รู้จักผู้บริโภคอินเดียก่อนบุกตลาดอินเดีย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 26, 2012 11:27 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีนด้วยจำนวนประชากร 1,210 ล้านคน และเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีนอีกเช่นกัน โดยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องมาหลายปี แม้แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอย การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียเป็นผลมาจากการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก โดยมีการคาดการณ์ว่าภายใน 5 ปี ถ้าดูจาก GDP อินเดียจะเป็นประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

ประชากรจำนวนมหาศาลของอินเดีย นอกจากจะเป็นแหล่งทรัพยากรมนุษย์แล้ว ยังเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่อีกด้วย โดยผู้บริโภคอินเดียจำนวน 1,210 ล้านคน แบ่งเป็นเพศชายร้อยละ 52 และเพศหญิงร้อยละ 48 อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ร้อยละ 30 และในพื้นที่ชนบทร้อยละ 70 ผู้บริโภคอินเดียร้อยละ 64.6 มีอายุอยู่ในช่วง 15-64 ปีซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้และใช้จ่ายเงินในการบริโภค (Active Consumer Group) โดยเพศชายร้อยละ 33 และเพศหญิงร้อยละ 31 มีอายุอยู่ในช่วงดังกล่าว ทั้งนี้ กลุ่มผู้บริโภคที่สำคัญที่สุดในการใช้จ่ายเงิน คือ กลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุอยู่ในช่วง 26-35 ปี ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 25 ของกลุ่ม Active Consumer Group และคิดเป็นร้อยละ 16.2 ของผู้บริโภคอินเดียทั้งหมดหรือประมาณ 196 ล้านคน (3 เท่าของประชากรของประเทศไทยทั้งประเทศ) อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากรายได้ที่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ (Disposable Income) จะพบว่าประเทศอินเดียมีผู้บริโภคที่เป็นคนชั้นกลางที่เข้มแข็งและพร้อมจะจับจ่ายใช้สอยถึงประมาณ 300 ล้านคน และคนกลุ่มนี้ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอัตราสูงตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ผู้บริโภคอินเดียมีฐานะดีกว่าที่คิด

ในปีงบประมาณ 2553-2554 (1 เมษายน 2553-31 มีนาคม 2554) ขนาดเศรษฐกิจของอินเดียอยู่ที่ 73 ล้านล้านรูปีเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 19.1 รายได้เฉลี่ยของผู้บริโภคอินเดีย (Per Capita Income) อยู่ที่ 54,835 รูปีต่อปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 จาก 46,492 รูปีต่อปีในปีงบประมาณ 2552-2553 ทั้งนี้ ผู้บริโภคอินเดียกว่า 40 ล้านคนมีเงินเดือนสูงกว่าเดือนละ 74,750 รูปี (ประมาณ 50,000 บาท) และคาดว่าจำนวนผู้บริโภคดังกล่าวจะเพิ่มจำนวนเป็น 140 ล้านคนในปีงบประมาณ 2554-2555 นี้ จากการสำรวจของบริษัท McKinsey & Co. พบว่ารายได้ที่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้เฉลี่ยต่อครอบครัว (Average Household Disposable Income) ของผู้บริโภคอินเดียได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปีละ 113,744 รูปี (ประมาณ 76,000 บาท) ในปี 2548 คาดว่าจะขึ้นไปถึง 318,896 รูปี (ประมาณ 213,300 บาท) ในปี 2568 โดยมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.3 ต่อปีเทียบกับในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาที่มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.6 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยของประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นในช่วงเดียวกัน พบว่าทั้งสองประเทศมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.5 และ 0.25 ต่อปีเท่านั้นตามลำดับ

จากการศึกษาของศูนย์วิจัยผู้บริโภคมหภาค (CMCR: Centre for Macro Consumer Research) ภายใต้สภาการวิจัยเศรษฐกิจประยุกต์แห่งชาติ (NCAER: National Council of Applied Economic Research) พบปรากฏการณ์ที่สนใจในตลาดอินเดีย คือ ในช่วงสิ้นปีงบประมาณ 2552-2553 ครัวเรือนที่มีรายได้สูง (High-Income Household) ของอินเดียได้เพิ่มขึ้นจนมีจำนวนมากกว่าจำนวนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ (LowIncome Household) โดยจำนวนครัวเรือนที่มีรายได้สูงซึ่งหมายถึงครัวเรือนที่มีรายได้เกินปีละ 1.8 แสนรูปีมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 46.7 ล้านครัวเรือน แซงหน้าครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำซึ่งหมายถึงครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 40,000 รูปีที่มีจำนวน 41 ล้านครัวเรือน ส่วนที่เหลือจะเป็นครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลาง คือ มีรายได้ต่อปีระหว่าง 40,000 รูปีถึง 1.8 แสนรูปีซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 140.7 ล้านครัวเรือน ทั้งนี้ แรงงานวัยหนุ่มสาวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของอินเดียเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมทั้งส่งผลให้โครงสร้างรายได้ของอินเดียเปลี่ยนไปด้วย โดยผู้บริโภคที่อยู่ในวัยทำงาน คือ ช่วงอายุ 26-35 ปี เป็นกลุ่มที่สำคัญที่สุดของอินเดียคิดเป็นร้อยละ 68 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดและสามารถทำงานสร้างรายได้คิดเป็นร้อยละ 61 ของรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีหลังที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจของอินเดียเกิดการชะลอตัวทำให้กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ระดับปานกลางได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่ปรากฏว่าไม่ได้ส่งผลต่อการขยายตัวของกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงเลย โดยกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงกลับมีการขยายตัวเพิ่มจำนวนจากร้อยละ 16.8 เป็นร้อยละ 20.5 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในช่วงสองปีที่ผ่านมา ส่วนกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกลับลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 21.1 เหลือร้อยละ 17.9 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในช่วงระยะเวลาเดียวกัน นอกจากนั้น สภาการวิจัยเศรษฐกิจประยุกต์แห่งชาติยังได้ประมาณการจำนวนครัวเรือนที่มีรายได้ระหว่าง 200,000-1,000,000 รูปีต่อปี (ซึ่งตามคำจำกัดความของธนาคารโลกจะเรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่มชนชั้นกลาง) ว่ามีจำนวน 28.4 ล้านครัวเรือนในช่วงปีงบประมาณ 2552-2553

ผู้บริโภคอินเดียใช้จ่ายกันอย่างไร

จากการสำรวจการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคอินเดีย โดยกระทรวงสถิติอินเดีย (Ministry of Statistics and Program Implementation) ครั้งล่าสุดในช่วงเดือนกรกฎาคม 2552มิถุนายน 2553 พบว่าผู้บริโภคอินเดียในเขตเมืองมีรายจ่ายต่อคนเฉลี่ยเดือนละ 1,984.46 รูปี ในขณะที่ผู้บริโภคอินเดียในพื้นที่ชนบทมีรายจ่ายต่อคนเฉลี่ยเดือนละ 1,053.64 รูปีเท่านั้น นั่นคือ ระดับการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเขตเมืองสูงกว่าผู้บริโภคในพื้นที่ชนบทถึงร้อยละ 88 นอกจากความแตกต่างระหว่างเขตเมืองกับพื้นที่ชนบทแล้ว ยังมีความแตกต่างระหว่างรัฐต่างๆอีกด้วย เนื่องจากอินเดียปกครองในรูปแบบสาธารณรัฐที่แต่ละรัฐจะมีรัฐบาลปกครองและบริหารรัฐของตนเอง รวมทั้งแต่ละรัฐก็มีฐานะทางเศรษฐกิจแตกต่างกันด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติในรัฐ นโยบายของรัฐ พื้นที่ตั้งของรัฐ เป็นต้น ตัวอย่างที่ชัดที่สุด คือ การใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคในพื้นที่ชนบทในรัฐเกรละ (Kerala) ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 1,835 รูปี ในขณะที่ผู้บริโภคในพื้นที่ชนบทในรัฐพิหาร (Bihar) มีการใช้จ่ายเงินเพียงเดือนละ 780 รูปีเท่านั้น

ผลจากการสำรวจพบว่ารัฐที่ผู้บริโภคในพื้นที่ชนบทมีรายจ่ายต่อเดือนสูงที่สุด คือ รัฐ เกรละ (Kerala) โดยผู้บริโภคมีรายจ่ายเดือนละ 1,835 รูปี ซึ่งค่าเฉลี่ยดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยรายจ่ายต่อเดือนในเขตเมืองของหลายรัฐ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผู้บริโภคในรัฐนี้อย่างเด่นชัด ส่วนรัฐที่ผู้บริโภคในพื้นที่ชนบทมีรายจ่ายต่อเดือนต่ำสุด คือ รัฐพิหาร (Bihar) โดยผู้บริโภคมีรายจ่ายต่อเดือนเพียง 780 รูปีเท่านั้น สำหรับในเขตเมือง รัฐที่ผู้บริโภคมีรายจ่ายต่อเดือนสูงที่สุด คือ รัฐมหาราษฎระ (Maharashtra) โดยผู้บริโภคมีรายจ่ายเดือนละ 2,437 รูปี รองลงมาคือ รัฐเกรละ (Kerala) เดือนละ 2,413 รูปี ส่วนรัฐที่ผู้บริโภคในเขตเมืองมีรายจ่ายต่ำที่สุด คือ รัฐพิหาร (Bihar) ซึ่งผู้บริโภคมีรายจ่ายต่อเดือนเพียง 1,238 รูปี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของผู้บริโภคในพื้นที่ชนบทของรัฐเกรละ (Kerala) ด้วยซ้ำ จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐพิหาร (Bihar) เป็นรัฐที่ยากจนที่สุดรัฐหนึ่งของอินเดีย

ในแง่การเลือกใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคอินเดียพบว่าผู้บริโภคในพื้นที่ชนบทจะใช้จ่ายเงินส่วนใหญ่สำหรับซื้ออาหาร โดยยิ่งค่าเฉลี่ยของรายจ่ายต่อเดือนยิ่งต่ำ สัดส่วนของการใช้จ่ายเงินเพื่อซื้ออาหารจะยิ่งสูงขึ้น จากการสำรวจพบว่าผู้บริโภคในพื้นที่ชนบทจะใช้จ่ายเงินเพื่อซื้ออาหารถึงร้อยละ 57 ในขณะที่ผู้บริโภคในเขตเมืองจะใช้จ่ายเงินเพื่อซื้ออาหารในสัดส่วนที่ต่ำกว่าคือ ร้อยละ 44.4 สาเหตุที่ทำให้สัดส่วนแตกต่างกันมากเป็นเพราะผู้บริโภคในเขตเมืองมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าผู้บริโภคในพื้นที่ชนบท จึงใช้จ่ายเงินสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ การศึกษา เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเลกทรอนิกส์ เป็นต้น ในขณะที่ผู้บริโภคในพื้นที่ชนบทจะให้ความสนใจกับความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) เป็นหลักเนื่องจากมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า จึงต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยสี่มากกว่าสินค้าฟุ่มเฟือย

ปัจจัยผลักดันการบริโภคในประเทศอินเดีย

นอกจากประเด็นเรื่องรายได้เฉลี่ยต่อคนและรายจ่ายเฉลี่ยรายเดือนต่อคนแล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้การบริโภคในประเทศอินเดียพุ่งขึ้นต่อไปอีก คือ

1.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรประเทศอินเดียมีค่ามัธยฐาน (Median) ของอายุประชากรอยู่ที่ 24 ปี ซึ่งถือเป็นค่าที่ต่ำที่สุดในโลก นั่นหมายความว่าอินเดียมีผู้บริโภคที่มีอายุเฉลี่ยต่ำที่สุดในโลก และยังเป็นประเทศที่มีกลุ่มผู้บริโภครุ่นเยาว์มากที่สุดในโลกด้วย ทั้งนี้ โครงสร้างประชากรที่สำคัญของอินเดีย คือ ประชากรที่มีอายุระหว่าง 20-49 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่อยู่ในวัยทำงานและมีกำลังซื้อ ซึ่งประชากรหรือผู้บริโภคกลุ่มนี้นี่เองที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้การบริโภคภายในประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว

2.การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวอินเดียเปลี่ยนแปลงไป อย่างมากและเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับโลกตะวันตก เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในอินเดีย ประกอบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น ระดับการศึกษาดีขึ้น รวมทั้งการที่คนอินเดียมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น ทำให้รสนิยม ทัศนคติ ความต้องการ และพฤติกรรมของผู้บริโภคอินเดียเปลี่ยนแปลงไปด้วย

3.ตลาดใหม่ในพื้นที่ชนบทการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียทำให้ช่องว่างระหว่างผู้บริโภคในเขตเมืองกับผู้บริโภคในพื้นที่ชนบทเริ่มลดลง ความเจริญได้เริ่มแพร่กระจายไปตามเมืองเล็กๆในพื้นที่ชนบท ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าใหม่ๆเกิดขึ้นมากมายใในเมืองในพื้นที่ชนบท บริษัทต่างๆเริ่มพุ่งเป้าไปที่ตลาดในพื้นที่ชนบทซึ่งยังมีผู้บริโภคอีกร้อยละ 70 รอคอยที่จะใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าสมัยใหม่ ตลาดใหม่นี้จึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงมาก

4.การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้า เมื่อผู้บริโภคมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นพฤติกรรม การเลือกซื้อสินค้าก็เริ่มเปลี่ยนไป จากที่เคยมุ่งเน้นเฉพาะสินค้าที่มีความจำเป็น ((Necessities) ก็เปลี่ยนเป็นเลือกซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยที่เหมาะกับวิถีชีวิตของผู้บริโภคมากขึ้น (Lifestyle Products)

5.ผู้บริโภคอินเดียเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น การเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเพื่อธุรกิจหรือเพื่อท่องเที่ยว ทำให้ผู้บริโภคอินเดียได้มีโอกาสเปิดโลกและนำสิ่งที่ได้พบเห็นมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เป็นอยู่ในประเทศอินเดียซึ่งยังล้าหลังอยู่มากโดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ทำให้ภาคธุรกิจของอินเดียต้องปรับตัวตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อนึ่ง การเดินทางไปต่างประเทศของผู้บริโภคอินเดียมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากค่าโดยสารเครื่องบินภายในประเทศมีราคาสูงมาก ผู้บริโภคอินเดียจำนวนมากจึงนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากกว่า โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และประเทศไทย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ