“หมาก” (BETEL NUT) เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งซึ่งมีรสฝาดฯ พันธุ์ต้นหมาก ไม่มีชื่อเรียก แต่จะแบ่งตามลักษณะของผล คือผลกลมแป้น และผลกลมรี หรือแบ่งตามลักษณะของทรงต้น ก็จะแยกเป็นพันธุ์ต้นสูง พันธุ์ต้นเตี้ย และพันธุ์ต้นกลาง
หมากจะให้ผลเกือบตลอดปี ปลูกง่าย การดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก โรคแมลงรบกวนน้อย ลงทุนไม่สูง จึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้สม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง
ผลผลิตหมากนอกจากจำหน่ายเป็นหมากสดหรือหมากดิบแล้วยังมีการจำหน่ายเป็นหมากแห้งซึ่งการทำหมากแห้งมีความนิยม เพราะสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน โดยหมากแห้งใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง ฟอกเส้นใย และทำยารักษาโรค และการใช้บริโภคในลักษณะของสมุนไพร โดยผลหมากสามารถใช้เป็นยาสมุนไพรในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น ใช้สมานแผล แก้ท้องเสีย รักษาโรคเหงือกและฟัน เป็นต้น
อินเดียเป็นประเทศที่มีผลผลิตลูกหมากประมาณร้อยละ 50 ของผลผลิตลูกหมากทั้งหมดในโลกหรือ ประมาณ 330,000.-ตันต่อปี โดยที่อันดับสองเป็นประเทศจีนมีผลผลิตฯประมาณร้อยละ 25 หรือประมาณ 162,250.-ตันต่อปี อันดับสามคือประเทศพม่าประมาณ 57,000.-ตันฯ รองลงมาคือบังคลาเทศ อินเดียนีเซีย ไทย และมาเลเซีย ที่มีผลผลิตฯประมาณ 51,000.- 41,000.- 26,000.- และ 1,300.-ตันต่อปี ตามลำดับ
รัฐฯทางภาคใต้ ภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย จะมีพื้นที่ปลูกหมากและสร้างผลผลิตฯมากที่สุด นำโดยรัฐฯทางภาคใต้คือรัฐกรณาฏกะที่มีผลผลิตรวมเป็นร้อยละ 40 ของผลผลิตฯทั้งหมดของประเทศ และรัฐเกรละมาเป็นอันดับสอง ส่วน รัฐอัสสัมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาเป็นอันดับที่สาม และตามมาด้วยรัฐฯทางภาคตะวันออกคือรัฐโอริสสาและเบงกอลตะวันตก
อินเดียปัจจุบันชนชั้นแรงงานยังนิยมกินหมากกันอยู่มาก และในเชิงธุรกิจ ก็มีการใช้หมากเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมฟอกหนัง ฟอกเส้นใย ทำยารักษาโรคและการใช้บริโภคในลักษณะของสมุนไพร กล่าวคือ ลูกหมากเมื่อนำมาสกัดจะได้ไขมัน เมือก ยางและสารอัลคาลอยด์ ชื่อ ARECOLINE มีแทนนินสูง จึงสามารถใช้ในทางอุตสาหกรรม เช่น ใช้ทำสีต่างๆ ใช้ย้อมแหและอวน ซึ่งทำให้นิ่มและอ่อนตัวและยืดอายุการใช้งาน ได้นาน เส้นด้ายไม่เปื่อยเร็ว นอกจากนี้ สามารถใช้สกัดทำยารักษาโรค เช่น ยาสมานแผล ยาขับพยาธิในสัตว์ ยาแก้ท้องเดิน ท้องเสีย ยาขับพิษ ยาทาแก้คัน น้ำมันนวด ยาขับปัสสาวะ และยาแก้ปากเปื่อย เป็นต้น
ดังนั้น ถึงแม้ว่าอินเดียจะมีผลผลิตลูกหมากเป็นจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่การบริโภคฯก็มากมายมหาศาลเป็นอันดับหนึ่งเช่นกัน โดยในแต่ละปีมีการบริโภคฯ(Consumption) ประมาณ 330,000 ตัน ทั้งการบริโภคในลักษณะทั่วไปและในเชิงธุรกิจฯ ซึ่งทำให้อินเดียต้องนำเข้าสินค้าหมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น อินเดียมีผลผลิตหมากมากกว่า 3 แสนตันต่อปี แต่ก็ต้องนำมาใช้บริโภคภายในประเทศทั้งหมด แถมยังต้องนำเข้าฯจากต่างประเทศฯ โดยนำเข้าทั้งหมากดิบและหมากแห้งฯ
ปี 2009-2010 อินเดียนำเข้าหมากฯจำนวน 29,845 ตัน รวมมูลค่า 14.67 ล้าน เหรียญสหรัฐฯ สำหรับปี 2010-2011 อินเดียนำเข้าหมากฯจำนวน 66,249 ตัน หรือปริมาณเพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อนถึงร้อยละ 122 โดยมีมูลค่ารวม 48.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือมูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อนมากถึงร้อยละ 232
ทั้งนี้ อินเดียนำเข้าหมากฯจากต่างประเทศมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับหนึ่ง ประเทศบังคลาเทศ อันดับสองอินโดนีเซีย อันดับสามคือพม่า อันดับสี่ประเทศเนปาล ส่วนอันดับที่ห้าเป็นของประเทศไทย
อินเดียนำเข้าสินค้าหมากแห้งจากประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ โดยในปี 2010 (มค. — ธค.) อินเดียนำเข้าฯจากประเทศไทยประมาณ 5,701 ตัน รวมมูลค่า 3,731,340.-เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2011 (มค. — พย.) อินเดียนำเข้าฯจากไทยประมาณ 2,684 ตัน รวมมูลค่า 3,227,657.-เหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากข้อมูลการนำเข้าฯปี 2011 ยังไม่ครบปี และถึงแม้ปริมาณการนำเข้าฯจะลดลง แต่ด้วยราคาที่สูงขึ้น ดังนั้นมูลค่าการนำเข้าสินค้าหมากแห้งจากไทยฯเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2011 ก็น่าจะใกล้เคียงกับปี 2010
อินเดียยังคงต้องนำเข้าสินค้าหมากตราบใดที่ปริมาณผลผลิตฯยังน้อยกว่าปริมาณการ บริโภคภายในประเทศฯ โดยที่ประชากรอินเดียก็เพิ่มขึ้นปีละหลายล้านคน แต่พื้นที่ปลูกหมากทั่วประเทศประมาณ 290,000 เฮกเตอร์(1,812,500 ไร่)ยังก็เท่าเดิมและผลผลิตฯก็อาจจะ เท่าเดิมหรือน้อยกว่าซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุของต้นหมาก สภาพแวดล้อม และความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน เป็นต้น ดังนั้นตลาดสินค้า “หมาก” อินเดียจึงเป็นตลาดฯสำคัญที่มองข้ามไปไม่ได้ และต้องพยายามมองหาผู้นำเข้าที่ดีฯ น่าเชื่อถือและศึกษากันและกันเป็นอย่างดีก่อนที่จะตกลงใจเจรจาเป็นคู่ค้าฯทำธุรกิจร่วมกันอย่างยั่งยืนตลอดไป
สคต.กรุงนิวเดลี
ที่มา: http://www.depthai.go.th