รายงานภาวะเศรษฐกิจและการค้าของกรีซประจาเดือนมกราคม ๒๕๕๕

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 13, 2012 13:58 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รายงานภาวะเศรษฐกิจและการค้าของกรีซประจำเดือนมกราคม ๒๕๕๕

๑.สมาคมผู้บริโภคในประเทศกรีซเรียกร้องให้ประชาชนชาวกรีกหันมาคว่ำบาตรเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ด้วยการงดซื้อสินค้านำเข้าจากสองประเทศนี้ โดยสมาคมผู้บริโภคได้ให้เหตุผลว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นการประท้วงและตอบโต้ท่าทีของเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ที่กดดันให้รัฐบาลกรีซต้องดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด และนโยบายตัดทอนงบประมาณสาธารณะ จนเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อปากท้องและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวกรีก

นอกจากนี้ การคว่ำบาตรสินค้าเยอรมันยังเป็นการตอบโต้จุดประสงค์ของเยอรมนีในการกดดันกรีซโดยตรง เนื่องจากบริษัทของเยอรมันหลายแห่งได้ลงทุนในประเทศกรีซและได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้เยอรมนีต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อให้บริษัทเหล่านี้สามารถหากำไรจากชาวกรีกต่อไปได้ พร้อมกันนี้ สมาคมผู้บริโภคยังได้วิพากษ์วิจารณ์สหภาพยุโรป ธนาคารกลางยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ว่ามีส่วนรับผิดชอบต่อความยากลำบากของประชาชนชาวกรีกอีกด้วย ในขณะที่การประชุมรอบใหม่ก็ได้เริ่มขึ้น เพื่อพิจารณาเงื่อนไขในการรับเงินช่วยเหลือราว ๑๓๐,๐๐๐ ล้านยูโร หลังจากที่รัฐบาลกรีซได้ และลดทอนงบประมาณสาธารณะลงถึง ๓๒๕ ล้านยูโร เพื่อเร่งชำระหนี้ ตามเงื่อนไขของสหภาพยุโรป และไอเอ็มเอฟ

๒.กรีซอนุมัติแผนลดงบเพิ่มในปีนี้อีก ๓.๓ ล้านยูโรรวมถึงลดจำนวนข้าราชการ ๑๕,๐๐๐ คนภายในปี ๒๕๕๘ และลดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ๒๒% ที่สุดแล้ว รัฐสภากรีซก็ยอมอนุมัติแผนรัดเข็มขัดเพิ่มเติม เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือรอบ ๒ มูลค่า ๑.๓ แสนล้านยูโร (๑.๗๒ แสนล้านดอลลาร์) จากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งจะทำให้เอเธนส์หลีกหนีการผิดนัดชำระหนี้พันธบัตร ๑.๔๕ หมื่นล้านยูโร ที่อาจนำไปสู่ภาวะล้มละลาย และกระทบประเทศในยูโรโซนทั้งหมด ทางการเอเธนส์ จำต้องอนุมัติแผนตัดลดงบประมาณเพิ่มเติมในปีนี้อีก ๓.๓ พันล้านยูโร ซึ่งรวมถึงการปรับลดจำนวนข้าราชการ ๑๕,๐๐๐ คน ภายในปี ๒๕๕๘ ปฏิรูปกฎหมายแรงงาน ลดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ๒๒% เป็นต้น

มาตรการรัดเข็มขัดให้แน่นขึ้นนี้ ก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อชาวกรีกจำนวนมาก ที่ออกมาชุมนุมประท้วงและก่อจลาจลเผาอาคารสถานที่ในหลายจุด เพราะรู้สึกว่าเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ยากให้กับประชาชนมากขึ้น หลังจากกรีซอนุมัติมาตรการรัดเข็มขัดรอบใหม่ ตอนนี้ทุกสายตาจับจ้องไปที่การประชุมฉุกเฉินของรัฐมนตรีคลังยุโรปในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาซึ่งจะหารือถึงเงินช่วยเหลือกรีซรอบใหม่

การปกป้องกรีซ ไม่เพียงจำเป็นสำหรับยูโรโซน หากแต่มีความสำคัญต่อตลาดการเงินทั่วโลกด้วย เพราะการผิดนัดชำระหนี้ของ ๒ประเทศ กรีซและโปรตุเกส อาจส่งผลให้ตลาดหุ้นร่วงลง ๑๕% ขณะที่ปัญหายุ่งเหยิงในยูโรโซนอาจทุบตลาดหุ้นให้ร่วง ๓๐% หรือมากกว่านั้น หากว่าเงินช่วยเหลือรอบใหม่นี้ อาจไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ให้ดีขึ้นสักเท่าไร ดังที่ "ไทม์"วิเคราะห์ไว้ว่า แม้เงินช่วยเหลือดังกล่าวนี้จะช่วยให้กรีซหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ และป้องกันไม่ให้ยูโรโซนต้องแยกทางกันในตอนนี้ แต่นี่ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะปัญหาที่แท้จริงยังคงอยู่ ถึงแม้กรีซจะบรรลุข้อตกลงกับธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และสถาบันการเงินอื่นๆ แต่ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าสมาชิกทั้ง ๑๗ ประเทศในยูโรโซนจะสนับสนุนแนวทางดังกล่าว ยังไม่นับรวมการเจรจาให้เจ้าหนี้ที่ถือครองพันธบัตรกรีซยอมรับการขาดทุนก้อนโต ซึ่งไม่เป็นง่ายเรื่องเท่าไหร่นัก เนื่องจากเจ้าหนี้บางรายถือครองพันธบัตรประเภทที่มีหลักประกัน ดังนั้น หากปล่อยให้กรีซผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้เหล่านี้จะได้รับเงินชดเชย ซึ่งดีกว่าจะยอมแบกรับการขาดทุนจากการประนอมหนี้

นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดยังสะท้อนว่า กรีซกำลังเดินหน้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จากผลผลิตที่ลดลงในระดับเลข ๒ หลัก แผนรัดเข็มขัดปรับลดตำแหน่งงานที่ไม่จำเป็น เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัวรวดเร็วกว่ารายได้จากภาษี อีกทั้งกรีซยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ การเลี่ยงภาษีของคนที่มีฐานะมั่งคั่ง ตำแหน่งงานราชการที่ไม่จำเป็นจำนวนมาก ขณะที่ตำแหน่งงานที่มีขีดความสามารถในการผลิตและกลุ่มคนที่จ่ายภาษีถูกต้องกลับไม่เหลือที่ทาง ซึ่งการแก้ปัญหาที่แท้จริงเหล่านี้ต้องใช้เวลาและอาจก่อให้เกิดความยุ่งเหยิงทางเศรษฐกิจและการเมืองในระยะสั้น แต่สิ่งที่เป็นที่น่ากังวลคือ การแพร่ระบาดของวิกฤตไปยังประเทศอื่น เพราะหนี้ของกรีซที่สูงมากบวกกับเศรษฐกิจที่ถดถอยและหากประกอบกับปัญหาที่ปรากฏในที่อื่นๆ รวมถึงโปรตุเกสที่อาจเดินตามรอยกรีซ แม้ว่าหนี้ในประเทศยุโรปอาจไม่สูงเท่ากรีซ แต่ถ้าชาติในยุโรปได้รับผลกระทบไปด้วย ทั้งนี้ ยังมีอันตรายจากความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาในยูโรโซน เพราะแผนช่วยเหลือย่อมนำมาซึ่งมาตรการคุมเข้ม ที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อเศรษฐกิจอย่างยาวนาน ยกตัวอย่างกรีซที่มาตรการรัดเข็มขัดจะมีอายุไปจนถึงปี ๒๕๖๓ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดหนี้ให้เหลือ ๑๒๐ % ของจีดีพี จากปัจจุบันที่ระดับหนี้อยู่ที่ ๑๖๐% ของจีดีพี แม้ว่าระยะเวลา ๘ ปีแห่งความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ อาจไม่ใช่หายนะใหญ่หลวง แต่ก็ยาวนานจนน่าหวาดหวั่น

๓.สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) ซึ่งเป็นตัวแทนการเจรจาของกลุ่มสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ของกรีซ เปิดเผยว่า สถาบันการเงินรายใหญ่ ๑๒ แห่ง ได้ลงนามในคำมั่นสัญญาว่าจะมีส่วนร่วมในแผนการบรรเทาภาระหนี้สินของกรีซ สำหรับสถาบันการเงิน ๑๒ ราย รวมถึงบริษัทประกัน อลิอันซ์ ของเยอรมนี ธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ ของฝรั่งเศส ธนาคารคอมเมิร์ซ แบงก์ ของเยอรมนี ธนาคารยูโรแบงก์ อีเอฟจี ของกรีซ ธนาคารดอยช์ แบงก์ ของเยอรมนี และเนชันแนล แบงก์ ออฟ กรีซ ทั้งนี้ กรีซ พยายามโน้มน้าวธนาคารพาณิชย์และกองทุนเพื่อการลงทุนรายอื่นๆให้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ผ่านการสว็อปพันธบัตร หรือการปรับลดมูลค่าหน้าพันธบัตรของรัฐบาลกรีซลง ๕๓.๕% ซึ่งเป็นโครงการที่จะช่วยให้กรีซสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) มองว่า การปรับลดมูลค่าหน้าตั๋วของพันธบัตรรัฐบาลกรีซลงมาอยู่ที่ระดับ ๕๓.๕% จากเดิมที่เคยประมาณการไว้ที่ ๕๐% นั้น สะท้อนให้เห็นว่าศักยภาพในการชำระหนี้ของกรีซอ่อนแออย่างมาก ด้วยเหตุนี้ เอสแอนด์พี จึงตัดสินในปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของพันธบัตรรัฐบาลกรีซ ลงมาอยู่ที่ระดับ "ผิดนัดชำระหนี้บางส่วน" จากระดับ CC เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อีกทั้ง เมื่อวันเสาร์ที่ ๓ มีนาคม มูดีส์ ก็ได้ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรสกุลเงินในประเทศและต่างประเทศของกรีซ ลงจากระดับ Ca สู่ระดับ C ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในระบบการจัดอันดับของมูดีส์ โดยให้เหตุผลว่า ข้อเสนอแลกเปลี่ยนหนี้ของกรีซอาจส่งผลให้นักลงทุนขาดทุนมากถึง ๗๐% ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์การจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ C ของมูดีส์

๔.เหล่าผู้นำยุโรปพร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้กรีซเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อเสถียรภาพทางการเงินในภูมิภาค เมื่อดูจากตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆของกรีซไม่ว่าจะเป็นอัตราว่างงานร้อยละ ๒๐.๙ อัตราหนี้สาธารณะที่สูงกว่าจีดีพีร้อยละ ๑๖๔ หรือจำนวนคนยากจนที่คิดเป็น ๑ ใน ๕ ของประชากรทั้งประเทศ อาจเป็นเรื่องที่เรียกได้ว่าผิดปกติ ที่รัฐบาลกรีซยังคงไม่ประสบภาวะล้มละลายทางการเงิน หลังจากเผชิญกับวิกฤติหนี้ที่หนักหนาขึ้นเรื่อยๆมาต่อเนื่องกว่า ๕ ปี ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้กรีซยังคงสถานภาพทางเศรษฐกิจอยู่ได้ ไม่ได้มาจากนโยบายรัดเข็มขัดและตัดรายจ่ายภาครัฐอย่างเข้มงวด แต่เป็นเงินกู้ช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป ธนาคารกลางยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในนามของคณะกรรมการทรอยก้า ซึ่งต้องอัดฉีดเงินให้รัฐบาลกรีซสามารถจ่ายหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนในภูมิภาค เนื่องจากผู้นำชาติยุโรปตระหนักดีว่าหากกรีซล้มละลาย อาจก่อให้เกิดปรากฎการณ์โดมิโนลุกลามไปทั่วยุโรป ฝรั่งเศสและเยอรมนี เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของกรีซ โดยรัฐบาลและธนาคารฝรั่งเศสเป็นเจ้าของหนี้มูลค่ากว่า ๕๖,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่เยอรมนีเองก็ให้เงินกู้แก่รัฐบาลกรีซกว่า ๓๔,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากกรีซล้มละลายย่อมหมายความว่าหนี้สินมูลค่ามหาศาลดังกล่าวอาจกลายสภาพเป็นหนี้สูญหรือถูกลดมูลค่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศอย่างรุนแรง ยิ่งไปกว่านั้น หากรัฐบาลกรีซล้มละลาย ก็จะกลายเป็นประเทศแรกในยูโรโซนที่ผิดนัดชำระหนี้พันธบัตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกลุ่มประเทศผู้ใช้สกุลเงินยูโรอย่างรุนแรงจนถึงขั้นนำไปสู่การล่มสลายของสกุลเงินดังกล่าวได้ ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์ทั่วโลกจึงไม่แปลกใจต่อผลการประชุมรัฐมนตรีการเงินสหภาพยุโรปในวันนี้ ที่ลงมติอนุมัติเงินกู้ฉุกเฉินงวดที่สองให้แก่กรีซเป็นจำนวนถึง ๑๓๐,๐๐๐ ล้านยูโร เพื่อให้กรีซนำไปไถ่ถอนพันธบัตรที่จะครบกำหนดในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๕ ทั้งๆที่มีความเสี่ยงสูงว่ากรีซอาจไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่กองทุนฉุกเฉินดังกล่าวได้ เนื่องจากความมั่นคงและความน่าเชื่อถือทางการเงินของกรีซนั้น มีความอยู่รอดของสกุลเงินยูโรและสหภาพยุโรปเป็นเดิมพัน

๕.ที่ประชุมรัฐมนตรีการเงินสหภาพยุโรป มีมติอนุมัติเงินกู้ฉุกเฉินงวดที่สองเป็นจำนวน ๑๓๐,๐๐๐ ล้านยูโร ให้แก่รัฐบาลกรีซ หลังจากการประชุมดังกล่าวต้องเลื่อนมาหลายครั้ง เนื่องจากรัฐบาลกรีซไม่สามารถมีมติเป็นเอกฉันท์ในการรับมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจการคลังที่สหภาพยุโรปใช้เป็นเงื่อนไขสำคัญในการอนุมัติเงินกู้ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปได้ยื่นเงื่อนไขใหม่ให้รัฐบาลกรีซลดอัตราหนี้สาธารณะลงให้อยู่ที่ระดับไม่เกินร้อยละ ๑๒๑ ภายในปี ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นระดับที่นักเศรษฐศาสตร์ยอมรับว่าไม่เสี่ยงต่อการเกิดหนี้สูญ หลังจากเมื่อวานนี้ นักวิเคราะห์จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เพิ่งออกมาคาดการณ์ว่าระดับหนี้สาธารณะของกรีซจะยังสูงกว่าร้อยละ ๑๒๙ อย่างต่อเนื่อง เงินกู้งวดดังกล่าวมีความจำเป็นต่อกรีซอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลมีกำหนดต้องไถ่ถอนพันธบัตรคืนจากเจ้าหนี้ภาคเอกชนในยุโรปภายในวันที่ ๒๐ มีนาคม๒๕๕๕ เป็นจำนวนเงินกว่า ๑๔,๔๐๐ ล้านยูโร โดยหากกรีซไม่ได้รับเงินกู้งวดดังกล่าว อาจต้องเผชิญกับภาวะล้มละลาย ซึ่งจะทำให้หลายประเทศในยุโรปได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะหนี้เสีย

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าการอนุมัติเงินกู้ดังกล่าว นับเป็นการผูกมัดให้รัฐบาลกรีซดำเนินนโยบายปรับลดรายจ่ายภาครัฐอย่างเข้มงวดตามเงื่อนไขของสหภาพยุโรป ซึ่งจะยิ่งทำให้ประชาชนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจอยู่แล้วไม่พอใจรัฐบาลมากยิ่งขึ้น จนอาจนำไปสู่การประท้วงและความรุนแรงทางการเมืองอีกครั้ง

๖.แม้ว่าร่างมาตรการอดออมของรัฐบาลกรีซ ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภากรีซเรียบร้อยแล้ว ได้สมาชิกรัฐสภาที่ลงมติเห็นด้วยมีทั้งหมด ๑๙๙ เสียง คัดค้าน ๗๔ เสียง การผ่านมาตรการอดออมครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะหากไม่ผ่านกรีซจะไม่ได้รับเงินกู้ก้อนใหม่จำนวน ๑๓๐,๐๐๐ ล้านยูโร จากสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และหากไม่ได้เงินก้อนนี้ รัฐบาลจะไม่มีเงินใช้หนี้ที่ครบกำหนดในกลางเดือนหน้า แต่แม้จะทราบถึงความจำเป็นดังกล่าว แต่ชาวกรีซกลับไม่พอใจ เพราะมาตรการอดออมเพิ่มเติมครั้งนี้ ทำให้มีพนักงานทั้งภาครัฐและเอกชนตกงานกันมากขึ้น ผลก็คือ มีผู้ออกมาจุดไฟเผาโรงหนัง คาเฟ่ ร้านค้าและธนาคารทั่วกรุงเอเธนส์ กลายเป็นการจลาจลเต็มรูปแบบ ขณะที่ผู้ประท้วงซึ่งใช้ผ้าสีดำคลุมหน้าอีกกลุ่มหนึ่ง ได้ขว้างปาก้อนหินและระเบิดเพลิงใส่ตำรวจปราบจลาจลบริเวณด้านนอกรัฐสภา ทำให้ตำรวจหลายสิบนายได้รับบาดเจ็บ ตำรวจตอบโต้โดยการยิงด้วยแก๊สน้ำตา ผลของการปะทะ ผู้ประท้วง ๕๕ รายถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล และมีผู้ก่อจลาจลถูกจับกุมกว่า ๕๐ คน สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นรายงานว่า นอกจากเกิดการจลาจลขึ้นในกรุงเอเธนส์แล้ว ยังมีความวุ่นวายเกิดขึ้นตามเมืองต่างๆ อีกหลายเมืองทั้งในเขตภาคกลางและภาคเหนือ โดยมีการบุกเข้าปล้นร้านค้าและเผาตึกรามบ้านช่องในเขตภาคกลางเสียหายถึง 34 หลัง

๗. ตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจกรีซ ณ เดือน มกราคม ๒๕๕๕

                                             จำนวน       % เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบ     % เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบ

เดือนก่อน/ ไตรมาสก่อน ช่วงเดียวกันปีก่อน

          ๑. ผลผลิตอุตสากรรม (ธ.ค. ๒๕๕๔)                         - ๔.๓                   - ๑๑.๓
          ๒. คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรม (พ.ย. ๒๕๕๔)                    + ๔.๙                   - ๑๐.๕
          ๓. การบริโภค (พ.ย. ๒๕๕๔)                              - ๓.๓                    - ๖.๓
          ๔. ภาวะเงินเฟ้อ (ม.ค. ๒๕๕๔)                            - ๐.๘                    + ๒.๓
          ๕. อัตราการว่างงาน (พ.ย. ๒๕๕๔)       ๒๐.๙%             + ๒.๗                      + ๗
             (จำนวนคนว่างงาน)                ๑,๐๒๙,๕๘๗             -                        -
          ๖. จำนวนคนที่ได้รับการจ้างงาน          ๓,๙๐๑,๒๖๙             -                        -

(ไตรมาสแรก) ของปี ๒๕๕๕

          ๗. การนำเข้า                     ๒,๘๘๑ ล้านยูโร          - ๖                     - ๒๘.๖
          ๘. การส่งออก                     ๑,๙๖๘ ล้านยูโร        + ๓.๔                      + ๖.๔

ที่มา Hellenic Statistical Authority

----------------------------------------------

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโรม

๖ มีนาคม ๒๕๕๕


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ