2.39       2.54     2.57       2.74

ที่มา : สถาบันเศรษฐกิจกัมพูชา และการะทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง

ด้านการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์การเกษตรและปุ๋ย กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังรายงานว่า กัมพูชานำเข้าปุ๋ยในปี 2553 ปริมาณ 283,000 เมตริกตัน คิดเป็นมูลค่า 63.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 1.7 และในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2554 ปริมาณนำเข้า 88,000 เมตริกตัน มูลค่า 19.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 22.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ใน 10 เดือนแรกของปี 2554 กัมพูชาส่งออกข้าว 136,000 ตัน เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออก 9,300 ตัน ร้อยละ 1,362 โดยมีมูลค่า 26.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 78.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 199 โดยคาดว่าทั้งปี 2554 จะส่งออกได้จำนวน 200,000 ตัน

2.2 ยางพารา

ในปี 2553 ผลผลิตยางพาราเพิ่มร้อยละ 9.7 เนื่องจากราคาดีและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก จึงมีการขยายพื้นที่ปลูกอีก 38,000 เฮกตาร์ หรือพื้นที่ปลูกเพิ่มร้อยละ 12.5 จากปีที่ผ่านมา ในปี 2554 มีการขยายพื้นที่ปลูกยางพารารวมเป็น 181,400 เฮกตาร์ และตั้งเป้าหมายที่จะปลูกเพิ่มอีกให้ครบ 300,000 เฮกตาร์ ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลผลิตจำนวน 290,000 ตัน ภายในปี 2563

ใน 10 เดือนแรกของปี 2554 มีการส่งออกยางพาราจำนวน 105,000 ตัน มูลค่า 68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากการส่งออกปี 2553 ทั้งปีซึ่งมีจำนวน 50,000 ตัน มูลค่า 22.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ในปี 2553 กัมพูชาเป็นผู้ส่งออกยางพาราธรรมชาติลำดับที่ 16 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 2.9 ของปริมาณยางพาราที่ผลิตได้ทั่วโลก)

3. การบริการ

ในปี 2010 ภาคธุรกิจบริการเติบโตร้อยละ 4.2 จากการเติบโตของ 3 อุตสาหกรรมหลัก คือ โรงแรมและร้านอาหาร การค้า การคมนาคมและโทรคมนาคม รวมถึงการเติบโตของภาคธุรกิจการเงิน

ในปี 2011 สถาบันพัฒนาเศรษฐกิจกัมพูชาคาดการณ์ว่า ภาคธุรกิจบริการจะเติบโตที่ร้อยละ 6.9 และร้อยละ 6.5 ตามลำดับ จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว การเติบโตของภาคธุรกิจการเงินและอสังหาริมทรัพย์

แนวโน้มการเติบโตของภาคธุรกิจบริการ

          รายการ                     2007      2008    2009     2010e   2011e   2012e
          คมนาคมและโทรคมนาคม         7.2%      7.1%    3.9%      8.0%    9.1%    7.9%
          การค้า                      9.5%      9.4%    4.2%      7.1%    6.1%    7.1%
          โรงแรมและร้านอาหาร         10.3%      9.8%    1.8%     11.2%   11.6%   11.2%
          การเงิน                    22.2%     19.3%    8.0%     12.7%   18.1%   12.7%
          การบริหารจัดการ              0.1%      4.5%    1.0%     11.5%    3.6%    2.9%
          อสังหาริมทรัพย์และธุรกิจ        10.8%      5.0%   -2.5%     -9.9%    1.3%    1.6%
          ธุรกิจอื่นๆ                   12.1%     12.0%    2.9%      3.9%    5.6%    4.9%

ที่มา _สำนักสถิติแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจกัมพูชา

3.1 การท่องเที่ยวในระยะ 9 เดือนแรกของปี 2011 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในกัมพูชาจำนวน 2.08 ล้านคน เพิ่มจากระยะเดียวกับปีก่อนร้อยละ 15.6 โดยนักท่องเที่ยวที่มากที่สุด คือ เวียดนาม คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 22.2 ของจำนวนนักท่องเที่ยวรวม รองลงมาคือเกาหลีร้อยละ 11.9 จีนร้อยละ 8.5 ญี่ปุ่นร้อยละ 5.7 โดยไทยมีจำนวน 111,411 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.9

3.2 โรงแรมและร้านอาหาร

ในปี 2011 ภาคธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารเติบโตจากการกลับคืนมาของนักท่องเที่ยว และจากสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวแสดงตัวเลขของการเข้าพักของนักท่องเที่ยวเพิ่มร้อยละ60 ขณะที่จำนวนห้องพักโรงแรมและเกสต์เฮาส์เพิ่มร้อยละ 6 และการให้สินเชื่อเกี่ยวกับโรงแรมและร้านอาหารมีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน

4. สถานการณ์ด้านการค้า

จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาแจ้งว่า ในระยะ 10 เดือนแรกของปี 2554 (ม.ค.-ต.ค.) กัมพูชามีมูลค่าการค้ารวม 9.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แยกเป็นการส่งออก 4.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้า 5.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกในปีนี้เพิ่มจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 44

กัมพูชานำเข้าจาก 86 ประเทศทั่วโลกมูลค่า 5.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนำเข้าจากจีนมูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือเวียดนามมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯไทยมูลค่า 0.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และฮ่องกง 0.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ

สินค้าที่กัมพูชานำเข้ามามากที่สุดได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งการนำเข้าในระยะ 10 เดือนแรกมีปริมาณ 1.2 ล้านตัน มูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่มีการนำเข้าในระยะเดียวกันของปีก่อน 724,000 ตัน มูลค่า 485.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือปริมาณเพิ่มร้อยละ 65.74 และมูลค่าเพิ่ม 188.12 ตามลำดับ เพราะเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวในทุกด้านเช่น อุตสาหกรรม, การผลิตสินค้า และภาคการเกษตร หลังจากที่มีการซบเซาตามเศรษฐกิจโลก

การค้าไทย-กัมพูชา

ในระยะ 10 เดือนแรกของปี 2554 (มกราคม-ตุลาคม) การค้าระหว่างไทย-กัมพูชามีมูลค่ารวม 2,377 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 11.43 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่ารวม 2 ,133 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แยกเป็นการส่งออกจากไทยไปกัมพูชา มูลค่า 2,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 13.7 และไทยนำเข้าจากกัมพูชา มูลค่า 147 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ14.53 โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 2,083 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

5. สถานการณ์ด้านการลงทุน

การลงทุนในกัมพูชานับแต่ปี พ.ศ. 2537 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 255 4 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กัมพูชา (Cambodian Investment Board : CIB) ได้อนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนรวมจำนวน 1,946 โครงการคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 8,811.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในปี 2554 (ม.ค-ต.ค.) CIB อนุมัติโครงการลงทุนรวม 116 โครงการ เงินลงทุน 341.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 พบว่า อนุมัติเพิ่ม 93 โครงการ หรือเพิ่มร้อยละ 404.4 และเงินลงทุนเพิ่ม 262.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มร้อยละ 334.0

5.1 วิเคราะห์สถานะการลงทุน

(1) มูลค่าเงินลงทุน สูงกว่าระยะเดียวกันของปี 2553 ซึ่งมีจำนวน 78.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 334.0 โดยการลงทุนจากต่างประเทศ มีจำนวน 308.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การลงทุนจากภายในประเทศมีจำนวน 32.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจาก

(1.1) เศรษฐกิจกัมพูชามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

(1.2) ทัศนคติเชิงบวกของนักลงทุนต่อเรื่องนโยบายด้านการเมืองที่ต่อเนื่องยาวนานทำให้มีความมั่นคงซึ่งสร้างความมั่นใจต่อผู้ลงทุนได้มาก

(1.3) การขยายการให้บริการทางการลงทุนไปสู่ระดับจังหวัดสำหรับโครงการที่มีมูลค่าเงินทุนไม่เกิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

(2) การลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ พบว่า นักลงทุนเกาหลีใต้เป็นผู้ได้รับอนุมัติโครงการมากที่สุดจำนวน 24 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.7 ของจำนวนโครงการรวม รองลงมาคือไต้หวันจำนวน 20 โครงการ และจีนกับฮ่องกง ประเทศละ 16 โครงการ ด้านจำนวนเงินลงทุนมากที่สุดคือเวียดนาม 155.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.5 ของมูลค่าเงินลงทุนรวม รองลงไปได้แก่ จีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ในสาขาต่างๆ ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ยางพารา กระเป๋า รองเท้า อาหารและเครื่องดื่ม โรงแรม เครื่องหนัง โรงงานประกอบชิ้นส่วนมอเตอร์ไซค์ เหมืองแร่ โรงสี อุตสาหกรรมการเกษตร โทรคมนาคมและการท่องเที่ยว เป็นต้น

พื้นที่ที่มีการลงทุนมากที่สุดได้แก่ กรุงพนมเปญ รองลงไปคือ จังหวัดรัตนคีรี จังหวัดเสียมเรียบ จังหวัดพระสีหนุ และ จังหวัดมณฑลคีรี

ในปี 2554 นี้ ไม่มีโครงการลงทุนของนักลงทุนไทยแต่อย่างใด ขณะที่ในปี 2553 มีจำนวน 1 ราย คือ โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า แต่คาดว่าภายในปลายปี 2554 หรือต้นปี 2555 จะมีโครงการลงทุนของนักลงทุนไทย จำนวน อย่างน้อย 3 ราย เพื่อประกอบกิจการโรงสี จำนวน 2 ราย และ โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า 1 ราย

สคต. กรุงพนมเปญ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ