ความสำคัญของงานแสดงสินค้า Baselworld และ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 16, 2012 14:45 —กรมส่งเสริมการส่งออก

งาน Baselworld

งานแสดงสินค้า Baselworld เป็นงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับนาฬิกา อัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในโลก ผู้จัดงานโดย Schweizer Mustemesse Basel (เป็นองค์กรบริหารแบบเอกชน แต่มีเครือข่ายสนับสนุนจากภาครัฐ) นับเป็นงานที่ผู้อยู่ในวงการนาฬิกาอัญมณีและเครื่องประดับจะพลาดไม่ได้ งานนี้จัดขึ้นในช่วงมีนาคม ของทุกปี ที่เมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปีนี้ จะจัดระหว่างวันที่ 8 -15 มีนาคม 2555

งานนี้จัดครั้งแรกเมื่อปี 2460 และเริ่มให้มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าจากต่างประเทศนอกยุโรปครั้งแรกเมื่อปี 2529 แต่เปิดอาคารแสดงสินค้าใหม่ (Hall 6) ให้ผู้ร่วมแสดงสินค้าจากเอเชียหรือต่างประเทศอื่นในปี 2547 และเดิมใช้ชื่องานว่า Basel เพิ่งจะเปลี่ยนชื่อเป็นงาน Baselworld เมื่อปี 2546

งาน Baselworld มีพื้นที่แสดงสินค้ากว่า 160,000 ตารางเมตร โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณมากกว่า 1,892 รายจาก 45 ประเทศทั่วโลก โดยทั่วไปมีผู้เข้าร่วมงานในยุโรป 1,206 ราย คิดเป็นร้อยละ 63.7 ของผู้ร่วมแสดงสินค้าทั้งหมด (กลุ่มใหญ่ได้แก่ สวิสมากกว่า 450 ราย เยอรมันมากกว่า 150 ราย ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ฯ) จากเอเชีย 522

ราย คิดเป็นร้อยละ 27.6 ของผู้ร่วมแสดงสินค้าทั้งหมด (ฮ่องกงประมาณ 280 ราย ไทย 50 ราย จีน อินเดีย ฯ) จากอเมริกาเหนือ 85 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.5 ของผู้ร่วมแสดงสินค้าทั้งหมด และอื่นๆ 79 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.2 ของผู้ร่วมแสดงสินค้าทั้งหมด

ประเภทสินค้าที่จัดแสดง แบ่งเป็นนาฬิกา 627 ราย เครื่องประดับ 736 ราย และสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ เช่น อัญมณี วัตถุดิบเครื่องประดับ เครื่องมือ/บริการ 529 ราย โดยพื้นที่แสดงสินค้าส่วนใหญ่เป็นนาฬิกากว่าร้อยละ 30.9 เครื่องประดับร้อยละ 39.6 และสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ ร้อยละ 29.5

สำหรับจำนวนผู้เข้าชมงานในปี 2554 ที่ผ่านมา มีผู้ชมงานที่เป็นนักธุรกิจ-ผู้ซื้อผู้ขายในวงการ กว่า 103,200ราย จากประเทศต่างๆ มากกว่า 100 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 2553 จำนวนประมาณ 2,580 รายหรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.5 นอกจากนี้ยังมี Journalist เข้าชมงานมากกว่า 2,900 ราย จาก 70 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีผู้ชมงานเพิ่มมากกว่าปีที่แล้ว แม้ว่าจำนวนที่เพิ่มจะไม่มากนักแต่ คุณภาพของผู้ชมงานเป็นในแนวทางที่ดีขึ้นมาโดยตลอด

การเข้าร่วมงาน Baselworld จึงเป็นโอกาสที่ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทยจะได้รู้แนวโน้มความต้องการของตลาด (วิธีการผลิต กระบวนการพัฒนาและใช้เทคนิคใหม่ ๆ จากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ) และได้ข้อมูลคู่แข่งขันจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อาทิเช่น สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สหรัฐอเมริกา ฮอ่งกง จีน ตุรกี เป็นต้น และจะเป็นโอกาสเดียวที่จะได้สัมผัสกับลูกค้าทันที โดยรับทราบข้อคิดเห็นและความต้องการของลูกค้าและตลาดเพื่อนำกลับมาปรับปรุงรูปแบบและราคา

การนำเข้าจากไทย

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีการนำเข้าสินค้าอัญมณี เครื่องประดับแท้ เทียมและเครื่องใช้ทำด้วยโลหะมีค่า จากไทยในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา (2552- พ.ย. 2554) เป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 95.09 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดเฉลี่ยร้อยละ 0.64 โดยการนำเข้าจากไทยในช่วง 11 เดือนของปี 2554 มีมูลค่าทั้งสิ้น 107.61 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.86 เมื่อเทียบกับปี 2553 สินค้าที่มีการนำเข้าจากไทยมากได้แก่

พลอย ส่วนใหญ่ผู้นำเข้าในยุโรปจะนิยมนำเข้าพลอยเจียระไนแล้ว เพื่อนำมาประกอบเป็นอัญมณีสำเร็จรูปภายใต้ดีไซน์ของตนเอง ในช่วงเดือนม.ค.-พ.ย. 2554 มีการนำเข้า เป็นมูลค่า 45.37 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10.54 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.73 ไทยจัดเป็นคู่ค้าลำดับที่ 4 รองจาก ฮ่องกง สหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส

เครื่องประดับแท้ มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 37.04 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.47 โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.22

เครื่องทองหรือเครื่องเงิน ทำด้วยโลหะสามัญ ที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า (พิกัด H.S 7114) มีการนำเข้ามีมูลค่า 1.19 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.33 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 31,824.75 ไทยจัดเป็นคู่ค้าลำดับที่ 7

มาตราการด้านภาษีและมิใช่ภาษี

ปัจจุบันการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในสวิตเซอร์แลนด์จะนำเข้าได้โดยเสรี ไม่มีข้อจำกัดหรือมาตราการ NTB อัตราภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าเครื่องประดับแท้และเครื่องประดับเทียมอยู่ระหว่าง 80.00 - 3,999.00 สวิสฟรังก์ per 100 kg gross คาดว่าในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า อัตราภาษีนำเข้าจะลดลง เป็น 0 ตามเงื่อนไข WTO ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบได้ในเว็บไซด์

http://xtares.admin.ch/tares/home/homeFormFiller.d;jsessionid=LHWzPRwfSJT3CM8j8cPx0G LJpnPthnLD7qNzcykZmGQhjTb9zZmY!443522393

ช่องทางตลาดและรสนิยมของผู้บริโภค
  • สินค้าเครื่องประดับต่าง ๆ ที่ผลิตภายในประเทศ และที่นำเข้าจากต่าง ๆ ประเทศ ส่วนใหญ่จะนำเข้าโดยผู้นำเข้าเครื่องประดับ โดยช่องทางการจำหน่าย จะมีวางจำหน่ายกันมากตามเมืองใหญ่ ทั่วประเทศ เช่น ซูริค ลูเซิร์น เบิร์น เจนีวา เป็นต้น เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองดังกล่าวมีรายได้สูง ปัจจุบันในสวิตเซอร์แลนด์ มีร้านค้าขายปลีกเครื่องประดับซึ่งจะมีจำหน่ายนาฬิกาควบคู่กันไปด้วยกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 70 ช่องทางอื่น ๆของการจำหนายเครื่องประดับ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ประมาณร้อยละ 15 ทางอินเตอร์เน็ต และ TV-Shopping อีกร้อยละ 15 ทั้งนี้ ตลาดที่กำลังเติบโตและขยายตัวได้ดีคือการขายผ่านร้านขายที่เน้นให้บริการและคำแนะนำอย่างดีแก่ลูกค้าควบคู่กับกับขายนั่นเอง
  • จากการที่สวิตเซอร์แลนด์ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในยุโรป ประกอบกับอัตราค่าเงินสวิสฟรังก์ที่แข็งตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ราคาต้นทุนการผลิต รวมทั้งราคาสินค้าแพงขึ้นมาก แต่อย่างไรก็ตามความนิยมในการใช้เครื่องประดับอัญมณีก็ยังมีอยู่และนิยมซื้อให้เป็นของขวัญ แต่จะเน้นในเรื่องของราคาเป็นหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นจะเลือกซื้อโดยดูจากรูปแบบ และราคาเป็นหลัก
  • เครื่องประดับที่คนสวิสนิยมยังคงเป็นนาฬิกา เครื่องประดับทอง และเงิน หรือพลาตินัมรวมทั้งที่เป็น Enamel สำหรับของขวัญนิยมให้เป็นนาฬิกา มากกว่าเครื่องอิเลคโทรนิค เช่น Iphone หรือ I pad
แนวโน้มความต้องการสินค้าในปี 2555
  • แม้ว่าเศรษฐกิจยุโรปในปี 2555 จะยังคงไม่แจ่มใสนัก แต่ในหมวดสินค้าแบรนด์เนม และสินค้าเครื่องประดับยังมีแนวโน้มดี
  • แม้ว่าสวิสจะประสบกับผลกระทบเศรษฐกิจของยุโรป แต่ความต้องการเครื่องประดับประเภทพลอยเจียระไนยังคงมีมากเพื่อนำไปใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก เนื่องจากสวิสเป็นประเทศที่มีรายได้หลักมาจากการส่งออกทอง และเครื่องประดับ สวิสนำเข้าพลอย (รัตนชาติ) มาจากไทยมากเป็นอันดับที่ 4 รองจาก ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส
  • เนื่องจากราคาทองปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด ปัจจุบันเครื่องประดับเพชรที่ตัวเรือนทำด้วย Platinum หรือเครื่องประดับที่ทำจาก Platinum ล้วน จะเริ่มมีบทบาทมากกว่าทอง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ในปี 2555 นี้เครื่องประดับรูปทรง Oceanographic หรือเครื่องประดับที่ใช้เปลือกหอยจริง ลูกปัด ไข่มุก รวมทั้งนาฬิกาจะยังคงมีแนวโน้มความต้องการดี
  • ปัจุบันผู้บริโภคจำนวนมากมีอาการแพ้สารโลหะที่เป็นส่วนผสมของเครื่องประดับ เช่น สารนิเกิ้ล ดังนั้นในการเสนอขายหากสามารถระบุข้อดีของสินค้าว่าไม่มีส่วนผสมของสารดังกล่าวก็จะช่วยให้ความมั่นใจแก่ผู้นำเข้าได้

สคต.แฟรงก์เฟิร์ต

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ