ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2554 (ม.ค.-ต.ค.) ยอดขายเครื่องประดับของเยอรมนียังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 335.9 ล้านยูโรหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.6 ในจำนวนนี้เป็นการจำหน่ายในประเทศ 180.4 ล้านยูโรเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 และจำหน่ายไปยังต่างประเทศมูลค่า 155.5 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.4 ประมาณครึ่งของผลผลิตเยอรมันจะเป็นเครื่องประดับทำด้วยทองคำและแพลตินัม สำหรับเครื่องอัญมณีแท้ทำด้วยเงินจะเป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดมาก เนื่อง จากเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มแจ่มใส จึงทำให้นอกจากจะมีการว่าจ้างงานเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานให้อีกด้วยโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3 ทำให้ผู้บริโภคมีเงินจับจ่ายซื้อสินค้ามากขึ้น สำหรับปี 2555 นี้คาดว่าตลาดสินค้ารายการนี้ยังคงมีแนวโน้มที่ดี และหากสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี จะช่วยทำให้ตลาดสินค้ารายการนี้แจ่มใสต่อเนื่อง
สินค้านำเข้าที่สำคัญๆ ของรายการนี้ยังคงเป็นวัตถุดิบ โลหะมีค่าต่างๆ ได้แก่ ทองคำ แพลทินัม อัญมณีมีค่าต่างๆ เพื่อการผลิตเป็นเครื่องประดับต่อไป นอกจากนี้ยังคงมีการสะสมทองคำในรูปแบบเหรียญทองคำกันมากอยู่แต่มีมูลค่าลดน้อยลงบ้าง ตามสถิติของ GTI ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2554 เยอรมนีนำเข้าสินค้ารายการนี้เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 15,978 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.6 ที่สำคัญๆ ได้แก่ โลหะมีค่า เช่น ทองคำและแพลทินัม เป็นมูลค่า 3,528 และ 3,352 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 22 และ 21 ของการนำเข้าสินค้ารายการนี้ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 และ 22.3 ตามลำดับ แหล่งนำเข้าที่สำคัญๆ ได้แก่ แอฟริกาใต้ รัสเซีย สวิสและเบลเยี่ยม มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 22, 19, 15, และ 10 ตามลำดับ
ในปี 2554 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้ารายการนี้ไปเยอรมนีเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 286.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 7.6 ของการส่งออกสินค้าไทยไปเยอรมนี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 22.7 สินค้าส่งออกสำคัญของไทยจะเป็น เครื่องประดับแท้ เป็นมูลค่า 202.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 คิดเป็นส่วนแบ่งในตลาดเยอรมนีร้อยละ 16.0 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ของเยอรมนี คือ เดนมาร์ค สวิสและจีน มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 17, 14 และ 11 ตามลำดับ ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป ไทยส่งออกไปเยอรมนีมูลค่า 20.1 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 คิดเป็นส่วนแบ่งในตลาดเยอรมนีร้อยละ 0.34 แหล่งนำเข้าสำคัญของเยอรมนีจะเป็นสวิสมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 62.1 ออสเตรีย 8.0 และแอฟริกาใต้ร้อยละ 4.7 เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไทยส่งออกไปเยอรมนีเป็นมูลค่า 32.4 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้น 201.0 % คิดเป็นส่วนแบ่งในตลาดเยอรมนีร้อยละ 2.7 คู่แข่งสำคัญ ได้แก่ จีน ออสเตรีย และฮ่องกง มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 55, 18 และ 3 ตามลำดับ
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน
ที่มา: http://www.depthai.go.th