สถานการณ์สินค้าอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น เดือนมกราคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 26, 2012 14:38 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถานการณ์การผลิตในประเทศ

สมาคมอิเล็คทรอนิกส์ และสารสนเทศญี่ปุ่น (JEITA) ได้ประกาศคาดการสถานการณ์การผลิตสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ในประเทศในปี 2012 จะไม่เพิ่มขึ้น โดยสาเหตุหลักจากผลกระทบเหตุการณ์แผ่นดินไหว และน้ำท่วมในประเทศไทย แต่การผลิตในต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2010 ร้อยละ 70 เป็นร้อยละ 72 ในปี 2011 และร้อยละ 73 ในปี 2012 การพึ่งพาการผลิตในต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 59 ในปี 2010 เป็นร้อยละ 62 ในปี 2012

สัดส่วนในตลาดโลกลดลงอยู่ที่ร้อยละ 19.2 มูลค่าการผลิต 2.04 แสนพันล้านเยน (2.5 พันพันล้านเหรียญสหรัฐ) คาดว่าในปี 2012 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.14 แสนพันล้านเยนจากการเติบโตของ Cloud Computing และตลาดสมาร์ทโฟนที่ส่งผลให้มีความต้องการเซมิคอนดักเตอร์และส่วนประกอบอิเล็คทรอนิกส์เพิ่มขึ้น แต่ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศคาดว่าจะลดลงถึงร้อยละ 15.8 อยู่ที่ 3.4 พันล้านเยน ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 1998 จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว น้ำท่วมในไทย และการแข็งค่าของเงินเยนส่งผลต่อการผลิตรถยนต์ และสินค้าอิเล็คทรอนิกส์

หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวทำให้เกิดความเสียหายต่อโรงไฟฟ้าในเขตคันโต และ โทโฮกุ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนไฟฟ้า ซึ่งกระทบกับการผลิตสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ ในส่วนของเขตคันไซซึ่งเป็นศูนย์ที่ตั้งของบริษัทชั้นนำ เช่น Panasonic Sharp Kyocera และ Nintendo บริษัท Kansai Electric ได้ประกาศให้ผู้ใช้ลดปริมาณการใช้พลังงานลงมากกว่าร้อยละ 10 ตั้งแต่เดือนธันวาคม เช่นเดียวกับเขตคิวชู ซึ่งมีโรงงานรถยนต์ และเซมิคอนดักเตอร์ บริษัท Kyushu Electric ขอให้ผู้ใช้ลดปริมาณลงร้อยละ 5

ผลจากการขาดแคลนไฟฟ้าภายในประเทศ ทำให้บริษัทผู้ผลิตจำต้องเร่งย้ายการผลิตไปยังต่างประเทศ และพยายามหาเทคโนโลยี่ที่จะสามารถประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานที่มีให้ได้ประโยชน์สูงสุด บริษัท Hitachi และ Toshiba เห็นว่า ธุรกิจการบริหารจัดการพลังงานอย่างชาญฉลาดจะเป็นธุรกิจที่สดใสในอนาคต Toshiba ได้ซื้อบริษัท Landis+Gyr ของสวีเดน ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดสมาร์ท มิเตอร์ (smart meter) สูงสุดในโลก และเริ่มจำหน่ายบ้านสมาร์ทโฮมในสหรัฐอเมริกา Panasonic เช่นกัน เสนอระบบการบริหารจัดการพลังงานเริ่มจากในบ้าน ในตึก และจนถึงในเมือง ในเดือนนี้บริษัทจะควบรวมกิจการของ Sanyo อย่างสมบูรณ์ทำให้เป็นผู้นำในเรื่องอุปกรณ์พลังงาน จากโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ลิเธียม ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์

2. ภาวะการตลาดในประเทศ

2.1 สมาร์ทโฟน นับเป็นสินค้าที่ร้อนแรงที่สุดในตลาด ในปี 2010 มีเฉพาะ iPhone ของ Apple และ Xpeia ของ Sony Ericsson แต่ปัจจุบันสมาร์ทโฟนมีหลายยี่ห้อ สัดส่วน ของสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของตลาดโทรศัพท์มือถือ โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า จากประมาณ 5 ล้านเครื่องในปี 2010 เป็น 20 ล้านเครื่องในปี 2011 และคาดว่าในปี 2012 จะสูงถึง 28.7 ล้านเครื่อง ส่งผลต่อความต้องการส่วนประกอบอิเล็คทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้น

2.2 ตลาดระบบนำร่องในรถยนต์หรือ GPS ในประเทศญี่ปุ่นมียอดจำหน่าย (เมย.53 -มีค.54) จำนวน 5.08 ล้านยูนิต โดยผู้ผลิตได้มีการพัฒนาระบบเพื่อให้สามารถใช้กับสมาร์ทโฟนได้ มีการพัฒนาระบบให้เป็นเหมือนศูนย์รวมข้อมูลสามารถเชื่อมกับอินเตอร์เน็ต ระบบจราจรต่างๆ บริษัท Alpine Electronics ได้เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนา GPS ที่สหรัฐอเมริกาเพื่อพัฒนาโปรแกรมเพื่อใช้ Cloud Computing โดยเสนอสินค้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างรถยนต์ และอินเตอร์เน็ต สามารถดาวน์โหลดข้อมูลแผนที่ล่าสุด จะเริ่มวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาในปี 2013 และส่งมาที่ญี่ปุ่น และยุโรป ส่วนบริษัท Clarion ร่วมกับ Hitachi พัฒนาเครื่องติดตั้งในรถยนต์ที่มีข้อมูลต่างๆ ทั้งข้อมูลจราจร รวมทั้งความบันเทิง เช่น รายการเพลง โดยจะจำหน่ายในฤดูใบไม้ผลินี้ และบริษัท Pioneer กำลังพัฒนาระบบที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า โดยระบบนี้สามารถคำนวณแบตเตอรี่ที่เหลือ และจะแสดงเส้นทางว่าเส้นทางใดที่จะใช้พลังงานน้อยที่สุดในการที่จะไปถึงที่หมาย นอกจากนี้ยังจะพัฒนาระบบ GPS ที่มีความเที่ยงตรงกว่า GPS ในสมาร์ทโฟน และให้ข้อมูลแผนที่ได้แม้ในที่ที่เป็นภูเขาที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์

2.3 ผลจากเหตุการณ์สึนามิที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นประหยัดการใช้ไฟฟ้า ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของประชากร ผู้หญิงออกมาทำงานมากขึ้น และจำนวนผู้ที่ใช้ชีวิตโสดมีมากขึ้นทำให้มีความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ผู้ผลิตทั้งหลายต่างพยายามพัฒนาสินค้าที่ "ฉลาด" ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ เช่น บริษัท Toshiba ได้ผลิตเครื่องปรับอากาศที่มี เครื่องควบคุมอุณหภูมิที่สามารถเพิ่มขึ้น หรือลดลงตามคำสั่งของผู้ใช้ โดยใช้รีโมทที่มีไมโครโฟนติดตั้งอยู่ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า และส่งไปที่เครื่องปรับอากาศ โดยใช้อินฟราเรด สามารถตอบสนองคำสั่ง "ร้อน" "เย็น" และคำสั่งอื่นๆจำนวน 26 คำรวมทั้ง "เปิด"และ "ปิด" เครื่องปรับอากาศนี้เด็ก และผู้สูงอายุสามารถใช้ได้ง่าย

ส่วน Hitachi ผลิตตู้เย็นที่มีตัววัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์ ที่สามารถปรับความเย็นตามชนิดของอาหาร เมื่อแช่ผัก อุณหภูมิจะปรับเป็นที่ 1 องศาเซลเซียส ที่เป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดในการเก็บรักษาผัก และถ้าเป็นเนื้อสัตว์หรืออาหารชนิดอื่น อุณหภูมิจะปรับเป็น - 1 องศาเซลเซียส ส่วน Panasonic ใช้เทคโนโลยี่ Econavi ในเครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น โดยเครื่องปรับอากาศจะสามารถจับความเคลื่อนไหวของคน และจะเป่าไปทางนั้น ส่วนเครื่องซักผ้าสามารถปรับระยะเวลาปั่นผ้าขึ้นอยู่กับน้ำหนักผ้าที่เปลี่ยนไปจำนวนเท่าใดจากเวลาที่เริ่มซักจนถึงเริ่มปั่น

2.4 เหตุการณ์สึนามิ ยังทำให้สินค้าจักรยานไฟฟ้าได้รับความนิยมจากการที่การเดินทางโดยทางรถไฟขัดข้อง ผู้สูงอายุ และบรรดาแม่บ้าน มีกระแสความนิยมใช้จักรยานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รุ่นที่สามารถซ้อนลูกได้ 2 คน เป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะในหมู่คุณแม่ที่มีลูกระดับอนุบาล ส่วนผู้สูงอายุมีความเห็นว่าง่ายในการขี่ระยะทางไกล หรือขึ้นทางชัน

ยอดจำหน่ายจักรยานไฟฟ้า ที่ร้านขายปลีก Asahi จำนวน 266 สาขาทั่วประเทศ เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าจักรยานธรรมดา เช่นเดียวกับที่ Aeon ซึ่งยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 20

ส่วนบริษัท Panasonic ได้ผลิตจักรยานรุ่นที่มีแบตเตอรี่ที่สามารถขี่ได้ครั้งละ 40-60 กิโลเมตร ทั้งนี้ ยอดจำหน่ายจักรยานไฟฟ้าทั่วประเทศในปี 2010 จำนวน 380,000 คัน และเพิ่มเป็น 420,000 คันในปี 2011

3. ความเคลื่อนไหวของบริษัท

3.1 บริษัท Cannon วางแผนจะสร้างโรงงานผลิตตลับบรรจุหมึกพิมพ์ (Toner cartridge) ใช้กับเครื่องพิมพ์เลเซอร์ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี 2013 โดยจะลงทุน 1 หมื่นล้านเยน และใช้หุ่นยนต์ในการผลิต นับเป็นแห่งที่ 2 ของบริษัทที่ใช้หุ่นยนต์ทั้งหมด โดยโรงงานแห่งแรกอยู่ที่สหรัฐอเมริกา บริษัทคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนการผลิตจากการใช้แรงงานคน และการขนส่งซึ่งเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น

Cannon ได้ซื้อบริษัทเครื่องพิมพ์ Oce ของเนเธอร์แลนด์ในปี 2010 และกำลังผลิตอุปกรณ์สำนักงานส่งไปขายที่รัสเซีย และยุโรปตะวันออก ปัจจุบันมีโรงงานตลับบรรจุหมึกพิมพ์ที่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส จีน และเวียดนาม

3.2 Panasonic จะจำหน่ายโทรทัศน์ LCD ขนาด 47 และ 55 นิ้วในสหรัฐอเมริกา และ ในญี่ปุ่น ซึ่งแต่เดิมบริษัทจะผลิตโทรทัศน์ขนาดใหญ่กว่า 42 นิ้วเฉพาะจอพลาสม่าเท่านั้น โดยโทรทัศน์ LCD นี้จะมีกรอบเล็กกว่า 1 เซนติเมตร ออกแบบให้เข้ากับการตกแต่งห้อง และบริษัท จะหันไปผลิตโทรทัศน์จอพลาสม่าที่ขนาดมากกว่า 65 นิ้วขึ้นไป และเน้นคุณภาพความคมชัดของภาพ

4. ภาวะการส่งออกและนำเข้าสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ของญี่ปุ่น

ยอดการส่งออกสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ลดลงอย่างต่อเนื่องในเดือนพฤศจิกายน 2554 มีมูลค่า 6.62 แสนล้านเยน ลดลง ร้อยละ 16.1 จากเดือนพฤศจิกายน 2553 โดยสินค้าเกือบทุกหมวดปรับตัวลดลง ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ 50.1 อุปกรณ์สื่อสารลดลงร้อยละ 7.1 คอมพิวเตอร์ ลดลงร้อยละ 10.6 ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 28.1 เซมิคอนดักเตอร์ ลดลงร้อยละ 25.6 ส่วนสินค้าที่เพิ่มขึ้นมีเพียง 2 หมวดหลัก คือ ระบบโทรคมนาคม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6 และตัวแปรไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5

ส่วนการนำเข้าสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ในเดือนตุลาคม 2554 มีการปรับตัวลดลงมูลค่า 6.86 แสนล้านเยน โดยลดลงร้อยละ 0.4 จากเดือนตุลาคม ปี 2553 การนำเข้าสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ได้แก่ ระบบสื่อสารวิทยุ เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.1 หลอดไฟ เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.5 ตัวแปรไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 ส่วนสินค้าที่ลดลง เช่น อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ 24.9 ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 14.5 แผงวงจรไฟฟ้าลดลงร้อยละ 19.5

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ นครโอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ