ยุคสมัยนี้ต้องยอมรับว่า คนกำลังเข้าหาธรรมชาติมากขึ้นทุกวัน คงเป็นเพราะมลพิษสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากฝีมือคนด้วยกันเอง ทำให้มีความพยายามเฟ้นหาสินค้าประเภทธรรมชาติบำบัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรคด้วยสมุนไพรธรรมชาติ ผักไร้สารพิษหรือ "ออร์แกนิค ฟู้ดส์" ซึ่งก็คือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ที่ไม่มีการใช้สารเคมีเข้าไปเกี่ยวข้องตั้งแต่การเตรียมการปลูก การดูแล ไปจนถึงเข้าสู่กระบวนการประกอบอาหาร เรียกว่าตั้งแต่ปลูกไปจนถึงโต๊ะอาหารต้องไม่มีสารเคมีใดๆ อย่างสิ้นเชิง
ปัจจุบันในประเทศจีนมีการปนเปื้อนของสารเคมีในอาหารอยู่มาก ที่ผ่านมามีการตีแผ่เกี่ยวกับสารเคมีที่ปนเปื้อนในอาหาร ข่าวสารเมลามีนปนเปื้อนในนมผง และอาหาร GMO ในประเทศ ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนตระหนักถึงเรื่องที่เกิดขึ้น และมีความวิตกกังวลกับสารปนเปื้อนในอาหารที่บริโภคในชีวิตประจำวัน จึงทำให้กระแสของอาหารออร์แกนิคนั้น เริ่มจะมีคนหันมาสนใจมากขึ้น
อาหารออแกนิกส์ในจีนเพิ่งได้รับความสนใจเมื่อไม่นานมานี้ เรื่องที่คนให้ความสนใจมากที่สุดใน ปี 2008 คือ ข่าวสารเมลามีนปนเปื้อนในนมผง หลังจากนั้นเหล่าบรรดาผู้ประกอบการอาหารออร์แกนิคในจีน ก็เริ่มโปรโมทผลิตภัณฑ์นมผงออร์แกนิคออกมาตีตลาด ผลก็คือยอดขายผลิตภัณฑ์นมผงออร์แกนิคพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก หลังจากนั้นมีการตีแผ่เรื่องสารเคมีปนเปื้อนในอาหารอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ ความเสี่ยงด้านสุขภาพจึงเป็นแรงสนับสนุนกระแสอาหารออร์แกนิคในประเทศจีน แม้ผู้ผลิตสินค้าออร์แกนิคในจีนจะมีอยู่ไม่มากเมื่อเทียบกับขนาดและประชากรของประเทศ แต่เหตุใดจีนถึงถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของประเทศที่มีการปลูกพืชออร์แกนิคมากที่สุดในโลก ซึ่งเนื่องมาจากสถิติการวัดตามพื้นที่เพาะปลูกเป็นเอเคอร์นั่นเอง แม้ว่าจีนจะถูกจัดให้เป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตสินค้าออร์แกนิคที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่การหาซื้ออาหารออร์แกนิคในจีนกลับเป็นไปได้ยาก เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคอาหารออร์แกนิคมีเพียงกลุ่มเล็กๆ
กฏการตรวจสอบสินค้าออร์แกนิคในประเทศจีนนั้นเป็นไปอย่างเข้มงวด เมื่อสินค้าได้ผ่านการตรวจสอบแล้วจะมีการติดฉลากสีเขียวบนบรรจุภัณฑ์ เขียนว่า "Certified Organic." แต่ถ้าสังเกตอย่างจริงจัง จะเห็นได้ว่ามีตราสัญลักษณ์หรือฉลากอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไปหลายรูปแบบ ซึ่งที่จริงอาจจะไม่ใช่สินค้าออร์แกนิค แต่เป็นแค่สินค้าที่ลดการใช้สารเคมีให้น้อยลงเท่านั้น ซึ่งตามร้านค้าเล็กๆ อาจจะมีโลโก้เขียนว่า "non-polluted." หรือสินค้าปลอดสารนั่นเอง
การจำหน่ายอาหารออร์แกนิคในประเทศจีน ต้องเป็นไปตามขั้นตอนการนำเข้าของรัฐบาลจีนอย่างเคร่งครัด และจัดจำหน่ายภายใต้โลโก้ผลิตภัณฑ์ออแกนิกส์ของจีน แต่ก็มีบางประเทศที่มีกลยุทธ์การนำเข้าแบบไม่ได้นำเข้ามาเป็นสินค้าออร์แกนิค แล้วเข้ามาวางขายตามซุปเปอร์มาเก็ต แต่เนื่องจากมีโลโก้ EU organic or USDA organic ที่เป็นโลโก้สากล คุ้นตาผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าเหล่านี้ทั้งๆที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบสินค้าออร์แกนิคจากทางการจีน วีธีการเลือกซื้อสินค้าเหล่านี้ ให้แน่ใจว่าผ่านการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าออแกนิกส์ในจีนมาอย่างเข้มงวดแล้วหรือไม่นั้น คือต้องมีฉลากและโลโก้ภาษาจีน พร้อมคำกำกับว่า "YOU-JI" เท่านั้น
สำหรับตลาดออร์แกนิคในกวางโจว ซุปเปอร์มาเก็ตใหญ่ๆ จะมีกลยุทธ์ทางการตลาด คือเสนอทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคโดยสามารถสั่งซื้ออาหารออร์แกนิคออนไลน์และมีบริการส่งเดลิเวอรี่ถึงบ้านหรือออฟฟิศที่อยู่ในเขตกวางโจว
อุตสาหกรรมสินค้าออร์แกนิคในจีน ส่วนใหญ่จะนำเข้าวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป เพื่อมาเป็นส่วนประกอบของสินค้าสำเร็จรูปในจีนเพื่อส่งออกอีกทีหนึ่ง วัตถุดิบหลักที่จีนนำเข้ามามากที่สุด ได้แก่ น้ำตาลออร์แกนิค ถั่ว น้ำผึ้ง ผลไม้เขตร้อน ผลไม้แห้ง บางส่วนมีการนำเข้ามาในรูปสินค้าพร้อมบรรจุ นำเข้ามาบรรจุในจีนก็มี สินค้าที่จีนนำเข้ามากที่สุด คือผลิตภัณฑ์จำพวกนม อาหารแปรรูป โดยเฉพาะอาหารสำหรับเด็ก ส่วนผักออร์แกนิคก็มีการนำเข้าเช่นกัน แต่มีปริมาณการนำเข้าไม่มากนัก เนื่องจากมีผู้ผลิตในประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก
การนำเข้าสินค้าออร์แกนิคมาจำหน่ายยังประเทศจีนจะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพของจีนจาก China Organic Food Development Center (OFDC) ซึ่งได้รับการรับรองจากคณะกรรมาธิการถาวรเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป (EU Standing Committee on Organic Farming - SCOF) ว่าเป็นหน่วยงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นผู้ตรวจสอบรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบทัดเทียมตามเกณฑ์มาตรฐานของสหภาพยุโรป จึงจะนำมาวางขายภายในประเทศได้ เพราะทางการจีนจะไม่ยอมรับการตรวจคุณภาพมาจากประเทศอื่น
ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ในจีนมีมูลค่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากมูลค่าตลาดเกษตรอินทรีย์โลก 59,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จีนผลิตสินค้าออร์แกนิคปีละ 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งออก 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้า 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ส่วนในมณฑลกวางตุ้ง มีการผลิตและจำหน่ายอาหารออร์แกนิค เพิ่มมากขึ้นทุกปี ตามสถิติมณฑลกวางตุ้งมีผู้ผลิตที่ China Organic Food Certification Center หรือ COFCC อนุญาติให้ดำเนินการผลิตอาหารออร์แกนิคอย่างเป็นทางการอยู่ 251 ราย มีผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 542 ชนิด ทั้งมณฑลมีพื้นที่เพาะปลูก 8,411 เฮคเตอร์ มีปริมาณผลผลิต 2,213 ตัน ได้แก่ ผักออร์แกนิค 1,000 ตัน ผลไม้ออร์แกนิค 710 ตัน ข้าวออร์แกนิค 360 ตันและชาออร์แกนิค 143 ตัน การส่งออกอาหารออร์แกนิคของมณฑลกวางตุ้งถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศ ส่วนใหญ่ส่งออกไปที่อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น รัสเซีย ฮ่องกงและมาเก๊า เป็นต้น ในปี 2010 การส่งออกอาหารออร์แกนิคของมณฑลกวางตุ้งมีมูลค่า 58,560,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีการจำหน่ายในประเทศมูลค่า 61.8 ร้อยล้านหยวน ขณะที่ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคในไทย ยังมีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างน้อย และมีตลาดส่งออกที่จำกัด ตลาดสินค้าออร์แกนิคในไทยนั้น ถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยเน้นสินค้าจำพวกข้าวและผักสด
การตรวจพบสารปนเปื้อนอาหารในจีน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัยของอาหารภายในประเทศ ผู้บริโภคบางคนลงทุนซื้ออาหารนำเข้าที่มีโลโก้การันตีด้านความปลอดภัยจากต่างประเทศ ในขณะที่มีผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคบางส่วน ให้ความสำคัญแม้กระทั่งแบรนด์ของสินค้าไปจนถึงตัวแทนจำหน่าย แม้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคจะมีราคาสูง แต่ผู้บริโภคชาวจีนที่มีรายได้มาก และมีการศึกษาสูง ผู้ที่ทำงานในบริษัทใหญ่ๆ หรือบริษัทต่างชาติ ผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในต่างประเทศและข้าราชการระดับสูง กลุ่มคนเหล่านี้ให้ความสำคัญกับสุขภาพ รวมถึงรูปลักษณ์ภายนอก ทำให้การดูแลตัวเองและการบริโภคอาหารเปลี่ยนไปตามแบบตะวันตก ผู้บริโภคเหล่านี้มักจะให้ความสำคัญกับราคาของสินค้า และมีความเชื่อที่ว่า สินค้าราคาสูงย่อมมีคุณภาพดี โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งเคยไปใช้ชีวิตเรียนหรือทำงานอยู่ที่ต่างประเทศ
กลุ่มผู้บริโภคในจีนแยกได้เป็น 8 ประเภท ดังนี้
1.กลุ่มชนชั้นกลาง - เป็นผู้บริโภคกลุ่มหลักในจีน มีรายได้ ดูแลใส่ใจสุขภาพ ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีจำนวน 40 % ของผู้บริโภคอาหารออร์แกนิคทั้งหมด
2.ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก - จากนโยบาย "ลูกคนเดียว" ทำให้พ่อแม่ต้องทุ่มเทหาสิ่งที่ดีที่สุดมาให้ลูก เช่น อาหารเด็กออร์แกนิค ผลิตภัณฑ์นมผงออร์แกนิค ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวเด็กออร์แกนิค เป็นต้น ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีจำนวน 10% ของผู้บริโภคอาหารออร์แกนิคทั้งหมด
3.ครอบครัวที่ใส่ใจสุขภาพ - โดยเฉพาะครอบครัวที่มีสมาชิกสูงวัย มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคความดันโลหิตสูง คอเรสเตอรอลสูงและโรคหัวใจ จำเป็นต้องได้รับอาหารที่มีประโยชน์ ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีจำนวน 10% ของผู้บริโภคอาหารออร์แกนิคทั้งหมด
4.กลุ่มผู้บริโภคที่เพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ - ผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้รับความรู้เรื่องประโยชน์ของอาหารออร์แกนิคมาจากประเทศตะวันตก ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีจำนวน 5% ของผู้บริโภคอาหารออร์แกนิคทั้งหมด และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
5.กลุ่มนักธุรกิจจากไต้หวันและฮ่องกง - ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความกังวลเรื่องสารปนเปื้อนในอาหารในจีน และมีรายได้สูงจึงยอมจ่ายเพื่ออาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีจำนวน 5% ของผู้บริโภคอาหารออร์แกนิคทั้งหมด
6.ข้าราชการ -ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีรายได้สูงและมีหน้ามีตาในสังคม ทำให้ข้าราชการระดับสูงในจีนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีจำนวน 10% ของผู้บริโภคอาหารออร์แกนิคทั้งหมด
7.กลุ่มคนรุ่นใหม่ - วัยรุ่นยุคใหม่ใส่ใจเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกและดูแลตัวเองมากขึ้น แม้จะมีรายได้ไม่มากแต่ก็เต็มใจจ่ายแพงขึ้นเพื่อสุขภาพร่างกายของตน ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีจำนวน 3% ของผู้บริโภคอาหาร ออร์แกนิคทั้งหมด
8.ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในจีน - ผู้บริโภคหลัก คือชาวยุโรป อเมริกาเหนือ ญี่ปุ่นและเกาหลี ประเทศเหล่านี้เป็นกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพอยู่แล้ว และมีความกังวลเกี่ยวกับสารต่างๆ ในอาหาร เช่น ยาฆ่าแมลง และมีแนวโน้มจะเลือกซื้อสินค้าออร์แกนิคที่นำเข้ามาจากประเทศของตน ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีจำนวน 7% ของผู้บริโภคอาหารออร์แกนิคทั้งหมด
ผู้บริโภคทั้งหมดที่กล่าวมา คิดเป็น 90 % ของส่วนแบ่งตลาดทั้งหมด อีก 10 % ที่เหลือเป็นร้านอาหาร โรงแรมและผู้บริโภคที่บริโภคอาหารออร์แกนิคเป็นครั้งคราว
การพัฒนาตลาดออแกนิกส์ในจีน รวมถึงทัศนคติของผู้บริโภคในปัจจุบัน ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ออแกนิกส์ในจีนกล่าวว่าการที่จะดึงดูดตลาดผู้บริโภคชาวจีนนั้น มีสิ่งสำคัญอยู่ 4 สิ่ง คือ
1. สินค้าจะต้องมีคุณค่าทางโภชนาการ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นผลไม้หรือผักหายาก มีความแปลกใหม่ จะได้รับความนิยมแน่นอน
2. มีโลโก้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานสากลหรือจีนก็ตาม
3. มีการขนส่งที่ดีเยี่ยม สินค้ายังคงความสดและสวยงามอยู่
4. หาซื้อง่ายและบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ง่ายต่อการเก็บรักษา
4 ข้อดังกล่าวเป็นเพียงกลยุทธ์พื้นฐาน สำหรับผู้ประกอบการ หากสนใจจะนำสินค้ามาทำตลาดในจีน เมื่อหาตัวแทนนำเข้าในจีนแล้ว ควรจะพาผู้นำเข้าจีนเยี่ยมชมโรงงานแหล่งผลิตสินค้า เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ อธิบายเทคนิคและขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ผู้นำเข้าเข้าใจกระบวนการผลิตซึ่งนี่เป็นโอกาสที่ดีสำหรับทั้งสองฝ่ายในการร่วมธุรกิจและสานสัมพันธ์ในขั้นตอนต่อไป เพราะวัฒนธรรมจีนนั้นความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ การนำเข้าผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคทุกชนิด ต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากองค์กรของประเทศจีนก่อน หลังจากได้รับโลโก้การันตีคุณภาพแล้ว ถึงจะนำไปวางจำหน่ายได้ แต่เนื่องจากผู้บริโภคจีนบางรายยังไม่ค่อยเชื่อมั่นในโลโก้มาตรฐานสินค้าออร์แกนิคที่ออกโดยทางการจีน ดังนั้นผู้ส่งออกควรมีโลโก้การตรวจสอบมาตรฐานอาหารออร์แกนิคสากล ติดบนบรรจุภัณฑ์ควบคู่กันไปด้วย หน้าตาของผลิตภัณฑ์ต้องดูสวยงามดึงดูดใจผู้บริโภค รวมถึงเรื่องคุณภาพก็สำคัญ ส่วนรสชาติควรปรับตามความชอบของผู้บริโภคชาวจีน แหล่งกำเนิดสินค้าควรเป็นแหล่งที่ขึ้นชื่อของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น ข้าวหอมและผลไม้ฤดูร้อนควรมาจากไทย ส่วนผลิตภัณฑ์จำพวกนมควรมาจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีอายุการเก็บรักษาที่เหมาะสมสำหรับระยะเวลาการขนส่งและการจำหน่ายไปยังเมืองต่างๆ ผู้ส่งออกต้องสามารถส่งสินค้าตามกำหนดได้อย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตามผู้ส่งออกต้องตรวจสอบกฎระเบียบการนำเข้าอาหารออแกนิกส์ของประเทศจีนอย่างละเอียดเพื่อลดอุปสรรคในการนำเข้าเพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก เรื่องสำคัญอีกเรื่อง คือราคามีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคชาวจีนอย่างมาก เนื่องจากชาวจีนมีทัศนคติที่ว่า "สินค้ายิ่งแพง ยิ่งมีคุณภาพดี" การตั้งราคาควรจะเป็นราคาที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งท้องถิ่นได้ สำหรับสินค้าพรีเมี่ยมนั้นควรตั้งราคาสูงแต่ต้องสมราคาของผลิตภัณฑ์ และสุดท้ายการกระจายสินค้า ผู้ส่งออกควรจะหาผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายท้องถิ่นเพื่อช่วยกระจายสินค้าในพื้นที่และร่วมกับผู้นำเข้าจัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์เป็นภาษาจีนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าชาวจีน หากทำได้ควรตีพิมพ์บทความลงนิตยสารสุขภาพซึ่งเป็นข้อดีทางการตลาดทางหนึ่งและควรให้ลูกค้าได้ทดลองชิมผลิตภัณฑ์ที่ชั้นวางขายเพื่อสร้างความสนใจแก่ลูกค้า
ช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคในจีนแยกเป็น 5 ช่องทาง ได้แก่
1. ร้านจำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค
2. ซุปเปอร์มาเก็ต
3. ร้านตัวแทนจำหน่าย
4. ร้านจำหน่ายอาหาร
5. ตลาดค้าส่งจากไร่
ภายหลังมีการขายรูปแบบใหม่เพิ่มเข้ามา คือ การขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต พร้อมเดลิเวอรี่ถึงบ้าน แต่การซื้อสินค้าออนไลน์ราคาอาจจะถูกก็จริง เพราะไม่มีหน้าร้าน แต่ต้องไม่ลืมว่าสินค้าเหล่านั้นไม่ได้ผ่านการควบคุมโดยองค์กรของรัฐบาลเพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องคุณภาพเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม
1. ผักและผลไม้ออร์แกนิค - โอกาสทางการตลาดของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ คือ อาหารจำพวกผักและผลไม้หน้าร้อน เพราะมีการเพาะปลูกน้อยในจีน แต่มีความต้องการสูง โดยเฉพาะกล้วย ทุเรียน สัปปะรด ส้มโอ มะเฟือง เงาะและฝรั่ง แต่ผู้ส่งออกต้องคำนึงถึงการขนส่ง เพราะนอกจากจะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นแล้ว ยังอาจจะส่งผลต่อคุณภาพและความสด ความสวยงามของสินค้า
2. ข้าวและธัญญพืช - โอกาสทางการตลาดค่อนข้างน้อยเพราะผู้ผลิตในจีนมีอยู่เป็นจำนวนมาก มีลูกค้าเฉพาะกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยก็ยังมีโอกาสเพราะในประเทศจีนยังมีความต้องการสินค้าที่มีเอกลักษณ์ เช่น ข้าวหอมเมล็ดยาว (fragrant long-grain rice) และข้าวหอมนิล (black rice) และธัญพืชสดเต็มเมล็ด (Quinoa) เป็นอย่างมาก
3. อาหารแปรรูป - มีแนวโน้มที่ดีในตลาดออร์แกนิคจีน ไม่ว่าจะเป็นอาหารสำหรับเด็ก ผลิตภัณฑ์นมออร์แกนิค กำลังเป็นที่สนใจของผู้บริโภคชาวจีน เนื่องจากข่าวการปนเปื้อนสารเมลามีนในนมผง ทำให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศจีน เช่น Yili และ Mengniu เริ่มหันมาทำตลาดผลิตภัณฑ์นมออร์แกนิค และผ่านการตรวจสอบมาตรฐานออร์แกนิคจากทางการจีนแล้ว ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น
4. อาหารเสริม - เป็นผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างใหม่ในจีน คาดว่าจะมีการเติบโตทางการตลาดขึ้นเรื่อยตามไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ในเมืองใหญ่ๆ
1 ) Jusco (TeeMall branch)
ซุปเปอร์มาเก็ตสัญชาติญี่ปุ่น จำหน่ายสินค้าออร์แกนิคหลากหลายชนิด เช่น ผักสด เห็ด แตงกวา กระเทียม ไข่ไก่และน้ำผึ้ง เป็นต้น ในส่วนของเนื้อ ก็มีจำหน่ายเนื้อหมูออร์แกนิคแบรนด์ Hormel และ Hilly Black ซึ่งผ่านการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าออร์แกนิค มีฉลากการันตีอย่างถูกต้อง
2) Corner's Deli (CITIC Plaza Flagship branch)
ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทั่วไป รวมทั้งอาหารออร์แกนิค เช่น อาหารเด็กออร์แกนิคแบรนด์ Bellamy ผักขมออร์แกนิคอิมพอร์ตจากอเมริกาเหนือ ข้าวออร์แกนิคแบรนด์ Nature and Health นอกจากอาหารออร์แกนิคแล้วยังจำหน่ายผักสดปลอดสาร ที่พิเศษคือมีน้ำยาล้างจานปลอดสารเคมีจำหน่ายที่นี่อีกด้วย
3) Organic Farms Delivery Service
Organic Farms พร้อมส่งสินค้าออร์แกนิคถึงที่อยู่ที่ลูกค้าต้องการ เพียงสั่งซื้อสินค้า 100 หยวนขึ้นไป มีบริการส่งในเขตกวางโจว เสิ่นเจิ้น ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ สั่งซื้อได้ทางโทรศัพท์หรือเวปไซต์ สินค้าสินค้าออแกนิกส์ของทางร้านมีตั้งแต่แอปเปิ้ล เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ นม กาแฟ ชา ไปจนถึงน้ำยาบ้วนปากสมุนไพร Website: http://vip.organicfarm.com.cn/zstd.asp (English)
4) Carrefour (Kangwang Road Branch)
ไฮเปอร์มาเก็ตของฝรั่งเศส สาขาถนน Kangwang มีจำหน่ายข้าวออร์แกนิคถุงใหญ่ที่สุด 2 สองกิโลครึ่งที่ซุปเปอร์มาเก็ตอื่นไม่มีจำหน่าย มีอาหารออร์แกนิคแห้งแบรนด์ Dewei Organic จำหน่ายถั่วพีนัท ถั่วเขียว ข้าว น้ำมันถั่วพีนัทออร์แกนิค น้ำผึ้ง เป็นต้น
5) PARKnSHOP
ซุปเปอร์มาเก็ตฮ่องกง มีทั้งสาขาเล็กและใหญ่อยู่ทั่วเมืองกวางโจว สาขาที่มีอาหารออร์แกนิคจำหน่าย คือ สาขา Grandview Mall มีผักออร์แกนิค เนื้อวัวออร์แกนิคแบรนด์ Kerchin เส้นพาสต้าอิตาลี่แบรนด์ Alce Nero เป็นต้น
6) Friendship Store (Grandview Mall branch)
เฟรนด์ชิพ สโตร์มีจำหน่ายสินค้าออร์แกนิคนำเข้า เช่น ไวน์ออร์แกนิคจากออสเตรเลีย ข้าวบาเล่ย์ น้ำมันจากเมล็ดทานตะวันออร์แกนิค แป้งทำอาหารออร์แกนิคจากอิตาลี่ เป็นต้น
7) Organic Times
ร้านเล็กๆที่เรียกตัวเองว่า "โชว์รูมออร์แกนิค" ออฟฟิศตั้งอยู่ที่ตึกบนสถานีรถใต้ดิน Ximenkou ที่นี่มีสินค้าออร์แกนิคมากมาย เช่น อาหารออร์แกนิค เครื่องสำอางออร์แกนิค ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคสำหรับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
8) Tesco (Ximenkou Branch)
มีจำหน่าย เมล็ดทานตะวันออร์แกนิค ข้าวกล้องออร์แกนิค และถั่วต่างๆ เป็นต้น
รัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนเกษตกรที่ปลูกผักออร์แกนิค จุดประสงค์ของนโยบายนี้ ก็คือ เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ของการเกษตรในไทย รณรงค์ให้มีการปลูกผักออร์แกนิคมากขึ้น และเนื่องจากประเทศจีน มีปัญหาเรื่องสารปนเปื้อนในอาหารอยู่บ่อยครั้ง ทำให้กลุ่มผู้ซื้อที่มีรายได้สูง มีการบริโภคสินค้าออแกนิกส์เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสินค้าสำหรับเด็ก ซึ่งสินค้าออแกนิกส์ในประเทศจีนมีราคาสูงกว่าสินค้าปกติถึง 10 เท่า ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทย ที่จะส่งสินค้าออแกนิกส์ของไทยเข้าไปทำตลาดจีน อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการจะต้องมีการศึกษาระเบียบการนำเข้าของประเทศจีนให้ชัดเจน ซึ่งสินค้าที่จะส่งออกจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานสินค้า จากหน่วยงานตรวจสอบ และมีการรับรองในประเทศจีนอย่างถูกต้อง จึงจะนำเข้ามาจำหน่ายได้
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว
ที่มา: http://www.depthai.go.th