หอมแดง (Shallot) ในประเทศอินเดียมีหลากหลายสายพันธุ์และยังมีความคล้ายคลึงกับหอมหัวใหญ่แดง (Red Onion) ซึ่งโดยทั่วไปคนอินเดียมักจะไม่แยกแยะเนื่องจากเป็นพืชตระกูลเดียวกันและมีสีสรรใกล้เคียงกัน บางครั้งก็ใช้ทดแทนกันได้ โดยทั่วไปหอมแดง (Shallot) จะมีขนาดเล็กรูปทรงกลมไปจนถึงทรงรี (Torpedo Shallot) ในขณะที่หอมหัวใหญ่แดง (Red Onion) จะมีขนาดใหญ่กว่าและมีรูปทรงกลม ทั้งนี้ สถิติของรัฐบาลอินเดียไม่ได้แยกหอมแดง (Shallot) ออกมาโดยเฉพาะ แต่จะรวมอยู่ภายใต้หมวดหัวหอม (Onion) เป็นหัวหอมขนาดเล็ก (Small Onion) ภายใต้ชื่อที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น หอมแดงที่เรียกว่า Rose Onion หรือ Krishnapuram Onion จะปลูกในตำบล Kolar รัฐ Karnataka และตำบล Cudappah รัฐ Andhra Pradesh ส่วนหอมแดงที่เรียกว่า Podisu และ Shallot จะปลูกในรัฐ Tamil Nadu รัฐ Maharashtra และเขต Pondicherry เป็นต้น
คนอินเดียนิยมรับประทานหอมแดง (Shallot) และหอมหัวใหญ่แดง (Red Onion) โดยใช้เป็นส่วนผสมสำคัญในอาหารหลายอย่าง รวมทั้งนิยมนำมาดองหรือนำมาหั่นสดๆสำหรับรับประทานเป็นเครื่องแนมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย จนสามารถกล่าวได้ว่าอาหารอินเดียทุกมื้อจะต้องมีเครื่องแนมเป็นหอมแดงดองหรือหอมแดงสดเสิร์ฟมาพร้อมกับน้ำจิ้มชนิดต่างๆด้วยทุกครั้ง ส่วนอินเดียตอนใต้จะนิยมนำหอมแดงมาหั่นเป็นฝอยแล้วเจียวกับน้ำมันเพื่อนำไปใส่ในข้าวต้มหรือซุปและจะนิยมบริโภคหอมแดงมากกว่าหอมหัวใหญ่แดงเนื่องจากหอมแดงจะให้รสชาติเข้มข้นกว่าและหวานกว่า อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปผู้บริโภคอินเดียจะไม่ค่อยเห็นความแตกต่างระหว่างหอมแดง (Shallot) กับหอมหัวใหญ่แดง (Red Onion) ที่มีขนาดเล็ก เนื่องจากหัวหอมทั้งสองชนิดมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากและสามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้ ทั้งนี้ ในประเทศอินเดียส่วนใหญ่มักจะไม่แยกหอมแดงออกจากหอมหัวใหญ่ เช่น ในรัฐมหาราษฎระจะเรียกทั้งหอมแดงและหอมหัวใหญ่ว่า Kanda เหมือนกัน ยกเว้นเฉพาะในอินเดียตอนใต้เท่านั้นที่ผู้บริโภคจะแยกหอมแดง (Shallot) ออกจากหอมหัวใหญ่ (Onion) อย่างชัดเจน โดยหอมแดงที่ผู้บริโภคทางตอนใต้ของอินเดียนิยมมากที่สุด คือ หอมแดงขนาดเล็กประมาณเท่านิ้วมือ
ในประเทศอินเดียจะมีการปลูกหอมแดงในรัฐทางภาคใต้ของประเทศในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ แต่อาจจะมีระยะเวลาแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยในแต่ละเขตที่ทำการเพาะปลูก นอกจากนั้น ยังมีความแตกต่างกันของขนาดของหอมแดงในแต่ละพื้นที่ด้วย เช่น หอมแดงในรัฐมหาราษฏระถ้าปลูกที่เมืองปูเน่ (Pune) จะมีขนาดเล็กประมาณ 20-40 มิลลิเมตร แต่หอมแดงที่ปลูกที่เมืองอาห์เมด นาการ์ (Ahmed Nagar) ในรัฐเดียวกันจะมีขนาดใหญ่กว่า คือ ประมาณ 20-80 มิลลิเมตร เป็นต้น
สถิติของทางการอินเดียไม่ได้แยกหอมแดง (Shallot) ออกจากหัวหอม (Onion) แต่จากการสอบถามผู้เกี่ยวข้องในวงการค้าหอมแดงของอินเดียพบว่าผลผลิตหอมแดงจะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 5 ของผลผลิตหัวหอมทั้งหมด ซึ่งจากสถิติล่าสุดปี 2554-2555 คาดว่าผลผลิตหอมแดง (Shallot) จะอยู่ที่ประมาณ 421,820 ตัน โดยแยกเป็นผลผลิตในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) 291,170 ตัน รัฐกรณาฏกะ (Karnataka) 87,830 ตัน รัฐทมิฬนาดู (Tamil Nadu) 27,820 ตัน และรัฐเกรละ (Kerala) 15,000 ตัน
หอมแดง (Shallot) ในอินเดียส่วนใหญ่จะนิยมบริโภคทางแถบภาคใต้โดยเฉพาะในรัฐเกรละ (Kerala) ซึ่งอาหารของรัฐนี้จะมีรสชาติและกลิ่นที่จัดกว่าอาหารของภาคอื่น ประกอบกับผลผลิตของหอมแดงมีน้อยมากเมื่อเทียบกับผลผลิตของหัวหอม (Onion) ทั้งหมด คือ เพียงร้อยละ 5 ของปริมาณผลผลิตหัวหอมทั้งประเทศ ราคาของหอมแดงจึงสูงกว่าหัวหอมประเภทอื่น ราคาขายส่งหอมแดงในประเทศอินเดียในเดือนมกราคม 2555 จะอยู่ที่ 28-30 รูปีต่อกิโลกรัม (ประมาณ 18-20 บาท) ส่วนราคาขายปลีกจะอยู่ที่ 35 รูปีต่อกิโลกรัม (ประมาณ 23 บาท) สำหรับราคาส่งออก (F.O.B. Price) อยู่ที่ 450 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน
โครงสร้างการกระจายสินค้าหอมแดง (Shallot) ในตลาดอินเดียจากเกษตรกรไปยังผู้บริโภคคนสุดท้ายสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายช่องทาง แต่เนื่องจากส่วนใหญ่จะมีการปลูกหอมแดงกันทางอินเดียตอนใต้ การกระจายสินค้าหอมแดงไปยังรัฐต่างๆของอินเดียจึงมักจะผ่านพ่อค้าคนกลางหลายทอดเนื่องจากระยะทางในการขนส่งห่างไกลกันมากอันเป็นผลมาจากความกว้างใหญ่ของประเทศ
จากสถิติของหน่วยงานสถิติการค้าของอินเดีย (DGCI & S: Directorate General of Commercial Intelligence and Statistics) สังกัดกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดียพบว่าไม่ได้มีการแยกหอมแดง (Shallot) ออกจากหมวดหัวหอมและกระเทียมภายใต้พิกัดศุลกากร 070310 ซึ่งพบว่าอินเดียมีการส่งออกสินค้าในพิกัดดังกล่าวในปี 2553 มูลค่า 273,000 เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากที่เคยส่งออกในปี 2551 ซึ่งมีมูลค่า 112,000 เหรียญสหรัฐฯ และในปี 2552 ซึ่งมีมูลค่า 176,000 เหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ แต่ไม่ปรากฎว่ามีการนำเข้าจากประเทศใดเลย สำหรับประเทศไทยจากฐานข้อมูลดังกล่าวของอินเดียปรากฏว่าไม่มีการนำเข้าส่งออกสินค้าดังกล่าวจากประเทศอินเดียเลย
อย่างไรก็ตาม จากสถิติการนำเข้า-ส่งออกของกรมศุลกากรไทย พบว่ามีการนำเข้าสินค้าประเภทหัวหอมและกระเทียมภายใต้พิกัดศุลกากร 0703 จากอินเดียระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2554 เป็นมูลค่า 30,684,012 บาท (C.I.F.) โดยไม่ได้แยกว่ามีการนำเข้าหอมแดง (Shallot) เป็นมูลค่าเท่าใด โดยสินค้าที่ไทยนำเข้าจากอินเดียมากที่สุด คือ สินค้าประเภทหัวหอมและกระเทียมภายใต้ H.S. Code 07031019 มูลค่า 21,355,655 บาท (C.I.F.) รองลงมา คือ สินค้าภายใต้ H.S. Code 07032090 มูลค่า 9,075,874 บาท (C.I.F.) และสินค้าภายใต้ H.S. Code 07031029 มูลค่า 252,483 บาท (C.I.F.) ส่วนการส่งออกสินค้าประเภทหัวหอม-กระเทียมจากประเทศไทยไปอินเดียมีเพียงประเภทเดียว คือ สินค้าภายใต้ H.S. Code 07032010 มูลค่า 457,920 บาท
ในการนำเข้าสินค้าหอมแดง (Shallot) สู่ประเทศอินเดียนั้น ผู้นำเข้าจะต้องชำระอากรขาเข้า (Import Duty) ร้อยละ 20 ของราคา C.I.F. บวกกับภาษีเทศบาล (Octroi Duty) ของแต่ละรัฐของอินเดีย สำหรับรัฐมหาราษฎระ (Maharashtra) ซึ่งมีมุมไบเป็นเมืองหลวง อัตราภาษีเทศบาลคือ ร้อยละ 3
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ
ที่มา: http://www.depthai.go.th