รายงานตลาดข้าวในออสเตรเลีย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 16, 2012 13:59 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาพรวม

ออสเตรเลียเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก รวมทั้งข้าว โดยมีการผลิตในประเทศ ส่งออก และนำเข้าด้วยเช่นกัน โดยประเทศไทยเป็นแหล่งนำเข้าข้าวอันดับหนึ่ง มาโดยตลอด

2. นโยบายข้าว

ออสเตรเลีย เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก รวมทั้งข้าว โดยมีการผลิตในประเทศและส่งออก ในขณะที่มีการนำเข้าเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ ออสเตรเลียนำพันธุ์ข้าวจากหลายประเทศมาพัฒนาและขยายพันธุ์เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศได้ รวมไปถึงข้าวหอมมะลิของไทย และข้าวบาสมาติของอินเดีย แต่ปัจจุบันมุ่งเน้นการปลูกข้าวขาวประเภทข้าวขาวเมล็ดกลางแทบทั้งหมด โดยจะเรียกว่าเป็นข้าวขาวเมล็ดยาว (Long grain white rice) แต่จะมีลักษณะสั้น ป้อม เมื่อหุงแล้วนุ่มกว่าข้าวเมล็ดยาวของไทย และเป็นคู่แข่งสำคัญสำหรับข้าวขาวของไทย ในขณะที่สำหรับข้าวหอมมะลิแทบจะไม่มีการปลูกและหันมาพึ่งการนำเข้าจากไทย ออสเตรเลียเริ่มปลูกข้าวได้ในปี 1914 แม้ว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวแห่งใหม่ แต่ออสเตรเลียก็เป็นประเทศที่มีผลผลิตต่อพื้นที่สูงที่สุดในโลก (เฉลี่ย 9 ตัน/เฮกเตอร์) และมีการใช้น้ำในการเพาะปลูกน้อยที่สุดในโลก ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาโดย สมาคมผู้ปลูกข้าว (Rice Grower Association) ปีละประมาณ 18 ล้านเหรียญออสเตรเลีย และจากหน่วยงานวิจัยและพัฒนาชนบทรัฐบาลออเตรเลีย (The Rural Industries Research and Development, the Australian Government) ปีละ 500,000 เหรียญออสเตรเลียเป็นระยะเวลา 7 ปี ในระยะยาว รัฐบาลกลางและ The Department of Primary Industries ของออสเตรเลียมีแผนที่ทดลองปลูกข้าวในพื้นที่แห้ง (dry land rice) และพัฒนาชายฝั่งทางตอนเหนือให้เป็นเขตเพาะปลูกข้าวแห่งใหม่ เพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศและการส่งออกในอนาคต

3. หน่วยงานรับผิดชอบในอุตสาหกรรมข้าวออสเตรเลีย

ในอุตสาหกรรมข้าวออสเตรเลียนั้นประกอบไปด้วยหน่วยงานที่แบ่งหน้าที่รับผิดชอบต่างๆ ได้แก่

  • Rice Marketing Board for the State of NSW เป็นผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตซื้อขายภายในประเทศ และใบอนุญาตส่งออกแต่เพียงผู้เดียว (www.rmbnsw.org.au)
  • Ricegrowers’s Limited (SunRice) เป็นผู้ผลิต และทำตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ (www.sunrice.com.au)
  • Ricegrowers’ Association of Australia เป็นตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว พัฒนานโยบายและกลยุทธ์ และสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือและสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการพัฒนา ผู้ปลูกข้าวและการวิจัยข้าว (www.rga.org.au)
  • Rice Industry Coordination Committee เป็นผู้ประสานงานนโยบายโดยรวมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมข้าวออสเตรเลีย (www.rga.org.au)
4. การผลิตภายในประเทศของออสเตรเลีย

ข้าวในออสเตรเลียกว่าร้อยละ 90 ปลูกในพื้นที่ที่เรียกว่า The Murrumbidgee Irrigation Area ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1912 โดยส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าวขาว และมีการปลูกข้าวหอมมะลิน้อยมากประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น ออสเตรเลียมีกำลังผลิตข้าวโดยเฉลี่ย 1.3 ล้านตันต่อปี จากพื้นที่ปลูกข้าว 152,000 เฮคเตอร์ แต่เนื่องจากประสบปัญหาภาวะแห้งแล้งต่อเนื่อง ทำให้การผลิตข้าวลดลง โดยในปี 2551 ผลิตได้เพียง 19,000 ซึ่งน้อยที่สุดในรอบ 80 ปี ในปี 2553 ออสเตรเลียผลิตข้าวทั้งสิ้น 197,000 ตัน โดยเป็นการผลิตในรัฐนิวเซาท์เวลส์ประมาณร้อยละ 99 หรือ 195,000 ตัน โดยคิดเป็นอัตราการเติบโตของการผลิตเมื่อเทียบกับปี 2552 และ 2551 ถึงร้อยละ 322 และ 1,094 ตามลำดับ เนื่องมาจากการอุตสาหกรรมข้าวเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาภาวะความแห้งแล้งระหว่างปี 2547-2551 ทั้งนี้ ออสเตรเลียส่งออกข้าวประมาณร้อยละ 85 ของปริมาณข้าวที่ผลิตในประเทศต่อปี

5. การนำเข้าและการส่งออก

5.1 การนำเข้า

ออสเตรเลียนำเข้าข้าวทุกประเภทรวมทั้งสิ้นในปี 2553 ประมาณ 192,705 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 177.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นข้าวที่สีแล้วและข้าวหัก การนำเข้าจากไทยในปี 2554 คิดเป็นจำนวนประมาณ 121,306 ตัน เป็นมูลค่าประมาณ 104.68 ล้านเหรียญฯ โดยไทยสามารถครองตลาดข้าวนำเข้าได้ร้อยละ 63 โดยปริมาณ (หรือร้อยละ59 โดยมูลค่า) แหล่งนำเข้าอื่นๆ เช่น ปากีสถาน สหรัฐฯ อินเดีย เวียดนาม ตามลำดับ

สำหรับในปีช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 ออสเตรเลียนำเข้าข้าวทั้งสิ้น 129,952 ตัน มูลค่า 130.38 ล้านเหรียญฯ โดยเป็นการนำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง ปริมาณ 79,920 ตัน มูลค่า 72.02 ล้านเหรียญฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 61.50 โดยปริมาณ (หรือร้อยละ 55 โดยมูลค่า)

ประเภทข้าวที่นำเข้าจากไทย ส่วนใหญ่นำเข้าในลักษณะเป็นข้าวสาร โดยเป็นประเภทข้าว หอมมะลิ นอกนั้นเป็นข้าวหัก สำหรับข้าวเปลือกแทบจะไม่มีการนำเข้าเพราะกฎระเบียบนำเข้า ออสเตรเลียห้ามนำเข้าเมล็ดพันธุ์ สำหรับข้าวขาวมีการนำเข้าบ้างโดยคู่แข่งสำคัญของข้าวไทยประเภท ข้าวขาว คือ ข้าวขาวที่ปลูกในออสเตรเลีย

5.2 การส่งออก

ออสเตรเลียส่งออกข้าวรวมทั้งสิ้นในปี 2553 ประมาณ 55,902 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 56.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แหล่งส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ Wallis & Futuna Island, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์ และมาเลเซีย ตามลำดับ

สำหรับในปีช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 ออสเตรเลียส่งออกข้าวทั้งสิ้น 249,801 ตัน มูลค่า 219.03 ล้านเหรียญฯ โดยเป็นการส่งออกไปยังประเทศไม่สามารถระบุนามถึง 218.54 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.78 ตามด้วยประเทศ นิวคาลิโดเนีย นิวซีแลนด์ สเปน และสิงคโปร์ตามลำดับ ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของการส่งออกข้าวของออสเตรเลียในปี 2554 เทียบกับปี 2553 สูงถึงร้อยละ 409.89อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณข้าวที่ผลิตในประเทศนั่นเอง

6. การบริโภคข้าวภายในออสเตรเลีย

6.1 ปริมาณ

ความต้องการของตลาดข้าวยังมีอยู่สูง โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้บริโภคชาวเอเชียที่โยกย้ายถิ่นอาศัย (Immigrants) มายังออสเตรเลียซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับ สำหรับการบริโภคข้าวโดยผู้บริโภคชาวออสเตรเลียโดยทั่วไปก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจะเห็นได้จากสถิติการบริโภคข้าวโดยเฉลี่ยในปี 2548/2549 เคยอยู่ในอัตรา 7.1 กก/ต่อคน/ต่อปี ปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นเป็น 10 กก/ต่อคน/ต่อปี เฉลี่ยประมาณ 220,000 ตัน แบ่งเป็นตลาดผู้บริโภค 60% Food Service Sector 40%

นอกจากนั้น ความนิยมอาหารไทยและความสำเร็จของกิจการร้านอาหารไทยเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการขยายตัวของความต้องการข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิซึ่งร้านอาหารไทยแทบทั้งหมดใช้ข้าวหอมมะลิของไทยเท่านั้น แนวโน้มความต้องการข้าวหอมมะลิจากไทยคาดว่าจะขยายตัวต่อไปพร้อมๆกับการขยายตัวของร้านอาหารไทยและผู้บริโภคที่นิยมอาหารไทย

6.2 ประเภทข้าวและความนิยม

1. ชนิดข้าว

โดยปกติข้าวไม่ได้เป็นอาหารหลักของชาวออสเตรเลีย แต่ด้วยปัจจัยเรื่องการอพยพย้ายถิ่น ของประชาชนจากประเทศที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ประกอบกับความนิยมในร้านอาหารเอเชีย เช่น ไทย จีน อินเดีย ทำให้ชาวออสเตรเลียเริ่มคุ้นเคยกับการบริโภคข้าว

ข้าวที่บริโภคทั่วไปในประเทศ มีทั้งข้าวเมล็ดกลาง ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวออสเตรเลียเชื้อสาย คอเคเซียน ข้าวหอมมะลิและข้าวขาวซึ่งความต้องการส่วนใหญ่มาจากร้านอาหารไทย ร้านอาหารเอเชีย และกลุ่มผู้บริโภคชาวเอเซีย (เช่น จีน เวียตนาม ฯลฯ) ข้าวบาสมาติเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้อพยพหรือผู้มีเชื้อสายจากอินเดีย ปากีสถาน และตะวันออกกลาง ข้าวนึ่งสำหรับผู้บริโภคจากแอฟริกา และตะวัน-ออกกลางบางประเทศ และข้าวเหนียว สำหรับกลุ่มร้านอาหารเอเชียและจีน

สำหรับข้าวกล้อง เริ่มเป็นที่รู้จักและนิยมในหมู่ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ แต่เนื่องจากปัญหาด้านมาตรการสุขอนามัยทำให้การนำเข้าข้าวกล้องเป็นเรื่องยุ่งยาก ข้าวกล้องที่มีจำหน่ายในตลาดจึงเป็นข้าวในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และมีความหลากหลายของสินค้าน้อยมาก

2. ลักษณะการบรรจุ (Packaging) ตลาดคอเคเชียน นิยมข้าวบรรจุถุงขนาด 1-2 กิโลกรัม/5 กิโลกรัม เนื่องจากไม่ได้รับประทานเป็นอาหารประจำ ส่วนตลาดเอเชียจะนิยมขนาด 10/20/25 กิโลกรัม ทั้งนี้ สำหรับขนาด 20/25 กิโลกรัม ส่วนใหญ่จะจำหน่ายในร้าน Asian Grocery

นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่เป็นข้าวสำเร็จรูปพร้อมรับประทานบรรจุใน Retort pouch หรือในกล่องพลาสติกขนาดรับประทานประมาณ 1-2 serve ซึ่งสามารถเก็บในอุณหภูมิปกติ (ไม่ต้องแช่แข็ง) และสามารถเตรียมการรับประทานโดยใช้ไมโครเวฟเพียง 1นาที ครึ่ง-2 นาทีเท่านั้น มีทั้งในรูปของ ข้าวขาวธรรมดา ข้าวปรุงรส และข้าวผัด รวมถึงข้าวสำเร็จรูปแช่แข็ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นนิยมอย่างมากสำหรับกลุ่มผู้บริโภคชาวคอเคเชียนที่ไม่ต้องการยุ่งยากกับการหุงข้าว

7. การค้าข้าว

7.1 ช่องทางการจัดจำหน่าย

อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่ซุปเปอร์มาร์เกตรายใหญ่จะหันมานำเข้าเองโดยตรงภายใต้ Private Brand กันมากขึ้น ผู้ค้าข้าวรายใหญ่ในออสเตรเลียได้แก่ SunRice ซึ่งเป็นผู้ทำการตลาดให้กับสหกรณ์ ผู้ผลิตข้าวของออสเตรเลีย (Ricegrowers’ Association of Australia Inc.) ในลักษณะกึ่งผูกขาด เป็นผู้มีอิทธิพลมากในการจำหน่ายในตลาดออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิค ภายใต้ยี่ห้อ SunRice and Sunlong โดยข้าวที่จำหน่ายและเป็นข้าวออสเตรเลียส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว ข้าวกล้อง ส่วนข้าวหอมมะลิ และข้าวขาวเมล็ดยาว รวมทั้งข้าวหุงสำเร็จในรูป Retort Pouch บริษัท SunRice นำเข้าจากไทยภายใต้แบรนด์ของบริษัทฯ

7.2 ราคาขายปลีกและขายส่งประจำวันที่ 5 มกราคม 2555

8. กฎระเบียบการนำเข้าข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าว

8.1 เงื่อนไขการนำเข้าข้าวเพื่อการค้า มีดังนี้

1. ไม่ต้องขอใบอนุญาตนำเข้า

2. สินค้าต้องปลอดจากดิน แมลงมีชีวิต โรค (disease symptoms) เมล็ดพืช และสิ่งปนเปื้อนต่างๆ

3. หากมีเมล็ดพืชอื่นๆเจือปนจะต้องไม่เกินค่าที่กำหนดไว้ (เอกสารแนบ)

4. สินค้าทุกชนิดต้องผ่านการตรวจสอบเมื่อถึงออสเตรเลีย ก่อนนำออกสู่ตลาด

8.2 ระบวนการตรวจสอบและกักกัน (Quarantine Procedure)

1. สินค้าจะถูกสุ่มตรวจปริมาณข้าวเปลือก (paddy grain) ตามมาตรฐาน I.S.T.A. (International Seed Testing Assosiation) สินค้าที่มีขนาดมากกว่า 25 กิโลกรัมอาจถูกตรวจสอบได้ โดยจะสุ่มตรวจ 2 กิโลกรัม โดยจะต้องไม่มีข้าวเปลือกเกิน 5 เมล็ด/กิโลกรัม หรือ 10 เมล็ด/2 กิโลกรัม หากสุ่มตรวจพบเกินกว่าจำนวนที่กำหนด สินค้าจะถูกกักไว้เพื่อปรับเกรดหรือทำความสะอาด (re-graded หรือ cleaned) ณ สถานที่ที่ได้รับการรับรองจาก AQIS หรือทำการ devitalisation โดยวิธีการ moist heat หรือ re-export หรือ ทำลายสินค้า โดยผู้นำเข้าเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย และหากเป็นวิธีการ regraded จะต้องถูกสุ่มตรวจอีกครั้งหนึ่ง

2. สินค้าจะถูกสุ่มตรวจการปนเปื้อนของเมล็ดพืชต่างๆ โดยปริมาณการสุ่มตรวจขึ้นกับดุลยพินิจของ AQIS ซึ่งขึ้นกับความสะอาดของแต่ละชิปเมนต์ หากสงสัยว่าจะมีการปนเปื้อนของเมล็ดพืชหรือดิน สินค้าจะถูกสุ่มตรวจตามมาตรฐานของ I.S.T.A. และนำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติ-การ โดยสินค้าจะถูกกักกันจนกว่าจะทราบผล และหากสิ่งปนเปื้อนเกินกว่าค่าที่กำหนด ผู้นำ-เข้าสามารถเลือกที่จะ re-export หรือ ปรับเกรดหรือทำความสะอาด (re-graded/cleaned) ณ สถานที่ที่ได้รับการรับรองจาก AQIS เพื่อให้ค่าการปนเปื้อนอยู่ในช่วงที่สามารถยอมรับได้ หลังจากนั้นจะถูกสุ่มตรวจอีกครั้ง และหากผลวิเคราะห์ปรากฏว่าค่าการปนเปื้อนอยู่ในช่วงที่ยอมรับได้ สินค้าก็จะได้รับการปล่อย อนึ่ง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาด การปรับเกรดหรือการทำลายสินค้าของออสเตรเลียมีมูลค่าสูง ดังนั้นผู้นำเข้าส่วนใหญ่นิยมเจรจาให้ผู้ ส่งออกไทยรับคืนสินค้า (re-export) ไปแทน

8.3 การขนส่งโดยคอนเทนเนอร์ชนิดตู้เต็ม (Full Container Loads)

  • หากบรรจุภัณท์ เป็นไม้จะต้องผ่านการตรวจและ treatment ยกเว้นหากมีการรับรองว่าได้รับการ treatment ตามวิธีของ AQIS
  • จะต้องมีใบรับรอง Phytosanitary Certificate และใบรับรองความสะอาด และใบรับรอง Fumigation Certificate สำหรับตู้เปล่าจาก Accredited Fumigator ซึ่งผู้ส่งออกไทยสามารถขอรายชื่อได้จากกรมวิชาการเกษตรไทย
  • หากตู้คอนเทนเนอร์ถูกต้องตามระเบียบที่กำหนดจะถูกส่งตรวจตามข้อ 5-6 โดยสินค้าที่เป็น Bulk Rice จะมีวิธีการตรวจสอบที่ยุ่งยากกว่า Bagged Rice
  • หากตู้คอนเทนเนอร์ไม่ถูกต้องตามระเบียบที่กำหนดจะถูก unpack และตรวจสอบทั้งหมด
  • นอกจากนี้ สินค้าตู้เต็มจะต้องมี Packer’s Declaration ว่าตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้บรรจุนั้นสะอาด และปราศจากสิ่งปลอมปนจากพืช สัตว์และดิน
  • ต้องแสดง Official International Phytosanitary Certificate สำหรับสินค้าเกษตรทันที ก่อนที่จะมีการโหลดสินค้า

ทั้งนี้ ก่อนส่งออกผู้ประกอบการไทยควรศึกษากฎระเบียบนำเข้าเพื่อความแน่ชัดอีกครั้ง เนื่องจาก AQIS มีการปรับเปลี่ยนระเบียบเป็นระยะ (www.daff.gov.au/aqis)

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ