1. รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ Real GDP ของญี่ปุ่นในปีงบประมาณ 2554 (เม.ย. 54- มี.ค. 55) จะหดตัวลงร้อยละ 0.1 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในเดือนสิงหาคม 54 ว่าจะเติบโตร้อยละ 0.5 และดุลการค้าสินค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นจะติดลบ 1.6 ล้านล้านเยน (20.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) โดยได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินเยน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาวิกฤตหนี้เสียในยุโรป
2. อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นประมาณการเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2555 จะเติบร้อยละ 2.7-2.9 โดยได้รับปัจจัยบวกจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งจากความต้องการก่อสร้างเพื่อฟื้นฟูสิ่งที่เสียหายจากอุบัติภัยแผ่นดินไหว และสึนามิเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
3. จากสถิติในเดือนธันวาคมปีนี้พบว่าบริษัทญี่ปุ่น 505 บริษัทล้มละลายโดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวและ สึนามิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (โตโฮขุ) ของญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยพบว่าในจำนวนนี้เป็นบริษัทในโตเกียวที่ทำธุรกิจในโตโฮขุมากที่สุดคือ 114 บริษัท และประเภทบริษัทที่ล้มละลายมากที่สุดคือผู้ผลิตสินค้าคิดเป็น 1 ใน 4 ของบริษัทที่ล้มละลายทั้งหมด รองลงมาคือผู้ให้บริการโรงแรมและร้านอาหาร ทั้งนี้สถิติการล้มละลายจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในปีนี้สูงกว่าการล้มละลายที่เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในโกเบในปี 2538 ถึง 4 เท่า
4. ค่าเงินเยนที่ทำสถิติแข็งค่าอย่างต่อเนื่องกระตุ้นให้เกิดการควบรวมกิจการ (M&A) โดยบริษัทญี่ปุ่นเข้าซื้อกิจการของบริษัทต่างชาติทั้งในญี่ปุ่นและในต่างประเทศ โดยในปี 2554 มี M&A กว่า 609 รายการ มูลค่า 5 ล้านล้านเยน (68.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 78 และทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ โดยมีมูลค่าสูงกว่าในช่วง 1980's ยุคเฟื่องฟูยุคแรกของเศรษฐกิจญี่ปุ่น (Bubble Economy) และช่วงระหว่างปี 2000 ยุคเฟื่องฟูยุคที่สอง (IT Bubble) การทำ M&A ของญี่ปุ่นในอดีตเน้นการควบรวมกิจการของบริษัทสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่ในครั้งนี้การควบรวมธุรกิจของญี่ปุ่นครอบคลุมประเทศอื่นๆ มากขึ้นโดยเฉพาะบริษัทในเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย และไทย เพื่อเชื่อมโยงไปสู่เศรษฐกิจของประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง
5. หลังจากที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเสนอให้ยืดเวลาการขึ้นอัตราภาษีผู้บริโภค จากเดิมที่ตั้งเป์าหมายจะขึ้นภาษีจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ในเดือนตุลาคม 2555 โดยเสนอให้เพิ่มเป็นร้อยละ 8 ในเดือนเมษายน 2557 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10 ในเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งจะส่งผลให้เป์าหมายลดการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลญี่ปุ่นลงครึ่งหนึ่งภายในปีงบประมาณ 2558 ต้องล่าช้าไปเป็นปลายปี 2559 หรือช้ากว่า
ที่มา: http://www.depthai.go.th