ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ/การค้าของสหราชอาณาจักร เดือนธันวาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 26, 2012 15:58 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าของสหราชอาณาจักร

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอนขอรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าของสหราชอาณาจักรในช่วงที่ผ่านมาประจำเดือนธันวาคม 2554 สรุปได้ดังนี้

1.1 สำนักงานสถิติสหราชอาณาจักร (UK National Statistics) ได้ประกาศข้อมูลตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรล่าสุดสำหรับไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 โดยประกาศเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2554 โดยได้ปรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 เป็นร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 ที่ขยายตัวในอัตราร้อยละ 0.1 และไตรมาสที่ 1 ที่ขยายตัวในอัตราร้อยละ 0.4 ทั้งนี้ สาเหตุของการปรับเพิ่มสามารถพิจารณาได้ ดังนี้

ด้านการผลิต (supply side) : การผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของสหราชอาณาจักร มีการขยายตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 15.4 ของจีดีพี ขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 0.4 เพิ่มขึ้นจากจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 (ผลกระทบจากเหตุการณ์ สึนามิในประเทศญี่ปุ่น) ถึงแม้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นแต่ยังน้อยกว่าที่คาดไว้ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 เนื่องจากการส่งออกได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิขของประเทศคู่ค้าในภูมิภาคยุโรป ในขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศก็ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศสหราชอาณาจักรด้วยเช่นกัน สินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญได้แก่ machine tools, electric power equipment, automation equipment, railroad equipment, shipbuilding, aircraft, motor vehicles and parts, electronics and communications equipment, metals, chemicals, coal, petroleum, paper and paper products, food processing, textiles, clothing และ other consumer goods เป็นต้น

การผลิตภาคบริการซึ่งเป็นสัดส่วนร้อยละ 76.3 ของจีดีพีการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของ สหราชอาณาจักรมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.6 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในอัตราร้อยละ 0.7 ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบให้ภาคบริการด้านคมนาคมมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจึงเกิดการชะลอตัวลงเล็กน้อย

ในขณะที่ภาคการก่อสร้างซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 7.6 ของจีดีพีมีการหดตัวลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.2 จากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวลงร้อยละ -0.6 และการผลิตภาคการเกษตรมีสัดส่วนร้อยละ 0.7 ของจีดีพีมีการขยายตัวในอัตราร้อยละ 0.4 สินค้าเกษตรที่สำคัญได้แก่ cereals, oilseed, potatoes, vegetables, cattle, sheep, poultry และ fish

ดังนั้น ภาพรวมเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในไตรมาศ 3 ปี 2554 เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะขยายตัวจากไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 และขยายตัวเท่ากับช่วงเดียวกันของปี 53 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 เช่นกัน

ด้านการบริโภค (Demand side) การบริโภคของภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนในอัตราร้อยละ 63 ของจีดีพีมีการขยายตัวลดลงต่ำกว่าร้อยละ 50 ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2554 ติดต่อกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในไตรมาสที่ 4 การผลิตของภาคอุตสาหกรรมแทบไม่มีการขยายตัว ยอดคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ชะลอตัวตามการบริโภคภายในที่หดตัวลง ประกอบกับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศก็ปรับตัวลดลงด้วยก่อให้เกิดปัญหาการส่งออกสินค้าและบริการที่มีสัดส่วนร้อยละ 27 ของจีดีพี โดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่เป็นคู่ค้าสำคัญของสหราชอาณาจักรทำให้ยอดการส่งออกชะลอตัว ประกอบกับปัญหาเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศลดลงอย่างมาก

1.2 เครื่องชี้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรยังคงมีความเปราะบางสูง โดยปัญหาที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจที่สำคัญคือ

อัตราการว่างงาน ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 8.3 ของกำลังแรงงานโดยผลสำรวจในช่วงเดือนตุลาคม 2554 พบว่ามีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 2.64 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากงวดสำรวจในเดือนกรกฎาคม 2554 ที่มีผู้ว่างงาน 2.59 ล้านคน ซึ่งจำนวนคนที่ว่างงานดังกล่าวเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปีนับตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนอายุระหว่าง 16-24 ปี มีจำนวนมากถึง 1.03 ล้านคนหรือร้อยละ 22

เงินเฟ้อ สำหรับราคาสินค้าทั่วไป (headline inflation) (Consumer Price Index: CPI) ซึ่งพุ่งสูงขึ้นมาโดยตลอดโดยเดือนตุลาคมร้อยละ 5.2 ได้ปรับตัวลดลงในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 4.8 สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อของราคาสินค้าขายปลีก (retail price index: RPI) ในเดือนพฤศจิกายนปรับลดลงอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ลดลงจากเดือนตุลาคมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.4 สาเหตุการปรับตัวของเงินเฟ้อที่ลดลงเนื่องจากราคาสินค้าในหมวดอาหารปรับตัวลดลงในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ลดลงจากเดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 4.6 การปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรแสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เนื่องจากผลของการที่รัฐบาลได้ปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อต้นปี 2554 จากเดิมร้อยละ 17.5 เป็นร้อยละ 20 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรปรับตัวลดลง

ดุลการค้า สินค้าและบริการในเดือนตุลาคม 2554 ของสหราชอาณาจักรปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยแต่ยังขาดดุลอยู่ที่ 1.6 พันล้านปอนด์ ลดลงจากเดือนกันยายน 2554 ที่ขาดดุล 4.3 พันล้านปอนด์ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาค่าเงินปอนด์อ่อนตัวลงจึงทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 หรือ 26.5 พันล้านปอนด์ ในส่วนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.5 หรือ 34.1 พันล้านปอนด์ ขาดดุลการค้าในเดือนตุลาคม 2554 เป็นเงิน 7.6 พันล้านปอนด์ ลดลงจากเดือนกันยายนที่ขาดดุล 10.2 พันล้านปอนด์ ในส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าบริการ ในเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ 15.4 พันล้านปอนด์หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ในขณที่การนำเข้าสินค้าบริการอยู่ที่ 9.4 พันล้านปอนด์หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2554 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ทำให้ในเดือนตุลาคมดุลการค้าสินค้าบริการเกินดุลอยู่ที่ 6.0 พันล้านปอนด์ในขณะที่เดือนกันยายนขาดดุล 5.9 พันล้านปอนด์ สินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ manufactured goods, fuels, chemicals, food, beverages และ tobacco เป็นต้น และสินค้านำเข้าที่สำคัญคือ manufactured goods, machinery, fuels; foodstuffs เป็นต้น

2. การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศสหราชอาณาจักร

2.1 รายงานของกระทรวงการเศรษฐกิจและการเงินของสหราชอาณาจักรอยู่ระหว่างการเร่งแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรซึ่งมาจากปัญหาเงินเฟ้อในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูงและปัญหาอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลตัดลดงบประมาณและค่าใช้จ่ายส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรลดลงในปี 2555

2.2 รายงาน Budget Report 2011 ระบุแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลสหราชอาณาจักรในการปรับลดหนี้สาธารณะ เนื่องจากรัฐบาลมีรายจ่ายจำนวนมากในด้าน Social protection ด้านสาธารณสุข ดอกเบี้ยเงินกู้ด้านการศึกษา และด้านป้องกันประเทศ ตามลำดับ โดยรัฐบาลจะใช้นโยบายการคลังแบบหดตัวในการปรับลดรายจ่ายของรัฐบาลและเพิ่มอัตราภาษี VAT จากเดิมร้อยละ 17.50 เป็นร้อยละ 20

3. สถานการณ์การณ์นำเข้า

สถิติข้อมูลการนำเข้าสินค้ามายังสหราชอาณาจักรล่าสุดเป็นตัวเลขเดือนตุลาคม 2554 ระบุว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าจากไทยยังคงอยู่ในอันดับที่ 33 ด้วยมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3,285.631 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 2553 ร้อยละ 7.59 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 รายการสินค้านำเข้าสำคัญจากไทย ได้แก่ (1) เนื้อไก่/เนื้อปลา/กุ้งแปรรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 (2) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.01 (3) เครื่องจักร เช่น เครื่องพิมพ์ เครื่องทำความเย็น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลดลง 3.79 (4) เครื่องจักรไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 13.20 (5) อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.56 และ (6) ยาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.11 เป็นต้น

3. ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2554/2555

กระทรวงการเศรษฐกิจและการเงินของสหราชอาณาจักร (The UK’s economics & finance ministry) หรือ HM Treasury ได้ประกาศเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 ประเมินว่าเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะขยายตัวแค่ร้อยละ 0.9 ในปี 2554 และ 0.7 ในปี 2555 ซึ่งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจน้อยกว่าปี 2553 ที่มีการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.8 โดยมีสาเหตุมาจากการบริโภคภาคประชาชน (ร้อยละ 63 ของ GDP) จะหดตัวลงร้อยละ -1.1 ในปี 2554 และ 0.2 ในปี 2555 ปัญหาเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงประกอบกับอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรัฐบาลตัดลดงบประมาณและรายจ่ายเพื่อการลงทุนและการบริโภคของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรลดลงในปี 2555 อีกทั้ง การส่งออกสินค้าและบริการของ สหราชอาณาจักรยังจะประสบปัญหาในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่ค้ารายสำคัญในยุโรปที่กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจากวิกฤติหนี้สาธารณะซึ่งจะทำให้ภาคการส่งออกชะลอตัวโดยจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 4 ในปี 2554 และร้อยละ 3.1 ในปี 2555 ในขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็ยังเพิ่มขึ้นโดยปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 62.6 ของจีดีพี

ในส่วนของคาดการณ์โดยภาคเอกชน Confederation of British Industry (CBI) ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนที่มีความสำคัญที่สุดในสหราชอาณาจักร ได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรว่า สถานการณ์เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในปี 2554 จะขยายตัว ที่ร้อยละ 1.1 ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ร้อยละ 1.3 และในปี 2555 เศรษฐกิจจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.1

4. โอกาสทางการค้าของสินค้าไทย

จากปัญหาเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงประกอบกับอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ส่งผลให้กำลังในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคชาวอังกฤษลดลง รวมทั้งรัฐบาลมีนโยบายในการตัดลดค่าใช้จ่ายภาครัฐและเงินงบประมาณรายจ่ายเพื่อลดการขาดดุลทางการคลังของรัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรขยายตัวในอัตราที่ชะลอ ทำให้ประชาชนต้องประหยัดค่าใช้จ่ายในการครองชีพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สินค้าอาหารและอาหารทะเลยังคงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวอังกฤษ

นอกจากนี้ เนื่องจากในปี 2555 ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน จะมีมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 30 ประจำปีค.ศ. 2012 ที่จะจัดขึ้นในมหานครลอนดอน นักกีฬาและผู้ชมจากต่างประเทศจำนวนมากจะเดินทางมายังสหราชอาณาจักร จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ส่งออกไทยที่จะติดต่อเจรจาซื้อขายสินค้ากับผู้นำเข้าอังกฤษโดยจะสามารถเพิ่มปริมาณและมูลค่าการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น สินค้าไทยที่มีโอกาสขยายตัวและเป็นที่ต้องการในช่วงงานดังกล่าวได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม ของขวัญและของที่ระลึก และอุปกรณ์กีฬา เป็นต้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ข้อมูล   tat  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ