วารสาร DC Velocity ของสหรัฐฯ ฉบับเดือนมกราคม 2555 เสนอบทความเกี่ยวกับข้อควรพิจารณาในการดำเนินธุรกิจโลจิสต์และห่วงโซ่อุปทาน (Logistics & Supply Chain) ของสหรัฐฯ ในปี สำนักงานฯ ชิคาโกได้ขอรายงานและพร้อมกับเสริมประเด็นท้าทายของธุรกิจสรุปได้ ดังนี้
ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะหลุดพ้นจากภาวะ Recession แล้วก็ตาม แต่การฟื้นตัว เป็นไปอย่างเชื่องช้า ในขณะที่การว่างงานยังอยู่ในระดับสูง ผู้บริโภคยังคงประหยัดในการใช้จ่าย ในขณะที่ต้นทุนด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะสูงขึ้น
ประเด็นท้าทาย: จะทำอย่างไรกับการบริหารจัดการด้านโลจิสต์และห่วงโซ่อุปทาน ให้มีประสิทธิภาพและมีส่วนกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ
กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ พยากรณ์ว่า ราคาน้ำมันดีเซลจะมีราคาโดยเฉลี่ยประมาณ 3.73 เหรียญสหรัฐฯ/แกลลอน ในปี 2555 ซึ่งจะลดต่ำลงเล็กน้อยจากปี 2554 (3.84 เหรียญสหรัฐฯ/แกลลอน) แต่ราคาคาดการณ์ดังกล่าวยังคงสูงกว่าระดับราคาเฉลี่ยในปี 2553 ร้อยละ 25
ประเด็นท้าทาย: จะทำอย่างไรที่จะควบคุมต้นทุนการขนส่งให้อยู่ในระดับใกล้เคียง กับปี 2554 หรือ ในที่สุดแล้วต้นทุนการขนส่งจะต้องเพิ่มขึ้นเนื่องจากความผันแปรของราคาน้ำมันดิบ
การเพิ่มขึ้นของต้นทุนเชื้อเพลิง และระเบียบเพิ่มความเข้มงวดของระบบเผาไหม้ของเครื่องยนต์ (Engine Emission) คาร์บอนฟุ้ตพริ้นต์ (Carbon Footprint) และ การขาดแคลนพนักงานขับรถบรรทุก จะส่งต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าบริการขนส่งของรถบรรทุก
ประเด็นท้าทาย: การเพิ่มขึ้นของอัตราค่าบริการขนส่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ผู้ให้บริการจะทำอย่างไรให้ผู้รับบริการได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อเป็นการักษาลูกค้า
ปัจจุบัน โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ถนนหนทาง ท่าเรือ สนามบิน เสื่อมโทรมและไม่ได้รับการทนุบำรุง ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มต้นทุนในการดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ ในขณะเดียวกัน สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งต้องรับผิดชอบการทนุบำรุง กลับเมินเฉยและหันไปให้ความสนใจต่อปัญหาอื่น ๆ เช่น การสร้างงานในภาคอุตสาหกรรม การคัดค้านการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ ประกอบกับ ปี 2555 เป็นปีของการเลือกตั้งประธานาธิบดี "Presidential Election 2012" เป็นเรื่องสำคัญที่ได้รับความสนใจมากที่สุดของสหรัฐฯ ดังนั้น โครงการหรือโปรเจคด้านโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะเกื้อกูลธูรกิจโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานของสินค้าบริการ จะถูกชะลอโครงการออกไป
ประเด็นท้าทาย: ปี 2555 อาจจะเป็นปีแห่งการเฝ้ารอ หรือฝันสลายของผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์สหรัฐฯ เพราะจะต้องรอไปจนกว่าการเลือกตั้งเสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายน 2555
การขยายคลองปานามาเพื่อให้เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ยักษ์ผ่านได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มปริมาณธุรกิจด้านโลจิสติกส์ให้แก่ผู้บริการในเขตอ่าวเม็กซิโก และ ท่าเรือชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติค ซึ่งสินค้าสามารถขนถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่ไปยังเรือที่เล็กกว่าเพื่อนำไปยังท่าเรือต่างๆ ในสหรัฐฯ ได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ประเด็นท้าทาย: ศักยภาพและสมรรถภาพของการท่าเรือในสหรัฐฯ ในการเตรียมแผนรองรับการขยายตัวของการขนส่ง
อิทธิพลด้านการส่งเสริมสภาพแวดล้อมจะมีบทบาทมากขึ้น เป็นลำดับต่อวงการโลจิสติกส์ในสหรัฐฯ ผู้ประกอบการในวงการโลจิสติกส์ ไม่ว่า Shippers, Carriers และ Service Providers รวมไปถึง Warehouse และ ร้านค้า จะให้ความสำคัญและเริ่มดำเนินตามแนวทางส่งเสริมสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อม อย่างไรก็ตาม
ประเด็นท้าทาย: ต้นทุนบริหารจัดการจะเพิ่มสูงขึ้น แต่จะ เห็นผลหรือคุ้มทุนในระยะยาว ผู้ประกอบการจะทำอย่างไรกับการเพิ่มต้นทุนในระยะสั้น
ความปลอดภัยในกระบวนการของห่วงโซ่อุปทานยังเป็นเป้าหมายในลำดับแรกและจะมีความเข้มงวดมากขึ้นเป็นลำดับในทุกขั้นตอน อย่างไรก็ตาม และเป็นความพยายามของภาครัฐที่จะอุดอุดช่องโหว่ให้ได้มากที่สุด
ประเด็นท้าทาย: ภาครัฐจะอุดช่องโหว่ ได้มากน้อยเพียงใด เพราะการดำเนินการใน ปัจจุบันเป็นการไล่แก้ปัญหา มิใช่การป้องกันปัญหา และมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างไร
ภาคเอกชนให้การสนับสนุนการเพิ่มปริมาณน้ำหนักการบรรทุกของรถบรรทุกจาก 80,000 ปอนด์ (36,363 กิโลกรัม) ขึ้นเป็นจำนวน 97,000 ปอนด์ (44,090 กิโลกรัม) ให้แก่รถบรรทุกที่มี 6 เพลา (Axles) ซึ่งการเพิ่มน้ำหนักดังกล่าว จะเพิ่มความปลอดภัย ประหยัดพลังงาน และ เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม และไม่มีผลเสียต่อทางหลวงหรือระบบโครงสร้างพื้นฐาน
ประเด็นท้าทาย: จะทำอย่างไรที่จะผลักดันให้รัฐบาล 50 มลรัฐ แก้ไขกฎหมาย เนื่อง การดำเนินการจะต้องเป็นแยกเป็นรายมลรัฐฯ และต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายดำเนินการ
ปัญหาและประเด็นท้าทายของธุรกิจโลจิสติกส์ของสหรัฐฯ อาจจะแตกต่างไปจากของประเทศไทย แต่ปัญหาหรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับธุรกิจโลจิสติกส์ในสหรัฐฯ ย่อมมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น ข่าวสารแนวโน้มตลาดโลจิสติกส์สหรัฐฯ จะเป็นการเตือนภัยล่วงหน้าและสนับสนุนการวางแผนการตลาดในอนาคต
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก
ที่มา: http://www.depthai.go.th