GCC ให้เงินสนับสนุนจอร์แดน และโมรอคโค ในการเดินหน้าเข้าสู่การเป็นประเทศสมาชิก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 16, 2012 13:41 —กรมส่งเสริมการส่งออก

นายศิวะลักษณ์ นาคาบดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19-20 ธันวาคม 2554 กลุ่มประเทศ GCC (the Cooperation Council for the Arab States of the Gulf) ได้จัดการประชุมสุดยอดผู้นำฯ ครั้งที่ 32 (GCC Summit) ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งในการประชุมดังกล่าวได้มีการหารือในหลายประเด็น ในส่วนของการออกมาตรการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนประเทศจอร์แดน และโมรอคโค เข้าเป็นสมาชิกใหม่ กลุ่ม GCC มีมติดังนี้

1. เห็นชอบให้มีการศึกษาเพิ่มเติมในด้านต่างๆ ที่ประเทศจอร์แดนและโมรอคโค มีความประสงค์ที่จะร่วมมือ (Joint cooperation) กับ GCC รวมไปถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะด้าน (Specialized cooperation committees) เพื่อสนับสนุนการดำเนินการอีกด้วย

2. ให้เงินช่วยเหลือประเทศจอร์แดน และโมรอคโค ประเทศละ 2.50 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ โดยใช้แหล่งเงินจาก GCC Fund for Development ที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่

แม้ว่าที่ประชุมฯ ยังไม่มีการแถลงถึงกรอบเวลาที่แน่นอน ในการรับประเทศทั้งสองเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของ GCC อย่างเป็นทางการ แต่มติของ GCC ข้างต้น ก็แสดงถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะรับทั้งสองประเทศเข้าเป็นสมาชิกใหม่ ในขณะเดียวกันก็ยังสะท้อนให้เห็นว่า GCC ดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง

GCC ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2524 (1981) ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศในคาบสมุทรอาหรับ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน คูเวต โอมาน และกาตาร์ ส่วนประเทศเยเมน สมัครเข้าเป็นเป็นสมาชิก GCC ตั้งแต่ปี 2539 แต่ได้รับความเห็นชอบจากการประชุมสุดยอดของกลุ่มสมาชิกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2544 ที่กรุงมัสกัต ประเทศโอมาน มีมติให้เยเมนเป็นสมาชิกสมทบ

การเพิ่มประเทศสมาชิกจะทำให้ GCC มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจากเดิม 45 ล้านคน เป็น 82.9 ล้านคน (ตัวเลขปี 2553) ขนาดของเศรษฐกิจ (Nominal GDP) ขยายตัวขึ้นร้อยละ 12.2 จากเดิม 1,075.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 1,206.70 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ตัวเลขปี 2553) ในภาพรวม GCC ใหม่ น่าจะส่งผลในด้านบวกต่อการค้าการส่งออกของไทยไปประเทศในกลุ่มนี้ จากระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่พัฒนาขึ้น ระบบภาษีที่มีเอกภาพมากขึ้น ขั้นตอน ระเบียบการนำเข้า ฉลาก/มาตรฐานของสินค้า ที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ สินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยสามารถที่จะเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศสมาชิกในกลุ่มได้อย่างเสรี ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยมีภาระค่าใช้จ่ายในการส่งออกไปประเทศในกลุ่ม GCC ลดลง สุดท้ายแล้วศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทยในกลุ่มประเทศ GCC จึงน่าที่จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

นายศิวะลักษณ์ นาคาบดี ได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปี 2553 ประเทศไทยและกลุ่ม GCC มีมูลค่าการค้า ระหว่างกัน 25,724 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ร้อยละ 6.59 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย) จำแนกเป็นการนำเข้า 19,524 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่งออก 6,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่ไทยนำเข้าเกินกว่าร้อยละ 80 คือ น้ำมัน และแก็สธรรมชาติ สินค้าที่ไทยส่งออกไป GCC ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ตามลำดับ

สถิติล่าสุดในปี 2554 (มค.- พย.) ไทยและ GCC มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 30,828 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ร้อยละ 7.32 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย) จำแนกเป็นการนำเข้า 24,917 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่งออก 5,911 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ประเทศสมาชิก GCC ที่ไทยส่งสินค้าออกไปมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (2,575 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซาอุดีอาระเบีย (2,074 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โอมาน (546 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) คูเวต (314 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) กาตาร์ (268 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และบาห์เรน (134 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

สินค้าที่ GCC นำเข้าจากไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ในปี 2554 (มค.- พย.) ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน เครื่องประดับอัญมณี และสินค้าเครื่องจักรและชิ้นส่วน ทั้งนี้ ประเทศไทยส่งออกไปจอร์แดน และโมรอคโค ทั้งสิ้น 161 และ 151 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ