สถานการณ์สินค้าอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น เดือนกุมภาพันธ์ 2555
1. สถานการณ์การผลิต
1.1 เวียดนาม กลายมาเป็นฐานการผลิตสินค้าสำหรับธุรกิจญี่ปุ่นหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมในไทยบริษัทหลายราย เช่น JS Group และ Kobe Steel วางแผนจะสร้างโรงงานในเวียดนามเช่นเดียวกับ Canon และ Honda จะลงทุนถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 23.5 พันล้านเยน สร้างโรงงาน โดยค่าจ้างแรงงานในเวียดนามถูกกว่าจีนถึง 3 เท่า และมีแรงงานจำนวนมาก โดยร้อยละ 75 ของประชากรมีอายุต่ำกว่า 40 ปี
การลงทุนของญี่ปุ่นในเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 208 โครงการในปี 2011 ในส่วนมูลค่าการลงทุนแม้จะตกลงเล็กน้อย มูลค่า 1.84 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.45 แสนล้านเยน แต่ยังมีมูลค่าสูงอยู่จำนวนบริษัทที่เป็นสมาชิกหอการค้าญี่ปุ่นในเวียดนามเพิ่มขึ้นจาก 327 รายในปี 2000 เป็น 953 รายในปี 2011
นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างเป็นฐานการผลิต โดย Nidecที่โรงงานผลิต ฮาร์ดดิสค์ในไทยต้องปิดลงหลังน้ำท่วม จะย้ายไปผลิตที่โรงงานในฟิลิปปินส์ และจีนแทนเพื่อลดอัตราความเสี่ยงจากโรงงานในไทย โดยจะผลิตในไทยลดลงจากเดิมร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 40 และบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ย้ายไปประกอบรถยนต์ที่อินโดนีเซีย
1.2 ผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มอิเล็คทรอนิกส์ลดต่ำลง ผลมาจากค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น และน้ำท่วมในไทย โดยธุรกิจโทรทัศน์ตกต่ำที่สุด ผู้ผลิตเช่น Panasonic, Sharp,Sony รวมกันขาดทุนถึง 1 ล้านล้านเยนในปี 2011 แม้บริษัท Sharp จะพยายามปรับโครงสร้างธุรกิจ LCD แต่ไม่สามารถจะปรับได้ทัน
นอกจากนี้การแข่งขันในยุคดิจิตอลทำให้ผู้ผลิตญี่ปุ่นไม่สามารถที่จะแข่งขันได้ บริษัท TDK ผู้ผลิตตัวเก็บประจุ (capacitor) รายใหญ่ถึงกับต้องปิดโรงงานในประเทศ 6 แห่งที่จังหวัดอะคิตะ และไปผลิตในต่างประเทศ
บริษัทผู้ผลิตเกาหลี เช่น Samsung มีกำไรแซงหน้าบริษัทญี่ปุ่นซึ่งต้องเผชิญกับค่าเงินเยนทำให้ผลกำไรลดน้อยลง การที่ญี่ปุ่นซึ่งมีจุดแข็งที่แรงงานมีฝีมือ แต่ในโลกดิจิตอล ซึ่งทุกอย่างสามารถควบคุมได้ด้วยคอมพิวเตอร์ ทำให้คู่แข่งสามารถก้าวขึ้นมาเทียบ และนำหน้าไปได้
ดังนั้น บริษัทญี่ปุ่นจำต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ บริษัท Hitachi ซึ่งเดิมผลิตโทรทัศน์จอพลาสม่า ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านก่อนคู่แข่งขัน และหันไปเน้นธุรกิจอย่างอื่น เช่น สมาร์ทซิตี้ (smart City) แทน
2. สถานการณ์การตลาด
2.1 มูลค่าของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในประเทศลดลงร้อยละ 10 อยู่ที่ 8.5 ล้านล้านเยนในปี 2011 โดยเป็นผลจากนโยบาย eco-point ของรัฐบาลที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคม และจากการเปลี่ยนระบบเป็นระบบดิจิตอลสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้ ยอดจำหน่ายโทรทัศน์ในญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ21 ในปี 2011 ปริมาณ 19.82 ล้านเครื่อง ตู้เย็นลดลงร้อยละ 8.5 และจากเหตุการณ์สึนามิ และน้ำท่วมในไทย ยอดจำหน่ายกล้องดิจิตอล ลดลงร้อยละ 9
2.2 บริษัท Sharp ได้ประกาศผลประกอบการขาดทุน 2.9 แสนล้านเยนในปี 2011 จากเดิมที่คาดว่าจะได้กำไร 6 พันล้านเยน จากการที่บริษัทไม่สามารถปรับโครงสร้างกิจการ LCD การส่งมอบสินค้าล่าช้า และการที่ตลาดโทรทัศน์ภายในประเทศหดตัวยอดจำหน่ายโทรทัศน์ภายในประเทศของบริษัท ลดลงเหลือ 10.09 ล้านเครื่อง แม้จะพยายามเพิ่มยอดขายโทรทัศน์ขนาดใหญ่ในตลาดอเมริกาบริษัทได้ลดการผลิตที่โรงงานในเมืองซาไก จังหวัดโอซากาเพียงครึ่งหนึ่ง และจะลดปริมาณการผลิตไปเรื่อยๆจนถึงเดือนกันยายน 2012
2.3 บริษัท Panasonic ได้รับการจัดลำดับเป็นบริษัทอันดับที่ 1 ของบริษัทผู้ผลิตที่รักษ์โลกเป็นปีที่ 3 โดยสินค้าของบริษัทจะเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น เครื่องใช้ภายในบ้านประหยัดพลังงานโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ลิเธียม เป็นต้น บริษัทตั้งเป้าที่จะเพิ่มวัตถุดิบที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกร้อยละ16 มีการนำหลอดภาพโทรทัศน์เก่ามาดัดแปลงใช้สำหรับตู้เย็น ความพยายามอีกอย่างคือโครงการSmart Town ซึ่งกำลังก่อสร้างในโรงงานเก่าที่ จังหวัดคะนากาว่า ซึ่งจะเปิดในปี 2013 โดยบ้านในโครงการจะใช้ระบบการประหยัดพลังงาน และสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงร้อยละ 70 ของบ้านปรกติ
บริษัทผู้ผลิตอื่นๆที่ได้รับการจัดอันดับ คือ Sharp อันดับที่ 3 มีชื่อเสียงเรื่องโซลาร์เซลล์ขณะนี้บริษัทกำลังพัฒนาเรื่องพลังงานสำรองตลอดจนเครื่องมือที่สามารถนำพลังงานจากแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถพลังงานไฟฟ้า นำมาใช้ในบ้านได้ นอกจากนั้น คือ NEC อันดับที่ 4 และ Toshiba อันดับที่5
2.4 บริษัท Cannon จะจำหน่ายกล้องวงจรปิด รวมทั้งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยในประเทศจีน จากความต้องการสินค้าที่ดูแลความปลอดภัยในสถานที่ราชการรวมทั้งบริษัทเอกชนที่เพิ่มขึ้น บริษัทฯจะใช้เทคโนโลยี่กล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว (single-lens reflex)โดยจะเริ่มวางจำหน่าย 5 รุ่น รวมทั้งรุ่นที่สามารถจับภาพที่สนามบิน และ สถานีรถไฟ
ตลาดกล้องวงจรปิดในจีนโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ต่อปี ประมาณ 12 ล้านเครื่องในปี 2011คิดเป็นร้อยละ 40 ของตลาดทั่วโลก โดยผู้ผลิตในประเทศครองตลาดส่วนใหญ่ และ Panasonicกับ Sharp ครองส่วนแบ่งประมาณ ร้อยละ 10-20 ทั้งนี้ Cannon หวังว่าจะสามารถครองตลาดร้อยละ30 ให้ได้ภายใน 5 ปี
2.5 บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีน และเกาหลีต่างบุกตลาดญี่ปุ่น Hisense Group ซึ่งรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ เริ่มจำหน่ายโทรทัศน์จอแบนในเดือนมีนาคม 2511 และจะจำหน่ายตู้เย็นซึ่งออกแบบสำหรับคนโสดร่วมกับบริษัทเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำ Nitori
ส่วน Haier Group จากเมืองชิงเต่าเช่นกัน จะจำหน่ายหม้อหุงข้าว และเครื่องดูดฝุ่นในเดือนเมษายน 2012 เพิ่มจากเดิมที่จำหน่ายตู้เย็น และเครื่องซักผ้า ทั้งสองบริษัทเล็งเห็นตลาดที่บริษัทในประเทศไม่สนใจ เช่น Hisense จะจำหน่ายตู้เย็นขนาด 50 และ 90 ลิตรในร้านของ Nitoriทั่วประเทศ โดยราคาขนาด 90 ลิตรอยู่ที่ 10,000 เยน
Haier จะผลิตหม้อหุงข้าวที่มีมากมายหลายขนาดให้เลือก โดยรุ่นเล็กสุดจำหน่าย อยู่ที่ 5,000 เยน และจะจำหน่ายเครื่องดูดฝุ่นยี่ห้อ “Aqua” ซึ่งซื้อกิจการจากบริษัท Sanyo แต่ยังคงขายสินค้ายี่ห้อของตนเองด้วย โดยมองว่าตลาดสินค้าระดับล่างยังสามารถไปได้
ทั้งนี้ Samsung และ LG จากเกาหลีก็พยายามขยายการจำหน่ายโทรทัศน์จอแบนในญี่ปุ่นเช่นกัน
ยอดการส่งออกสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ลดลงอย่างต่อเนื่องในเดือนธันวาคม 2554 มีมูลค่า 7.28 แสนล้านเยน ลดลง ร้อยละ 14.6 จากเดือนธันวาคม 2553 โดยสินค้าเกือบทุกหมวดปรับตัวลดลง ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ 31.8 อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์อุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 9.8 คอมพิวเตอร์ ลดลงร้อยละ 12.8 ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 13.7 ส่วนสินค้าที่เพิ่มขึ้นมีเพียงตัวแปรไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 11
ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ในเดือนพฤศจิกายน 2554 มีการปรับตัวลดลงมูลค่า 6.83 แสนล้านเยน โดยลดลงร้อยละ 6.6 จากเดือนพฤศจิกายน ปี 2553 การนำเข้าสินค้าที่ลดลง ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ 43 ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 13.4 แผงวงจรลดลงร้อยละ 22.6 ส่วนสินค้าที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์อุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 อุปกรณ์สื่อสาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.7 ระบบสื่อสารวิทยุ เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.1 เครื่องจักรธุรกิจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 หลอดไฟเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2
สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ นครโอซากา
22 กุมภาพันธ์ 2555