อุตสาหกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของไต้หวัน (Green Industry)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 26, 2012 11:25 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ความตื่นตัวอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับโลก

ภัยพิบัติเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศโลกคุกคามมนุษย์มากขึ้น ตั้งแต่ช่วงปี 1990 รัฐบาลและองค์กรประเทศต่าง ๆ เริ่มตระหนักถึงความจำเป็นของการประหยัดพลังงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้มีการประกาศกฎหมายและกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเรื่อยมา ทั่วโลกตื่นตัวด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกลายเป็นอุตสาหกรรมแขนงใหม่ที่สร้างโอกาสธุรกิจมหาศาล

นโยบายสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิวัติเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมหรือเทคโนโลยีสีเขียว หลังจากสหประชาชาติรับรองพิธีสารเกียวโตในปี 1997 เป็นการปลุกกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการ จากนั้นได้มีการประชุมต่อมาหลายครั้งกำหนดให้ประเทศภาคีต้องลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้มีการลดใช้น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติปริมาณมาก กระตุ้นให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเช่น ลม แสงอาทิตย์ น้ำ เป็นต้น

ประเทศต่าง ๆ ได้กำหนดเทคโนโลยีสีเขียว เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญประการหนึ่ง มีการวางนโยบายหรือมาตรการด้านการประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง ภาวะเหล่านี้จะปรากฎชัดเจนมากขึ้นในอนาคต

2. การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวของไต้หวัน

ในปี 2007 รัฐบาลไต้หวันผลักดัน "โครงการเทคโนโลยีพลังงานระดับประเทศ" คาดว่าภายใน 5 ปีจะใช้งบประมาณ 30,300 ล้านเหรียญไต้หวัน มีเป้าหมายทำให้ไต้หวันพึ่งพาแหล่งพลังงานของตนเอง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงาน

ปี 2008 รัฐบาลไต้หวันได้อนุมัติ แผนปฏิบัติการนโยบายพลังงานยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ ปรับโครงสร้างการคมนาคมรวดเร็วขึ้น ผลักดันการใช้หลอดไฟส่องสว่างประหยัดพลังงาน การรีไซเคิลวัสดุต่าง ๆ ซึ่งในส่วนของการส่งเสริมใช้หลอดไฟ LED นั้น ในปี 2011 รัฐบาลได้ดำเนินโครงการสาธิตการใช้ไฟ LED ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และกระตุ้นอุตสาหกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ขยายตัว สร้างโอกาสธุรกิจ

ต่อมาในปี 2009 ได้มีการกำหนดแผนปฏิบัติการ ยกระดับอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียว ระยะเวลา 5 ปีใช้งบประมาณวิจัยและพัฒนา 20,000 ล้านเหรียญไต้หวัน ทุ่มเทพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ อุตสาหกรรม LED การผลิตไฟฟ้าพลังลม เชื้อเพลิงชีวมวล พลังงานไฮโดรเจนและเซลล์พลังงาน รถยนต์ไฟฟ้า

ไต้หวันเน้นการสร้างโอกาสธุรกิจที่ยั่งยืน หากพิจารณาจากรูปแบบการผลักดันการประหยัดพลังงานและลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ จะเห็นว่ามี 2 รูปแบบคือ

1) การประยุกต์เทคโนโลยีเข้ากับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุผลการประหยัดพลังงาน เช่นการใช้ระบบการจราจรอัจฉริยะ การประยุกต์เทคโนโลยีประหยัดพลังงานในระบบบริหารพลังงานสิ่งปลูกสร้าง

2) การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสารสนเทศหรือผลิตภัณฑ์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยตรง

MIC หน่วยงานวิจัยข่าวสารการตลาดของไต้หวัน (Market Intelligence & Consulting Institute) วิเคราะห์ว่า การพัฒนาด้านประหยัดพลังงานและการลดก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนคือ

  • ขั้นตอนแรกคือ การผลิตเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หมายถึงการกำหนดนโยบายหรือวิธีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการบริโภคเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • ขั้นตอนที่ 2 การส่งเสริมอุตสาหกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีพลังงาน การผนวกเทคโนโลยีพลังงานกับ ICT เข้าด้วยกัน เพื่อให้บรรลุผลการดำรงชีวิตแบบคาร์บอนต่ำ
  • ขั้นตอนที่ 3 คือเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและการดำรงชีวิตแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั่วโลกร่วมกันมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำเพื่อบรรลุเป้าหมายการอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืน

ใน 3 ขั้นตอนนี้ มีเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง 2 แขนงคือ แขนงที่ 1 เทคโนโลยีพลังงานได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ อุตสาหกรรม LED แขนงที่ 2 การดำรงชีวิตแบบคาร์บอนต่ำได้แก่ เครือข่ายพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ รถยนต์ไฟฟ้า และสิ่งก่อสร้างอัจฉริยะ

ไต้หวันมีพื้นฐานที่ดีและได้เปรียบในด้านอุตสาหกรรม ICT ซึ่งใช้ต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติระบุว่า นอกจากอุตสาหกรรม ICT แล้ว ไต้หวันจะมุ่งเน้นการวิจัยนวัตกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการให้สิทธิ์พิเศษหรืออุดหนุนแก่ภาคเอกชนในการสร้างนวัตกรรมไต้หวันให้มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีสีเขียว

จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ ของ IMD (International Institute for Management Development ) ในปี 2010 ความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีสีเขียวของไต้หวันอยู่ในลำดับที่ 6 ในเอเชียเป็นรองเฉพาะญี่ปุ่น และนำหน้าสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง แสดงให้เห็นว่าไต้หวันมีศักยภาพที่เข้มแข็ง

3.อุตสาหกรรมสีเขียวที่โดดเด่นของไต้หวัน

3.1 อุตสาหกรรมการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลม

หลังจากเกิดวิกฤติพลังงานในปี 1991 ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก รัฐบาลไต้หวันได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนโดยใช้พลังงานลม ในปี 2000 ได้กำหนดระเบียบปฏิบัติการอุดหนุนติดตั้งอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ส่งเสริมให้ Formosa Heavy Industries Corp, Taiwan Power Inc. และ Cheng Loong Corp ทำการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังลมขนาด 8640 KW ที่ ตำบลม่ายเหลียว จังหวัดหยุนหลิน ตำบลตงถุน จังหวัดเผิงหู และตำบลจู๋เป่ย จังหวัดซินจู๋ ตามลำดับ

ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา รัฐบาลกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเอกชนเชื่อมระบบผลิตไฟฟ้าเข้ากับระบบจ่ายไฟเขตเมือง โดยให้ Tai Power Inc. (อดีตการไฟฟ้าไต้หวัน) มีภาระในการรับซื้อกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังลมของเอกชนในอัตราหน่วยละ 2 เหรียญไต้หวัน (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญไต้หวัน =1.05 บาทโดยประมาณ)

การผลิตกระแสไฟฟ้าพลังลมนับเป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามากที่สุดและมีต้นทุนต่อหน่วยต่ำ อย่างไรก็ตามการลงทุนครั้งแรกต้องใช้เงินทุนสูงและระยะเวลาในการคืนทุนค่อนข้างยาวนาน

ไต้หวันมีพื้นฐานที่ดีในการผลิตไฟฟ้าพลังลม มีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ครบพร้อม ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรกล ระบบควบคุมไฟฟ้า เทคโนโลยีสารสนเทศ โครงสร้างโลหะ ผู้ประกอบการในประเทศมีความสามารถในการวิจัยพัฒนาชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น เฟืองทดเพิ่มความเร็ว เครื่องกำเนิดไฟฟ้า แผ่นกังหันสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดต่ำกว่า 10KW ชิ้นส่วนระบบควบคุมไฟฟ้าและชิ้นส่วนแปลงพลังงานลม นอกจากนี้ ยังมี เทคนิคในการผลิตไฟเบอร์กลาส (GFRP) สำหรับใบพัดขนาดใหญ่ซึ่งปัจจุบันมีการใช้งานในอุตสาหกรรมผลิตเรือสำราญ

ในปี 2009 มูลค่าการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังลมเท่ากับ 4,000 ล้านเหรียญไต้หวัน เป้าหมายในปี 2015 คือ 20,000 ล้านเหรียญไต้หวัน การผลิตไฟฟ้าพลังลมของไต้หวันถือว่าเริ่มต้นค่อนข้างช้า ในระยะแรกเป็นการผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศจากนั้นจึงขยายไปสู่การส่งออก การแข่งขันในอุตสาหกรรมยังไม่รุนแรงมาก เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีอยู่น้อยรายและมีการรวมตัวจัดตั้งเป็นสมาคม Taiwan Small & Medium Wind Turbine Association

3.2 อุตสาหกรรมโซล่าเซลล์

ไต้หวันมีการวิจัยพัฒนาด้านโซล่าเซลล์อย่างยาวนาน เริ่มผลิตอย่างจริงจังในปี 2004 ตามกระแสการขยายตัวตลาดพลังงานหมุนเวียนของโลก ก่อนปี 2007 ไต้หวันทำการผลิตผลึกซิลิคอน เซลล์ผลึกซิลิคอน และแผงโซล่าเซลล์ (Solar Module หรือ Solar Panel) ในปี 2008 เนื่องจากราคาผลึกซิลิคอนพุ่งสูงขึ้น ผู้ประกอบการจึงเพิ่มการผลิตฟิล์มบางอะมอร์ฟัสซิลิคอน ( Amorphous Silicon Solar Cell) ในปี 2009 การผลิตโซล่าเซลล์ของไต้หวันมีสัดส่วนเท่ากับ 12.2% ของโลก และเป็นผู้ผลิตใหญ่อันดับ 4 ของโลก รัฐบาลส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมโซล่าร์เซลล์ มีการประกาศใช้กฎหมายที่เอื้อต่อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมคือ เดือนมิถุนายน 2009 ได้ผ่าน "รัฐบัญญัติการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน" และในปลายปี 2010 กำหนดราคารับซื้อกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบจ่ายไฟ เป็นการกระตุ้นตลาดการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

ในปี 2009 มูลค่าการผลิตอุตสาหกรรมโซล่าร์เซลล์ของไต้หวันเท่ากับ 103,400 ล้านเหรียญไต้หวัน (1 เหรียญไต้หวัน 1.05 บาทโดยประมาณ) ตั้งเป้าหมายในปี 2015 มูลค่าการผลิตเท่ากับ 450,000 ล้านเหรียญไต้หวัน อุตสาหกรรมโซล่าร์เซลล์แบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ การผลิตชิ้นส่วนและการประกอบระบบ การใช้งานโซล่าร์เซลล์มีรูปแบบที่ค่อนข้างตายตัวชิ้นส่วนคล้ายกัน ความแตกต่างของสินค้ามีน้อย ดังนั้นปัจจัยราคาเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจสั่งซื้อ สินค้าของไต้หวันถือว่าอยู่ในระดับกลาง เทคโนโลยียังคงต่ำกว่ายุโรปและสหรัฐฯ แต่ราคาถูกกว่า อย่างไรก็หากเทียบกับจีนราคาของไต้หวันสูงกว่า

3.3 หลอดไฟ LED

อุตสาหกรรมไฟ LED ไต้หวันผ่านการพัฒนาไม่ต่ำกว่า 30 ปี การป้อนชิ้นส่วนในระดับบนที่ยังมีจุดอ่อนอยู่บ้างแต่โดยรวมห่วงโซ่อุตสาหกรรมถือว่ามีความสมบูรณ์ ไต้หวันผลิต LED มากเป็นอันดับ 2 ของโลก มีความได้เปรียบเนื่องจากมีพื้นฐานที่ดีในด้านอิเล็กทรอนิคส์ มีความชำนาญทั้งในส่วนของการผลิตวัตถุดิบและการประกอบชิ้นส่วน

เนื่องจากการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตไฟ LED มีข้อจำกัดต่ำทั้งในด้านต้นทุนและเทคโนโลยี ในไต้หวันมีผู้ผลิตจำนวนมากมีการแข่งขันที่รุนแรง ผู้ผลิตจะต้องติดตามภาวะตลาดและปรับตัวอย่างรวดเร็วจึงจะอยู่รอดได้

มูลค่าการผลิตอุตสาหกรรม LED ของไต้หวันปี 2009 เท่ากับ 1,900 ล้านเหรียญไต้หวัน เป้าหมายในปี 2015 คือ 115,000 ล้านเหรียญไต้หวัน

รัฐบาลไต้หวันกระตุ้นตลาดการใช้งานหลอดไฟ LED โดยดำเนินโครงการเปลี่ยนไฟสัญญาณจราจรเป็น LED ทั้งหมด เป็นผลงานตามโครงการผลักดันประหยัดพลังงานลดคาร์บอนเพื่อชีวิตใหม่ของกรมพลังงาน กระทรวงเศรษฐการไต้หวันระบุว่า ปี 2011 ได้มีการเปลี่ยนไฟสัญญาณจราจรทั่วไต้หวันจำนวน 696,700 ดวงเป็นไฟ LED ทดแทนหลอดไฟแบบเดิมแล้วเสร็จ ส่งผลให้ไต้หวันกลายเป็นประเทศที่ 2 ของโลกต่อจากสิงคโปร์ ที่เปลี่ยนไฟสัญญาณจราจรเป็นไฟ LED ทั่วประเทศ สามารถประหยัดพลังงานได้ถึงร้อยละ 85 คาดว่าจะสามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงได้ปีละ 247 ล้านยูนิต

3.4 รถยนต์ไฟฟ้า

ไต้หวันมีการผลิตทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยในส่วนของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้านั้น รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2009 ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ขนาดตลาดยังเล็ก และยังไม่ได้ผลิตแบบปริมาณมาก ทำให้ราคาต่อหน่วยยังคงสูงกว่ารถจักรยานยนต์ทั่วไป ความได้เปรียบของไต้หวันคือมีบริษัทที่ประสบความสำเร็จการผลิตรถจักรยานและจักรยานยนต์ที่มีชื่อเสียงเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว และมีความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าได้แก่ มอเตอร์ ตัวควบคุมกระแสไฟฟ้า ตัววัดปริมาณไฟ โมดุลแหล่งไฟ

สำหรับในส่วนของการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะนั้น ไต้หวันมีการกำหนดแผนกลยุทธ์และปฏิบัติการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ ตั้งเป้าหมายในปี 2013 ดำเนินแผนการสาธิตการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ 10 โครงการ กระตุ้นให้มีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า 3,000 คันบนท้องถนน ในปี 2016 ตั้งเป้าหมายไต้หวันผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเกินกว่า 6 หมื่นคัน (รวมส่งออก 15,000 คัน) พัฒนาเทคโนโลยีชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า ผลักดันไต้หวันเป็น 1 ใน 10 ประเทศของโลกที่มีแบรนด์เนมรถยนต์อัจฉริยะของตนเอง ส่งเสริมไต้หวันเป็นประเทศแนวหน้าในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะและเป็นเกาะคาร์บอนต่ำ

อุปสรรคของไต้หวันในปัจจุบันคือจะต้องพัฒนาในด้านการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนให้ดีขึ้น จะต้องจัดตั้งเครือข่ายจุดชาร์ตไฟ หรือจุดเปลี่ยนแบตเตอรึ่ที่เพียงพอ รวมทั้งจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องและจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพรถยนต์ไฟฟ้า

4. สรุปและข้อเสนอแนะ

ไต้หวันมีการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับสูง ในการร่วมมือกับไทยนั้น ผู้ประกอบการของไทยอาจร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเพื่อป้อนให้ไต้หวัน หรือนำเข้าเทคโนโลยีจากไต้หวันทั้งนี้ ผู้ที่สนใจจะติดต่อทางธุรกิจกับผู้ประกอบการไต้หวัน สามารถค้นหารายชื่อและข้อมูลได้จากแหล่งต่าง ๆ ดังนี้

  • Taiwan Electrical and Electronic Manufacturers' Association Tel: +886(2) 8792-6666 Fax:+886(2)8792-6088, Email:teema@teema.org.tw, http://www.teema.org.tw
  • Taiwan External Trade and Development Council Tel: +886 (2) 2725-5200 Fax: +886 (2) 2757-6245 http://www.taiwantrade.com.tw/ สาขาในประเทศไทย Unit 1204, 12th Fl., GPF Witthayu Tower A,93/1 Wireless Road, Pathumwan,Bangkok 10330, Thailand Tel. : +66 (2) 6514470 Fax : +66 (2) 6514472 E-mail : bangkok@taitra.org.tw
  • Taiwan Small & Medium Wind Turbine Association Tel: 886-2-2586-5000#996 Fax: 886-2-2594-6845 เว็บไซต์ http://www.smallwind.org.tw/en_content/profile/about.aspx
  • Taiwan Solar Thermal Energy Association Tel: +886 (4)2461-3899 Fax: + 886(4)2461-2147 E-mail: taiwan.solar85@msa.hinet.net http://www.taiwansolar.org.tw/member.php
ข้อมูลอ้างอิง

1. เว็บไซต์ Taiwan International Green Industry Show, http://www.greentaiwan.tw/en_US/index.html

2. บทความเทคโนโลยีสีเขียวสร้างโอกาสธุรกิจร้อนแรง ไต้หวันมีศักยภาพในการแข่งขัน(-2011/05/18 ), Taiwan Electrical and Electronic Manufacturers' Association

3.บทความแผนพัฒนาอุตสหกรรมพลังงานสีเขียว รายงานเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ปี 2011 Science & Technology Policy Research and Information Center, NARL

รายงานโดย : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)

โทร. 886-2-2723 1800 โทรสาร. 886-2-2723 1821

E-mail: thaicom.taipei@msa.hinet.net

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ