กลุ่มประเทศ GCC มีเป้าหมายที่จะพัฒนาเป็นกลุ่ม Gulf Union ในอนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 29, 2012 13:54 —กรมส่งเสริมการส่งออก

กลุ่มประเทศ GCC มีเป้าหมายที่จะพัฒนาเป็นกลุ่ม Gulf Union ในอนาคต

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกลุ่มประเทศ GCC (the Cooperation Council for the Arab States of the Gulf) ได้มีการประชุมหารือร่วมกันช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อศึกษาถึงผลดี ผลเสีย และแนวทางในการดำเนินการเพื่อนำประเทศสมาชิก 6 ประเทศ เข้าสู่การเป็น Gulf Union ตามที่ประเทศซาอุฯ เสนอในการประชุมสุดยอดผู้นำ GCC เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา

นายศิวะลักษณ์ นาคาบดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย เปิดเผยว่า GCC มีเป้าหมายที่ค่อนข้างท้าทาย กล่าวคือประสงค์ที่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Unifying) ทางด้านการเมือง การทหาร และความมั่นคง (Political tie, military cooperation and security ties) นอกเหนือจากทางด้านเศรษฐกิจและนโยบายทางการเงิน ในปัจจุบัน GCC มีนโยบาย แนวทางการดำเนินการร่วมกันในหลายๆ ด้าน เช่น ระบบป้องกันประเทศ สิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ มีการเคลื่อนย้ายของสินค้า/บริการ/ทุน ระหว่างประเทศสมาชิกค่อนข้างเสรี

GCC (the Cooperation Council for the Arab States of the Gulf) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2524 (1981) ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศในคาบสมุทรอาหรับ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรต บาห์เรน คูเวต โอมาน และกาตาร์ ส่วนประเทศเยเมน ได้สมัครเข้าเป็นเป็นสมาชิก GCC ตั้งแต่ปี 2539 แต่ได้รับความเห็นชอบจากการประชุมสุดยอดของกลุ่มสมาชิกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2544 ที่กรุงมัสกัต ประเทศโอมาน มีมติให้เยเมนเป็นสมาชิกสมทบ นอกจากนี้ล่าสุดยังพิจารณาที่จะรับจอร์แดน และโมรอคโค เข้าเป็นสมาชิกเพิ่มอีกด้วย GCC มีเป้าหมายในการพัฒนาเป็นกลุ่มตลาดเช่นเดียวกับสหภาพยุโรป (EU) กลุ่ม GCC มีมติร่วมโดยสมาชิก 6 ประเทศ จากการประชุมสุดยอดครั้งที่ 23 ที่กรุงโดฮา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ให้มีการจัดตั้งสหภาพศุลกากร (Customs Union) ให้เสร็จสิ้นอย่างช้าภายในปี 2550 โดยกำหนดอัตราภาษีศุลกากรร่วมจากประเทศอื่นๆ ร้อยละ 5 ยกเว้นเก็บภาษีนำเข้าระหว่างประเทศสมาชิก (ล่าสุดเลื่อนไปเป็น 1 มกราคม พ.ศ. 2558) นอกจากนี้ยังได้ตั้งเป้าหมายจัดตั้งสหภาพทางการเงิน ใช้เงินตราสกุลเดียวกัน (Monetary Union) ในวันที่ 1 มกราคม 2553 (2010) แต่จากปัญหาความล่าช้าในการดำเนินการหลายอย่าง GCC ได้มอบหมายให้ Monetary Union Council ที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ เป็นผู้กำหนดเวลาที่จะเริ่มใช้เงินสกุลเดียวกัน ปัจจุบันสมาชิก GCC ทุกประเทศ ยกเว้นคูเวต ผูกค่าเงินของตนเองไว้กับเงินเหรียญสหรัฐฯ มีเพียงคูเวตที่ผูกค่าเงิน ไว้กับระบบตะกร้าเงิน (Currency Basket)

นายศิวะลักษณ นาคาบดี ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า กลุ่มประเทศ GCC หากมีการพัฒนาเป็น Gulf Union ในอนาคต ก็น่าที่จะเป็นกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญ และมีศักยภาพสูงในการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย ในภาพรวมน่าจะก่อให้เกิดผลในด้านบวกต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศสมาชิกฯ เนื่องจากสินค้าที่กลุ่มประเทศนี้ผลิตได้ มิได้เป็นสินค้าคู่แข่งกับสินค้าไทย ประกอบกับการที่สินค้าไทยสามารถที่จะเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างเสรี กฎระเบียบ และข้อกำหนดต่างๆ เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น มีความโปร่งใส อันจะส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยมีภาระค่าใช้จ่ายในการส่งออกไปประเทศใน GCC ลดลง ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยใน ภูมิภาคนี้น่าจะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ สำนักงานฯ จะติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องต่อไปในปี 2554 (มค.-ธค.) ประเทศไทยและ GCC มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 34,283 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ร้อยละ 7.50 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย) จำแนกเป็นการนำเข้า 27,919 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่งออก 6,364 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.65 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า)สินค้าที่ไทยนำเข้าเกินกว่าร้อยละ 80 คือ น้ำมัน และแก็สธรรมชาติ สินค้าที่ไทยส่งออกไป GCC สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน (1,873 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เคมีภัณฑ์ (468 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน (398 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เครื่องประดับอัญมณี (315 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)และเคร่อื งจกั รกลและส่วนประกอบ (240 ล้านเหรยี ญสหรฐั ฯ) ตามลำดับประเทศสมาชิก GCC ที่ไทยส่งสินค้าออกไปมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (2,762 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซาอุดีอาระเบีย (2,255 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โอมาน (580 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) คูเวต(341 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) กาตาร์ (286 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และบาห์เรน (140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

------------------------------------------

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์

27 กุมภาพันธ์ 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ