รัฐบาลอินเดียอนุญาตให้ค้าปลีกต่างชาติประเภท Single Brand ถือหุ้นได้ 100% แล้ว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 23, 2012 15:37 —กรมส่งเสริมการส่งออก

หลังจากถกเถียงกันยืดเยื้อมานาน ในที่สุดเมื่อวันอังคารที่ 10 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียก็ได้ออกประกาศอนุญาตให้บริษัทค้าปลีกต่างชาติสามารถเข้าไปลงทุนถือหุ้นในธุรกิจค้าปลีกประเภท Single Brand ในประเทศอินเดียได้ถึง 100% แล้ว จากที่เคยอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้สูงสุดไม่เกิน 51% มาตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว โดยให้มีผลบังคับใช้ทันที ส่วนการเปิดเสรีให้บริษัทค้าปลีกต่างชาติสามารถเข้าไปลงทุนถือหุ้นในธุรกิจค้าปลีกประเภท Multi Brand ในประเทศอินเดียได้ถึง 51% ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า

การที่บริษัทค้าปลีกต่างชาติจะเข้าไปลงทุนถือหุ้นในธุรกิจค้าปลีกประเภท Single Brand ในประเทศอินเดียได้ 100% นั้น บริษัทฯ จะต้องได้รับการอนุมัติโดยผ่านช่องทางรัฐบาลเท่านั้นโดยมีเงื่อนไข ดังนี้

1. การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในธุรกิจค้าปลีกประเภท Single Brand ในประเทศอินเดีย จะต้องมุ่งเน้นในด้านการผลิตและการตลาด การพัฒนาให้สินค้ามีเพียงพอสำหรับผู้บริโภค กระตุ้นให้มีการจัดซื้อจัดหาสินค้าจากในประเทศอินเดีย รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทอินเดียโดยช่วยให้บริษัทอินเดียเหล่านี้สามารถเข้าถึงการออกแบบระดับโลก เทคโนโลยี และการบริหารจัดการ

2.การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในธุรกิจค้า ปลีกประเภท Single Brand ในประเทศอินเดียจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขต่อไปนี้

2.1 สินค้าที่จะจำหน่ายจะต้องเป็นสินค้าที่เป็น ตรายี่ห้อเดียว (Single Brand) เท่านั้น

2.2 สินค้าที่จะจำหน่ายจะต้องเป็นตรายี่ห้อเดียวกันทั่วโลก นั่นคือ สินค้าดังกล่าวที่วาง จำหน่ายในประเทศอินเดียจะต้องเป็นตรายี่ห้อเดียวกับที่วางจำหน่ายในประเทศอื่นๆด้วย

2.3 สินค้าที่จะจำหน่ายครอบคลุมเฉพาะสินค้าที่ผลิตขึ้นสำหรับตรายี่ห้อนั้นๆเท่านั้น

2.4 บริษัทค้าปลีกต่างชาติจะต้องเป็นเจ้าของตรายี่ห้อนั้นเอง

2.5 บริษัทค้าปลีกต่างชาติที่ลงทุนถือหุ้นเกินกว่า 51% จะต้องจัดซื้อ/จัดหาสินค้าจากอุต- สาหกรรมขนาดย่อม/อุตสาหกรรมครอบครัว/อุตสาหกรรมพื้นบ้านของอินเดียอย่างน้อย 30% ของมูลค่าสินค้าที่จำหน่าย

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมขนาดย่อมหมายถึงอุตสาหกรรมที่มีเงินลงทุนในโรงงานและเครื่องจักรไม่เกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยคิดจากมูลค่าเมื่อทำการติดตั้งในครั้งแรกและไม่หักค่าเสื่อมราคา อย่างไรก็ตาม เมื่อใดที่มูลค่าการลงทุนเกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ บริษัทนั้นๆ จะต้องพ้นจากสถานะของอุตสาหกรรมขนาดย่อมไป กระบวนการดังกล่าวจะเป็นกระบวนการรับรองตนเอง (Self Certification) ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม โดยจะมีการสุ่มตรวจโดยหน่วยงานตรวจสอบเป็นระยะๆ

3.บริษัทค้าปลีกต่างชาติที่ประสงค์จะเปิกธุรกิจค้าปลีกประเภท Single Brand ในประเทศ อินเดียโดยถือหุ้น 100% จะต้องยื่นคำขอผ่าน Secretariat for Industrial Assistance สังกัดกรมนโยบายและส่งเสริมอุตสาหกรรม (Department of Industrial Policy and Promotion) โดยในการยื่นคำขออนุญาตจะต้องระบุสินค้าและประเภทสินค้าที่จะจำหน่ายภายใต้ Single Brand ให้ชัดเจนเพื่อให้รัฐบาลอนุมัติต่อไป

4.กระบวนการพิจารณาคำขออนุญาตจะดำเนินการโดยกรมนโยบายและส่งเสริมอุตสาหกรรม (Department of Industrial Policy and Promotion) เพื่อพิจารณาว่าสินค้าที่ขออนุญาตจำหน่ายนั้นเป็นไปตามแนวทางในประกาศของรัฐบาลหรือไม่ ก่อนที่จะส่งต่อให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FIPB: Foreign Investment Promotion Board) พิจารณาต่อไป

การเปิดเสรีธุรกิจค้าปลีกประเภท Single Brand ของรัฐบาลอินเดียในครั้งนี้ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวอย่างมากในอุตสาหกรรมค้าปลีกระดับโลก โดยเฉพาะบริษัทที่เป็นเจ้าของสินค้าประเภท Single Brand เช่น บริษัทค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ IKEA จากสวีเดน บริษัท Louis Vuitton จากฝรั่งเศส เป็นต้น ก็เตรียมพร้อมที่จะเข้าตลาดอินเดียหลังจากรอคอยการเปิดเสรีนี้มาอย่างยาวนาน สำหรับบริษัทค้าปลีกประเภท Single Brand ที่อยู่ในตลาดอินเดียอยู่แล้วด้วยการ Joint Venture กับบริษัทอินเดียตามระเบียบเดิมที่ถือหุ้นได้ไม่เกิน 51% ก็อาจจะมีการพิจารณาขยับขยายและปรับเปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 100% เช่นกัน เช่น Marks & Spencer, Mothercare เป็นต้น

บทสรุปสำหรับภาคเอกชนไทย

การเปิดเสรีค้าปลีกสำหรับบริษัทค้าปลีกต่างชาติประเภท Single Brand ของอินเดียในครั้งนี้ น่าจะเป็นโอกาสดีของภาคเอกชนไทยที่จะเข้าไปแข่งขันในตลาดอินเดียซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ ที่มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่ไทยมีความเข้มแข็ง เช่น ธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร ผลิตภัณฑ์สปา (Spa Products) ผลิตภัณฑ์ของใช้บนโต๊ะอาหาร ผลิตภัณฑ์ของแต่งบ้าน ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งการขยายธุรกิจค้าปลีกเข้าไปในตลาดอินเดียด้วยโอกาสที่เปิดสำหรับ Single Brand จะเป็นการช่วยให้ธุรกิจไทยมีโอกาสเติบโตมากขึ้นด้วยกลยุทธ์ Internationalization คือ การออกไปเติบโตในตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ธุรกิจไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไปแล้ว

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ