อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ของอินเดียเรียกร้องรัฐบาลให้ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับยางธรรมชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 8, 2012 16:03 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ของอินเดียเรียกร้องรัฐบาลให้ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับยางธรรมชาติ

อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ของอินเดียได้เรียกร้องรัฐบาลให้ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับยางธรรมชาติที่นำเข้าไปเพื่อผลิต ยางรถยนต์ ภายในโควต้านำเข้าปริมาณ 100,000 ตัน โดยอ้างเหตุราคายางธรรมชาติในอินเดียมีราคาสูง จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ประกอบกับค่าเงินรูปีกำลังอ่อนค่า หากนำเข้าจากต่างประเทศและต้องชำระอากรขาเข้า ต้นทุนก็ยังคงสูงอยู่ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเว้นอากรขาเข้าในปริมาณตามโควต้าข้างต้น ทั้งนี้ ปริมาณโควต้าดังกล่าวได้มาจากการคาดการณ์ของคณะกรรมการยางของอินเดีย (Indian Rubber Board) ที่คาดว่าปีนี้ยางธรรมชาติจะขาดอีกประมาณ 100,000 ตัน อันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ของอินเดีย ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตของยอดจำหน่ายรถยนต์ในปีที่แล้วร้อยละ 4.24 ทำให้มียอดจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 1.95 ล้านคัน ทั้งนี้ ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักที่สำคัญที่สุดในการผลิตยางรถยนต์ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากยางธรรมชาติจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการอยู่รอดของบริษัท

นอกจากนี้อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ของอินเดียโดยสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์ (ATMA: Automotive Tyre Manufacturers’ Association) ยังได้เรียกร้องรัฐบาลให้ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบบางรายการที่ไม่มีการผลิตในประเทศอินเดียด้วย ซึ่งจะเป็นยางสังเคราะห์ได้แก่ ยางบิวไทล์ (Butyl Rubber, IIR) ยางสไตรีนบิวตาไดอีน (Styrene-Butadiene Rubber, SBR) ยาง EPDM (Ethylene-propylene Diene Rubber) และ Polyester Tyre Cord ซึ่งปัจจุบันอัตราอากรขาเข้าของวัตถุดิบดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 5, 10, 10 และ5 ตามลำดับ ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอดังกล่าวอยู่และคาดว่าจะสามารถให้คำตอบได้หลังจากการประกาศงบประมาณปี 2012-2013 ภายในเดือนมีนาคม 2555 นี้

ก่อนหน้านี้ช่วงเดือนกรกฎาคม 2554 ของปีงบประมาณนี้ (ปี 2011-2012) อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ของอินเดียก็เคยเรียกร้องรัฐบาลให้ลดอากรขาเข้ายางธรรมชาติมาแล้ว โดยรัฐบาลอินเดียได้อนุญาตให้นำเข้ายางธรรมชาติได้ภายในโควต้า 40,000 ตัน ด้วยอัตราอากรขาเข้าลดลงเหลือร้อยละ 7.5 จากปกติร้อยละ 20แต่ปรากฎว่าอุตสาหกรรมฯ ดังกล่าวนำเข้าไม่เต็มโควต้าที่ได้รับ คือ นำเข้าเพียง 25,000 ตัน โดยอ้างสาเหตุจากราคายางธรรมชาติในตลาดโลกในขณะนั้นสูงเกินไปและค่าเงินรูปีกำลังอ่อนค่าลง

อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ปลูกยางพาราแห่งอินเดีย (Indian Rubber Growers’ Association)ได้ออกมาคัดค้านว่าการเรียกร้องรัฐบาลให้อนุญาตนำเข้ายางธรรมชาติดังกล่าวของอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์อินเดีย ในปริมาณ 100,000 ตันโดยปลอดอากรขาเข้า เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล เพราะจากการประมาณของสมาคมฯพบว่าในปีงบประมาณ 2012-2013 (1 เมษายน 2012 — 31 มีนาคม 2013) คาดว่าจะมีความต้องการใช้ยางธรรมชาติ 1 ล้านตัน โดยสามารถผลิตภายในประเทศได้ 942,000 ตัน ความต้องการนำเข้าจึงเหลือเพียง 58,000 ตันเท่านั้น ไม่ใช่ 100,000 ตันตามที่อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ของอินเดียกล่าวอ้าง

การนำเข้ายางธรรมชาติของอินเดียประกอบไปด้วยยางแท่ง (Technically Specified Rubber: TSR) และยางแผ่นรมควัน (Smoked Sheets) เป็นหลัก ส่วนที่เหลือจะเป็นน้ำยาง (Latex) และยางธรรมชาติอื่นๆ โดยการนำเข้ายางแท่งและยางแผ่นรมควันมีปริมาณรวมกันคิดเป็นสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณการนำเข้ายางธรรมชาติทั้งหมด โดยยางธรรมชาติทั้งสองชนิดนี้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตยางรถยนต์

ปี 2553 อินเดียนำเข้ายางธรรมชาติ 198,883.13 ตัน มูลค่า 637.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 24.10 (ปริมาณ) และ 1.36 เท่า (มูลค่า) โดยนำเข้าจากอินโดนีเซียมากที่สุด 91,133.89 ตัน มูลค่า 288.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.82 (ปริมาณ) และร้อยละ 45.26 (มูลค่า) ของการนำเข้ายางธรรมชาติทั้งหมดของอินเดีย รองลงมา คือ ไทย 55,414.37 ตัน มูลค่า 181.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.86 (ปริมาณ) และร้อยละ 28.43 (มูลค่า) โดยการนำเข้ายางธรรมชาติจากสองประเทศนี้ รวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.69 (ปริมาณ) และร้อยละ 73.70 (มูลค่า) ของการนำเข้าทั้งหมดของอินเดีย

สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 (มกราคม-มิถุนายน 2554) อินเดียนำเข้ายางธรรมชาติ 21,215.93 ตัน มูลค่า 98.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยยังคงนำเข้าจากอินโดนีเซียมากที่สุด 21,215.93 ตัน มูลค่า 98.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.40 (ปริมาณ) และร้อยละ 33.97 (มูลค่า) รองลงมาก็ยังคงเป็นการนำเข้าจากไทย 16,465.67 ตัน มูลค่า 75.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.92 (ปริมาณ)และร้อยละ 26.05 (มูลค่า) โดยการนำเข้ายางธรรมชาติจากสองประเทศนี้รวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59.33 (ปริมาณ) และร้อยละ 60.00 (มูลค่า)

ยางแท่ง (Technically Specified Rubber: TSR) เป็นยางธรรมชาติที่อินเดียนำเข้ามากที่สุดทั้งนี้ ในปี 2553 มีการนำเข้า 93,338.84 ตัน มูลค่า 293.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยนำเข้าจากอินโดนีเซียมากที่สุด 59,279.58 ตัน มูลค่า 185.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63.51 (ปริมาณ) และร้อยละ63.13 (มูลค่า) ของการนำเข้ายางแท่งทั้งหมดของอินเดีย รองลงมา คือ ไทย 13,645.98 ตัน มูลค่า 42.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.62 (ปริมาณ) และร้อยละ 14.57 (มูลค่า) โดยการนำเข้ายางแท่งจากสองประเทศนี้รวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.13 (ปริมาณ) และร้อยละ 77.70 (มูลค่า) ของการนำเข้ายางแท่งทั้งหมดของอินเดีย

สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 (มกราคม-มิถุนายน 2554) อินเดียนำเข้ายางแท่ง 30,663.72 ตัน มูลค่า 144.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยยังคงนำเข้าจากอินโดนีเซียมากที่สุด 11,738.23 ตัน มูลค่า 56.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.28 (ปริมาณ) และร้อยละ 33.97 (มูลค่า)รองลงมาก็ยังคงเป็นการนำเข้าจากไทย 4,144.32 ตัน มูลค่า 21.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.52 (ปริมาณ) และร้อยละ14.70 (มูลค่า) โดยการนำเข้ายางแท่งจากสองประเทศดังกล่าวรวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.80 (ปริมาณ) และร้อยละ 53.71 (มูลค่า)

ส่วนยางแผ่นรมควัน (Smoked Sheets) เป็นสินค้ายางธรรมชาติที่อินเดียนำเข้ามากเป็นอันดับสองรองจากยางแท่ง ทั้งนี้ มีการ นำเข้าในปี 2553 82,187.74 ตัน มูลค่า 271.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยนำเข้าจากไทยมากที่สุด 36,229.65 ตัน มูลค่า 121.97 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.08 (ปริมาณ) และร้อยละ 44.88 (มูลค่า) รองลงมา คือ อินโดนีเซีย 19,767.44 ตัน มูลค่า 64.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.80 (ปริมาณ) และร้อยละ 24.05 (มูลค่า) โดยการนำเข้ายางแผ่นรมควันจากสองประเทศดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 68.13 (ปริมาณ) และร้อยละ 68.68 (มูลค่า)

สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 (มกราคม-มิถุนายน 2554) อินเดียนำเข้ายางแผ่นรมควัน 27,891.51 ตัน มูลค่า 124.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยนำเข้าจากไทยมากที่สุด 11,742.42 ตัน มูลค่า 52.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.10 (ปริมาณ) และร้อยละ 41.85 (มูลค่า) รองลงมาเป็นการนำเข้าจากอินโดนีเซีย 6,305.35 ตัน มูลค่า 28.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.61 (ปริมาณ) และร้อยละ23.24 (มูลค่า) โดยการนำเข้ายางแท่งจากสองประเทศดังกล่าวรวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.71 (ปริมาณ) และร้อยละ 65.09 (มูลค่า)

จากการหารือกับผู้แทนของสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์ (ATMA: Automotive Tyre Manufacturers’ Association) ของอินเดียได้รับทราบว่าสาเหตุที่นำเข้ายางแท่ง (TSR) จากอินโดนีเซียมากที่สุดเป็นเพราะระบบ Logistics ที่สะดวกและค่าขนส่งถูกกว่า รวมทั้งราคาและคุณภาพอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ในขณะที่นำเข้ายางแผ่นรมควันจากประเทศไทยมากที่สุด เนื่องจากคุณภาพยางแผ่นรมควันของประเทศไทยอยู่ในระดับดี มากในราคาที่เหมาะสม

มูลค่าการนำเข้ายางธรรมชาติของอินเดีย                     (หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
ประเภทยางธรรมชาติ                            2551    2552       2553      2554
                                                                     (ม.ค.-มิ.ย.)
ยางแท่ง (Technically Specified              136.75   112.56   293.67    144.51
Rubber)
ยางแผ่นรมควัน (Smoked Sheets)                 74.78   138.14   271.78    124.34
น้ำยาง (Latex)                                0.50     4.71     4.40      2.73
ยางธรรมชาติอื่นๆ                               13.54    15.20    67.57     17.88
                  รวม                      225.57   270.61   637.42    289.46
ปริมาณการนำเข้ายางธรรมชาติของอินเดีย                                (หน่วย: ตัน)
ประเภทยางธรรมชาติ                          2551        2552        2553        2554
                                                                            (ม.ค.-มิ.ย.)
ยางแท่ง (Technically Specified          49,500.90   68,104.88   93,338.84   30,663.72
Rubber)
ยางแผ่นรมควัน (Smoked Sheets)            26,299.61   79,244.50   82,187.74   27,891.51
น้ำยาง (Latex)                             156.18    3,643.84    1,928.16      723.97
ยางธรรมชาติอื่นๆ                           4,869.31    9,269.68   21,428.40    4,234.82
                 รวม                   80,826.00  160,262.90  198,883.14   63,514.02
แหล่งนำเข้ายางธรรมชาติของอินเดีย
   ประเทศ                2551              2552                 2553             2554 (ม.ค.-มิ.ย.)
                     ล้าน US$    ตัน      ล้าน US$    ตัน       ล้าน US$     ตัน        ล้าน US$    ตัน
อินโดนีเซีย             71.36  26,342.21   128.57  79,492.55   288.51  91,133.89    98.33    21,215.93
ไทย                 111.88  38,947.23   100.78  55,566.63   181.28  55,414.37    75.41    16,465.67
เวียตนาม               6.05   2,206.58     6.95   4,018.82    59.19  17,842.85    16.43     3,882.09
ศรีลังกา               16.44   6,238.76    18.74  10,564.08    36.39  11,255.25     8.42     1,805.00
มาเลเซีย              15.77   5,571.24     7.20   4,311.61    31.21   9,551.83    34.75     6,991.62
อื่นๆ                   4.09   1,519.98     8.38   6,309.21    40.84  13,684.91    56.11    13,153.71
     รวม            225.59  80,826.00   270.62 160,262.90   637.42 198,883.13   289.45    63,514.02
แหล่งนำเข้ายางแท่ง (Technically Specifies Rubber) ของอินเดีย
   ประเทศ             2551              2552                 2553             2554 (ม.ค.-มิ.ย.)
                     ล้าน US$    ตัน      ล้าน US$    ตัน       ล้าน US$     ตัน        ล้าน US$    ตัน
อินโดนีเซีย             61.31   22,689.02  76.13   47,531.63   185.40   59,279.58    56.38    11,738.23
ไทย                  57.92   20,469.42  25.30   13,933.28    42.79   13,645.98    21.24     4,144.32
เวียตนาม               5.37    1,946.58   2.88    1,525.86    23.48    6,635.20     9.73     2,320.80
ศรีลังกา                3.21    1,150.04   1.29      791.25     1.31      475.00     1.61       362.00
มาเลเซีย               6.78    2,421.64   1.75      918.96    11.44    3,561.86    23.67     4,615.36
อื่นๆ                   2.16      824.20   5.21    3,403.90    29.25    9,741.22    31.88     7,483.01
    รวม             136.75   49,500.90 112.56   68,104.88   293.67   93,338.84   144.51    30,663.72
แหล่งนำเข้ายางแผ่นรมควัน (Smoked Sheets) ของอินเดีย
   ประเทศ               2551              2552                 2553             2554 (ม.ค.-มิ.ย.)
                     ล้าน US$    ตัน      ล้าน US$    ตัน       ล้าน US$     ตัน        ล้าน US$    ตัน
ไทย                  47.66   16,229.50  70.10   38,216.15   121.97   36,229.65   52.03   11,742.42
อินโดนีเซีย              5.73    2,036.12  43.83   26,649.31    64.68   19,767.44   28.90    6,305.35
ศรีลังกา               12.81    4,934.72  16.61    9,186.43    34.18   10,452.23    6.81    1,443.00
เวียตนาม               0.51      200.00   2.30    1,269.72    30.50    9,544.83    5.16    1,242.53
มาเลเซีย               6.37    2,268.10   3.78    2,244.69    10.85    2,976.04    9.83    2,055.00
อื่นๆ                   1.70      631.17   1.52    1,678.20     9.60    3,217.55   21.61    5,103.21
   รวม               74.78   26,299.61 138.14   79,244.50   271.78   82,187.74  124.34   27,891.51

ที่มา: สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ (ประมวลข้อมูลจาก World Trade Atlas)

บทสรุปสำหรับภาคเอกชนไทย

ภาคเอกชนไทยก็คงจะต้องรอจนกว่ารัฐบาลอินเดียตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้สินค้ายางธรรมชาติภายใต้โควต้า 100,000 ตัน สามารถนำเข้าโดยปลอดอากรขาเข้าหรือไม่หลังเดือนมีนาคม 2555 หลังจากการประกาศงบประมาณปี 2012-2013 แล้ว ซึ่งถ้ารัฐบาลตัดสินใจประกาศให้นำเข้าได้โดยปลอดอากรขาเข้า ก็จะเป็นโอกาสดีของภาคเอกชนไทยที่จะสามารถส่งออกยางธรรมชาติไปตลาดอินเดียได้มากขึ้นโดยเฉพาะยางแผ่นรมควันซึ่งไทยเป็นผู้นำในตลาดอยู่แล้ว กับยางแท่งที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าตลาดอยู่ ดังนั้น นอกจากจะต้องรักษาตำแหน่งผู้นำในสินค้ายางแผ่นรมควันในตลาดอินเดียให้ได้แล้ว ภาคเอกชนไทยคงจะต้องมีกลยุทธ์ในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดสินค้ายางแท่งจากอินโดนีเซียมาให้ได้ด้วย การรีบเดินทางเข้าไปพบปะกับผู้นำเข้ายางธรรมชาติของอินเดียในระยะนี้น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพื่อจะได้เตรียมตัวได้ทันเพื่อรองรับกับการตัดสินใจของรัฐบาลอินเดียดังกล่าว

--------------------------------------------------------

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ

6 มีนาคม 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ