การผลิตรถยนต์ยังคงเป็นอุตสาหกรรมแขนงสำคัญสำหรับสินค้าทำด้วยยาง นอกจากการจดทะเบียนรถใหม่ในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ความต้องการจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียยังคงมีสูงอยู่และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งรถยนต์นั่งและรถบรรทุก จึงทำให้ในภาพรวมตลาดเยอรมนียังแจ่มใส มีความต้องการผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางเพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ได้แก่ ที่ใช้ในการผลิตเครื่องจักรกล ในด้านการแพทย์ เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น ก็ยังคงมีความต้องการมากเช่นกัน ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2554 นี้ ตลาดสินค้าทำด้วยยางในเยอรมนีมีมูลค่า 14,439 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 เป็นยอดการจำหน่าย ยางรถยนต์ มูลค่า 6,047 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 ในจำนวนนี้เป็นการจำหน่ายในประเทศมูลค่า 4,130 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.3 และในต่างประเทศมูลค่า 1,917 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 สำหรับ ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ที่สำคัญๆ ยังคงเป็นแท่นยาง ปะเก็น และยางผสมสารเคมีต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานด้านพิเศษต่างๆ เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 8,392 ล้านยูโร มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.3 เป็นการจำหน่ายในประเทศมูลค่า 4,759 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 การขายในต่างประเทศมูลค่า 3,634 ล้านยูโร มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.8
ความต้องการสินค้าทำด้วยยางประเภทต่างๆ ในตลาดเยอรมนียังคงมีสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทชิ้นส่วนสำหรับการผลิตเครื่องมือ เครื่องจักรกลต่างๆ จึงทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปตลาดเยอรมนีเพิ่มสูงขึ้น จะมีเฉพาะยางยานพาหนะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากมีการนำเข้ามากจากแหล่งนำเข้าอื่นๆ (อิตาลี ฮังการี และโปแลนด์) ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2554 (ม.ค.-พ.ย.) ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางไปเยอรมนีเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 223.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 6 ของมูลค่าสินค้าไทยส่งออกไปเยอรมนี เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 ที่สำคัญๆ ได้แก่
- ถุงมือยางใช้ในด้านการแพทย์ มูลค่า 113.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 219.0 คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 50.7 ของการส่งออกสินค้ารายการนี้ไปเยอรมนี คิดเป็นส่วนแบ่งในตลาดเยอรมนีร้อยละ 13.5 แหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ และออสเตรีย มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 38, 11 และ 8 ตามลำดับ
- ยางใหม่สำหรับยานพาหนะ มูลค่า 84.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.9 คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 37.9 ของการส่งออกสินค้ารายการนี้ไปเยอรมนี ในเยอรมนีไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.0 แหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ ฝรั่งเศสมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 13 เช็กร้อยละ 9 เนเธอร์แลนด์ร้อยละ 8
- ผลิตภัณฑ์ยางใช้ทางเภสัช มูลค่า 9.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 4.4 ของการส่งออกสินค้ารายการนี้ไปเยอรมนี มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.9 ใน เยอรมนีไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.2 แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และอิตาลี มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 18, 13 และ 10 ตามลำดับ
ที่มา: http://www.depthai.go.th